ระวัง ใช้โซเชียลมากเกินไปอาจ “สมองเสื่อม” แก้ได้ด้วย “โซเชียลดีท็อกซ์”

ระวัง ใช้โซเชียลมากเกินไปอาจ “สมองเสื่อม” แก้ได้ด้วย “โซเชียลดีท็อกซ์”

ทำความรู้จัก ภาวะเสื่อมถอยของสมองด้านการเรียนรู้และความจำ “Digital Dementia” ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีมากเกินไป จนทำให้สมองเสื่อม แต่ป้องกันได้ด้วย “โซเชียลดีท็อกซ์”

Keypoints: 

  • ภาวะเสื่อมถอยของสมองด้านการเรียนรู้และความจำจากการพึ่งพาเทคโนโลยีเกินไป หรือ “Digital Dementia” เป็นการใช้สื่อดิจิทัลมากเกินไป จนสมองไม่ได้ใช้งาน
  • การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เป็นอีกในสาเหตุที่ทำให้สมาธิสั้นลง
  • สามารถป้องกันสมองเสื่อมถอยจากการใช้เทคโนโลยีได้ด้วยการทำโซเชียลดีท็อกซ์

 

เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้ชีวิตของมนุษย์สะดวก สบาย และมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่เอื้อมมือไปหยิบสมาร์ทโฟน ใช้แท็บเล็ต แล็ปท็อปเพื่อใช้ค้นหาข้อมูล ทำงาน ท่องโลกอินเทอร์เน็ต เล่นโซเชียลมีเดีย จนพัฒนาไปสู่วิถีชีวิตที่พึ่งพาเทคโนโลยีแบบเต็มตัว

แต่การใช้เทคโนโลยีมากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลเสียได้ด้วยเช่นกัน เพราะหากมัวแต่ยึดติดอยู่กับโลกอินเทอร์เน็ตอาจนำไปสู่ภาวะเสื่อมถอยของสมองด้านการเรียนรู้และความจำจากการพึ่งพาสื่อดิจิทัล หรือ “Digital Dementia” ได้

  • สมองไม่ได้ใช้งาน เพราะใช้แต่เทคโนโลยี

แมนเฟร็ด สปิตเซอร์ นักประสาทวิทยาศาสตร์ ผู้นิยามคำศัพท์ดังกล่าว ระบุว่า การใช้งานสื่อดิจิทัลที่มากเกินไป ส่งเสียอย่างมากต่อสุขภาพของสมองและส่งผลกระทบรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

ในหลายครั้งที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการจดจำ จนสมองของเราแทบไม่ได้ใช้งาน เช่น การจดจำเบอร์โทรศัพท์ ใช้เครื่องคิดเลขแทนการคำนวณง่าย ๆ เปิดกูเกิลหาการสะกดคำที่ถูกต้อง ๆ ทั้ง ๆ ที่เคยจำได้ อาจจะดูเป็นเหมือนเรื่องเล็กน้อย ในเมื่อมีเครื่องทุ่นแรงแถมประหยัดเวลาทั้งที ก็ควรใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ทักษะความจำของเราแย่ลง

เดวิด โคปแลนด์ รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการเหตุผลและความจำของมหาวิทยาลัยเนวาดา ลาสเวกัส ในสหรัฐ กล่าวว่า “ในตอนนี้ผู้คนหันไปใช้อุปกรณ์ส่วนตัวในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ มากขึึ้น แทนที่จะจดจำและท่องจำข้อมูลเหล่านั้นด้วยตัวเอง ดังนั้นทักษะในการท่องจำของเราจึงอาจลดน้อยลง”

เมื่อมนุษย์หันมาใช้เทคโนโลยีในการค้น เรียกดู และจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ทำให้กลายเป็นฮาร์ดดิสก์แบบพกพาใช้เก็บข้อมูลสำรองของสมอง โดยที่พวกเราไม่ได้ตั้งใจ ทั้งที่พื้นที่ความจำในสมองยังไม่เต็มด้วยซ้ำ แต่เรากลับพึ่งการค้นหาข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์สำรอง มากกว่าจะใช้หน่วยความจำหลักอย่างสมอง นานวันเข้าความพยายามในการเรียนรู้ของสมองลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  • ทำงานหลายอย่างพร้อมกันทำสมาธิสั้น

นอกจากนี้ การทำงานหลายอย่างพร้อมกันผ่านการใช้เทคโนโลยีอาจจะทำให้สมองทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยโคปแลนด์อธิบายเพิ่มเติมว่า “มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน และเมื่อเราพยายามจะทำหลาย ๆ สิ่งไปพร้อมกัน เรามักจะเปลี่ยนความสนใจจากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่งอย่างรวดเร็ว แทนที่จะโฟกัสที่งานที่สำคัญที่สุดก่อน ท้ายที่สุดผลที่ออกมากลายเป็นว่างานที่ออกมานั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ปัจจุบันที่เราอยู่ในยุคที่มีสื่อมากมายรอให้เลือกชม จนทำให้เสพติดการบริโภคสื่อหลาย ๆ ช่องทางพร้อมกัน การดูสตรีมมิง หรือไลฟ์ ไปพร้อมกับการไถหน้าฟีดเพื่อดูความเห็นของคนอื่น ๆ ที่มีต่อคอนเทนต์ที่ดูนั้นกลายเป็นเรื่องปรกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน แต่การกระทำเช่นนี้นั้นทำให้สมาธิสั้นลง

