คู่มือของคนเป็นพ่อ เคล็ดลับช่วยพ่อแม่เลี้ยงลูก

คู่มือของคนเป็นพ่อ เคล็ดลับช่วยพ่อแม่เลี้ยงลูก

ประสบการณ์ครั้งแรกของการเป็นพ่อถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของผู้ชายทุกคน เพราะความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นบนบ่าของคุณดูจะหนักหนาอยู่ไม่เบา ถ้าอย่างนั้น เราลองมาดูกันซิว่า คนที่จะเป็นพ่อ เขาต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันอย่างไรบ้าง

Keypoint:

  • การเป็นพ่อที่ดีมี 7 สิ่งที่ไม่ควรทำ และมี 10 สิ่งที่ควรทำ เพื่อทำให้ครอบครัวไม่เกิดความแตกแยก สร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว
  • แม้ปัจจุบันการมีพ่อและแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมากขึ้น แต่การที่เด็กได้อยู่ในครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่ น่าจะช่วยให้พวกเขาได้รับความรับ การดูแล และมีความรักแน่นแฟ้นต่อกัน
  • พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากเห็นลูกๆ มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้าน ร่างกาย จิตใจ สังคม สติปัญญา ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกน้อยประสบความสำเร็จ 

วันพ่อแห่งชาติ นับเป็นวันที่ให้จะทำให้ได้หวนระลึกถึงพระคุณของพ่อที่ดูแลเลี้ยงดูเราจนเติบใหญ่ ซึ่งแม้ว่าบทบาทของพ่อนั้นจะไม่เหมือนบทบาทของแม่ ซึ่งเป็นผู้อุ้มท้องและให้กำเนิด แต่พระคุณของพ่อที่รักและคอยปกป้องช่วยเหลือลูกอยู่ไม่ขาดนับเป็นความรักที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรักของผู้เป็นแม่

ปัจจุบันด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดปัญหาด้านต่าง ๆ มากมายที่เข้ามาส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในครอบครัว จนนำมาสู่การหย่าร้างและการเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่มีปัญหาอะไรถ้าพ่อแม่มีความรับผิดชอบและปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมในฐานะพ่อแม่โดยไม่ขาดตกบกพร่อง แต่มันก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าถ้าครอบครัวนั้น ไม่แตกแยกและมีความรักแน่นแฟ้นต่อกัน

ปัญหาอย่างหนึ่ง ที่นำมาสู่ความล้มเหลวของชีวิตครอบครัว คือพฤติกรรมที่แสดงต่อกัน ไม่ว่าจะมาจากคุณพ่อ คุณแม่ ลูก หรือแม้แต่ญาติที่อาศัยใต้ชายคาเดียวกัน ถ้าเราเอาแต่ใจ และเลือกที่จะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับคนในครอบครัว อาจส่งผลทำให้เกิดความขุ่นเคืองต่อกันและความขัดแย้งในครอบครัวขึ้นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'5 เมนูสุขภาพ' บอกรักพ่อผ่านรสชาติอาหารแสนอร่อย ทำง่าย กินง่ายมีประโยชน์

ตรวจสุขภาพอายุ 30++ ก็ทำได้ ไม่ต้องรอถึงวันพ่อ!!


การเป็นพ่อที่ดี ควรทำ-ไม่ควรทำอะไรบ้าง?

ถ้ามองลึกลงไปในครอบครัวที่มีปัญหาเหล่านั้น พฤติกรรมที่ไม่ดีของพ่อ ก็มักจะเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้

เมื่อพ่อที่เป็นเสมือนผู้นำครอบครัวสร้างแต่ปัญหามากกว่าที่จะค้ำชูครอบครัว โอกาสที่ครอบครัวจะแตกแยก เนื่องจากความระส่ำระส่ายของสมาชิกในครอบครัวนั้น ก็มีทั้งหมดก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้มาก 

ด้วยปัญหาครอบครัวที่เกิดได้จากทั้งพ่อแม่ ซึ่งเพื่อให้ผู้เป็นพ่อปฏิบัติตัวให้ดีและสอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ 'กรุงเทพธุรกิจ' ขอนำเสนอการเป็นพ่อที่ดีต้องทำอย่างไร และเรื่องอะไรบ้างที่พ่อไม่ควรทำ เริ่มด้วย

