รักษา 'โรคเบาหวาน' ให้หายขาดไม่ได้ แต่คุมโรคได้ ต้องทำอย่างไร?

รักษา 'โรคเบาหวาน' ให้หายขาดไม่ได้ แต่คุมโรคได้ ต้องทำอย่างไร?

ปัญหาสุขภาพอันดับต้น ๆ ของคนไทยคงหนีไม่พ้น ‘กลุ่มโรคNCDs’ หรือ ‘โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง’ โดยเฉพาะ ‘โรคเบาหวาน’ ที่มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น แถมยังพบในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยลงอีกด้วย

Keypoint:

  • ‘โรคเบาหวาน’ มีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย ดังนั้น การดูแลตัวเอง รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หากป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ว ธรรมชาติของโรคไม่สามารถหายขาดได้ 100% หรือหายได้ด้วยตัวเอง ในกระบวนการรักษาโรคเบาหวานทำได้เพียงควบคุมให้โรคอยู่ใน ‘ระยะสงบ’ ระยะที่โรคไม่แสดงอาการใด ๆ
  • การคุมโรคเบาหวาน ต้องอาศัยทั้งการแพทย์และการร่วมมือของผู้ป่วยเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ และจะอยู่คงได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปีขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน

โรคเบาหวาน’ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติกับฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่พาน้ำตาลกลูโคสไปใช้ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ เมื่อเกิดภาวะขาดอินซูลินหรือตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

หากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการต่อไปนี้เช่น อ่อนเพลียง่าย ผอมลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ กระหายน้ำผิดปกติ ตาพร่ามัว ปวดขา ปวดเข่า ผิวแห้ง มีอาการคันตามตัว มีฝีขึ้นตามตัวบ่อย ๆ อารมณ์แปรปรวนโมโหง่าย และแผลหายช้ากว่าปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คลินิก Smart NCD บริการลดยา หยุดยา เบาหวาน ความดัน

ไขคำตอบ 'น้ำตาลเทียม'กับผู้ป่วยเบาหวาน พร้อมเครื่องวัดน้ำตาลจากลมหายใจ

 

สังเกตตัวเอง เสี่ยงโรคเบาหวานหรือไม่ ?

โรคเบาหวานเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่ไม่ค่อยส่งเสียงหรือแสดงอาการแบบโจ่งแจ้งเท่าไหร่นัก กว่าจะรู้ตัวโรคก็ดำเนินไปมากแล้ว

ดังนั้น เราจึงควรตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายด้วยว่ามีอาการต่าง ๆ ที่บ่งชี้ว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ดังนี้

1.ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ

ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่จะมีอาการปัสสาวะบ่อยถึงบ่อยมาก เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงจะถูกกรองมาในปัสสาวะที่ไตและทำให้มีปัสสาวะบ่อยขึ้น ดังนั้นยิ่งผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นเท่านั้น

2.รู้สึกกระหายน้ำ

เป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ร่างกายเสียน้ำไปจากการที่ปัสสาวะบ่อย จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำและรู้สึกกระหายน้ำมากกว่าปกติ

รักษา \'โรคเบาหวาน\' ให้หายขาดไม่ได้ แต่คุมโรคได้ ต้องทำอย่างไร?

3.น้ำหนักลดลง

ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวลดลงเนื่องจากเมื่อเกิดภาวะขาดอินซูลิน จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ จึงต้องเอาโปรตีนและไขมันที่สะสมไว้มาใช้แทน และทำให้น้ำหนักลดในที่สุด

4.ตาพร่า ตามัว

ในช่วงที่มีน้ำตาลในเลือดสูง สาเหตุเพราะเลนส์ตาเกิดการบวมน้ำ ทำให้ไม่สามารถปรับโฟกัสภาพให้ชัดได้ แต่อาการตาพร่า ตามัวนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น เมื่อน้ำตาลในเลือดกลับมาอยู่ในระดับปกติ ก็จะทำให้การมองเห็นกลับมาชัดเจนเป็นปกติเช่นกัน

