ส่องระบบ ‘สาธารณสุข’ อนาคต ‘เอไอ-นวัตกรรม’หนุนบริการ

ส่องระบบ ‘สาธารณสุข’ อนาคต ‘เอไอ-นวัตกรรม’หนุนบริการ

เจาะเทรนด์บริการระบบสาธารณสุขอนาคต ‘เอไอ' ปลุกการแพทย์สมัยใหม่ หนุน พบแพทย์ออนไลน์ วิเคราะห์โรคแม่นยำ ออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคล จับตา 'การแพทย์จีโนมิกส์' เปิดโรงพยาบาลในห้างดึงคนเข้าถึงการรักษาเพิ่ม

Key Point : 

  • ประเทศไทย มีการพัฒนาสู่การเป็นระบบสุขภาพดิจิทัล นำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน 
  • ที่ผ่านมา สธ. ได้มีการกำหนดแผนปฏิบัติการ 5 แผน ไม่ว่าจะเป็นสร้างเสริมธรรมาภิบาลระบบสุขภาพดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์ม โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และพัฒนาคนพร้อมเปลี่ยนผ่าน 
  • ขณะที่ในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ได้มีการนำเทคโนโลยีและการแพทย์ยุคใหม่เข้ามามากยกระดับมากขึ้น เช่น เอไอ การแพทย์แม่นยำ รวมถึงยกโรงเรียนแพทย์ไปไว้บนห้าง เพื่อเพิ่มการเข้าถึง

 

'นวัตกรรม' เป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญ ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น สถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ต่างปรับตัว เพิ่มการเข้าถึง-อำนวยความสะดวกประชาชน  

 

ปัจจุบัน ไทยมีร่างยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพดิจิทัล พ.ศ.2566-2570 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อพัฒนาสู่การเป็นระบบสุขภาพดิจิทัล กำหนดแผนปฏิบัติการย่อยไว้ 5 แผน ได้แก่ 

 

1.สร้างเสริมธรรมาภิบาลระบบสุขภาพดิจิทัล จัดตั้งสำนักงานสุขภาพดิจิทัลแห่งชาติ พัฒนาการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ พัฒนากฎหมายสุขภาพดิจิทัล 

2.พัฒนาแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติและระบบนิเวศสุขภาพกำหนดแพลตฟอร์ม กำหนดมาตรฐานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล 

3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของระบบสุขภาพดิจิทัล 

4. การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทางการแพทย์ 

5.การพัฒนาคนให้พร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างยั่งยืน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

เอไอ-การแพทย์จีโนมิกส์ 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การออกแบบระบบสุขภาพดิจิทัล มุ่งตอบสนองความต้องการประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้รวดเร็ว โดยคำนึงถึงเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย 

 

ขณะที่ นวัตกรรมเทคโนโลยี เอไอ จะเข้ามามีบทบาททางการแพทย์มากขึ้น ทั้งวินิจฉัยรักษาโรคให้เกิดความรวดเร็ว แม่นยำ ออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคล อาทิ โรงพยาบาลสังกัด สธ.ใช้การถ่ายภาพจอประสาทตาระบบดิจิทัลแบบไม่ต้องขยายม่านตาทั้งชนิดมือถือและตั้งโต๊ะ อ่านผลด้วยเอไอเพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในการตรวจ

 

เช่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ ภาคเอกชนพัฒนา ‘เอไอ’ อ่าน และวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ประเภทต่างๆ อาทิ เอไอ วัดปริมาตรอวัยวะ และเนื้องอก และ Imaging study recommender, เอไอช่วยแนะนำการตรวจทางรังสีวิทยา X-ray และ CT ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เป็นต้น

 

รวมทั้ง การตรวจยีนเพื่อการป้องกันคัดกรองและรักษาโรคเป็นแนวทางการแพทย์ที่จะขับเคลื่อนมากขึ้น ภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567(Genomics Thailand) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย ระยะแรกมีเป้าหมาย 50,000 ราย ในผู้ป่วย 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหายาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และผู้ป่วยแพ้ยา

 

ทั้งนี้ เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมครบเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ระยะต่อไปจะขยายฐานข้อมูลพันธุกรรมให้มากขึ้น ครอบคลุมทุกกลุ่มโรค นำประเทศไทยก้าวไปสู่ การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine)

 

 

ดึงเทคโนโลยี ยกระดับบริการ

ขณะที่ ภาคเอกชน ได้นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพนำ 'การแพทย์แม่นยำ' (Precision Medicine) ยกระดับขีดความสามารถการแพทย์ ดูแลรักษาสุขภาพด้วยการแพทย์แบบจีโนมิกส์ ใช้เทคโนโลยีตรวจทางพันธุศาสตร์ขั้นสูง จากสหรัฐ ตามมาตรฐานระดับสากล ใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมมาตรวจคัดกรองความเสี่ยง ตรวจวินิจฉัยโรค วางแผนการรักษา เลือกใช้ยาที่ปลอดภัย ครอบคลุมการดูแลสุขภาพในทุกด้าน 

 

เช่น การตรวจสุขภาพเชิงลึก, ภาวะมีบุตรยากและการตั้งครรภ์, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคมะเร็ง, โรคทางระบบสมอง, โรคข้ออักเสบ, โรคระบบภูมิคุ้มกัน, โรคติดเชื้อ เป็นต้น

 

ด้าน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ผ่านมา นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อให้บริการด้านจีโนมิกส์ด้วยเทคโนโลยี Next Generation Sequencing (NGS) ถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อทำนายโรค

 

รวมถึง Radiology AI นวัตกรรมที่เข้ามาช่วยรังสีแพทย์วิเคราะห์ และระบุตำแหน่งภาวะความผิดปกติของปอดและมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่มได้แม่นยำ ปัจจุบันใช้กับผู้ป่วยทุกรายที่มาเอ็กซเรย์ และการปรับตัวสู่การเป็น Digitized Hospital นำประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริการ

 

โรงพยาบาลเมดพาร์ค รักษาโรคยากซับซ้อน นำเอไอมาใช้ภายใน “ศูนย์รังสีวินิจฉัย” ในขั้นตอนการตรวจไปจนถึงการการวินิจฉัย ปรับปริมาณรังสีให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีเท่าที่จำเป็น, การตรวจด้วย Ultrasound AI ช่วยวินิจฉัย เช่น ตรวจ Elastography ซึ่งใช้ในการตรวจภาวะโรคตับแข็ง หรือการตรวจก้อนในอวัยวะต่างๆ, การใช้เอไอเข้ามาช่วยรักษามะเร็งที่มีก้อนขนาดเล็ก รวมถึงศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (MedPark IVF) ใช้เอไอเข้ามาช่วยในการทำงานของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ประเมินปริมาณและประสิทธิภาพสเปิร์ม

 

หน่วยบริการในห้าง

ขณะที่ปัจจุบัน หน่วยบริการของโรงพยาบาลจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้า มีโรงเรียนแพทย์เปิดบริการแล้ว 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดหน่วยให้บริการที่เดอะมอลล์ นครราชสีมา ให้บริการแผนกผู้ป่วยนอก เช่น ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจรักษาโรคทั่วไป คลีนิกแพทย์เฉพาะทาง เวชปปฏิบัติทั่วไปฯ 

 

โรงพยาบาลศิริราช เปิดศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิต" หรือ SIRIRAJ H SOLUTIONS ศูนย์อยู่นอกโรงพยาบาลแห่งแรก ที่ไอคอนสยาม ภายใน โครงการ ไอซีเอส (ICS) มุ่งให้บริการด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีมีคลินิกที่เข้ามาเปิดให้บริการรวม 16 คลินิก

 

รวมถึง คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดให้บริการศูนย์สุขภาพ ที่ห้างสรรพสินค้าโลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ และเปิดให้บริการ Rama Health Space ศูนย์ดูแลสุขภาพตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค