วันหยุดทั้งที แต่เช็กงานทั้งวัน อาจเป็น ‘FOSO’ อาการกังวลกลัวมีงานด่วน

วันหยุดทั้งที แต่เช็กงานทั้งวัน อาจเป็น ‘FOSO’ อาการกังวลกลัวมีงานด่วน

รู้จักอาการ Fear Of Switching Off หรือ “FOSO” ที่เป็นการเข้าดูกรุ๊ปไลน์งาน ทั้ง ๆ ที่เป็น “วันหยุด” หรืออยู่ระหว่าง “ลาพักร้อน” เพราะกลัวมี “งานด่วน” หรือพลาดประเด็นสำคัญไป จนทำให้ไม่มีความสุขในการพักผ่อน

เข้าสู่ปลายปีหลายคนใช้โอกาสนี้ใน “ลาพักร้อน” หลังจากทำงานหนักมาตลอดทั้งปี หวังจะเที่ยวให้สบายใจ ชาร์จพลังให้เต็มที่เพื่อจะได้พร้อมกลับมาทำงานกันต่ออีกครั้ง แต่กลายเป็นว่าพนักงานหลายคนกลับไม่มีความสุขในการท่องเที่ยว เพราะกังวลว่างานจะมีความผิดพลาด ต้องคอยเข้าไปเช็กในกลุ่มงานว่ามีอะไรเร่งด่วนหรือไม่

 

  • ปิดเครื่องไม่ใช่เรื่องง่าย

ตามการวิจัยของ Priority Pass บริการให้ใช้เลาจ์ได้ทั่วโลกของ Collinson บริษัทให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ที่เผยแพร่เมื่อเดือนก.ย. 2566 พบว่า 73% ของผู้ตอบแบบสำรวจ รู้สึกเครียดและวิตกกังวลอย่างหนัก หากพวกเขาไม่ได้ตอบหรือเข้าไปเช็กข้อความ

“การทำงานทางไกลอย่างต่อเนื่องหลังยุคโควิด-19 ทำให้ผู้คนติดอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์นานกว่าเดิม เพราะไม่สามารถแบ่งเส้นการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวได้อย่างชัดเจน” ท็อดด์ แฮนด์ค็อก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารระดับโลกและประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Collinson กล่าว

อาการพนักงานที่ลาพักร้อนรู้สึกวิตกกังวลหรือไม่สบายใจที่จะต้องปิดอุปกรณ์สื่อสารของตนเอง ต้องขลุกอยู่โทรศัพท์ทั้งวัน ซึ่งเรียกอาการนี้ว่า Fear Of Switching Off หรือ “FOSO” ถือเป็นอาการย่อยของอาการ “กลัวตกข่าว” หรือ “FOMO” (Fear Of Missing Out) พลาดเรื่องราวสำคัญไป 

แฮนด์ค็อกให้ความหมายว่า “เป็นความกลัวที่จะตัดขาดการเชื่อมต่อจากโลกภายนอก เพราะไม่อยากพลาดการอัปเดตเรื่องราวความเคลื่อนไหวในออฟฟิศและที่บ้าน”

ดร.คอร์ตนีย์ วอร์เรน นักจิตวิทยาคลินิก ระบุว่า FOSO เป็นประสบการณ์ของผู้คนที่ต้องการพักผ่อน แต่ต้องพยายามดิ้นรนละทิ้งความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้มีความสุขกับช่วงเวลาปัจจุบัน

ตามข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา Kepios พบว่า ขณะนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกใช้งานโซเชียลมีเดีย โดยเฉลี่ยใช้สื่อออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งแพลตฟอร์มทุกวัน ซึ่งวอร์เรนกล่าวว่าการใช้งานทุกวันทำให้ติดสื่อโซเชียลได้ แต่ขณะเดียวกันการไม่จับสมาร์ทโฟนเลยตลอดทริปลาพักร้อน แล้วใช้เวลาดื่มด่ำกับการท่องเที่ยวอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น 

“การเดินทางอาจทำให้เครียดได้เพราะคุณออกจากการทำกิจวัตรประจำวัน และในบางครั้งอาจกระวนกระวายเพราะที่บ้านหรือที่ทำงานมีเรื่องฉุกเฉิน ทำให้เราต้องเข้าไปช่วยเหลือ” วอร์เรนกล่าวเสริม

 

  • พักร้อนอย่างไม่เป็นสุข

จากการสำรวจโดย Priority Pass พบว่า FOSO เกิดขึ้นกับคนราว 34% ทั่วโลก โดยพบได้มากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาวเจน Z ที่มีอายุระหว่าง 18-27 ปี ซึ่ง 58% ยอมรับว่าพวกเขาประสบปัญหาในการลดใช้โทรศัพท์ และ 51% ระบุว่าคอยเช็กข้อความของคนที่ออฟฟิศขณะเดินทาง 

ซึ่งสูงกว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ อายุระหว่าง 59-77 ปี อย่างเห็นได้ชัด โดยมีเพียง 33% ประสบปัญหาการลดใช้สมาร์ทโฟน และ 29% เท่านั้น ที่คอยเช็กข้อความที่ทำงานตอนลาพักร้อน

โทวาห์ ไคลน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของวิทยาลัยบาร์นาร์ด ในสหรัฐ อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้คนเบบี้บูมเมอร์มีอาการ FOSO น้อยกว่า เพราะพวกเขาอยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ก่อนที่สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียจะเข้ามามีบทบาท เวลาคนรุ่นเก่าอยากลาพักร้อนก็แค่แจ้งลากับบริษัท แล้วตั้งข้อความเสียงไว้ในโทรศัพท์ว่าอยู่ในช่วงลาแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

แตกต่างจากคนรุ่นใหม่ เช่น Gen Z และคนรุ่นมิลเลนเนียล (อายุ 27-42 ปี) ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีมีการติดต่อกันตลอดเวลา

คนส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าพวกเขาสนุกกับวันหยุดได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากรู้สึกเป็นกังวลว่าตนเองจะพลาดข้อมูลสำคัญไปในช่วงที่ไม่ได้อยู่หน้าจอโทรศัพท์ (73%) , รู้สึกเครียดมากขึ้นเมื่อปิดเครื่อง (67%) และ รู้สึกเครียดเวลาที่ออกจากที่พักโดยไม่ได้เปิดเครื่อง (59%)

นอกจากนี้การสำรวจดังกล่าวยังพบอีกว่า 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่า หากมีปัญหาในที่ทำงานเกิดขึ้นก่อนขึ้นเครื่อง จะทำให้พวกเขาเกิดอาการ FOSO ได้ง่ายขึ้น และทำให้ทริปนั้นหมดความสนุกไปทันที ต้องมาคอยเช็กโทรศัพท์ตลอดเวลา

 

  • ปรับสมดุล สร้างขอบเขตการใช้โซเชียล

ปัจจุบันผู้คนแสวงหาชีวิตที่สมดุลระหว่างการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน วิธีหนึ่งที่คริสโตเฟอร์ อีแวนส์ ซีอีโอของ Collinson International แนะนำคือ การออกไปท่องเที่ยว หลีกหนีจากโลกออนไลน์ ใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงให้มากขึ้น พร้อมกับการทำ “โซเชียลดีท็อกซ์

ตามข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า โซเชียลดีท็อกซ์ สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการปิดการแจ้งเตือนในช่วงระหว่างพัก กำหนดระยะเวลาการใช้โทรศัพท์และสื่อสังคมออนไลน์ เลือกรับข้อมูลจากสื่อที่เชื่อถือได้และเรื่องที่สำคัญเท่านั้น และงดเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน

หากเป็นไปได้ พยายามอย่าให้เรื่องงานมาปะปนกับในช่องทางการติดต่อส่วนตัว เช่น LINE Facebook หรือ Instagram รวมถึงไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการทำงาน เช่น Teams Outlook หรือ Zoom ลงในสมาร์ทโฟน พร้อมติดต่องานผ่านอีเมลแทน

อย่างไรก็ตาม อาการ FOSO อาจจะไม่ได้หายในทันที และแนวทางการทำโซเชียลดีท็อกซ์ พร้อมปรับสมดุลการทำงานอาจจะทำไม่ได้ง่าย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ มักจะสั่งงานผ่าน LINE เป็นหลัก แต่อย่างน้อยที่สุดการเปลี่ยนโปรไฟล์หรือตั้งชื่อใน LINE ว่า “ลา” อาจจะพอบรรเทาไปได้บ้าง ดีกว่าการใช้ชีวิตอยู่กับ FOSO โดยไม่ทำอะไร

 

ที่มา: CNBCGulf News