5.ปลายมือปลายเท้าชา

อาการปลายมือปลายเท้าชานั้นเป็นภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทจากโรคเบาหวาน โดยจะชาจากปลายมือปลายเท้าแล้วค่อย ๆ ชาไล่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางรายอาจจะชามากจนรู้สึกปวดได้

 

โรคแทรกซ้อน เมื่อเป็นโรคเบาหวาน 

โรคเบาหวาน' เป็นโรคจะต้องอยู่ติดตัวกับผู้ป่วยไปตลอดผู้ป่วยเบาหวานจะต้องหมั่นควบคุมโรคด้วยตัวเองและไปพบแพทย์ตามนัด เพราะการรักษาเบาหวานยังทำให้โรคหายขาดไม่ได้ และไม่สามารถหายได้ด้วยตัวเอง

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคเบาหวานให้หายขาด การรักษาในตอนนี้คือการมุ่งเน้นรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระบบปกติ เพื่อคุมให้โรคอยู่ในระยะสงบ คือไม่แสดงอาการใด ๆ และไม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานเพิ่มเติม

แม้จะเป็นโรคที่รักษาไม่ได้แต่ก็ใช่ว่าจะน่ากลัวมากเกินไป เพราะผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมโรคให้อยู่กับตนไปได้โดยที่มีโอกาสในการก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนน้อยลง ด้วยการปรับตัวในชีวิตประจำวันและรับการรักษาจากแพทย์

นอกจากนั้น การรักษาโรคเบาหวานช่วยลดความเสี่ยง และลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนจากที่อาจเกิดขึ้น

  • เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนทั่วไป ในบางรายผู้ป่วยเบาหวานอาจเป็นโรคหลอดเลือดตีบที่หัวใจ บางคนเป็นโรคหลอดเลือดตีบที่สมอง เนื่องจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติเป็นเวลานาน ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดทั่วร่างกาย และการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงยังก่อปัญหาในระบบไหลเวียนโลหิตอื่น ๆ เช่น

  1. เกิดความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญพลังงานในระดับเซลล์ เกิดการสร้างสารเคมีและสารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้หลอดเลือดแดงเสียความยืดหยุ่น เปราะและฉีกขาดง่าย
  2. เกิดการเปลี่ยนแปลงการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดจับตัวกันง่ายขึ้น
  3. น้ำตาลที่มีปริมาณมากยังทำให้เกิดการจับตัวเป็นก้อน เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง

รักษา \'โรคเบาหวาน\' ให้หายขาดไม่ได้ แต่คุมโรคได้ ต้องทำอย่างไร?

  • เบาหวานนำไปไปสู่การเสื่อมสภาพของไต

1 ใน 3 ของผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดโรคแทรกซ้อนของไตวายเรื้อรังร่วมด้วย (เบาหวานลงไต) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูง และมีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยปกติผู้ป่วยเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลต่อหลอดเลือดฝอยที่ไต ซึ่งน้ำตาลที่สะสมในผนังหลอดเลือดเป็นเวลานานจนเกิดการตีบและอุดตัน ส่งผลให้ไตกรองของเสียออกจากร่างกายได้ลดลง

นอกจากนี้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงยังส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ลุกลามจนทำลายเนื้อไต และระดับน้ำตาลในเลือดสูงยังส่งผลต่อเส้นประสาทในร่างกาย ทำให้การสั่งการระหว่างสมองและอวัยวะมีประสิทธิภาพลดลง เช่น เมื่อมีน้ำปัสสาวะเต็มกระเพาะจะไม่รู้สึกปวด ความสามารถในการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะลดลง เกิดความดันและของเหลวคั่งในทางเดินทางปัสสาวะ ซึ่งอาการต่าง ๆ นี้จะทำให้ไตถูกทำลายมากขึ้น