1.พ่อที่ดีต้องไม่ล่วงละเมิด

การแสดงความรักกันในครอบครัว บางครั้งถ้าแสดงออกมากจนเกินไปหรือเป็นไปในแนวทางที่ไม่เหมาะสม แม้เราจะไม่คิดอะไร แต่ก็อาจถูกมองในมุมมองไม่ดีหรือเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนเป็นพ่อจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการวางตัวกับคนอื่น ๆ และสำคัญมากที่จะต้องปฏิบัติตัวต่อลูกอย่างเหมาะสมกับวัยของเขา

คู่มือของคนเป็นพ่อ เคล็ดลับช่วยพ่อแม่เลี้ยงลูก

2.ไม่สปอยล์

การเป็นคุณพ่อที่ดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราต้องตามใจลูกไปเสียทุกอย่าง เรื่องบางเรื่องเราต้องรู้จักห้ามปรามและชี้แจงอย่างมีเหตุผล ไม่ควรให้ท้ายหรือสนับสนุนพวกเขาในทางที่ผิด เพราะอาจจะเป็นการทำร้ายเขาทางอ้อม

3.ไม่ปล่อยปะละเลย

การที่พ่อปล่อยปะละเลยลูก หรือปล่อยให้ลูกอยู่ในความดูแลของแม่เพียงลำพัง หรือให้อยู่กับคนอื่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการขาดความรับผิดชอบในฐานะพ่อแล้ว ก็อาจจะนำมาซึ่งอันตรายต่อตัวของเด็กและความสูญเสียต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้การปล่อยปะละเลยจนเด็กได้รับอันตรายนั้น ก็มีความผิดทางกฎหมาย

 

ข้อห้ามที่คุณพ่อต้องไม่กระทำต่อลูก

4.ไม่เข้มงวดจนเกินไป

การเข้มงวดแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเข้มงวดมากเกินไปจนกลายเป็นการบังคับขู่เข็ญ ก็อาจส่งผลให้ผู้ที่ถูกกระทำ ซึ่งเป็นเด็กมีความอึดอัดและกดดัน จนส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจได้ และอาจส่งผลทำให้เขามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป อาจจะต่อต้านสังคม หรือไม่ก็ไม่กล้าที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง 

การขาดสิ่งเหล่านี้สำหรับโลกในยุคสมัยปัจจุบัน นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก ดังนั้นผู้เป็นพ่อ จึงไม่ควรที่จะเข้มงวดกับลูก ๆ จนเกินไป ปล่อยให้พวกเขาเป็นอิสระและมีโอกาสเติบโตอย่างเหมาะสมตามธรรมชาติและศักยภาพของพวกเขาจะดีกว่า

5.ไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่

ถึงแม้ว่าการเป็นพ่อจะถูกมองว่าเป็นผู้นำครอบครัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การเป็นผู้นำครอบครัวนั้นจะสามารถที่จะเอาตัวเองเป็นใหญ่ ใช้แต่ความคิดของตัวเองเป็นที่ตั้งได้ เพราะการอยู่ร่วมกันในครอบครัวนั้น

ทุกคนที่เป็นสมาชิกในครอบครัว ต่างก็ต้องมีสิทธิมีเสียงและสามารถแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัวได้ ซึ่งการเป็นคุณพ่อที่ดีนั้นจะต้องเปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นของทุกคนในครอบครัว และร่วมมือกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ไว้

คู่มือของคนเป็นพ่อ เคล็ดลับช่วยพ่อแม่เลี้ยงลูก

6.ไม่ใช้ความรุนแรง

พ่อควรเป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูกในการแสดงออกอย่างเหมาะสมในเรื่องต่าง ๆ รู้จักแก้ไขปัญหาทุกอย่างอย่างมีสติรอบคอบ ไม่ควรใช้อารมณ์หรือใช้ความรุนแรง ซึ่งสร้างเกิดความหวาดระแวงและหวาดกลัวกับคนรอบข้าง และอาจนำมาสู่ปัญหาครอบครัว จนทำให้ครอบครัวแตกแยกได้

