'ทาสแมว' ต้องรู้ โรคติดเชื้อจากแมว ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

'ทาสแมว' ต้องรู้ โรคติดเชื้อจากแมว ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

'ทาสแมว' ต้องรู้ แมวข่วน แมวกัด อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต ไปจนถึงติดเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรงได้ นอกจากนี้ ยังมีโรคผิวหนังที่เกิดจาก 'เชื้อรา' ที่พบในกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยงมาสู่คนอีกด้วย

Key Point : 

  • สำหรับ ทาสแมว การโดนแมวข่วน แมวกัด อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่พบได้บ่อย อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรประมาท เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ 
  • หากโดนกัด และติดเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรง มีโอกาสทำให้เกิดภาวะโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน เกิดเนื้อตายสีดำลุกลาม จนอาจลุกลามติดเชื้อในกระแสเลือดทำให้เสียชีวิตได้ 
  • ขณะเดียวกัน ยังมีโรคหนึ่งที่น่าสนใจในกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจาก 'เชื้อรา' ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงมาสู่คนอีกด้วย 

 

เกิดเป็น ‘ทาสแมว’ การที่โดยแมวข่วน ถือเป็นเรื่องปกติที่เจอได้ แต่ก็ต้องระวังเช่นกัน ซึ่งแมวข่วนจะมีเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อสู่คนได้จากการถูกแมวกัดหรือข่วน โดยแมวที่ติดเชื้อมักจะไม่แสดงอาการป่วย แต่สามารถแพร่โรคสู่คนได้

 

ซึ่งหากโดนกัดจะมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยในช่องปากของแมว รวมทั้งแบคทีเรียที่พบบนผิวหนังของคนปนเปื้อนบนเขี้ยวแมว และเข้าสู่บาดแผลที่ถูกกัด การติดต่อเชื้อโรคจากแมวสู่คนมีหลายโรค ผู้ที่เป็นทาสแมวรู้ดีว่าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด คือ ต้องรีบล้างบาดแผล และทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และควรฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักให้ครบตามกำหนด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

แมวข่วน อาจส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองโต

รศ. นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวใน รายการลัดคิวหมอรามาฯ ว่า ปัจจุบัน จะเห็นว่าหลายๆ คนเลี้ยงแมว เชื้อโรคที่มากับแมวมีหลายรูปแบบ ทั้งการข่วนกัด หรือ ปนเปื้อนมาจากอุจจาระของแมว 

 

“การโดยแมวข่วนและกัด ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของแบคทีเรีย เพราะเล็บแมวมีเชื้อแบคทีเรีย โดยทั่วไป หากถูกข่วนจะทำให้ติดเชื้อได้ มีอาการบวม หากโดนข่วนที่มือ ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้จะโต เนื่องจากเชื้อเข้าไปตามทางเดินน้ำเหลือง ขณะที่หากโดนข่วนตรงขา ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบก็จะโต ซึ่งไม่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่เป็นสิ่งที่เจอได้ ที่สำคัญ การที่แมวข่วนจะเจอในลูกแมว (อายุต่ำกว่า 1 ปี)”

 

การติดเชื้อเมื่อโดนแมวกัด

สำหรับ แมวกัด ทั่วไปแมวจะมีเขี้ยวค่อนข้างเล็กและยาว เวลาโดนกัดจะเป็นรูเล็ก แต่ลึก โดยจะมีแบคทีเรียที่เจอได้ในสุนัขเช่นกัน เป็นเชื้อที่ทำให้แผลติดเชื้อ ทำให้หายช้าและมีการติดเชื้อที่รุนแรง ซึ่งหากติดเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรง มีโอกาสทำให้เกิดภาวะโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน โดยแบคทีเรียจะปล่อยสารทำให้เส้นเลือดอุดตัน และเกิดเนื้อตายสีดำลุกลาม จนอาจลุกลามติดเชื้อในกระแสเลือดทำให้เสียชีวิตได้ โดยแผลแมวกัดมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าแผลสุนัขกัดถึง 2 เท่า

 

“ดังนั้น โดยทั่วไป ไม่ว่าจะข่วนหรือกัด ก็อาจจะทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียกินเนื้อคน เจอไม่บ่อย และส่วนใหญ่สัตว์เลี้ยงจะน่ารักและไม่น่าจะกัดขนาดนั้น นอกจากนี้ อีกอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจจะหลงลืมไป คือ โรคพิษสุนัขบ้า เป็นไวรัสที่เจอได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หากโดนกัดก็ต้องระวัง แต่ส่วนใหญ่ทาสแมวจะรู้และพาน้องไปฉีดวัคซีน เรียกว่า ปัจจุบันคนเลี้ยงแมวเยอะ และส่วนใหญ่จะดูแลน้องอย่างดี”

 

 

สังเกตอาการ

แมวข่วน

  • เกิดรอยข่วน ค่อนข้างแดง
  • หากติดเชื้ออาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต

แมวกัด

  • เป็นรูเล็กๆ
  • บวมแดงรอบแผล
  • รู้สึกอุ่นและเจ็บแผล
  • มีไข้ตั้งแต่ 38 องศา
  • มีหนอง
  • หนาวสั่น

 

การดูแลรักษา เมื่อโดนแมวกัด

  • รีบล้างแผลด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
  • ถ้ามีหนอง ให้เจาะระบายหนอง
  • ถ้าแผลฉีกขาดไม่ควรเย็บแผลเอง หรือปล่อยแผลเปิดและควรรีบล้างแผล
  • ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า

 

“หากติดเชื้อแล้ว จะให้ยาปฏิชีวนะ หากติดเชื้อไม่มาก แพทย์จะใช้เป็นยาทาน แต่หากเป็นมากจะใช้ยาฉีด รวมถึงวัคซีนบาดทะยักและพิษสุนัขบ้า ดังนั้น หากโดนกัดอยากให้มาพบแพทย์ เพื่อทำแผลและให้ยา รวมถึงข้อแนะนำ”

 

เชื้อราจากแมว

นอกจากนี้ ยังมีโรคหนึ่งที่น่าสนใจในกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราติดต่อจากสัตว์เลี้ยงมาสู่คน เป็นอาการติดเชื้อที่รักษาไม่ยาวนานนัก แต่เมื่อเป็นแล้วมักทิ้งร่องรอยจุดด่างดำเอาไว้บนผิวหนัง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการรักษาที่ต้องใช้เวลานานพอสมควร โดยเฉพาะปัญหาการกลับมาเป็นซ้ำ ทำให้ร่องรอยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนเลี้ยงสัตว์ต้องทำความเข้าใจ

 

เชื้อราจากแมว คืออะไร?

เชื้อราจากแมวที่พบได้บ่อย คือ เชื้อ Microsporum canis เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ผิวหนังของสัตว์ โดยไม่ก่อให้เกิดโรค แต่สามารถติดต่อมายังคนได้ผ่านทางการสัมผัสโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีบาดแผล ก็ทำให้คนเลี้ยงติดเชื้อราจากแมวได้อย่างง่ายดาย พฤติกรรมที่นำไปสู่การติดเชื้อ เช่น อุ้ม กอด นอนร่วมที่นอนเดียวกัน เป็นต้น

 

อาการของการติดเชื้อราแมว

  • มีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง
  • ลักษณะเป็นวง มีขุยรอบ ๆ ค่อย ๆ ขยายเป็นวงกว้าง
  • รู้สึกคันตลอดเวลา
  • หากเกาแล้ว นิ้วที่เกาเผลอไปเกาบริเวณอื่นอาจทำให้บริเวณนั้นติดเชื้อราด้วยได้

 

วิธีการรักษาอาการติดเชื้อราแมว

  • หากมีอาการน้อย มีผื่นขึ้นไม่มาก 1-2 จุด ใช้ยาทาฆ่าเชื้อราต่อเนื่องประมาณ 3 สัปดาห์ ผื่นจะค่อย ๆ หายไป
  • หากมีอาการมาก ผื่นขึ้นทั่วร่างกาย ต้องใช้ทั้งยาทาและยากินร่วมกัน ระยะเวลาในการรักษาตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ในส่วนนี้เป็นการรักษาอาการติดเชื้อ ซึ่งไม่ใช่การรักษารอยดำที่เกิดจากการติดเชื้อ และถึงแม้ว่าอาการเชื้อราจะหายแล้ว รอยดำจากเชื้อจะยังคงอยู่ โดยจะจางไปเองภายใน 2-3 เดือน และมักไม่มีแผลเป็นเกิดขึ้น

 

ทำไมรอยดำจากเชื้อราแมวบางคนถึงเป็นนาน

จากที่กล่าวไปในข้างต้น ว่ารอยดำจากเชื้อราแมวจะหายได้เองภายใน 2-3 เดือน แต่พบว่าบางคนกลับเป็นนานกว่านั้น สาเหตุเพราะมีการกลับมาเป็นซ้ำซึ่งพบได้บ่อยมาก ทำให้เกิดริ้วรอยด่างดำต่อเนื่องไม่รู้จบ รอยเก่ายังไม่ทันหายไป ก็มีรอยใหม่เกิดขึ้น ทำให้ไม่รู้ตัวว่ารอยเดิมได้จางหายไปแล้ว จึงคิดว่าเป็นอยู่นาน แต่ในความจริงเป็นการกลับมาเกิดซ้ำของเชื้อรานั่นเอง

 

การป้องกันเชื้อราแมวและการกลับมาเกิดซ้ำ

  • ทำความสะอาดมือและอวัยวะต่าง ๆ ทุกครั้ง หลังสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง
  • ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ
  • ทำความสะอาดสิ่งของภายในบ้านที่สัตว์เลี้ยงมีการสัมผัส เช่น โซฟา หมอน พรมปูพื้น เป็นต้น
  • หากมีการติดเชื้อราแมว หลังรักษาคนแล้วควรนำสัตว์เลี้ยงไปรักษาด้วย
  • ไม่ควรคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงมากเกินไป เช่น การนอนร่วมที่นอนเดียวกัน

 

นอกจากแมวแล้วสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ก็ทำให้คนเลี้ยงติดเชื้อราได้เช่นกัน หากมีการสัมผัสเกิดขึ้นและสัตว์เลี้ยงนั้นมีเชื้อราอยู่ จึงควรปฏิบัติให้เหมาะสมในเรื่องของความสะอาด ทั้งคนเลี้ยง สัตว์เลี้ยง และของใช้ภายในบ้าน

 

ทั้งนี้ เชื้อราในสัตว์เลี้ยงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ผ่านการสัมผัสหรือการใช้ของบางอย่างร่วมกัน เช่น การใส่เสื้อผ้าร่วมกัน แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่ากับการติดต่อจากสัตว์ ที่เป็นการติดต่อแบบข้ามสายพันธุ์

 

กลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง

  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง
  • เด็ก
  • ผู้สูงอายุ

 

 

อ้างอิง : RAMA Channel