อาหาร - เครื่องดื่มต้องห้าม ผู้ป่วยซึมเศร้า อาจทำให้อาการแย่ลง

อาหาร - เครื่องดื่มต้องห้าม ผู้ป่วยซึมเศร้า อาจทำให้อาการแย่ลง

อาหารผู้ป่วยซึมเศร้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะอาหาร เครื่องดื่มบางอย่างอาจทำให้อาการแย่ลงได้ เช่นเดียวกับคำพูดที่มีทั้งแบบที่พูดแล้วเสริมกำลังใจ และพูดแล้วทำให้รู้สึกแย่ลง

Keypoints:

  • สถานการณ์ผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทย ราว 1.5 คน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้พบว่าพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตมีผล รวมถึงการใช้ยาบางตัวด้วย   
  • มีข้อมูลออกมาว่ามีอาหารบางประเภทที่จะช่วยเสริมประสิทธิในการรักษา ขณะเดียวกันก็มีอาหาร เครื่องดื่มบางชนิด และคำพูดบางอย่างที่ต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า จะทำให้อาการแย่ลงได้
  • นวัตกรรม และแอปพลิเคชันสุขภาพจิต ที่จะช่วยในการประเมิน ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือ ในกรณีที่มีอาการซึมเศร้า รวมถึง ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ 

    กทม.เข้าถึงบริการต่ำสุด
     ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 300 ล้านคน หรือเกือบ  4%  สำหรับในประเทศไทย ประมาณ  1.5 ล้านคน หรือราว 2.2% ของประชากรไทย โรคนี้ยังเป็นสาเหตุของการพยายามฆ่าตัวตายถึงปีละ 53,000 คน โดยคนไทยมีการทำสำเร็จ ปีละ 4,000 ราย

         ข้อมูลในปีงบประมาณ 2566 ของกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการเข้าถึงระบบบริการของผู้ป่วยซึมเศร้า  ภาพรวมอยู่ที่ 87.06% แยกเป็นรายเขตสุขภาพ

     เขต 1 เข้าถึง 127.60%

     เขต 2 เข้าถึง 101.84%

    เขต 3  เข้าถึง 119.20%

    เขต 4  เข้าถึง 113.92%

    เขต 5 เข้าถึง   86.51%

    เขต 6 เข้าถึง   76.84%
    เขต 7 เข้าถึง   88.91%

    เขต 8 เข้าถึง   82.41%

    เขต 9 เข้าถึง 102.36%

    เขต10 เข้าถึง100.46%

    เขต11 เข้าถึง 100.37%

    เขต 12 เข้าถึง112.43%

    เขต 13 (กทม.) เข้าถึง 21.19%

สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงโรคซึมเศร้า

       โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย เป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประกอบไปด้วยพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิต

  • หากมีฝาแฝดคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า หรือ bipolar ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสเป็นสูงถึง 60-80%
  • หากคนในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง) ที่เป็นโรคซึมเศร้า ก็จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 20%
  • ระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่ส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้านั้นเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 40:60%
  • การใช้ยาบางอย่างก็ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ เช่น ยานอนหลับบางตัว ยารักษาสิว ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์

9 ข้อสำรวจเข้าข่ายโรคซึมเศร้า

    การสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถตรวจจากข้อสำรวจง่ายๆ 9 ข้อนี้ ซึ่งข้อสำรวจนี้ก็ คือ เกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า หากมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป โดยต้องมีข้อ 1.) และ/หรือข้อ 2.) อยู่ด้วย

     หากอาการ 5 ใน 9 ข้อดังกล่าวเป็นยาวนานติดต่อกันเกินกว่า 2 สัปดาห์ ก็เข้าข่ายเสี่ยง ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป

  1. รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง
  2. เลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบมากๆ หรือไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ
  3. พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป จนทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ
  4. จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากเกินไป
  5. มีอาการกระวนกระวายหรือเฉื่อยชาที่แสดงออกให้เห็นชัด
  6. รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย
  7. รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด โทษตัวเองในทุกๆ เรื่อง
  8. ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ
  9. คิดถึงความตายหรืออยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อยๆ

 อาหารต้องห้ามและที่เหมาะกับผู้ป่วยซึมศร้า

       รพ.จิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต ได้มีการวิเคราะห์ประเภทอาหารที่เป็นผลดี และเป็นผลเสียต่อโรคซึมเศร้าและยาที่ใช้รักษา  ซึ่งอาหารบางอย่างอาจมีสารที่มีผลขัดขวางกับฤทธิ์ยารักษาโรคซึมเศร้าได้

       อาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรรับประทานเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพยารักษาของแพทย์ยิ่งขึ้น มี 5 กลุ่มและเครื่องดื่มอีก 2 ชนิด โดยอาหาร 5 กลุ่มประกอบด้วย

 1.กลุ่มอาหารที่มีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ คือ โอเมก้า3 ได้แก่ เนื้อปลาต่างๆ อาทิ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ทูน่า ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวายเนื้อขาว เป็นต้น 

2.ไข่ ซึ่งมีกรดอะมิโนที่สำคัญ โดยเฉพาะทริปโตเฟน(Tryptophan) และไทโรซีน (Tyrosine) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยสารทริปโตเฟนจะช่วยสร้างสารซีโรโทนิน (Serotonin)ทำให้อารมณ์ดี และยังเปลี่ยนให้เป็นเมลาโทนิน (Melatonin)ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น 

3.กลุ่มกล้วย จะมีแร่ธาตุโพแทสเซียม และมีสารทริปโตเฟน ช่วยบรรเทาให้ความดันโลหิตกลับสู่ภาวะสงบ ลดการเกิดภาวะเครียดและวิตกกังวล 

4.กลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อาทิ ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น จะช่วยสร้างสารซีโรโทนินในสมอง ช่วยให้ผ่อนคลาย

และ 5. กลุ่มเห็ดทุกชนิด จะมีธาตุเซเลเนียม(Celenium )สูง ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุขลดอารมณ์ขุ่นมัวได้  

ส่วนเครื่องดื่ม 2 ชนิดที่เป็นผลดีกับอารมณ์เป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ได้แก่ 1.น้ำอัญชัน ในดอกอัญชันจะมีสารแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์กระตุ้นความจำ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความกังวล และช่วยให้นอนหลับ

และ 2.น้ำลำไย ซึ่งมีสาร 2 ชนิดคือ กรดแกลลิก (Gallic acid) ทำให้อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และสารกาบาช่วยผ่อนคลายความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
อาหาร - เครื่องดื่มต้องห้าม ผู้ป่วยซึมเศร้า อาจทำให้อาการแย่ลง

สำหรับกลุ่มอาหารที่ผู้ป่วยซึมเศร้าห้ามรับประทาน เนื่องจากจะซ้ำเติมอาการป่วยหรือขัดขวางการดูดซึมยาที่รักษามี 2 ประเภท และเครื่องดื่มอีก 3 ชนิด ประเภทอาหาร ได้แก่ 

1.อาหารที่มีน้ำตาลสูง หวานจัด เนื่องจากอาหารที่มีน้ำตาลสูง ร่างกายจะดูดซึมได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด หากเผชิญเป็นประจำอาจจะนำมาสู่อาการหดหู่ซึมเศร้าได้

 2.อาหารประเภทไส้กรอก และถั่วปากอ้า ซึ่งมีสารไทรามีนสูง สามารถทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด เช่น ยาเซเลจิลีน (Selegiline) จะส่งผลให้มีสภาวะความดันโลหิตสูงได้ 

เครื่องดื่ม 3 ชนิด ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ควรดื่มเป็นอย่างยิ่ง คือ

1. ชา-กาแฟ เนื่องจากมีปริมาณกาเฟอีนสูง ทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หากดื่มเกินกว่า 2 แก้วต่อวัน จะทำให้ปริมาณกาเฟอีนในร่างกายสูง ทำให้วิตกกังวล ใจสั่นและเครียดเพิ่มขึ้น

 2.น้ำอัดลมโดยเฉพาะน้ำอัดลมประเภทสีดำเนื่องจากมีทั้งปริมาณกาเฟอีนและน้ำตาลสูง รวมทั้งน้ำอัดลมประเภทสีดำและไดเอต มีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้านประสาทวิทยาในต่างประเทศพบว่า กลุ่มผู้บริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล 4 กระป๋อง หรือ 4 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติ 3 เท่า ผู้ป่วยซึมเศร้าจึงควรเลี่ยงดื่มจะดีที่สุด

และ 3 .น้ำผลไม้บางชนิด เช่น น้ำในตระกูลส้ม เสาวรส น้ำองุ่นหรือเกรฟฟรุต เป็นต้น อาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษา ทำให้ตัวยาไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการรักษาเท่าที่ควร

