เป้าหมายปีใหม่นี้ : สมาธิที่ยาวนานขึ้น | พสุ เดชะรินทร์

เป้าหมายปีใหม่นี้ : สมาธิที่ยาวนานขึ้น | พสุ เดชะรินทร์

ปีใหม่มักจะเป็นช่วงเวลาที่เป็นเวลาของการปักหมุดสำหรับตั้งเป้าหมายและเริ่มต้นสิ่งใหม่ เป้าหมายหนึ่งที่น่าสนใจ มีประโยชน์และมักจะไม่ค่อยเป็นที่นึกถึงเท่าไร นั้นคือการมีสมาธิที่นานขึ้น

ลองสังเกตตนเองและคนรอบข้าง จะพบว่าปัจจุบันสมาธิจะสั้นลงเรื่อยๆ ยากที่จะสามารถจดจ่ออยู่กับการทำสิ่งใดได้นานๆ ตัวอย่างของอาการที่มักจะพบบ่อย ได้แก่

อ่านหนังสือได้ไม่นานก็จะละสายตาไปทำอย่างอื่นบ่อยขึ้น หรือดูซีรีส์อยู่ได้สักพักก็หยิบมือถือขึ้นมาตอบข้อความ หรือพูดคุยกับผู้อื่นอยู่ สักพักก็จะอดไม่ได้ที่จะหยิบมือถือขึ้นมาดูข้อความใหม่ หรือยากที่จะดูคลิปยาวๆ ได้จบ และต้องหันไปดูคลิปสั้นๆ แทน ที่น่ากลัวสุดคือตั้งใจจะทำอย่างหนึ่ง แต่เมื่อมือถือดังก็หันไปสนใจมือถือและลืมไปเลยว่าตั้งใจจะทำสิ่งใด

มีหลายงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า สมาธิของคนสั้นลง เช่น Microsoft ในปี 2558 ที่พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วเวลาที่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งลดลงจาก 12 วินาทีในปี 2543 เหลือ 8 วินาที หรือการศึกษาจากมหาวิทยาลัย California ที่พบว่าจากในปี 2547 ที่คนสามารถจดจ่ออยู่กับหน้าจอหนึ่งได้นานถึง 2.5 นาที แต่ในปี 2562 ลดลงเหลือ 47 วินาที

เป้าหมายปีใหม่นี้ : สมาธิที่ยาวนานขึ้น | พสุ เดชะรินทร์

เหตุที่ทำให้สมาธิสั้นลงหลักๆ มาจากเทคโนโลยีที่ทำให้มีข้อมูลต่างๆ เข้ามามากขึ้นและตลอดเวลา การได้รับข้อมูลต่างๆ ตลอดเวลา (ผ่าน notification) ก็เป็นตัวที่สอนให้สมองคุ้นชินและพร้อมที่จะรับกับข้อมูล ที่เร็วขึ้นและสั้นลง

สมาธิสั้นส่งผลทั้งในเรื่องการเรียนรู้ การทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และต่อตัวบุคคลนั้นๆ เอง เมื่อสมาธิสั้นจะทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นการเรียนรู้และทำความเข้าใจแบบผิวเผิน และไม่สามารถจดจำสิ่งใหม่ๆ ที่เรียนรู้ไว้ได้นาน

ในการทำงานนั้น เมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกมาคอยกระตุ้นให้เสียสมาธิอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

งานชิ้นหนึ่งที่ในอดีตอาจจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงก็เสร็จก็อาจจะเพิ่มเวลาเป็น 2 ชั่วโมงเพราะสมาธิที่เสียไป การเปลี่ยนความสนใจอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ขาดความละเอียดรอบคอบและผ่านการคิดอย่างถี่ถ้วน

เป้าหมายปีใหม่นี้ : สมาธิที่ยาวนานขึ้น | พสุ เดชะรินทร์

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้น คู่รักหรือเพื่อนก็สามารถที่จะมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้เพราะสมาธิสั้นเช่นเดียวกัน

ลองนึกภาพว่าขณะที่กำลังนั่งคุยกับแฟนหรือเพื่อนอยู่สองต่อสอง แล้วเมื่อมีเสียงมือถือเตือนขึ้นมา อีกฝ่ายก็หยิบมือถือขึ้นมาตอบ หรือหันไปสนใจต่อคนที่เดินผ่านไปผ่านมามากกว่าคู่สนทนา ก็จะส่งผลทำให้สิ่งที่คุยกันนั้นไม่เกิดผลที่แท้จริง และยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้

สุดท้ายสมาธิสั้นย่อมส่งผลต่อตนเอง สมาธิสั้นจะทำให้เครียดได้ง่าย ใจร้อน วิตกกังวลตลอดเวลา เพราะขาดสมาธิและเป็นคนที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกตลอดเวลา

ใช่ว่าสมาธิสั้นจะเป็นโรคหรือสิ่งที่ไม่สามารถรักษาได้ การทำให้สมาธินานขึ้น สามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การฝึกสมาธิอยู่เป็นประจำ หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ฝึกให้เราสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆ เช่น เล่นเกมฝึกสมอง หรือต่อจิ๊กซอว์ ที่สำคัญควรเริ่มจากการลดสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าจากภายนอก เช่น การปรับการตั้งค่าของมือถือให้ลดการรบกวน

การใช้ Pomodoro Technique ก็สามารถช่วยเพิ่มสมาธิได้ นั้นคือนั่งทำงานหรือใช้สมาธิโดยจับเวลาไว้ 25 นาที โดยพยายามไม่ให้ถูกรบกวน จากนั้นก็พักสั้นๆ 5-10 นาที แล้วก็กลับมาทำงานใหม่ 25 นาที สลับกับการพักไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้สามารถสร้างสมดุลระหว่างการการมีสมาธิที่นานขึ้นกับการนั่งทำงานที่นานเกินไปได้

สรุปขอเชิญชวนว่าเป้าหมายในปีใหม่นี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องการลดน้ำหนัก หรือออกกำลังกายเพิ่มขึ้น แต่ควรจะเป็นการมีสมาธิที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะเริ่มต้นได้ก็ต้องเริ่มจากการยอมรับก่อนว่าปัจจุบันสมาธิตนเองสั้นลง