บริหารจัดการ ความเครียด-ทุกข์ - และซึมเศร้าในองค์กร!

บริหารจัดการ ความเครียด-ทุกข์ - และซึมเศร้าในองค์กร!

การสร้างปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ที่ดี ให้การสื่อสารระหว่างกันเป็นไปในเชิงบวกระหว่างคนกับคนในองค์กร สุดท้ายแล้ว ธุรกิจและองค์กรต้องก้าวไปข้างหน้า แต่ก็ไม่ควรก้าวไปโดยการละเลย ไม่ใส่ใจพนักงานบางส่วนที่ทนทุกข์จนเป็นโรคซึมเศร้าในองค์กร

Part.1. โรคซึมเศร้าในอดีตกับปัจจุบัน !?

สิบกว่าปีที่แล้ว หลายๆท่านคงจำโฆษณาที่ ติดหู ติดปาก กันทั่วบ้านทั่วเมืองกันได้ กับประโยค “จน-เครียด-กินเหล้า” ซึ่งสะท้อนสังคมไทยได้อย่างตรงความเป็นจริงมาก

เกือบยี่สิบปีที่แล้ว เราๆท่านๆก็ไม่ค่อยได้ยินหรือคุ้นชินกับคำว่า “โรคซึมเศร้า” กันเท่าไหร่ แต่ในไม่กี่ปีมานี้

โรคซึมเศร้า กลับกลายเป็นโรคที่เป็นกันมาก ทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา นักแสดง พิธีกร ยูทูปเบอร์และอีกหลากหลายอาชีพ แม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจำนวนไม่น้อยก็ไม่รอดพ้นจากโรคนี้เช่นกัน!

แต่ประเด็นในวันนี้ไม่ได้ต้องการมาถกเชิงวิชาการในเรื่องโรคซึมเศร้า แต่จะมาชวนคิดกันว่า พนักงานจำนวนไม่น้อยของแต่ละองค์กร ทำไมถึงเป็นโรคซึมเสร้ากันมากในปัจจุบัน และท่านควรป้องกันหรือบริหารจัดการอย่างไรกับพนักงานที่เป็นโรคซึมเศร้าในองค์กร

Part.2. มันเริ่มต้นจากอะไร !?

สำหรับบุคคลทั่วไปทุกสาขาอาชีพ ความสูญเสีย ความทุกข์ ความเครียดสะสม มักจะเป็นกลุ่มสาเหตุลำดับต้นๆที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้ากับคนที่เป็น ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียบุคคลที่รัก ความทุกข์ใจจากสุขภาพร่างกาย ความทุกข์ใจในเรื่องเงินและอีกสารพัดเรื่องที่ก่อให้เกิดความทุกข์ใจ (เช่น เปรียบเทียบชีวิตตนเองที่ดูธรรมดา ไร้ค่า เมื่อเห็นชีวิตของคนรู้จักและไม่รู้จักในโลกโซเชียลที่ชีวิตดี๊ดี ก็ก่อให้เกิดความทุกข์ในยุคนี้ได้เช่นกัน)

แต่โรคซึมเศร้าที่เกิดจากที่ทำงานใช่ว่าจะไม่มี ยิ่งพนักงานบางคนมีปัจจัยอื่นๆที่อาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว (เช่นปัญหาในครอบครัว ญาติพี่น้องหรือปัญหาชีวิตคู่ ปัญหาเรื่องหนี้สิน ฯลฯ)เมื่อมาเจอปัญหาในที่ทำงาน ก็เหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่กดทับ สะสมรวมกับปัญหาส่วนตัวที่มี ก็ทำให้กลายเป็นซึมเศร้าได้

Part.3. สาเหตุหลักๆจากที่ทำงานที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

จำเลยหลัก ที่ไม่ใช่ จำเลยรัก มักจะเกิดจาก เจ้านายสายตรง (หัวหน้างาน)! เพราะธรรมชาติของคนที่เป็นหัวหน้า เป็นผู้จัดการที่ไม่ได้ผ่านการเรียนรู้ หล่อหลอมให้เป็นหัวหน้าที่ดีมืออาชีพ ขาดทักษะในเรื่องCoaching มักจะเป็นผู้สร้างความทุกข์ มากกว่าสร้างความสุขให้กับลูกน้อง และยังเป็นผู้ที่ทำลายศักยภาพของลูกน้อง มากกว่าสร้างศักยภาพให้กับลูกน้อง!

