'วัยเก๋า' ดูแลเข่าด้วยศาสตร์ 'แพทย์แผนไทย'

'วัยเก๋า' ดูแลเข่าด้วยศาสตร์ 'แพทย์แผนไทย'

เมื่อก้าวสู่สังคมสูงวัย หนึ่งในโรคภัยที่ตามมาจากอายุที่มากขึ้น คือ อาการเข่าเสื่อม ปวดเข่า โดยพบตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป โดยเฉพาะผู้หญิง กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะวิธีการประคบง่ายๆ ที่บ้าน และสมุนไพรไทย ที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวด

Key Point :

  • เมื่ออายุมากขึ้นสิ่งที่ตามมา คือ ความเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะเข่า ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต
  • ข้อเข่าเสื่อม นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของร่ากายแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ใส่รองเท้าส้นสูง น้ำหนักตัวที่เยอะ ทำให้มีอาการปวดเข่าได้มากขึ้น
  • กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะวิธีบรรเทาอาการปวดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย รวมถึง พัฒนาแผ่นยาพอก ที่อยู่ในสิทธิการรักษา 30 บาทรักษาทุกโรค

 

ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ หรือในวัยกลางคนขึ้นไป โดยเฉพาะในเพศหญิง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงหนี่งที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น คือ การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป อาการข้อเข่าเสื่อม ก็จะเริ่มต้นด้วยการมีอาการปวดข้อ หลังจากที่มีอายุมากขึ้น อาการปวดข้อก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

 

พท.ป.กนกวรรณ หัวไผ่ แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในช่วงเสวนา ‘วัยเก๋าดูแลเข่าด้วยสมุนไพร’ ภายในงาน Health & Wealth Expo 2023 จัดโดย เนชั่น กรุ๊ป โดยระบุว่า ปัจจุบันพบว่าบางคนผ่าเข่าตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน จะมีความเสื่อมร่างกายค่อนข้างเร็ว และอากาศหนาวกระตุ้นการปวดเข่ามากขึ้น

 

“อีกทั้ง พอเวลาอากาศเย็น กล้ามเนื้อแข็งตัว เลือดลไหลเวียนไม่สะดวก และบางทีไม่ค่อยขยับ ทำให้เกิดอาการปวดเข่าได้ หรือ โรคประจำตัวบางโรค เช่น เก๊าท์ ปัญหาเรื่องข้อ รูมาตอยด์ และผู้สูงวัยที่ส่งผลให้เข่าเสื่อม นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ใส่รองเท้าส้นสูง น้ำหนักตัวที่เยอะ ทำให้มีอาการปวดเข่าได้มากขึ้น”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

บรรเทาอาการปวดง่ายๆ ที่บ้าน

สำหรับวิธีบรรเทาอาการ 'ปวดเข่า' เบื้องต้นที่สามารถทำได้ในครัวเรือน ได้แก่ นำผ้าชุบน้ำอุ่นพันไว้บริเวณรอบเข่า บรรเทาอาการกล้ามเนื้อตึง โดยเฉพาะหลังข้อพับให้อ่อนลงและช่วยให้อาการปวดเข่าลดลง ใช้เวลาราว 10 นาที 2 รอบ

 

หรือ 'ใช้น้ำมันไพล' หรือ ต้นไพล สามารถนำมาตำให้เป็นน้ำเหลืองๆ ทารอบเข่า โดยสรรพคุณของไพล ตามศาสตร์แพทย์แผนไทย ช่วยลดการอักเสบกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ

 

นอกจากนี้ 'ลูกประคบ' สามารถใช้ได้เช่นกัน ไม่ใช่ประคบแค่เข่า แต่ให้ประคบบริเวณกล้ามเนื้อขาด้วย และใต้ข้อพับเข่า โดยลูกประคบ สามารถใช้ได้ราว 3-4 ครั้ง แต่ต้องดูว่ากลิ่นไม่เปลี่ยน เปรี้ยว หรือเสีย แนะแนะผึ่งให้แห้ง และแช่ช่องฟีช

 

อีกทั้ง สามารถใช้ท่าบริหารฤาษีดัดตน ซึ่งสามารถเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือ Youtube : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ( DTAM ) คลิก ซึ่งช่วยในการฝึกสมาธิ บำบัดทั้งสมาธิ จิตบำบัด และกายบำบัดไปด้วยพร้อมกัน สำหรับผู้สูงอายุ หากนั่งนาน เลือดลมไม่ไหลเวียน แนะนำให้ขยับร่างกายทุกๆ 2 ชั่วโมง

 

 

แผ่นพอกสมุนไพร

พท.ป.กนกวรรณ กล่าวต่อไปว่า นอกจากท่ากายบริหาร สมุนไพรแล้ว กรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังมีการพัฒนาสูตรยาแผ่นพอก มีการวิจัยเปรียบเทียบระหว่างการนวดธรรมดา และ การใช้แผ่นพอก พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้แผ่นพอกร่วมด้วย อาการปวดเข่าดีขึ้น โดยเลือกตำรับที่ได้ผลดีที่สุด พัฒนาเป็นแผ่นพอกเข่าโดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ และที่สำคัญ สามารถเบิกจ่ายได้ด้วย อยู่ในสิทธิการรักษา 30 บาทรักษาทุกโรค

 

สำหรับแผ่นพอกสมุนไพร เป็นการวิจัยร่วมกันระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยฯ และภาคีเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์) จัดทำโครงการศึกษาวิจัยประสิทธิผลและความปลอดภัยของหัตถการพอกเข่ากลุ่มผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคลมจับโปงแห้งเข่า ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ศึกษาเชิงการทดลอง ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาโครงร่างงานวิจัยในคนแล้ว คาดว่าผลการศึกษานี้จะทำให้การพอกเข่าเป็นหัตถการที่สำคัญของการแพทย์แผนไทยที่ช่วยลดอาการปวด อาการฝืดและเพิ่มการเคลื่อนไหวข้อเข่าให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจและโรคกระเพาะอาหาร ช่วยลดการใช้ยาแก้ปวด ลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงสำคัญของยาแก้ปวดได้

 

ยาพอกเข่าตำรับนี้ เป็นยาพอกเข่าสูตรร้อน เหมาะสำหรับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมหรือโรคลมจับโปงแห้งเข่า ซึ่งเป็นสูตรตำรับดั้งเดิมของอาจารย์อภิชาติ ลิมป์ติยะโยธิน อาจารย์แพทย์แผนไทยที่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์ตั้งแต่อดีต และมีการนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน โดยยาพอกเข่าสูตรตำรับนี้ ทางผู้วิจัยผลิตจากโรงงานที่ผ่านมาตรฐาน GMP โดยกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นผู้ผลิตเพื่องานวิจัยครั้งนี้

 

พท.ป.กนกวรรณ ฝากทิ้งท้ายว่า เรื่องของฤดูหนาวกำลังใกล้เข้ามา ในทางการแพทย์แผนไทย ช่วงฤดูหนาวจะแนะนำให้ประชาชน หันไปทานเครื่องเทศสมุนไพรที่มีรสร้อน ทำให้กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และทำให้ร่างกายอบอุ่นมากยิ่งขึ้น ถือเป็นภูมิคุ้มกันป้องกันในช่วงหน้าหนาว