คนไทยป่วย'ซึมเศร้า'เพิ่มเกือบ 1 แสนราย 3ส ช่วยคนใกล้ชิด

คนไทยป่วย'ซึมเศร้า'เพิ่มเกือบ  1 แสนราย  3ส ช่วยคนใกล้ชิด

WHOพบว่า 1 ใน 8 คนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต ขณะที่คนไทยจำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเกือบ 1 แสนคน  เร่งเดินหน้า 3 แนวทาง Quick Win เพิ่มเข้าถึงบริการ “สุขภาพจิตทุกที่ทุกเวลา”

สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation for Mental Health: WFMH) ได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ป็นวันสุขภาพจิตโลก หรือ World Mental Health Day นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต สำหรับในปี  2023 ประเทศไทยจัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลก ภายใต้แนวคิด : Mental Health Anywhere เพื่อนแท้มีทุกที่” เพราะเมื่อทุกคนมีสิทธิก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งต่อและสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิที่พึงจะได้รับการดูแล รวมถึงการร่วมมือเพื่อป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางด้านจิตใจ  
ไทยแนวโน้มป่วยจิตเวชเพิ่ม

         เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2566 ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานเนื่องในวันสุขภาพจิตโลก 2023 ภายใต้แนวคิด Mental Health Anywhere : เพื่อนแท้มีทุกที่ และแถลงข่าว kick of นโยบาย Quick Win 100 วันสุขภาพจิตและยาเสพติดว่า  วันสุขภาพจิตโลกประจำปีนี้  องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)วางแนวทางการรณรงค์ ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตเป็นสิทธิมนุษยชนสากล  โดยเฉพาะปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลWHOพบว่า 1 ใน 8 คนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน 

     ในประเทศไทย จากรายงานระบบคลังข้อมูลสุขภาพ สธ. พบว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นจาก 1,156,734 รายในปี  2564 เป็น 1,240,729 รายในปี 2566  ทั้งนี้ การเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในทุกช่วงวัย ทุกพื้นเป็นเรื่องจำเป็น 

      ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพื่อตอบรับกับเรื่องสุขภาพจิตเป็นสิทธิมนุษยชน จึงประกาศแนวทางรณรงค์ว่าเพื่อนแท้มีทุกที่  ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพจิตได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างสะดวก สิทธิมนุษยชนเรื่องนี้จะถูกขานรับและตอบรับอย่างเต็มที่ ขอเพียงมองที่ตัวเองถ้าต้องการเพื่อนสธ.พร้อมเป็นเพื่อนทุกที่ทุกเวลา

3 ข้อQuick Win สุขภาพจิต-ยาเสพติด         

     การขับเคลื่อนจะมุ่งเป้าประชาชนมีสุขภาพจิตดี มีความสุข จะขยายการบริการการดูแลรักษาฟื้นฟูสุขภาพจิตและจิตเวชให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้รับบริการอย่างทั่วถึง โดยได้มีประกาศเป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุข Quick win 100 วันแรก ประเด็นสุขภาพจิตและยาเสพติด  เป็นความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 

1. มีแผนการจัดตั้งศูนย์มินิธัญญารักษ์ดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดอย่างครบวงจรทุกจังหวัด

2.มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ครอบคลุมทุกจังหวัด

และ 3.มีการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน ครบทุกอำเภอต่อไป เพราะกลไกเพื่อนแท้ในการดูแลประชาชน เพราะสุขภาพใจที่ดีและเข้มแข็งจะนำไปสู่การสร้างสุขภาพกาย สุขภาพปัญญา และสุขภาพสังคมที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