7.ไม่หลงอบายมุข

อบายมุขมีด้วยกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งมึนเมา การพนัน ยาเสพติด คบคนพาล หรือแม้ว่า การติดเที่ยว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหนทางสู่ความเลวร้ายที่สร้างความเดือดร้อนให้ทั้งกับตนเองและคนในครอบครัวแทบทั้งสิ้น การหลงมั่วเมาไปกับสิ่งเหล่านี้ ย่อมส่งผลให้ชีวิตของตัวเองตกต่ำ และทำให้ชีวิตครอบครัวล่มสลายได้ จึงต้องระมัดระวังให้ดี

10 ข้อของพ่อที่ดีที่เหล่าคุณพ่อต้องทำ

1. ไม่รำคาญลูก

คุณพ่อต้องปรับตัวและเข้าใจว่าเด็กแรกเกิดจะร้องไห้บ่อย และร้องไห้กลางดึกด้วย คุณพ่อต้องช่วยคุณแม่อุ้มลูก ปลอบลูก เหนื่อยก็ให้กำลังใจกัน อย่าโมโหใส่กัน เดี๋ยวก็ผ่าน 2-3 เดือนแรกไปได้ ลูกน้อยก็จะไม่ร้องไห้กลางดึกแล้ว

2. เล่นกับลูก

คุณพ่อที่น่ารัก ต้องอุ้มลูก เล่นกับลูก หอมลูก และกล่อมลูกนอนได้แทนคุณแม่ เพราะการทำแบบนี้คือกำลังใจกองโตของคุณแม่เลยนะคะ คุณแม่จะมีกำลังใจเลี้ยงเจ้าตัวน้อยอย่างอารมณ์ดี แม้จะเหนื่อยแค่ไหน หรือเจ็บแผลหลังคลอดอย่างไร ภาพคุณพ่อเล่นกับลูกคือยาวิเศษให้แม่

3. หาคำพูดดีๆ มาพูดกับคุณแม่

อย่าลืมว่าคุณแม่จะมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดด้วย คุณพ่อที่ได้ใจคุณแม่และลูก ต้องหาแต่คำพูดดีๆ มาให้กำลังใจค่ะ เช่น คุณเป็นแม่ที่ดีมากเลย คุณทำดีมาก โทรบอกว่าคิดถึง หรือบอกรักเป็นประจำ 

4. เข้าใจความเปลี่ยนแปลง

คุณพ่อต้องไม่ถามหาเรื่องราวในอดีตก่อนจะมีลูก และไม่แสดงออกว่าน้อยใจคุณแม่ เพราะการมีสมาชิกใหม่ของครอบครัว ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้ง ต้องตื่นกลางดึก กินข้าวไม่ตรงเวลา คุณแม่ดูแลคุณพ่อน้อยลง สิ่งเหล่านี้ล้วนจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ

5. แสดงมุมอ่อนโยนของตัวเอง

เมื่อก่อนก็อ่อนโยนกับแม่ได้ เมื่อได้เป็นพ่อแล้ว ก็ต้องแสดงความอ่อนโยนต่อลูกค่ะ หากลูกงอแง คุณพ่อต้องรีบเข้าไปอุ้มลูก ปลอบลูก การได้ฟังคุณพ่อพูดเสียงสองกับลูก เป็นภาพที่น่ารักได้ใจคุณแม่ไปเลยค่ะ

6. เอาใจคุณแม่

ในช่วงที่คุณแม่ต้องเลี้ยงลูกอย่างเหนื่อยล้า คุณพ่อต้องแสดงความรักต่อคุณแม่ และลูกอย่างเต็มที่ บอกรัก บอกคิดถึง บอกเป็นห่วง ซื้อของให้ลูก แถมของแม่ด้วย เรียกว่าช่วงนี้เอาใจคุณแม่ให้สุดๆ

7. เป็นผู้ช่วยที่ดี

หลังคลอด คุณแม่ยังต้องกลับไปพบหมออีกเป็นระยะ คุณพ่อต้องพาไป อย่าละเลยเด็ดขาด ไปฟังเรื่องสุขภาพคุณแม่ด้วยก็เป็นการใส่ใจที่ควรทำ และช่วยอุ้มลูก ดูแลลูก ป้อนนมแทนแม่ ก็จะเป็นผู้ช่วยที่ดีมาก