พนักงานบางส่วน อาจเจอปัญหาที่เกิดจาก เพื่อนร่วมงาน (ไม่ว่าจะเป็นในหน่วยงานเดียวกัน หรือ หน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องกัน) หรือเจอปัญหาจากลูกค้า ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ปัญหาซ้ำๆซากๆที่หน่วยงานหรือบริษัทไม่เคยแก้ไขอย่างจริงจัง แต่พนักงานต้องเป็นด่านหน้ารับการด่า จากลูกค้าบ่อยๆ)

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ปัญหาส่วนตัว/ปัญหาครอบครัวของพนักงานมาผสมแบบไม่กลมกลืนแต่ผสมจนทำให้พนักงานกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก อยากจะสำรอกออกมาเป็นเลือด ได้แต่กล้ำกลืน เก็บกด สะสมจนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าอย่างที่เห็นกันในทุกวันนี้

Part.4.ต้องไม่ลืมว่า…..

คนแต่ละคน รวมทั้งพนักงานแต่ละคนมี “ภูมิคุ้มกันทางใจ” ไม่เท่ากัน บางคนถือว่าโชคดีที่ครอบครัวทางบ้าน บ่มเพาะหล่อหลอมสภาพจิตใจให้แข็งแกร่งมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก จนเมื่อโตขึ้นออกมาใช้ชีวิตการทำงาน เจอปัญหาชีวิต เจออุปสรรคในการทำงาน ก็สามารถผ่านมาได้ เพราะมี ภูมิคุ้มกันทางใจที่เข้มแข็ง

แต่คนแบบนี้ มีน้อยมากในปัจจุบัน!

เพราะในยุคปัจจุบัน แต่ละครอบครัวก็มีภาระหน้าที่ทำมาหากิน ไม่มีเวลาพูดคุยบ่มเพาะหล่อหลอม มักจะปล่อยให้โรงเรียนและอุปกรณ์เทคโนโลยี มือถือ ไอแพดต่างๆเลี้ยงและอยู่เป็นเพื่อนลูกแทน!

จึงไม่ต้องแปลกใจ ที่พนักงานจำนวนไม่น้อยในยุคปัจจุบัน เป็นโรคซึมเศร้าง่ายกว่าในอดีต

Part.5.เรื่อง "เร่งด่วนระยะสั้น”

ถ้าพนักงานมีอาการซึมเศร้ามาก ต้องให้การช่วยเหลือ ส่งไปพบจิตแพทย์ที่เป็นมืออาชีพด้านนี้อย่าปล่อยเรื้อรังจนเกิดความสูญเสียแล้วมานั่งพูดทีหลังว่า “รู้งี้….” หรือ ทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคซึมเศร้าโดยปราศจากความรู้ ความเข้าในเรื่องนี้

Part.6.วิธีที่จะช่วย “ป้องกันและแก้ไขในเบื้องต้น”

วิธีที่จะช่วยทั้งป้องกันคือ การให้ความใส่ใจ การสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง หัวหน้ากับลูกน้อง ระหว่างเพื่อนร่วมงาน และให้แนวทางวิธีการแก้ไขในการรับมือลูกค้าที่มีปัญหา

ข้อสังเกตที่น่าสนใจที่ใช้แล้วได้ผลคือ หัวหน้า-ผู้จัดการ ที่มีทักษะในเรื่องการ Coaching ทีมงานเป็นตัวช่วยป้องกันและแก้ไขในเบื้องต้นอย่างได้ผลมากๆ

เพราะจะช่วยสร้าง ปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ที่ดี ให้การสื่อสารระหว่างกันเป็นไปในเชิงบวกระหว่างคนกับคนในองค์กร

สุดท้ายแล้ว ธุรกิจและองค์กรต้องก้าวไปข้างหน้า แต่ก็ไม่ควรก้าวไปโดยการละเลย ไม่ใส่ใจพนักงานบางส่วนที่ทนทุกข์จนเป็นโรคซึมเศร้าในองค์กร จนสุดท้าย ก็สายเกินไปเมื่อถึงวันที่ต้องสูญเสียเพราะพนักงานจบชีวิตตัวเองเพราะโรคซึมเศร้า!