15 สมุนไพรHerbal Champions สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสู่ตลาดโลก

15 สมุนไพรHerbal Champions สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสู่ตลาดโลก

กรมการแพทย์แผนไทยฯประกาศ “สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ” ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า วางเป้าหมายออกสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

Keypoint:

  • สมุนไพรไทย 15 รายการ โกอินเตอร์ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศ
  • "ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร กระชาย" ต่อยอดพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ ยาสมุนไพรที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก 
  • กระชายขาว สามารถช่วยยับยั้งเชื้อก่อเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลเตรียมพัฒนาสู่ตลาดยาดูแล ป้องกันผู้ป่วย

โดยได้มีการจัดแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 สมุนไพรที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอด 3 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ และกลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีศักยภาพและต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา 12 รายการ ได้แก่ บัวบก มะขามป้อม ไพล ขิง กระชาย ว่านหางจระเข้ กวาวเครือขาว มะระขี้นก เพชรสังฆาต กระท่อม กัญชง และกัญชา

จากรายงานของ Euromonitor International แสดงให้เห็นว่า มูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก (Retail Value RSP) มีมูลค่ารวมมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท

ประเทศไทยมีขนาดตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาทต่อปี จัดเป็นประเทศที่มีมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก (รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี และไต้หวัน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“สมุนไพรออร์แกนิค” มาแรง ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพทั่วโลก

เข้าถึงข้อมูล "แพทย์แผนไทย-สมุนไพร" ผ่าน Smart Healthcare TTM

ท้องอืด ท้องเฟ้อ "4 ยาสมุนไพร" สำหรับเด็กช่วยได้

7 แอปพลิเคชั่นแพทย์แผนไทย-สมุนไพร และแพลตฟอร์มใหม่

 

 

ประกาศขยายตลาดสมุนไพรไทยสู่เวทีโลก 

“นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์”  อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่ามั่นใจว่าสมุนไพร Herbal Championsทั้ง 15 รายการ ที่ประกาศไปนี้จะช่วยขยายตลาดสมุนไพรไทยในเวทีโลกได้ ทั้งนี้สมุนไพรหลายรายการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 รายการแรก (ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ) มีความต้องการในตลาดโลกอยู่แล้ว

ขมิ้นชัน”กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ตลาดโลกมีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชันถึง 366.78 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียส่งออกสูงสุด 225.54 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 61.5% การนำเข้ามีมูลค่า 382.96 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยสหรัฐอเมริกานำเข้าสูงสุด 62.74 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 16.4% ส่วนตลาดประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชัน 2.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.19 ล้านเหรียญสหรัฐ

15 สมุนไพรHerbal Champions สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสู่ตลาดโลก

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกขมิ้นชันลำดับที่ 14 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.8% ของตลาดส่งออกทั้งหมดแม้ว่าปัจจุบัน ไทยจะมีราคาส่งออกขมิ้นชันต่อหน่วย 2,244 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงกว่าราคาต่อหน่วยของโลก (1,612 เหรียญสหรัฐ/ตัน)

ทั้งนี้ ไทยยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาและเพิ่มมูลค่าขมิ้นชันได้ เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการเกษตร และการแปรรูปขมิ้นชัน เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสของขมิ้นชันในตลาดโลกยังมีอีกมาก

 

เช็กมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

ฟ้าทะลายโจร”เป็นยาสมุนไพรที่ถูกใช้กันมายาวนานและแพร่หลายในหลายประเทศทั่วทวีปเอเชีย มีสรรพคุณโดดเด่นด้านการรักษาอาการหวัด อาการเจ็บคอ และอาการไอ

โดยระยะที่ผ่านมาเป็นสมุนไพรที่มีความต้องการในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ตลาดของยาฟ้าทะลายโจรในประเทศไทยปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ The Global Industry Research รายงานมูลค่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรในตลาดโลก ปี 2022 พบว่ามีมูลค่า 164.18 ล้านเหรียญสหรัฐ

และคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 331.01 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2028 โดยเชื่อว่าฟ้าทะลายโจรจะยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมถึงเป็นทางเลือกของผู้ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการผลักดัน ฟ้าทะลายโจรให้เป็นสมุนไพรที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ

กระชายดำ”หรือโสมไทย (Thai Ginseng) จัดเป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย แม้จะยังเป็นที่รู้จักในประเทศไทยไม่มากนัก แต่กลับเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ปัจจุบันตลาดในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกระชายดำอยู่หลากหลาย อาทิ กลุ่มเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟผสมกระชายดำ อาหารเสริม ยาแผนโบราณ เป็นต้น

แนวโน้มถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับนักกีฬาและสำหรับผู้สูงอายุ จากข้อมูลสถิติการนำเข้าส่งออกของกรมศุลกากรระหว่างปี 2559-2564 พบว่าประเทศไทยมีการส่งออกวัตถุดิบกระชายดำ 172 ล้านบาท และสารสกัดกระชายดำ 44.5 ล้านบาท

ในขณะที่ Future Market Insights (FMI) มีการประเมินความต้องการตลาดของสารกลุ่มฟลาโวน (flavones) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบมากในกระชายดำ มีมูลค่าสูงถึง 12.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2031 ซึ่งถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนากระชายดำอย่างจริงจังเพื่อสร้างชื่อเสียงและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศต่อไป

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครขอรับสิทธิ์การส่งเสริมการประกอบการภายใต้พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 เข้าไปแสดงความจำนงได้ที่https://www.dtam.moph.go.th/index.php?lang=th โดยจะได้รับใบรับรองจากระบบภายใน 15 วัน สามารถนำใบรับรองดังกล่าวไปใช้เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่ได้ระบุไว้ภายใต้พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562

15 สมุนไพรHerbal Champions สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสู่ตลาดโลก

“กระชายขาว”พืชสมุนไพรดาวรุ่ง

“ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) มหาวิทยาลัยมหิดล” นำโดย “ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ” ผู้อำนวยการศูนย์ ECDD ได้ดำเนินการต่อยอดวิจัยพืชสมุนไพรกระชายขาวว่าบทบาทหน้าที่ของศูนย์ คือ การพัฒนาต่อยอดสารสกัดสมุนไพรที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในต้นแบบการทำตำรับยา หรือรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้สมุนไพรไทย กระชายขาวได้มีโอกาสขึ้นทะเบียนเป็นตัวยา ช่วยดูแล ป้องกัน และรักษาของผู้คน 

ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มโอกาสมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการทำให้สมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก รวมถึงเพิ่มรายได้ เพิ่มอาชีพให้แก่เกษตรกรอัจฉริยะ (smart farmers) จากทั่วประเทศ เพื่อรองรับการผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมยา ก่อนขยายผลสู่ตลาดโลก

“ภายใน 3 ปี ข้างหน้าคาดว่ามูลค่าตลาดสมุนไพรไทยสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้สูงถึง 8,600 ล้านบาท โดยมีคู่เทียบ (benchmark) ถึงระดับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ซึ่งการจะทำให้การเติบโตแบบก้าวกระโดดได้นั้น ทุกภาคส่วนทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกัน โดนเฉพาะการกระตุ้นให้ smart farmers จากทั่วประเทศ เกิดการแข่งขันในการปลูกพืชสมุนไพรไทยต่างๆ ให้ได้ตามมาตรฐานการผลิต GAP (Good Agricultural Practice)มากขึ้น” ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ กล่าว

กระชายขาวยับยั้งเชื้อ Helicobacter pylori

ศูนย์ ECDD เป็นแพลตฟอร์มในการค้นหาและค้นพบเกี่ยวกับพืชสมุนไพรทุกชนิดที่มีฤทธิ์ในการป้องกัน และการรักษา ซึ่งกระชายขาว เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ทางศูนย์ได้มีการจัดเก็บในคลังเก็บสารสกัดสมุนไพร และมีการสร้างเนื้อเยื่อต้นแบบ โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระชายขาวมีฤทธิ์ต้าน COVID-19 อยู่แล้ว

“จากการสืบค้น ข้อมูลของฤทธิ์กระชายขาว พบว่ามีรายงานฉบับหนึ่งบอกว่ากระชายขาวสามารถยับยั้งเชื้อมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งเชื้อที่ก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร คือ เชื้อ Helicobacter pylori หรือ เชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร เป็นเชื้อที่มีอยู่ในกระเพาะอาหารของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีผู้ติดเชื้อเกือบ 50% และเชื้อดังกล่าวทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และหากเมื่อเกิดแผลในกระเพาะอาหารเป็นระยะเวลานาน จำนวนมาก จะทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่กระเพาะอาหารได้”ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ กล่าว

เมื่อได้ข้อมูลการค้นพบ ซึ่งแต่ละประเทศมีเชื้อ Helicobacter pylori แต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันไป ทีมวิจัยจึงได้มีการสร้างแพลตฟอร์ม โดยนำเชื้อ Helicobacter pylori ที่เกิดขึ้นจากผู้คนทั่วโลก มาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ห้องทดลอง และใช้สารสกัดจากกระชายขาวที่มาทดลอง เบื้องต้น พบว่า กระชายขาวสามารถยับยั้งแบคทีเรียและยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารได้

เดินหน้าพัฒนาตัวยาจากกระชายขาว

“ปัจจุบันยังไม่มีการนำสมุนไพรกระชายขาว หรือสมุนไพรใดๆ มาใช้ในยับยั้งเชื้อ Helicobacter pylori ซึ่งหลังจากนี้จะมีการทดลองในแต่ละเฟสอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้สารสกัดกระชายขาวในโดสที่เหมาะสมในการยับยั้งเชื้อ Helicobacter pylori ได้ โดยทุกๆ ขั้นตอนก่อนจะผลิตเป็นยา หรือนำมาใช้ได้จริงในการรักษาผู้ป่วยจะต้องมีความปลอดภัย และได้มาตรฐาน ดังนั้น คาดว่าอาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี ก่อนจะได้ตัวยาที่เหมาะสม” ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ กล่าว

ขณะนี้ ศูนย์ ECDD มีสารสกัดจากสมุนไพร เกือบ 10,000 ชนิด และมีต้นแบบของเนื้อเยื่อ หรือเซลล์เกือบทุกชนิดในร่างกาย อีกทั้งได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่าง การค้นพบฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร เป็นความร่วมมือวิจัยในเบื้องต้น ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการสนับสนุนด้านทุนการศึกษาวิจัย จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ บริษัท ฟาร์ม่าเฮอร์เบิล จำกัด ในการพัฒนาสารสกัดจากกระชายขาวต่อไป