8. ดูแลบ้าน

เมื่อก่อนคุณแม่อาจจะเป็นคนทำ แต่หลังคลอดลูก คุณพ่อต้องรับผิดชอบนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ซื้อกับข้าว ทำงานบ้านบางอย่าง หน้าที่จิปาถะถ้าทำได้คุณคือพ่อที่ดีและสามีที่ดีมาก

คู่มือของคนเป็นพ่อ เคล็ดลับช่วยพ่อแม่เลี้ยงลูก

9. ปกป้องคุณแม่

คุณพ่อควรเป็นคนออกหน้ารับแทน หรือแก้ตัวให้ภรรยา เมื่อมีคนมาวิจารณ์การเลี้ยงลูก โดยเฉพาะการพูดที่ทำให้คุณแม่ไม่สบายใจ อย่าปล่อยให้คุณแม่ต้องรับคำวิจารณ์อยู่คนเดียว ต้องเคียงข้างกันไว้ คุณแม่จะได้มีกำลังใจเลี้ยงลูก

10. รีบกลับบ้านมาหาลูก

เป็นพ่อคนแล้ว จะไปเที่ยวเตร่แบบเมื่อก่อนก็ไม่ควรทำ การโทรหาคุณแม่ว่าอยากกลับไปหาลูกไวๆ บอกเวลากลับที่แน่นอน และทำได้เสมอ แถมซื้อของอร่อยกลับมาให้กินอีก นี่คือสิ่งที่คุณแม่อยากให้ทำมากๆ 

10 บทบาท พ่อแม่ที่มีผลต่อความสุขลูกและครอบครัว

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุถึง 10 บทบาท ของพ่อแม่ที่มีผลต่อความสุข สุขภาพและความสำเร็จ ผ่านการตีความจากบทความชื่อ 'What Makes A Good Parent' โดย Robert Epstein นักวิจัยด้านจิตวิทยา เพื่อนำมาสรุปทักษะสำคัญ 10 อย่าง ของการเป็นพ่อแม่ที่ดี แล้วนำไปถามพ่อหรือแม่ 2,000 คน ซึ่งสามารถเรียงลำดับได้ดังนี้

1.แสดงความรักความผูกพันด้วยการกอด บอกรักและมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน

2.จัดการความเครียด ทั้งของตนเองและของลูก โดยฝึกเทคนิคผ่อนคลายและฝึกตีความเหตุการณ์ด้วยมุมมองเชิงบวก

3.ทักษะด้านความสัมพันธ์ โดยธำรงความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่สมรสหรือคู่ที่หย่ากันไปแล้ว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น

4.ความอิสระและเป็นตัวของตัวเอง ปฏิบัติต่อลูกอย่างมีความนับถือ สิ่งเสริมให้ลูกช่วยตัวเองและพึ่งพาตนเองได้

5.การศึกษาและการเรียนรู้ ส่งเสริมและเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ และให้โอกาสทางการศึกษา

คู่มือของคนเป็นพ่อ เคล็ดลับช่วยพ่อแม่เลี้ยงลูก

6.ทักษะชีวิต ให้มีรายได้ที่มั่นคงและมีการวางแผนอนาคต

7.การจัดการพฤติกรรม โดยเน้นการเสริมแรงเชิงบวก ใช้การลงโทษเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

8.สุขภาพ สร้างลีลาชีวิตและนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

9.ศาสนา ส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตวิญญาณและศาสนา และเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา

10.ความปลอดภัย ปกป้องความปลอดภัยให้ลูกอย่างระมัดระวัง โดยรับรู้การทำกิจกรรมและเพื่อนๆ ของลูก

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมอยากเห็นลูกๆ มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้าน ร่างกาย จิตใจ สังคม สติปัญญา ซึ่งพื้นฐานเหล่านี้นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกน้อยประสบความสำเร็จในอนาคตข้างหน้า 

อ้างอิง: รักลูก ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)