ทำไม 'คนผอมถึงอยากอ้วน' ผอมเกินไป ใช่ว่าจะสุขภาพดี

ทำไม 'คนผอมถึงอยากอ้วน' ผอมเกินไป ใช่ว่าจะสุขภาพดี

ความอ้วน ทำให้หลายคนเสียความมั่นใจ แต่ผอมเกินไปก็ไม่ดี บางคนทานเท่าไรก็ไม่อ้วน ซึ่งมองเผินๆ เหมือนจะดี แต่ความจริงแล้วอาจมีโรคซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น โรคเมแทบอลิก โรคทางจิตเวช หรือ โรคติดเชื้อเรื้อรัง

Key Point : 

  • คนที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ผอมมากๆ และกินเท่าไรก็ไม่อ้วน หลายคนอาจมองว่าเป็นความโชคดี แต่รู้หรือไม่ว่า อาจมีโรคซ่อนอยู่ 
  • บางคนผอมเพราะทานน้อย แต่บางคนอาจมีความผิดปกติทางเมแทบอลิก เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ รวมถึง จิตเวช และติดเชื้อเรื้อรัง
  • สำหรับคนผอม ที่อยากจะอ้วน ไม่ใช่แค่ทานเยอะๆ เท่านั้น แต่ต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อให้การเพิ่มน้ำหนัก มาพร้อมกับสุขภาพที่ดี

 

รศ.พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย สาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ในรายการ กินถูก...ลดโรค ช่องทาง รามาแชนแนล Rama Channel โดยระบุว่า ความผอม วัดได้ คือ ค่าดัชนีมวลกาย BMI = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง หากต่ำกว่า 18.5 แปลว่า ผอมเกินไป

 

“บางคนผอมเพราะไม่ชอบกิน แต่บางคนที่มาพบแพทย์ จะมีโรคบางอย่างซ่อนอยู่ โรคที่พบบ่อยๆ เช่น โรคทางเมแทบอลิกผิดปกติ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์สูงขึ้นมรอาการมือสั่น ใจสั่น ถอยบ่อย ทานเก่ง ผอมลง หรือเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้" 

 

รวมถึง โรคทางจิตเวช ที่เจอได้มากขึ้น เช่น บางคนคิดว่าตัวเองอ้วนตลอดเวลา เป็น โรคคลั่งผอม ก็จะพยายามไม่กินหรือว่าพยายามกินแล้วอาเจียนออก หรือบางทีก็ออกกำลังกายหนักทั้งๆ ที่ตัวเองก็ผอมอยู่แล้ว และ โรคติดเชื้อเรื้อรังบางชนิด เช่น วัณโรค หรือที่เจอได้บ่อยในผู้สูงอายุ เช่นบางคนมีเนื้องอกบางอย่าง เป็นมะเร็งก็ทำให้ผอมได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

กินเท่าไรก็ไม่อ้วน อาจมีโรคซ่อนอยู่ ?

  • โรคเมแทบอลิก เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษและโรคเบาหวาน
  • โรคจิตเวช เช่น กลัวอ้วนและโรคคลั่งผอม
  • โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค โรคมะเร็ง

 

ดังนั้น หากผอมไป ต้องมาดูว่าผอมเพราะไม่กินหรือผอมจากสาเหตุอื่น แต่หากผอมเยอะ ผอมมากๆ ต่ำกว่าเกณฑ์ไปแล้ว มีผลเสียต่อร่างกาย

 

รศ.พญ.ประพิมพ์พร อธิบายต่อไปว่า หากผอมเล็กน้อยไม่เป็นไร แต่หากผอมมากจนขาดสารอาหาร เกิดภาวะทุพโภชนาการ จะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ ภูมิคุ้มกันไม่ดี เจ็บป่วยหายช้า หากต้องนอนโรงพยาบาลก็จะทำให้นอนโรงพยาบาลนานขึ้น และมีผลแทรกซ้อนจากการขาดสารอาหารเกิดขึ้นได้

 

ขณะเดียวกัน บางคนควบคุมน้ำหนักซึ่งอาจจะตัดอาหารบางมื้อ หรือทานอาหารน้อยเกินไป หรือบางคนอยากอ้วน จึงพยายามทานเค้ก หรืออาหารที่มีพลังงานสูงแต่ไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร 

 

"น้ำหนักที่เหมาะสม ควรมาจากการที่เรากินอาหารให้ดี ไม่ใช่อยากอ้วนก็ทานแต่ของอร่อยแต่ไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร จะเรียกว่าสุขภาพไม่ดี น้ำหนักที่เหมาะสม ร่างกายต้องไม่มีไขมันเยอะจนเกินไป มีกล้ามเนื้อเหมาะสมจะทำให้ร่างกายแข็งแรง" 