เทคโนโลยีเพิ่มบริการ 

      นอกจากนี้  เปิดให้ประชาชนเข้าถึงบริการผ่านช่องทางหลากหลายด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล นำมาเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้าถึง  ในฐานะเป็นเพื่อนได้ตลอดเวลา  ผ่านระบบเทคโนโลยีหรือสายด่วน 1667 หรือ เดิม 1323 บริการให้คำปรึกษา ประเมิน ตรวจสุขภาพจิต คิดว่ามีความเครียด มีปัญหาด้านสุขภาพจิต สามารถเข้าถึงแหล่งให้ความรู้คำปรึกษาได้  โดยจะมีการพัฒนาคิวอาร์โคด ต่อสายพูดคุยได้ แอปพลิเคชันต่างๆ แชตคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้นก่อน รวมถึง ประสาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย เพื่อให้เขารู้ตัวเอง มีวิธีการตัดสินต่อการตอบสนองต่างๆ
      อย่างเช่น เครื่องการตรวจทางประสาทจิตวิทยาศาสตร์ สามารถวัดพุทธิปัญญาทั้งในคนปกติ และผู้ที่สมองเสื่อม โดยปัจจุบันมีการนำมาใช้กับกลุ่มผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมระยะแรกที่มีมากขึ้น คือ คนที่อายุยังไม่ถึง 60 ปีก็เริ่มเจอ ซึ่งรพ.สมเด็จเจ้าพระยาได้นำมาวัดการรับรู้ พบว่า มีพุทธิปัญญาน้อยลง รวมถึง  ความคิดเชิงบริหารทำให้ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน ไม่สามารถวางแผน คิดยืดหยุ่น หรือการยับยั้งชั่งใจตัวเองได้ โดยเครื่องจะวัดและประเมิน

        และการใช้เทเลเมดิซีนจากเดิมใช้ติดตามคนไข้ของรพ.ที่อาการสงบดีแล้ว แต่ที่จะดำเนินการเพิ่มเติม คือในการออกหน่วยในพื้นที่จะสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลผู้ป่วยในรพ.ได้เลย โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว นำมาเสียบเข้ากับเครื่อง แล้วจะลงแอปพลิเคชันเทเลเมดิซีนให้กับคนไข้ ทำให้สามารถตรวจติดตามคนไข้ได้ โดยระบบมีการเชื่อมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)แล้ว รพ.สามารถส่งเบิกค่าใช้จ่ายได้เลย

     ขณะที่ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์  รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  กรม ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของหอผู้ป่วยจิตเวช และกลุ่มงานจิตเวชเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลประชาชน รวมถึง ได้ดำเนินงานด้านการรณรงค์ สื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการให้พัฒนาศักยภาพของประชาชนให้มีความเข้มแข็งทางจิตใจ และร่วมกันช่วยเหลือกันและกันให้ก้าวผ่านสถานการณ์ที่สับสนสนหรือยากลำบาก เพราะร่างกายและจิตใจมีความเชื่อมโยงกัน หากมีปัญหาสุขภาพจิตก็จะส่งผลต่อสุขภาพกาย ในขณะที่หากสุขภาพกายทรุดโทรมเสื่อมถอย ก็ส่งผลให้เกิดความเครียดจากความรู้สึกเป็นทุกข์ทางใจตามมา
             “ ยาเสพติดก็เป็นปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลททั้งกายและจิต ซึ่งเป้าหมาย Quick win 100 วันในประเด็นสุขภาพจิตและยาเสพติด จึงเป็นหนทางที่จะทำให้กลไลทางสุขภาพทั้ง 2 ด้านได้รับการดูแลทำงานสอดประสานให้ดียิ่งขึ้น”นพ.พงศ์เกษมกล่าว 
องค์ประกอบดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง 

         องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้สถานการณ์การดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้ต่อเนื่องดีขึ้นได้ในขณะนี้ คือ การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ให้รับทราบและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย จัดทำแนวทางบูรณาการทรัพยากร และบทบาทหน้าที่เพื่อช่วยกันดูแลติดตามฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดอย่างเป็นระบบ กระตุ้นครอบครัวผู้ป่วยหมั่นใส่ใจดูแล พร้อมรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ชุมชนและให้โอกาสทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ และทำการรักษาต่อเนื่อง เพื่อใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นและไม่เป็นปัญหา เพื่อให้ผู้ที่ต้องการทางออกเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตและได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

3ส ช่วยคนใกล้ชิด
      สำหรับแนวทางการช่วยเหลือต่อคนรอบข้างควรให้การช่วยเหลือผู้ใกล้ชิดคนที่มีความเครียดด้วยหลัก 3 ส หรือ 3L ในการปฐมพยาบาลทางใจ ได้แก่  1. สอดส่องมองหา โดยค้นหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น ผู้ที่แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ เครียด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช 2.ใส่ใจรับฟัง อย่างตั้งใจ รวมทั้งใช้ภาษากาย เช่น จับมือโอบกอด เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจ และ3. ส่งต่อเชื่อมโยง โดยให้ความช่วยเหลือ ตามความจำเป็น หากไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เครียดรุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้ป้องกัน ส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป