ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เร่งความ “แก่ก่อนวัย” ลึกถึงระดับเซลล์

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เร่งความ “แก่ก่อนวัย” ลึกถึงระดับเซลล์

“ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” ไม่เพียงเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน ฯลฯ แต่ยังทำให้ “แก่ก่อนวัย” ลึกถึงระดับเซลล์ บ่งชี้จากสาย “เทโลเมียร์” ในเซลล์ร่างกายที่สั้นลงไวกว่าปกติ

Key Points:

  • วิจัยจากบราซิล เผย “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA)” ไม่เพียงเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ-ความดัน-เบาหวาน แต่ยังพบว่าทำให้ผู้ที่มีภาวะดังกล่าว “แก่ชราเร็วขึ้น” ด้วย
  • ขณะเดียวกันนักวิจัยก็พบด้วยว่า เซลล์ร่างกายที่แก่ลงอย่างรวดเร็วจากภาวะ OSA นั้น สามารถชะลอให้ช้าลงได้ด้วยการใช้ “เครื่องอัดความดันทางเดินหายใจเชิงบวก (CPAP)
  • เซอร์จิโอ ทูฟิก หัวหน้าสถาบันการนอนหลับของ UNIFESP เผยว่า ถ้าคนเรานอนหลับไม่ดีก็จะแก่ชราเร็วขึ้น และการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพนั้นยังเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตได้มากเท่ากับการป่วยด้วยโรคอื่นๆ

หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น”  (Obstructive Sleep Apnea: OSA) ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมาย มันนำไปสู่การหยุดหายใจชั่วคราวขณะหลับ ซึ่งอาจกินเวลาไม่กี่วินาทีไปจนถึงหลายนาที แล้วมักจะตามมาด้วยการตื่นอย่างกะทันหันเพื่อสูดลมหายใจเฮือกใหญ่ ส่งผลให้คุณภาพการนอนหลับไม่ดี (หลับไม่สนิท หรือสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยๆ) 

ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวจึงมีคุณภาพชีวิตแย่ลงอย่างมาก และทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เช่น ไม่มีสมาธิ เหนื่อยล้า และง่วงนอนมากเกินไปในระหว่างวัน หากเป็นบ่อยๆ แล้วไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคร้ายแรงได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หัวใจล้มเหลว เบาหวาน รวมถึงความจำเสื่อมถอยลง เป็นต้น 

 

  • “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” ทำให้ “เทโลเมียร์” ในเซลล์ร่างกายสั้นลงไวผิดปกติ

ล่าสุด.. ScitechDaily รายงานว่างานวิจัยจากสาขาชีววิทยาการนอนหลับ มหาวิทยาลัยสหพันธรัฐเซาเปาโล (UNIFESP) ประเทศบราซิล ค้นพบว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ OSA” นอกจากจะส่งผลเสียหลายอย่างดังข้างต้นแล้ว ยังส่งผลให้เซลล์ในร่างกาย “แก่ชราลงอย่างรวดเร็ว” อีกด้วย โดยมีข้อบ่งชี้จาก “เทโลเมียร์” ที่เป็นปลายหุ้มสายดีเอ็นเอในเซลล์ร่างกายนั้นมีลักษณะ “สั้นลง” รวดเร็วกว่าปกติ

ทั้งนี้ เทโลเมียร์ คือ โครงสร้างที่อยู่ตรงปลายดีเอ็นเอ มีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมบูรณ์ของเซลล์ร่างกาย ช่วยปกป้องไม่ให้ดีเอ็นเอถูกทำลายก่อนเวลาอันควร ตามปกติแล้วเทโลเมียร์จะสั้นลงตามธรรมชาติ เมื่อเซลล์มีการแบ่งตัวเพื่อสร้างเนื้อเยื่อและอวัยวะขึ้นมาใหม่ (เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย)

แต่เมื่อคนเราแก่ลง เทโลเมียร์ก็จะสั้นลงจนเซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวใหม่ได้อีก หรือพูดง่ายๆ ว่ายิ่งแก่ลงเทโลเมียร์ยิ่งสั้น แต่เทโลเมียร์ของแต่ละคนจะสั้นเร็ว-ช้าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการใช้ชีวิตและสุขภาพ โดยในกรณีของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ นักวิจัยพบว่า “ภาวะ OSA” ไปเร่งให้เทโลเมียร์สั้นลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ จึงทำให้เซลล์ร่างกายแก่ก่อนวัยอันควร

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เร่งความ “แก่ก่อนวัย” ลึกถึงระดับเซลล์

 

  • ความแก่ชราเร็วขึ้นจากภาวะ OSA อาจชะลอให้ช้าลงได้ด้วยเครื่อง CPAP

แต่ขณะเดียวกัน ทีมนักวิจัยก็ค้นพบด้วยว่า เซลล์ร่างกายที่แก่ลงอย่างรวดเร็วของผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้น สามารถชะลอให้ช้าลงได้ด้วยการใช้ “เครื่องอัดความดันทางเดินหายใจเชิงบวก (CPAP)” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทีมวิจัยได้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามี “ภาวะ OSA” ในระดับปานกลางหรือรุนแรง จำนวน 46 คน อายุระหว่าง 50-60 ปี จากนั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ใช้เครื่อง CPAP ขณะนอนหลับ และกลุ่มที่ใช้เครื่อง CPAP แบบหลอก (ก็คือไม่ได้ใช้งานจริง) จากนั้นทดลองเป็นเวลา 6 เดือน 

ระหว่างการทดลองนักวิจัยเช็กผลลัพธ์ด้วยการเก็บตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อตรวจสอบความสั้น-ยาว ของเทโลเมียร์ในระดับเซลล์ โดยเก็บตัวอย่างเลือดก่อนเริ่มทดลอง, เก็บหลังการทดลอง 3 เดือน และเก็บหลังการทดลอง 6 เดือน (สิ้นสุดการทดลอง) แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน

สรุปผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่1 คือผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับและได้ใช้เครื่อง CPAP ขณะนอนหลับนั้น สามารถชะลอการสั้นลงของสายเทโลเมียร์ได้จริง อีกทั้งยังช่วยให้การนอนหลับของพวกเขามีคุณภาพดีขึ้น ส่วนกลุ่มที่2 คือผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับแต่ไม่ได้ใช้เครื่อง CPAP พบว่าสายเทโลเมียร์สั้นลงมากกว่ากลุ่มแรก

พริสซิลา ฟาเรียส เทมปากู หนึ่งในทีมนักวิจัยครั้งนี้ของ UNIFESP กล่าวว่า การที่เทโลเมียร์สั้นลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับการแก่ชรา การอักเสบ และความเครียดของร่างกาย แต่ภาวะ OSA จะเร่งมันให้สั้นลงเร็วขึ้น และเราพบว่าการใช้เครื่อง CPAP ช่วยลดความเร่งนี้ลงได้หลังจากผู้ป่วยใช้อย่างต่อเนื่อง 3-6 เดือน” 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เร่งความ “แก่ก่อนวัย” ลึกถึงระดับเซลล์

 

  • คุณภาพการนอนหลับที่ดี ช่วยชะลอความชราและป้องกันโรคร้าย

เซอร์จิโอ ทูฟิก อาจารย์ประจำสาขาและหัวหน้าสถาบันการนอนหลับของ UNIFESP ก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ เน้นย้ำถึงความสำคัญของ “การนอนหลับ” ในฐานะที่เป็นตัวช่วยป้องกันความแก่ชราก่อนวัย และเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ซึ่งเขาบอกอีกว่า ..ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นแรงจูงใจที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากคนส่วนใหญ่ลังเลที่จะใช้เครื่อง CPAP 

อาจารย์เซอร์จิโอ ทูฟิก บอกด้วยว่า คนเราแก่เร็วขึ้นเพราะนอนหลับไม่ดี การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพนั้นเกี่ยวพันกับการเสียชีวิตได้มากเท่ากับโรคอื่นๆ โดยเขาพบว่าประชากรประมาณ 30% ในบราซิลมีภาวะ OSA แต่ยังไม่มีการดูแลแก้ไขอย่างทันท่วงที

อีกทั้งความชุกของภาวะ OSA เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วน เนื่องจากความผิดปกติทั้งสองนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ จากข้อมูลของ “สมาคมศัลยกรรมลดความอ้วนและเมตะบอลิกแห่งบราซิล (SBCBM)”  พบว่า 70% ของคนอ้วนต้องทนทุกข์ทรมานจากความผิดปกติของการนอนหลับ