 คำพูดที่ควร-ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยซึมเศร้า

     ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ควรเรียนรู้วิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีค่า  มีกำลังใจในชีวิตมากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่รู้สึกกดดัน และทำให้ผู้ป่วยได้พูดถึงความคิดของตนได้มากขึ้นสามารถที่จะสื่อสารกับผู้ป่วยด้วย ประโยคเหล่านี้ เช่น 

  • เธอไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะ ฉันจะอยู่ข้างๆ เธอเอง
  • ฉันอาจจะไม่เข้าใจเธอ แต่ฉันเป็นห่วงและอยากช่วยเธอนะ
  • เธอไหวไหม  เธอเหนื่อยมากไหม
  • ชีวิตเธอสําคัญกับฉันมากๆ นะ
  • เธออยากให้เราช่วยอะไรบ้าง บอกได้นะ เราอยากช่วย

     ส่วนคำที่ชวนให้ผู้ป่วยคิดเปรียบเทียบ หรือแสดงความไม่เข้าใจว่าทำไม่ถึงต้องซึมเศร้า และจากการที่ผู้ป่วยมีปัญหาในกระบวนการคิดจากภาวะความเจ็บป่วยอยู่ ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติม เป็นคำที่ไม่ควรพูด เช่น

  • เธอคิดไปเอง
  • ใครๆ ก็เคยผ่านเรื่องแบบนี้ทั้งนั้นแหละ
  • ลองมองในแง่ดีดูสิ
  • ชีวิตมีอะไรอีกตั้งเยอะ ทําไมถึงอยากตายล่ะ
  • หัดช่วยตัวเองบ้างสิ
  • หยุดคิดเรื่องที่ทําให้เครียดสิ
  • ทําไมยังไม่หายล่ะ
  • มีคนที่แย่กว่าเราอีกตั้งเยอะ เขายังสู้ได้เลย

แอปดูแลสุขภาพจิต
       การเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิตในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการประเมินตัวเอง การรับคำปรึกษาเบื้องต้น หรือการดูแลช่วยเหลือ มีการพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยให้คนเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งในส่วนของกรมสุขภาพจิต อาทิ

1.เครื่องมือแอป DMIND สามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางการสื่อสารของหมอพร้อม ทั้ง LINE Official https://bit.ly/2Pl42qo เฟซบุ๊กหมอพร้อม เลือกเมนู “ตรวจสุขภาพใจ” และเว็บไซต์ https://bit.ly/DMIND_3

       สามารถประเมินความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าจากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง (Voice feature) และการตอบคำถามจากข้อความคุณลักษณะเฉพาะ (Text feature) ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการประเมินด้านสุขภาพจิตและค้นหาผู้ที่มีภาวะอารมณ์ซึมเศร้าได้อย่างรวดเร็ว

            การแสดงผลใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับปกติ (สีเขียว) จะแนะนำข้อมูลการดูแลสุขภาพจิตโดยทั่วไป ระดับกลาง (สีเหลือง) ศูนย์สุขภาพจิตเขต 1-13 ภายใต้กรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ จะติดตามเคสในพื้นที่ และระดับรุนแรง (สีแดง) มีความเสี่ยงรุนแรง ทีมสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะรับหน้าที่ติดตามอาการ เพื่อประเมินสุขภาพจิต สำรวจปัญหา พิจารณาหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าให้ได้รับการรักษาแบบ Fast Track

           2. Mental Health Check up แอปพลิเคชันที่ออกแบบมาเพื่อประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตนเอง และคัดกรองปัญหาโรคจิตเวชที่พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่ปัญหาความเครียดสะสม ปัญหาชีวิต และฆ่าตัวตาย ซึ่งพบได้จากข่าวในต่างประเทศว่ามีแนวโน้มสุขภาพจิตแย่มีมากขึ้น

            3.แอปพลิเคชัน Sabaijai (สบายใจ) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการประเมินสภาวะทางด้านจิตใจของบุคคลว่ามีภาวะที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือไม่ โดยมีแบบคัดกรองให้ทำเพื่อประเมิน ภายในแอปพลิเคชันมีคำแนะนำที่จำแนกตามความเหมาะสมกับเพศ และอายุ โดยอายุแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ 15-24 ปี อายุ 25-59 ปี และอายุ 60-65 ปี

อ้างอิง: กรมสุขภาพจิต ,รพ.พญาไท

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์