  • สุขภาพช่องปากถดถอย 

โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบคือโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะรองรับฟัน (เหงือก กระดูกเบ้าฟัน เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน) สาเหตุหลักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่กระจายอยู่ภายในช่องปากและสะสมอยู่บริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน ซึ่งโรคเบาหวานก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการเกิดโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ อาจมีการสูญเสียฟันในผู้ป่วยบางราย

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักไม่ทราบถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก รวมถึงอาการปากแห้งเนื่องจากน้ำลายไหลน้อยลง อาการปวดแสบปวดร้อน การติดเชื้อในช่องปากง่าย และแผลหายช้า ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องดูแลทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกต้อง และเพื่อให้การดูแลได้ผลดีควรปรึกษาบุคลากรทางทันตกรรมเพื่อรับคำแนะนำและการติดตามผลตรวจสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานนอกเหนือจากการออกกำลังกาย รับประทานอาหารและยาที่แพทย์แนะนำเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีแล้ว ควรตระหนักถึงการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันให้ถูกต้องและสม่ำเสมอเพื่อจะได้มีฟันที่แข็งแรง

  • เบาหวานขึ้นจอประสาทตา

หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน คือ อาการเส้นเลือดในจอประสาทตาเสื่อมกระทั่งโป่งและแตก เกิดจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายไปทั่วดวงตา มีน้ำและไขมันซึมออกมา อาการเบาหวานขึ้นจอประสาทตาส่งผลให้จอประสาทตาบวม เกิดอาการตามัว

หากปล่อยไว้ไม่รักษาจนเส้นเลือดเกิดการอุดตัน จอประสาทตาขาดเลือด เกิดการสร้างเส้นเลือดขึ้นใหม่ทดแทน ซึ่งเส้นเลือดที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่สมบูรณ์ มีโอกาสเปราะแตกง่าย ทำให้เลือดซึมออกมาในช่องวุ้นตา หรือเกิดพังผืดดึงจอประสาทตาลอก ส่งผลต่อการมองเห็น บางรายมีอาการตามัว เห็นเงาคล้ายหยากไย่ บางรายเห็นภาพบิดเบี้ยว และหากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น

อาการเบาหวานขึ้นจอประสาทตานี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมาเป็นระยะเวลานานมากกว่าคนที่ตรวจเจอเบาหวานในระยะเริ่มต้น ดังนั้นผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน ควรมีการตรวจดวงตาร่วมด้วย หากยังไม่พบเบาหวานขึ้นตา

ควรตรวจซ้ำปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบในระยะที่ดวงตามีการสร้างเส้นเลือดใหม่ ต้องรักษาด้วยเลเซอร์ หรือผ่าตัด ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ หากปล่อยไว้นานหรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากเบาหวานขึ้นตา เช่น เลือดออกในวุ้นตา ต้อหิน จอตาลอก ร้ายแรงที่สุดอาจสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้

  • เบาหวานส่งผลกระทบกับเท้า

จากข้อมูลของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย พบว่าทุกปีจะมีผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดเท้าถึง 1 ล้านเท้า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องได้รับการดูแลให้มากเป็นพิเศษ รักษาเท้าไม่ให้บาดเจ็บหรือติดเชื้อ เพราะการบาดเจ็บหรือเป็นแผลเพียงเล็กน้อย อาจลุกลามไปสู่อันตรายถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้

นั่นเพราะว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักพบว่ามีอาการเสื่อมสภาพของประสาทส่วนปลายที่ไปเลี้ยงมือและเท้า การรับรู้ความรู้สึกน้อยลง เกิดอาการชาโดยเฉพาะนิ้วเท้า ทำให้มีอาการเท้าผิดรูป เกิดหนังด้านและเกิดแผลโดยไม่รู้ตัวหรือกว่าจะสังเกตพบแผลก็ลุกลามไปมากแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อการไหลเวียนของโลหิตที่ไปสู่ขาลดลง ผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้นจะทำให้ขาดออกซิเจน ผิวหนังจะบางลง แผลหายช้า บางครั้งเป็นมากจนหลอดเลือดอุดตัน ทำให้เนื้อเยื่อส่วนปลายตายและมีสีคล้ำดำขึ้น จนต้องตัดนิ้ว หรือส่วนที่แห้งดำนั้นหลุดออกไปเองเลยก็มี ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานก็มีแนวโน้มการถูกตัดขาเพิ่มขึ้นจากการเป็นแผลที่เท้า

รักษา \'โรคเบาหวาน\' ให้หายขาดไม่ได้ แต่คุมโรคได้ ต้องทำอย่างไร?

ตรวจเช็คเบาหวานได้ด้วยการตรวจน้ำตาล

 การรักษาเบาหวานช่วยให้สุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาว ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ไม่ได้ประสบปัญหาแค่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเดียวในหลาย ๆ รายยังพบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง 

เราสามารถตรวจเบาหวานได้โดยการตรวจน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารประมาณ 8 ชั่วโมง หากระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก.ต่อเดซิลิตร หรือตรวจค่าน้ำตาลสะสมได้มากกว่า 6.5% ก็เข้าเกณฑ์ของโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานที่อยู่ในกระบวนการรักษา ดูแลตนเองตลอดเวลา จนมีระดับน้ำตาลในเลือดใกล้เคียงกับภาวะปกติจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน (หัวใจ สมอง ทางเดินปัสสาวะ ตา ช่องปาก เท้า ฯลฯ) ช่วยให้มีชีวิตได้ยืนยาวมากขึ้น ซึ่งการควบคุมเบาหวานให้ดีนั้นยังส่งผลกระทบดี ๆ ต่อร่างกายได้อีกมาก เช่น

  •  มีเรี่ยวแรงและพละกำลังมากขึ้น
  • ลดอาการเหนื่อยหอบผิดปกติและลดกระหายน้ำผิดปกติ
  • ลดอาการปัสสาวะบ่อย
  •  แผลหายเร็วขึ้น
  •  ลดโอกาสการติดเชื้อที่ผิวหนังและทางปัสสาวะ

การรักษาเบาหวานในปัจจุบัน

เป้าหมายในการรักษาโรคเบาหวานในผู้ป่วยแต่ละคน คือการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับปกติมากที่สุด และคงระดับนั้นตาลนั้นให้อยู่นานที่สุด ซึ่งวิธีที่ใช้รักษาโรคเบาหวานจะต้องใช้ทั้งการแพทย์และการนำปรับไปใช้ในชีวิตประจำวันโดยขึ้นอยู่กับอาการและสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน สำหรับการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ก็อาจมีความแตกต่างกันดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นเบาหวานที่เกิดจากเซลล์ตับอ่อนเสียหายไม่สามารถสร้างอินซูลินมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ การรักษาโรคเบาหวานชนิดนี้จะต้องควบคุมอาหารที่รับประทานร่วมกับการวางแผนออกกำลังกาย และอาจต้องหมั่นตรวจระดับในเลือดและฉีดอินซูลินแบบหลายครั้งในหนึ่งวัน (MDI) ด้วยตัวเอง
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเบาหวานที่เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน มักพบในผู้ที่มีโรคอ้วนและอยู่ในวัยผู้ใหญ่ อายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 95-97 เป็นโรคเบาหวานชนิดนี้ ซึ่งการควบคุมโรคเบาหวานชนิดนี้จะต้องควบคุมอาหารที่รับประทาน วางแผนออกกำลังกาย หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องรับประทานยาหรือฉีดอินซูลินช่วยในการรักษา

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ถึงแม้ว่าไม่สามารถรักษาให้หายขาด

แต่หากผู้ป่วยควบคุมอาหาร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม ก็จะสามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ทำให้โรคอยู่ในระยะสงบ ไม่แสดงอาการ เหมือนกับหายจากโรคแล้ว หรือเรียกว่า Remission หากผู้ป่วยดูแลระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีต่อเนื่องก็จะมีภาวะสงบนี้ได้ยาวนาน ช่วยให้แพทย์ลดหรืองดการใช้ยาเพื่อคุมระดับน้ำตาลได้

รักษา \'โรคเบาหวาน\' ให้หายขาดไม่ได้ แต่คุมโรคได้ ต้องทำอย่างไร?

