โรคสมาธิสั้น ในผู้ใหญ่ เป็นง่ายขึ้นช่วง WFH เช็คอาการ คุณเข้าข่ายหรือไม่ ?

โรคสมาธิสั้น ในผู้ใหญ่ เป็นง่ายขึ้นช่วง WFH เช็คอาการ คุณเข้าข่ายหรือไม่ ?

เปิดอาการเบื้องต้นของ "โรคสมาธิสั้น" ในผู้ใหญ่ อีกหนึ่งโรคที่วัยรุ่น และผู้ใหญ่วัยทำงาน มีโอกาสเป็นมากขึ้นเมื่อต้อง "ทำงานจากที่บ้าน" หรือ "Work from home" ช่วง "โควิด-19"

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ "โรคสมาธิสั้น" ที่พบได้กับเด็กวัย 4 ปีขึ้นไป ทว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดแค่ในเด็กเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับ "วัยรุ่น" และ "วัยทำงาน" ได้เช่นกัน

ข้อมูลจาก Allyson G. Harrison รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยควีน ออนแทรีโอ แคนาดา เขียนไว้ในบทความของ theconversation ระบุว่า

ช่วง "โควิด-19" การทำงานที่บ้านหรือ "เวิร์คฟรอมโฮม" (work from home) ทำให้หลายคนรู้สึกสับสน กังวล บริหารจัดการเวลาไม่ได้ หรือมีสิ่งเร้าเข้ามากระทบจนไม่มีสมาธิในการทำงาน กระตุ้นให้ขาดสมาธิ ไม่จดจ่อ

การวิจัยจากห้องแล็บของเราแสดงให้เห็นว่ายิ่งมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือเครียดมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีอาการสมาธิสั้นมากขึ้นเท่านั้น แม้ว่าจะไม่เคยถูกสงสัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นมาก่อนเลยก็ตาม 

นั่นหมายความว่า "โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่" สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้และอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันรวมถึงความสัมพันธ์มากกว่าที่คิด

  •  รู้จัก "โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่" 

อาการสมาธิสั้น เกิดจากสารในสมองส่วนหน้า คือ โดพามีน (Dopamine) และ นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมพฤติกรรมและสมาธิมีการทำงานที่ลดลงหรือน้อยกว่าปกติ โรคนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญา คนที่ได้รับการรักษาสามารถกลับมาเป็นปกติได้ 

ลักษณะที่สำคัญที่สังเกตได้ง่ายของคนที่เป็นโรคสมาธิสั้น คือ ไม่สามารถจัดการกับเวลาได้ เช่น เมื่อต้องทำงานที่มีกำหนดเวลา บางครั้งทำไม่ทัน หรือทันแบบจวนตัวเสมอ

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนไปเช็คอาการโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ หรือ ADHD (Attention-deficit hyperactivity disorder) ว่าคุณกำลังเข้าข่ายเป็นโรคนี้อยู่หรือไม่ และหากเข้าข่ายสามารถแก้ไขเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่สะท้อนจาก 6 อาการสำคัญ ที่กำลังบอกว่าคุณเริ่มเข้าข่าย ดังต่อไปนี้

โรคสมาธิสั้น ในผู้ใหญ่ เป็นง่ายขึ้นช่วง WFH เช็คอาการ คุณเข้าข่ายหรือไม่ ?

ลองทำแบบทดสอบว่าคุณเข้าข่ายเป็นโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่หรือไม่ คลิกที่นี่

อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการสมาธิสั้นเบื้องต้นสามารถเริ่มต้นจากคือการเข้าใจอาการ และเริ่มปรับพฤติกรรมของตัวเองก่อน ในช่วงที่ยังต้องทำงานจากที่บ้านสามารถปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นอาการสมาธิสั้นได้ ดังนี้

1. วางแผนและจัดการเวลาให้เป็นนิสัย 

อาการสมาธิสั้น ทำให้วอกแวกจนลืมสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าไป หรือผัดวันประกันพรุ่งจนละเลยสิ่งที่ควรทำไปแบบไม่รู้ตัว การจดลิสต์ เขียนโน้ตเตือน หรือวางกรอบเวลาชัด ๆ ให้ตัวเองจะช่วยวางแผนชีวิตและการทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงเป้าหมายว่าต้องทำงานให้เสร็จไปทีละชิ้นเพื่อฝึกนิสัย และลดความกังวล 

2. นอนให้มีคุณภาพ 

คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีและการรบกวนการนอนหลับส่งผลให้เกิดปัญหาสำคัญกับสมาธิ การจดจ่อ และความจำ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับของตัวเองให้ได้ เช่น กำหนดเวลานอนให้เป็นปกติ กำหนดเวลาเข้านอน และรักษาพื้นที่การนอนหลับให้สบาย สงบ และเอาทุกสิ่งที่จะรวบกวนการนอน ออกจากห้องนอนไปซะ!

3. ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 

โควิด-19 ทำให้ใคร ๆ ก็ต้องหันมาพึ่งเทคโนโลยีและใช้เวลาออนไลน์มากขึ้น แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นมีส่วนทำให้เสียสมาธิอย่างมาก การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปทำให้สมองทำงานหนัก เพิ่มความว้าวุ่นใจ และลดประสิทธิภาพโดยรวม ดังนั้น หลังใช้งานเสร็จวางอุปกรณ์เหล่านี้ลงบ้าง เพื่อให้ตัวเองให้พักจากสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังพุ่งเข้าหา ลดความฟุ้งซ่านลง

4. จัดการความกังวลอย่างเป็นเวลา

ฟังดูแล้วหลายคนอาจขมวดคิ้ว แต่ความกังวลนี่แหละที่ทำให้หลายคนฟุ้งซ่านไปตลอดทั้งวัน สิ่งที่ควรจัดการคือพยายามจัดการความกังวลให้จบลงในช่วงเวลาอันสั้น เสมือนวาระการประชุมที่ต้องจัดการกับความกังวลทั้งหมด แต่เฉพาะในเวลา "กังวล" ที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ลากยาวจนรบกวนเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องทำต่อไป

5. ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายช่วยให้รับมือกับความเครียดและความวิตกกังวลได้ดี แล้วก็ช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นด้วย

การออกกำลังกายอาจเริ่มจากการเดินข้างนอกวันละ 20-30 นาที ก็ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและช่วยเพิ่มสมาธิและสมาธิได้ อย่างน้อยที่สุด ให้แน่ใจว่าเราได้ขยับตัว ยืนขึ้น ยืดเส้นยืดสาย และเคลื่อนไหวอย่างน้อย 5 นาทีในทุก ๆ ชั่วโมง

ที่มา: theconversation กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลมณารมย์ nhs.uk