'วัยทำงาน' เหนื่อยล้าเกินกว่าจะมี 'สุขภาพ' ดี ขาดทั้งแรงจูงใจและเงิน!

'วัยทำงาน' เหนื่อยล้าเกินกว่าจะมี 'สุขภาพ' ดี ขาดทั้งแรงจูงใจและเงิน!

แค่ทำงานก็เหนื่อยแล้ว! ยังจะให้ไปวิ่ง, ไปฟิตเนส, ทำอาหารกินเองอีกเหรอ? “วัยทำงาน” ในสหราชอาณาจักรต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไม่ไหวจริงๆ แม้จะรู้ว่าทำแล้วดีต่อ “สุขภาพ” แต่ก็ขาดทั้งแรงจูงใจและเงิน!

Key points: 

  • ผลวิจัยชี้ ผู้คนในสหราชอาณาจักร ต่างเหนื่อยล้าจากงานมากเกินไป (35%) และขาดแรงจูงใจ (38%) ที่จะทำให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีขึ้น
  • ข้อมูลจาก “World Cancer Research Fund” เคยประเมินไว้ว่า 40% ของการเกิดโรคมะเร็งทั้งหมดสามารถหลีกเลี่ยงได้ หากผู้คนใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดีขึ้น
  • กองทุนวิจัยมะเร็งโลก (WCRF) แนะนำวิธีออกกำลังกายให้มีสุขภาพดีขึ้น ได้แก่ เดินเร็วหรือขี่จักรยาน 150 นาทีต่อสัปดาห์, วิ่งหรือว่ายนำ้ 75 นาทีต่อสัปดาห์, บอดี้เวท 2 ครั้งต่อสัปดาห์ 

เมื่อเร็วๆ นี้ มีผลวิจัยจาก “องค์กร YouGov” ของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานของ “กองทุนวิจัยมะเร็งโลก (WCRF)” รายงานว่า ผู้คนในสหราชอาณาจักรเหนื่อยล้าเกินกว่าจะมีวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้น

แมตต์ แลมเบิร์ต ผู้จัดการฝ่ายข้อมูลสุขภาพและการส่งเสริมของ WCRF เปิดเผยว่า เป้าหมายของการวิจัยดังกล่าวทำขึ้นเพื่อสำรวจว่าผู้คนวัยทำงานในสหราชอาณาจักรใส่ใจในการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีมากน้อยแค่ไหน

 

  • 2 อุปสรรคใหญ่ทำให้ "วัยทำงาน" ไม่ดูแลสุขภาพ คือ ขาดแรงจูงใจและเหนื่อยล้าเกินไป

สำหรับนิยามของ “การใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดี” ในที่นี้ หมายถึง การแบ่งเวลาไปออกกำลังกาย การทำอาหารกินเองให้บ่อยขึ้น หรือการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้คนเราตื่นตัวมากขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพดังกล่าวคนส่วนใหญ่รู้ดีว่า มันพูดง่ายแต่ทำยาก! โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัยทำงานต่างก็มีความเหนื่อยล้า และขาดแรงจูงใจที่จะทำให้ตนเองมีสุขภาพดี

ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าวดำเนินการโดยสำรวจความคิดเห็นชาวอังกฤษจำนวน 2,086 คน จากนั้นได้รวบรวมข้อมูลและสรุปผลการสำรวจพบว่า อุปสรรคที่ทำให้ผู้คนไม่อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้มีสุขภาพดีขึ้น ก็คือ  

  • 38% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า “ขาดแรงจูงใจ”  
  • 35% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า “เหนื่อยเกินไป” 
  • 30% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า “ราคาอาหารสุขภาพแพงเกินไป” 
  • 26% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า “ไม่มีเวลา” 
  • 25% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า “ขาดสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิต”
  • 25% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า “ค่าใช้จ่ายการออกกำลังกายมีราคาแพง เช่น ค่าสมาชิกฟิตเนสหรือค่าอุปกรณ์” 
  • 16% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า “ขาดความมั่นใจที่เริ่มดูแลสุขภาพตัวเอง” 
  • 12% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า “ไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นดูแลสุขภาพตัวเองยังไง” 

มีเพียง 1 ใน 4 หรือ 24% ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่ระบุว่า ไม่มีอะไรจะมาขัดขวางพวกเขาจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพได้  

 

  • 40% ของโรคมะเร็งหลีกเลี่ยงได้ หากผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดี

แมตต์ แลมเบิร์ต กล่าวเพิ่มเติมว่า วัยทำงานสมัยนี้ล้วนมีตารางงานที่ยุ่งทั้งวัน หลังจากเลิกงานแล้วทุกคนต่างต้องการพักผ่อนและอยากหยุดกิจกรรมทุกอย่าง เพราะพวกเขารู้สึกเหนื่อยหรือขาดแรงจูงใจที่จะทำอย่างอื่นต่อ (ออกกำลังกาย/ทำอาหารเอง) แม้จะเป็นกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า การรับประทานอาหารที่ดีและการออกกำลังกาย ถือเป็นวิธีสำคัญในการลดความเสี่ยงของผู้คนในการเป็นมะเร็งและโรคร้ายอื่น ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อมูลว่าคนที่ไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่เลือกกินอาหารดี ๆ ไม่ออกกำลังกาย พบว่าคนกลุ่มนี้ทุก ๆ หนึ่งในสองคน มักจะเป็นมะเร็งในช่วงหนึ่งของชีวิต

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก “World Cancer Research Fund” เคยประเมินไว้ว่า 40% ของต้นตอโรคมะเร็งทั้งหมดสามารถหลีกเลี่ยงได้ หากผู้คนใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้น เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น, ออกกำลังกายเป็นประจำ, รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ, หลีกเลี่ยงสถานที่ที่เสี่ยงแดดเผา (Sunburn), ไม่สูบบุหรี่, หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, รับประทานเนื้อแดงไม่เกิน 3 ส่วนต่อสัปดาห์, หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปหรือทานเพียงเล็กน้อย

 

  • เปิดวิธีใช้ชีวิตให้มี "สุขภาพดี" เริ่มต้นทำแบบนี้!

ขณะที่กรมอนามัยและการดูแลสังคมของอังกฤษ (The Department of Health and Social Care UK) ระบุว่า ที่ผ่านมาทางหน่วยงานได้เร่งส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้นให้แก่ประชาชน ส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต ผ่านโครงการ “Better Health - Every Mind Matters” โดยสนับสนุนให้ผู้คนหันมาออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น วิ่ง เดินในสวนสาธารณะ หรือต่อยมวย เพื่อลดความวิตกกังวลและปรับปรุงสุขภาพจิตให้ดีขึ้น

"กองทุนวิจัยมะเร็งโลก (WCRF)" ก็มีคำแนะนำในการปรับปรุงวิถีชีวิตให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ได้แก่ 

1. ออกกำลังกายแบบปานกลาง เช่น เดินเร็ว หรือขี่จักรยาน อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ 

2. ออกกำลังกายแบบหนัก เช่น การวิ่ง หรือว่ายนำ้ 75 นาทีต่อสัปดาห์ 

3. ออกกำลังกายแบบบอดี้เวท (ฝึกความแข็งแกร่งกล้ามเนื้อ) อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ 

4. ลดเวลานั่งอยู่กับที่ให้น้อยลง (ไม่ควรนั่งนานติดต่อกันเกิน 1-2 ชั่วโมง)

5. ควรรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อย 5 ส่วนต่อวัน 

6. ควรเน้นอาหารที่มีเส้นใยสูง นม ถั่ว และถั่วพัลส์

7. ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน

----------------------------------------------

อ้างอิง : TheGuardian, DailymailWCRF-UK