จากการศึกษาในปี 2018 พบว่า การเสพสื่อหลายช่องทางพร้อมกัน ส่งผลให้ควบคุมสมาธิลดลง และจิตใจฟุ้งซ่านเพิ่มขึ้น โดยเยาวชนที่มีอายุ 15-16 ปี ที่ใช้สื่อดิจิทัลหลายชั่วโมงในแต่ละวันจะทำให้สมาธิสั้นลง ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน ๆ รวมถึงมีความหุนหันพลันแล่นมากขึ้น 

นอกจากนี้ การปล่อยให้เด็กอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ๆ ยังทำให้เด็กมีปัญหาพัฒนาการทางสมองและด้านภาษาและการสื่อสาร รวมถึง “ทักษะด้านการคิด” (Executive Functions) ซึ่งเป็นส่วนช่วยในเรื่องการตัดสินใจ ควบคุมอารมณ์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และความจำ ขณะที่การติดโซเชียลในคนรุ่นใหม่ ยังก็ให้เกิดการแยกตัวทางสังคม และไปสร้างตัวตนใหม่ในโลกเสมือนได้อีกด้วย

ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า การใช้เทคโนโลยีจะเป็นตัวทำลายทักษะด้านการคิดของผู้ใช้งานได้สารพัด แต่นักวิจัยยังคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ว่าอะไรทำให้เกิดการเสื่อมถอยของสมองในระยะยาว ซึ่งตรงกับความหมายของ ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) หรือไม่

มาร์ค โพเทนซา ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์จาก คณะแพทยศาสตร์เยล กล่าวว่า “เรายังคงศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของสมองและพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้ระยะเวลานานขึ้น เพื่อเข้าใจถึงว่ารูปแบบการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบใดที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของสมองกับพฤติกรรมอย่างไร ซึ่งอาจจะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นได้”

 

  • โซเชียลดีท็อกซ์ ช่วยได้

ในปัจจุบัน ผู้คนต่างรู้ดีว่าการใช้สื่อดิจิทัลมากเกินไปสามารถทำให้เกิดผลเสียได้ อย่างน้อยที่สุดก็ทางด้านอารมณ์ที่อาจทำให้เกิดความหดหู่ อารมณ์ขุ่นมัว จากการเสพสื่อมากเกินไป หลายคนจึงค่อย ๆ ลดการพึ่งพาและเวลาในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีลง ปรับสมดุลให้กับชีวิต ด้วยวิธีที่เรียกว่า “โซเชียลดีท็อกซ์”

โซเชียลดีท็อกซ์ นั้นไม่มีรูปแบบที่ตายตัว แต่ละคนสามารถออกแบบให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตนเอง บางคนอาจจะไม่แตะสมาร์ทโฟนเลยตลอดสัปดาห์ บางคนจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารในการทำงาน อาจจะงดใช้เพียงสัปดาห์ละวัน หรือแม้กระทั่งจะกำหนดระยะเวลาการใช้งานในแต่ละวันก็ถือว่าเป็นโซเชียลดีท็อกซ์ด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าจะมีรูปแบบที่ต่างกัน แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบที่เป็นอันตรายของเทคโนโลยีต่อการรับรู้ของสมองและความเป็นอยู่โดยรวมได้เหมือนกัน

จากการศึกษาในปี 2019 พบว่า โซเชียลดีท็อกซ์ ไม่ว่าจะเป็นแบบงดใช้โดยสิ้นเชิง หรือจำกัดเวลาใช้งานนั้น สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้ แถมช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น มีอารมณ์ดีขึ้น นอนหลับสบาย และวิตกกังวลน้อยลง

ขณะที่ โคปแลนด์ แนะนำว่า หากกังวลว่าเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อมถอย ควรลดการใช้สมาร์ทโฟน แล้วใช้เวลาเหล่านั้นพัฒนาสมองด้วยการนั่งสมาธิ อ่านหนังสือ เล่นเกมฝึกสมอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความจำ และป้องกันไม่ให้สมองเสื่อมถอยได้

แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและวิธีการรักษา ตลอดจนสาเหตุของการเกิดภาวะสมองเสื่อมถอยจากการพึ่งพาเทคโนโลยีที่มากเกินไปที่เรามีในขณะนี้ ยังตามไม่ทันกับการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว แต่โซเชียลดีท็อกซ์ก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ได้ดี และตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างพอเหมาะไม่มากจนเกินไป เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่คาดคิดในระยะยาวได้


ที่มา: Daily Pioneer, Discover Magazine, Health Tech World