ปรับพฤติกรรมควบคุมระดับน้ำตาล

วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้นมีหลายวิธี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่

  • รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ ทุกๆ 3-4 ชม. ระหว่างวัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ
  • เลี่ยงการกินมื้อใดมื้อหนึ่งมากเกินไปจะนำไปสู่ภาวะน้ำตาลสูง
  • ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ค่า BMI 18.5 – 22.9 kg/m2  สำหรับคนเอเชีย และ 18.5 – 24.9 kg/m2 สำหรับคนชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เอเชีย) ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดภาวะเซลล์ดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin Resistance) ทำให้น้ำตาลที่ลอยในกระแสเลือดถูกอินซูลินพาเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปเผาผลาญให้เกิดพลังงาน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนจึงแนะนำให้ลดน้ำหนัก 5% ของน้ำหนักตัว
  • เปลี่ยนแบบแผนการรับประทานอาหาร การปรับเปลี่ยนแบบแผนการรับประทานอาหารสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ 
  • จำกัดปริมาณอาหารคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว แป้ง ขนมปัง สปาเก็ตตี้ วุ้นเส้น ข้าวโพด เผือก มัน ผลไม้ และเครื่องดื่มต่างๆ ควรได้รับปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ
  •  เลือกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เป็นคาร์โบไฮเดรตที่อุดมด้วยใยอาหาร เช่น ข้าวแป้งไม่ขัดสี ธัญพืช และผักต่าง ๆ แต่ผักบางชนิดมีคาร์โบไฮเดรตอยู่มาก เช่น ฟักทอง ไม่ควรรับประทานมากเกินไป
  • ผลไม้ต่อวันต้องไม่มากเกินไป เพราะผลไม้เป็นอาหารที่มีน้ำตาล เรียกว่า Fructose มีอยู่ในผลไม้ทุกชนิด ไม่ว่าจะรสเปรี้ยวหรือรสหวาน แนะนำให้จำกัดการรับประทาน 3 – 4 ส่วนต่อวัน หรือ 1 ส่วนต่อมื้อ ตัวอย่าง 1 ส่วนบริโภค ได้แก่ แอปเปิ้ล 1 ลูก, กล้วยหนึ่งลูก, เมลอน 6 ชิ้นพอดีคำ
  • เลี่ยงดื่มน้ำผลไม้ทุกชนิด เนื่องจากไม่มีใยอาหารและมีน้ำตาลค่อนข้างสูง ใยอาหารในผลไม้สามารถขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลบางส่วนได้ ผู้ป่วยบางคนอาจเคยได้รับข้อมูลว่า ควรเลือกกินผลไม้ที่ไม่หวาน ดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic Index) แต่ที่จริงแล้วสิ่งสำคัญกว่าคือ การควบคุมปริมาณให้เหมาะสม เพราะหากกินผลไม้รสจืดในปริมาณมากก็สามารถทำให้น้ำตาลเพิ่มขึ้นสูงได้อยู่ดี
  • เลี่ยงการรับประทานขนมหวาน จะสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มาก เนื่องจากน้ำตาลทรายที่ใส่ในขนมหวานสามารถถูกดูดซึมได้เร็ว ดังนั้นระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • เลี่ยงเครื่องดื่มน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ นมเปรี้ยวและนมรสต่าง ๆ น้ำสมุนไพร เป็นต้น เพื่อเป็นการจำกัดปริมาณแคลอรีที่รับประทาน หรือ เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควรเปลี่ยนมาเป็นการใช้น้ำตาลเทียม (non-nutritive sweeteners) เช่น aspartame, saccharin, sucralose หรือหญ้าหวานแทนน้ำตาลทรายขาว หรือ น้ำตาลทรายแดง โดยสามารถอ่านรายละเอียดฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนเลือกซื้อ
  •  จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 1 Drink ในผู้หญิง และ 2 Drink ในผู้ชาย เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน และไม่ควรดื่มตอนท้องว่าง เพราะจะทำให้น้ำตาลต่ำได้

ในการปรับพฤติกรรมสุขภาพรวมทั้งการรับประทานอาหารไม่มีสูตรใดหรือวิธีใดที่เหมาะสมกับคนทุกคน (No One – Size – Fits – All) ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยทุกคนพบกับนักกำหนดอาหาร เพื่อประเมินความรู้ ความเข้าใจ และภาวะโภชนาการ จะได้หาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมร่วมกัน พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน

7 วิธีควบคุมและรักษาเบาหวานด้วยตัวเอง

จริงอยู่ที่เบาหวานรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่การมีชีวิตที่ยืนยาวแม้จะเป็นโรคเบาหวานนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากการรักษาจากแพทย์ การกินยา การฉีดอินซูลิน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เมื่อพ้นมือแพทย์ไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของผู้ป่วยที่ต้องควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ไม่ให้โรคร้ายแรงไปมากกว่าเดิม ซึ่งการปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้นั้นสามารถทำได้ด้วย 7 วิธีต่อไปนี้

1. เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรต

เพราะคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด การรับประทานคาร์โบไฮเดรตจึงจำเป็นต้องเลือกรับประทานว่าคาร์โบไฮเดรตชนิดไหนส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดน้อยที่สุด สำหรับผู้ป่วยเบาหวานคาร์โบไฮเดรตแนะนำให้รับประทานคือ ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์  ควินัวและข้าวโอ๊ต เป็นต้น

นอกจากนี้ยังรวมถึงอาหารจำพวกผักผลไม้ ถั่ว ขนมปังโฮลวีท นมและโยเกิร์ตไม่เติมน้ำตาล อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยต้องการคำแนะนำที่ชัดเจนแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามแพทย์ที่ให้การรักษาเป็นหลัก และแม้จะเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตแล้วยังต้องกำหนดปริมาณและวางสัดส่วนให้เหมาะสมกับสารอาหารชนิดอื่น ๆ ด้วย

2. ลดเค็ม

การลดเค็มจะช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต เนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมันสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคและช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

ตามคำแนะนำของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ควรจำกัดการบริโภคเกลือไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัมหรือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา และหมั่นพลิกอ่านฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมารับประทานเป็นประจำ

3. เลือกรับประทานไขมัน ลดการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป

เมื่อหันมาจำกัดปริมาณแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตแล้ว การเพิ่มสัดส่วนของเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเพิ่มเนื้อสัตว์นั้นควรจะลดหรือเลี่ยงเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก เนื้อวัวและเนื้อแกะ เหตุผลสำคัญที่ต้องลดการบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดนี้เนื่องจากมีส่วนประกอบของไขมันอิ่มตัว ซึ่งเพิ่มระดับไขมันในเลือดทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ

นอกจากไขมันที่มาจากเนื้อสัตว์แล้วผู้ป่วยควรจะลดหรือเลี่ยงการบริโภคอาหารที่เป็นของทอด ของมัน และอาหารที่มีไขมันทรานส์จากเนยขาว ครีมเทียม มาการีน หรืออาหารจำพวกขนมอบ คุกกี้ เค้ก

สำหรับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานเนื้อสัตว์จำพวก เนื้อไม่ติดหนัง เนื้อไม่ติดมัน ปลา ไก่ สันในหมู ไข่ขาว หรืออาจรับประทานเต้าหู้ อาหารจำพวกถั่วที่มีทั้งโปรตีนและไขมันดี (ควรรับประทานถั่วอย่างพอประมาณ วันละ 1 ถ้วยตวง และควรแบ่งรับประทาน ½ ถ้วยตวงต่อ 1 เสิร์ฟ)

4. รับประทานผักผลไม้เป็นประจำ

มาถึงข้อนี้หลายคนอาจกังวลว่าการรับประทานผลไม้จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ในผลไม้นั้นมีน้ำตาลจากธรรมชาติซึ่งส่งผลต่อร่างกายต่างกับน้ำตาลทราย ที่สำคัญผักและผลไม้ยังอุดมไปด้วยใยอาหาร คาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อร่างกาย วิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามการเลือกรับประทานผักผลไม้

โดยเฉพาะผลไม้จะต้องเลือกชนิดที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดน้อย เช่น ฝรั่ง แอปเปิลเขียว กล้วย แก้วมังกรเนื้อขาว มะเฟือง กีวี อะโวคาโด มะม่วงดิบ เป็นต้น แน่นอนว่าผลไม้ที่รับประทานจะต้องกำหนดปริมาณต่อมื้อให้พอดีกับสารอาหารอื่น ยกตัวอย่างการกำหนดปริมาณคร่าว ๆ ผลไม้เช่น ฝรั่ง แก้วมังกร แอปเปิลเขียว ใน 1 มื้อควรรับประทานประมาณ ครึ่งลูก หรือ 1 ลูก แล้วแต่การจัดสัดส่วนโภชนาการ

5. เลี่ยงการบริโภคอาหารที่เติมน้ำตาล

ส่วนนี้อาจเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการปรับอาหารในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะการงดบริโภคอาหารเติมน้ำตาลอาจทำให้ผู้ป่วยมีความสุขในการรับประทานอาหารลดลง การงดอาหารเติมน้ำตาลอาจเริ่มต้นด้วยการลดปริมาณน้ำตาลในอาหารลงเรื่อย ๆ หรือรับประทานผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับรสชาติอาหารที่เปลี่ยนไป

หากสามารถทำได้การควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่ในระยะสงบนั้นอยู่อีกไม่ไกล แถมการงดน้ำตาลยังช่วยให้สุขภาพดี ช่วยให้น้ำหนักลด ช่วยลดความเสี่ยงและโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานได้อีกมากมาย

รักษา \'โรคเบาหวาน\' ให้หายขาดไม่ได้ แต่คุมโรคได้ ต้องทำอย่างไร?

6. ควบคุมปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแคลอรี่สูง เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีโรคอ้วนร่วมด้วย ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลต่อน้ำหนักตัว หากแพทย์ได้แนะนำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนัก นอกจากการคุมอาหารและการออกกำลังกายแล้ว การงดหรือจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญอย่างหนึ่ง

7. ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายหรือการขยับร่างให้มากขึ้น เป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษาเบาหวาน เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ได้รับการฝึกฝนจะต้องใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบในการพัฒนากล้ามเนื้อซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างดี นอกจากนี้การออกกำลังกายยังดีต่อสุขภาพ ช่วยลดหรือควบคุมน้ำหนักได้ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากโรคเบาหวานและจากโรคอื่น ๆ ได้อีกมาก

การรักษาโรคเบาหวานหากได้รับการรักษาจากแพทย์และตัวผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดี การควบคุมโรคให้อยู่ในระยะสงบก็ไม่ใช่เรื่องยาก ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองเป็นประจำและพบแพทย์ตามนัดเสมอเพื่อให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยอาการ ความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนและให้คำแนะนำที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวผู้ป่วยเอง

อ้างอิง: รามาแชนแนล  โรงพยาบาลกรุงเทพ