 

ปัจจุบันพบว่า บางคนที่ผอม หรือในคนอ้วนก็ตาม จะพบภาวะกล้ามเนื้อน้อย ส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น หากผู้สูงอายุ จะทำให้หกล้มง่าย ไม่มีแรง กระดูกไม่แข็งแรง หากมีโรคเรื้อรังและกล้ามเนื้อน้อย ทำให้ร่างกายตอบสนองการรักษาไม่ดี หรือทำให้ตัวโรคที่เป็นอยู่รักษายากขึ้น

 

 

ผลเสียเมื่อน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

  • โรคขาดสารอาหาร
  • ภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อย
  • เมื่อเจ็บป่วย ร่างกายฟื้นตัวช้า

 

เพิ่มน้ำหนักอย่างไร ให้มีคุณภาพ

รศ.พญ.ประพิมพ์พร กล่าวว่า หากอยากให้น้ำหนักขึ้น อย่างแรก คือ ต้องทานอาหารที่มีพลังงานเพียงพอ โปรตีนพอ เลือกแป้งที่มีคุณภาพดี ข้าวไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต จะต้องทำให้พลังงานเพียงพอและสารอาหารครบถ้วน

 

บางคนที่ทานอาหารไม่ครบถ้วน เช่น ทานแป้งมากเกินไป จะมีปัญหา เพราะว่าคนผอมบางทีไปตรวจเลือด ดูเหมือนจะแข็งแรง พบว่า ไขมันเยอะ ทั้งไขมันที่ตัวและไขมันในเลือด คอเลสเตอรอลสูง มาจากการทานที่ผิดวิธี เพราะคนที่ผอมบางทีไม่ตรวจเลือดก็จะไม่รู้ว่ามีโรคที่ซ่อนอยู่ ดังน้น การเพิ่มน้ำหนักอย่างมีคุณภาพ หลักๆ คือ

  • ต้องทานอาหารที่มีพลังงานเพียงพอ
  • เน้นอาหารที่เพิ่มน้ำหนักได้ดี 
  • กลุ่มที่มีไขมันสูงเล็กน้อย แต่ต้องเป็นไขมันที่ดี เช่น ไขมันจากพืช ถั่ว อะโวคาโด งาดำ งาขาว
  • หากจะทานแป้ง ต้องเน้นแป้งชั้นดี
  • เน้นโปรตีน
  • ออกกำลังกายกลุ่มเวทเทรนนิ่ง เพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย

 

ร่างกายคนเราต้องการโปรตีนเท่าไร

  • ในคนทั่วไปต้องการโปรตีน 0.8-1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • ในคนที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อต้องการโปรตีน 2-3 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน (มากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า)

 

อาหารโปรตีนไขมันต่ำ 

  • เนื้ออกไก่สด

เนื้ออกไก่สดหนัก 40 กรัม ให้โปรตีน 7 กรัม (เมื่อต้มหรือนึ่งเหลือน้ำหนัก 30 กรัม)

 

  • ไข่ขาว

ไข่ไก่ 1 ฟอง ให้โปรตีน 7 กรัม เทียบเท่ากับเนื้ออกไก่สด 40 กรัม ถ้าใช้เฉพาะไข่ขาว 1 ฟองจะได้โปรตีน 4 กรัม

 

  • นมไขมันต่ำ

นม 1 แก้ว (240 มล) จะให้โปรตีน 8 กรัม ควรเลือกนมไขมันต่ำหรือไขมัน 0% ต้องใช้นมประมาณ 2 ลิตรถึงจะได้โปรตีน 70 กรัม ซึ่งจะได้พลังงานค่อนข้างมาก (800 แคลอรี) ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรืออ้วนขึ้น เนื่องจากนมไขมันต่ำหรือไขมัน 0% ยังมีน้ำตาลเป็นส่วนผสม

 

ทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่นิยมที่จะดื่มนมเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ หรือถ้าหากมีการนำมาใช้เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ มักนำมาผสมกับโปรตีนผง ซึ่งมี 2 แบบ แบ่งเป็น โปรตีนจากพืช (พืชตระกูลถั่วเช่นถั่วเหลือง) และโปรตีนจากนม (มีเคซีนกับเวย์) หากนำนมมาสกัดเป็นโปรตีนจะได้ เคซีนร้อยละ 80 และเวย์ร้อยละ 20

 

อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี , Rama Channel