'ดราม่า HIV' ระวังOne Night Stand ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรค

'ดราม่า HIV' ระวังOne Night Stand ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรค

รักสนุก แต่ไม่คิดผูกพัน มีความสัมพันธ์ แบบ One Night Stand หากไม่ได้สวมถุงยางอนามัย อาจเจอแจ็คพอต สาวสวยหนุ่มหล่อที่มาพร้อมกับโรค  HIV โรคเอดส์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

Keypoint:

  • One night stand ความสัมพันธ์แบบไม่มีข้อผูกมัด ต้องรู้จักป้องกัน เพราะนั่นอาจหมายถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต เกิดการตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจ หรือติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้
  • ความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารคัดหลั่งที่สัมผัส
  • การรักษา HIV  วินิจฉัยโรคได้เร็ว มียาต้านไวรัสประสิทธิภาพสูงที่ให้ผลดีในการรักษา แต่หากใช้ชีวิตสนุก ประมาท ไม่สวมถุงยางอนามัย การแพร่เชื่อเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

จากกรณี นักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยทางภาคอีสานแห่งหนึ่ง ที่ออกมาสารภาพบาปว่าตนเองซึ่งมีเชื้อ HIV มาตั้งแต่กำเนิด  ได้มีเพศสัมพันธ์กับหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ แบบ One Night Stand ตลอด 7 เดือน โดย พิกัดผับดังภาคอีสาน  

โพสของเธอ ระบุว่า แม้จะกินยาทุกวันแต่เพราะดื่มเหล้าทำให้เชื้อดื้อยา โดยเธอบอกว่า ผับที่ไปบ่อยๆ อยู่ข้างปั๊มน้ำมันคิดอยู่นานว่าจะโพสต์ดีมั้ย คือเราเรียนอยู่ปี 2 จะขึ้นปี 3  เริ่มเที่ยวครั้งแรกช่วงเดือนเมษายนเพราะอกหัก ไปเที่ยวทีไรก็จะได้ one night stand ตลอด และที่รู้สึกผิดที่สุดเลย คือเราเป็น HIV ตั้งแต่กำเนิด สงสารคนที่เคยมีอะไรกับเรา ขออโหสิกรรมให้เราด้วย  ตอนนี้เราอยากหนีไปบวชชีที่ไหนไกลๆ ไม่อยากเจอใครเลย

มีภาพเข้ามาในหัวว่าผู้ชายเขาก็จะต้องมีครอบครัวในอนาคต เรากังวลว่าเขาจะติดเชื้อ เราไม่อยากให้แฟนและลูกในอนาคตเขาต้องมาเจออะไรแบบเรา  เลยขอสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ทำแบบนี้อีกแล้ว จะรักษาตัวเองจะตั้งใจเรียนให้จบ คนที่เรานัดกันในผับถ้ามาเจอข้อความนี้ เราอยากให้ทุกคนไปตรวจด้วย เพราะตอนนี้เราก็มีภาวะแทรกซ้อนเลยทำให้ดื่มไม่ได้อีก เป็นห่วง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

HIV สายพันธุ์ใหม่ ทำลายภูมิคุ้มกัน เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

'HIV' คืออะไร แล้วเหมือนหรือต่างจาก 'AIDS'

 

HIV และโรคเอดส์ ความเหมือนที่แตกต่าง

ถึงในปัจจุบันจะมียาต้านไวรัส HIV(Human immunodeficiency virus: HIV) แต่ทั้งนี้ โรค HIV ยังคงสามารถ แพร่กระจายเชื่อได้ สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งในร่างกาย ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำเหลือง สารหล่อลื่นตามธรรมชาติในช่องคลอด อวัยวะเพศชาย หรือทวารหนัก และน้ำนมแม่

โรคเอดส์(Immune deficiency syndrome: AIDS)หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง คือ ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกายถูกทำลาย ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนหรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค โรคปอดอักเสบ PJP หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงมะเร็งบางชนิด

\'ดราม่า HIV\' ระวังOne Night Stand ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรค

โรคเอดส์ เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus: HIV)  ในร่างกาย และมีการดำเนินโรคไปแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี เชื้อ HIV จึงพัฒนาสู่โรคเอดส์เต็มขั้น เมื่อเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกายจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย จนทำให้ไม่มีภูมิต้านทานเพียงพอในการป้องกันตนเองจากเชื้อโรคภายนอกที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดโรคเฉียบพลัน โรคแทรกซ้อน หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่มีความรุนแรง และยากแก้การรักษา

โรคเอดส์เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลรีโทรไวรัส (Retrovirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นแบบอาร์เอ็นเอ (RNA) รีโทรไวรัสมีคุณสมบัติพิเศษ คือการเปลี่ยนสารพันธุกรรมของตนเองให้เป็น DNA ของเซลล์โฮสต์ได้ จากนั้นจะแทรกแซงการทำงานในโครโมโซมของเซลล์โฮสต์และป้อนคำสั่งแทนที่ DNA ของเซลล์โฮสต์ และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ

 

คู่รัก คู่นอนต้องเช็กติดเชื้อHIV ทางไหนได้บ้าง?

จากการศึกษาได้เปิดเผยตัวเลขประมาณความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ของคู่รัก ในช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

  • มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด

คู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ฝ่ายรับที่เป็นเพศหญิงจะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีถึง 8 ใน 10,000 ครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ส่วนฝ่ายรุกที่เป็นเพศชายจะมีความเสี่ยงเพียงแค่ 4 ใน 10,000 ครั้ง หรือมีความเสี่ยงครึ่งหนึ่งของฝ่ายรับ

  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

ส่วนคู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก นอกจากจะเป็นคู่ชายรักชายแล้ว ปัจจุบันพบว่าคู่รักชายหญิงก็มีรสนิยมทางเพศทางทวารหนักด้วยเช่นกัน ซึ่งตัวเลขของฝ่ายรับไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีมากถึง 138 ใน 10,000 ครั้ง ส่วนฝ่ายรุกที่เป็นเพศชายมีความเสี่ยงเพียง 11 ใน 10,000 ครั้ง เท่านั้น

\'ดราม่า HIV\' ระวังOne Night Stand ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรค

  • มีเพศสัมพันธ์ทางปาก

อย่างที่รู้กันดีว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้น ไม่ได้มีแค่ทางช่องคลอดและทางทวารหนักเท่านั้น แต่สามารถร่วมรักทางปากได้ด้วย ซึ่งความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรับหรือฝ่ายรุกนั้นมีตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงนั้นคือศูนย์ เพราะถ้าปากมีเลือดออก มีแผล หรือเหงือกอักเสบ ก็สามารถเป็นทางเข้าเชื้อเอชไอวีได้เช่นเดียวกัน

ส่วนสาเหตุที่การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อที่สูงกว่าช่องทางอื่นนั้น เป็นเพราะทวารหนักบอบบางและมีสารหล่อลื่นน้อย ทำให้เกิดการบาดเจ็บและการฉีกขาดบริเวณทวารหนักจนเกิดแผลได้ง่าย รวมไปถึงมีเซลล์ต่าง ๆ ที่สามารถติดเชื้อเอชไอวีได้ง่าย ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อจึงมีมากกว่าช่องทางอื่น

อาการผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์

ระยะที่ 1 ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ (Primary infections: Acute HIV)

"โดยจะปรากฏอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์แรกหลังจากติดเชื้อ จากนั้นอาการจะหายไป มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นแผลในปาก ผู้ที่ติดเชื้อบางรายอาจมีอาการ เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักตัวลดลง และมีฝ้าขาวในช่องปาก"

ระยะที่ 2 ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ (Clinical latent infection: Chronic HIV)

"ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HIV ในระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ หรือระยะสงบทางคลินิก (Clinical latency stage)  ในช่วง 5-10 ปีโดยประมาณหลังติดเชื้อ HIV โดยจะไม่แสดงอาการใด ๆ  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของเชื้อ HIV ที่ได้รับและภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละบุคคล"

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HIV ระยะนี้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำอาจแสดงออกซึ่งอาการ หรือโรคบางโรค ดังนี้

  • ระยะติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย ได้แก่ ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีระดับ CD4 ในร่างกายมากกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ติดเชื้ออาจจะมีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต แผลร้อนในในช่องปาก ผิวหนังอักเสบที่หนังศีรษะ ฝ้าขาวที่ลิ้น เชื้อราที่เล็บ และโรคสะเก็ดเงิน (ในผู้ที่เคยเป็นมาก่อน)
  • ระยะติดเชื้อที่มีอาการปานกลาง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีระดับ CD4 ในร่างกายระหว่าง 200-500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ติดเชื้ออาจมีไข้แบบเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องหลายเดือนติดต่อกัน ต่อมน้ำเหลืองโตที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ เริมที่ปาก หรือเริมที่อวัยวะเพศ (แบบเรื้อรัง) ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เชื้อราในช่องปากหรือบริเวณปากมดลูก ท้องเสียแบบเรื้อรัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ งูสวัด ไซนัสอักเสบเรื้อรัง และโรคปอดอักเสบ

\'ดราม่า HIV\' ระวังOne Night Stand ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรค

ระยะที่ 3 ระยะเอดส์เต็มขั้นหรือระยะโรคเอดส์ (Progression to AIDS)

ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่มีการดำเนินโรคมาจนถึงระยะที่ 3 หรือ 10 ปีโดยประมาณหลังติดเชื้อ HIV หรือระยะโรคเอดส์เต็มขั้นแล้วเท่านั้น จึงจะปรากฏสัญญาณและอาการของโรคเอดส์ โดยส่วนมาก อาการของโรคเอดส์คือการเกิดขึ้นของโรคแทรกซ้อน หรือโรคฉวยโอกาสอื่น ๆ หลาย ๆ โรครุมเร้าพร้อม ๆ กัน อันเนื่องมาจากระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลาย ทำให้เชื้อโรคอื่น ๆ เช่น เชื้อรา เชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว เข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย เกิดโรคแทรกซ้อน และโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่ยากต่อการรักษา เช่น ไข้เรื้อรัง วัณโรค โรคปอดอักเสบ PJP  เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส

"ท้องเสียเรื้อรัง ร่างกายอ่อนเพลีย น้ำหนักลด ภาวะกลืนลำบาก หรือเจ็บคอเวลากลืนเนื่องจากหลอดอาหารอักเสบ มีผื่นคันตามตัว ผิวซีด สายตาพร่ามัว ไอเป็นเลือด มีเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นจ้ำเขียว-แดง มีอาการตกขาวบ่อย (ในเพศหญิง) ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน อาการทางระบบประสาท เช่น หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อม แขนขาอ่อนแรง และอาจหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง ผู้ที่เป็นโรคเอดส์เต็มขั้นส่วนใหญ่ มักมีอายุได้เพียง 2-3 ปี แล้วจึงเสียชีวิต"

การรักษาผู้ที่ติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์

ทันทีที่ผู้รับการตรวจ HIV ได้รับการยืนยันผลการตรวจเลือดเป็นบวก หรือติดเชื้อ HIV แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสในกลุ่ม ARV (Antiretroviral drugs) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เพื่อต่อสู้ และช่วยกันยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส HIV โดยการให้ยาในกลุ่มนี้พร้อมกันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากกว่าการรักษาด้วยยาชนิดเดียว

กลุ่มยา ARV จะช่วยกันออกฤทธิ์ เสริมแรง ในการลดจำนวนเชื้อไวรัส HIV ให้ถึงจำนวนที่ไม่สามารถตรวจพบเชื้อ HIV ได้อีกต่อไป พร้อมกับช่วยฟื้นฟูและชะลอความเสื่อมของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงเป็นปกติดีให้มากที่สุด

ผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อ HIV ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมงหลังสัมผัสโรค (Post-exposure prophylaxis: PEP) ควรรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับยา ARV เพื่อต้านเชื้อไวรัส และป้องกันไม่ให้ไวรัสพัฒนาไปอยู่ในระดับที่ตรวจพบและแสดงอาการได้

ผู้ที่ไม่มีเชื้อ HIV ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV สามารถพบแพทย์เพื่อขอรับยา ARV เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น ถือเป็นการใช้ยาเพื่อกันเชื้อไวรัส HIV ก่อนการสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis: PrEP) โดยผู้ที่มีความเสี่ยง จะต้องทานยาทุกวัน และพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหลังจากสัมผัสกับความเสี่ยงแล้ว

"เป้าหมายในการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ปัจจุบัน เน้นให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์ รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไวรัส HIV สู่ผู้อื่นได้ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อจะต้องมีวินัยในการทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำทุกวัน และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง"

ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์

ผศ.นพ.ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์ แพทย์ผู้ชำนาญการสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค จึงมาร่วมไขข้อข้องใจ แก้ความเชื่อผิดๆ ที่หลายคนอาจมีเกี่ยวกับโรคเอดส์

  • ติดเชื้อ HIV หมายความว่าเป็นโรค  AIDS?

HIV (Human Immunodeficiency Virus) ไม่ใช่เอดส์ แต่เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นั่นคือเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T cells ซึ่งทำหน้าที่ในการต่อสู้เชื้อโรคต่างๆ หากเมื่อใดผู้ติดเชื้อ HIV มีอาการป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น ปอดอักเสบ PJP วัณโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส หรือถึงแม้ยังไม่มีอาการป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส แต่เมื่อใดที่เชื้อไวรัส HIV ทำลายเซลล์ CD4 จนมีปริมาณไม่เพียงพอ (ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.) ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็จะเรียกว่าเข้าสู่ระยะโรคเอดส์

  • การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV ทำให้ติดเชื้อ HIV ได้

การหายใจ จาม ไอ กอด จูบ จับมือ ใช้ช้อนเดียวกัน ดื่มน้ำจากหลอดเดียวกัน ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกันเช่น ผ้าเช็ดตัว/ผ้าเช็ดหน้า อุปกรณ์ออกกำลังกาย การสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ ร่วมกัน เช่นลูกบิดประตู ฝารองนั่งในห้องน้ำ หรือการโดนยุงที่กัดผู้ติดเชื้อมากัดเราต่อ ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อ HIV อย่างไรก็ตามยังมีเชื้อโรคอื่น ๆ ที่ติดต่อโดยการกินอาหารโดยใช้ช้อนเดียวกันหรือดื่มน้ำโดยใช้หลอดเดียวกันได้ จึงไม่แนะนำให้ทำ

HIV เป็นไวรัสที่อยู่ในเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำนม เป็นต้น จึงสามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัก เจาะหู/เจาะสะดือ และการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก (ขณะตั้งครรภ์ ระหว่างการคลอดและผ่านทางน้ำนม) ดังนั้นผู้ที่ติดเชื้อ HIV และคนทั่วไป จึงสามารถอยู่ร่วมกันได้ปกติ เพียงแต่หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

  • การจูบ การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก ใช้ sex toy ถ่ายทอดเชื้อ HIV ได้?

การจูบแบบเปิดปากอาจมีความเสี่ยงหากทั้งคู่มีบาดแผลในช่องปาก โดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเชื้อ HIV  และการมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางปาก (oral sex) ก็อาจมีความเสี่ยงในกรณีที่ฝ่ายชายมีการหลั่งน้ำอสุจิที่อาจมีเชื้อ HIV อยู่และเข้าไปในช่องปากของคู่นอนที่มีบาดแผลอยู่ในปาก อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของทั้งสองกรณีเป็นความเสี่ยงที่ต่ำมาก ๆ 

ส่วนการใช้อุปกรณ์เสริมในการมีเพศสัมพันธ์ (sex toy) ร่วมกันกับผู้อื่น อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ในกรณีที่มีการใช้ต่อกันทันทีและอุปกรณ์นั้นปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งหรือเลือดที่มีเชื้อ HIV หรือใช้อุปกรณ์ร่วมกันกับผู้ที่มีเชื้อ HIV

\'ดราม่า HIV\' ระวังOne Night Stand ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรค

  • มีเชื้อ HIV แล้วทำให้ตายเร็ว

ปัจจุบันการรักษา HIV มีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อย รักษาแล้วได้ผลดี สามารถมีชีวิตได้เหมือนคนปกติถึงแม้ว่าจะอยู่ในระยะโรคเอดส์แล้ว แต่ถ้ามารักษาทัน และไม่ได้มีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อนรุนแรงก็สามารถรักษาให้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้ แม้ระดับ CD4 จะลดเหลือหนึ่งตัวหรือศูนย์ตัว ก็มีผู้ป่วยที่รักษาแล้ว จำนวนเซลล์ CD4 สามารถกลับมาเป็นปกติและมีร่างกายที่แข็งแรงได้ จึงไม่ควรปล่อยให้ตนเองเสียโอกาส หากมีโอกาสเสี่ยงที่ติดเชื้อ HIV ให้รีบมาตรวจรักษา และหากทราบว่าติดเชื้อ HIV แล้วให้แจ้งผลกับคู่นอน เพื่อที่จะได้เข้ารับการตรวจ และ/หรือรักษาให้ทันท่วงทีก่อนที่จะป่วยหนัก

  • ตรวจไม่เจอหมายความว่าหายแล้ว

การตรวจไม่เจอเชื้อไวรัส HIV ในเลือด (Undetectable HIV viral load) ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเชื้อแล้ว แต่หมายความว่ายาได้ไปฆ่าไวรัสจนเหลือน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีไวรัสหลบซ่อนตัวอยู่ในที่ต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น     ในสมอง ต่อมน้ำเหลือง หรือลำไส้ ดังนั้นหากคนไข้หยุดกินยาต้านไวรัส จำนวนเชื้อ HIV ก็จะเพิ่มขึ้น ภูมิคุ้มกันจะตกลงและมีโอกาสป่วยได้อีก

  • ตรวจไม่เจอ=ไม่แพร่เชื้อ

ปัจจุบันมีคอนเซ็ปต์ U = U หรือ Undetectable = Untransmissible หมายความว่า ไม่เจอเชื้อ = ไม่แพร่เชื้อ หากผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสและกินยาอย่างสม่ำเสมอเคร่งครัด จนมีปริมาณเชื้อไวรัส HIV ในเลือดที่ต่ำมาก (ต่ำกว่า 40 copies ต่อ มล.) หรือตรวจไม่พบเชื้อ (Undetectable) ติดต่อกันก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อได้ (Untransmissible)

"การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ HIV ที่กินยาต้านไวรัสจนตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ควรสวมใส่ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หรือหากคู่นอนที่ติดเชื้อ HIV กินยาไม่สม่ำเสมอ แล้วเกิดเชื้อดื้อยา อาจทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว และสามารถแพร่เชื้อให้อีกฝ่ายได้ จึงควรมีการป้องกันโดยการสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย และควรจำกัดจำนวนคู่นอนด้วยเช่นเดียวกัน"

วิธีป้องกันการติดเชื้อHIV

การติดเชื้อ HIV สามารถป้องกันได้โดยโดยการลด ละ เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ติดเชื้อ HIV แล้วควรป้องการตนเองไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ โดยวิธีการป้องกันโรคเอดส์ และการติดเชื้อ HIV มีดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์
  • หากมีแผลเปิดที่มีเลือดไหล ควรทำความสะอาดและปิดแผลให้สนิท
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยาร่วมกันกับผู้อื่น
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
  • ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
  • พบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัส HIV ทันทีที่สงสัยว่าอาจสัมผัสกับเชื้อ HIV หรือก่อนการสัมผัสกับเชื้อ HIV
  • ตรวจเลือด หรือตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อวัดระดับภูมิคุ้มกันร่างกาย

เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ HIV หรือเป็นโรคเอดส์ได้ และขอให้ช่วยกันรณรงค์ให้ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติ ไม่ตีตรา และไม่รังเกียจผู้ที่ติดเชื้อ HIV ขอให้ทุกคนไม่ประมาท แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอเพราะนอกจากสามารถป้องกัน HIV ได้แล้วยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย

\'ดราม่า HIV\' ระวังOne Night Stand ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรค

พฤติกรรมที่ทำแล้ว ไม่ติดเชื้อ

  • การใช้ช้อนกลาง ระหว่างรับประทานอาหารร่วมกัน
  • การกอด
  • สามารถซักเสื้อผ้าร่วมกันได้ แต่ที่ต้องซักแยกกันและใส่ถุงมือเสมอ คือ ผ้าที่ปนเปื้อนเลือด สารคัดหลั่ง อุจจาระ ปัสสาวะ
  • การใช้สบู่ ครีมอาบน้ำ แชมพู ยาสีฟัน แป้งร่วมกัน
  • พฤติกรรมที่เสี่ยงติดเชื้อ
  • การใช้อุปกรณ์ที่อาจสัมผัสเลือด หรือของใช้เฉพาะบุคคลร่วมกัน เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน
  • เมื่อบุคคลในบ้านป่วย เช่น เป็นไข้ หัด หัดเยอรมัน สุกใส แล้วไม่แยกจากผู้ติดเชื้อ
  • บุคคลในบ้านควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อต่างๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด คอตีบ ไอกรน
  • ควรล้างมือบ่อยๆ เช่น ก่อนและหลังรับประทานอาหาร การประกอบอาหาร การเข้าห้องน้ำ
  • การมีเพศสัมพันธ์ของสามีภรรยา ต้องใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และระมัดระวังเรื่องการแพร่เชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือพฤติกรรมเสี่ยง หากสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อ ให้รีบทำการตรวจเลือด เพื่อที่จะได้รีบเข้าสู่ระบบและรักษาแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เกิดโรคแทรกซ้อน คงสุขภาพที่ดีเอาไว้ และป้องกันคนที่ตนรักอีกด้วย

\'ดราม่า HIV\' ระวังOne Night Stand ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรค

One Night Stand ต้องป้องกันให้ถูกวิธี

ความสนุกแค่ข้ามคืนเดียวมาพร้อมความเสี่ยงเสมอ ไม่ว่าจะวัยไหนก็ต้องป้องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังอยู่ในวัยเรียน

  • ป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • อย่าให้เรื่อง sex เป็นสิ่งเสพติด โดยการหากิจกรรมอื่นทำ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ดนตรี  
  • ใช้การช่วยตัวเองด้วยการใช้อุปกรณ์ช่วย แทนการมี One night stand ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกแต่อย่างใด
  • ผู้หญิงสามารถมีอารมณ์ทางเพศได้เหมือนกับผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงที่ใกล้จะมีประจำเดือน เพียงแต่ต้องเลือกทำในสถานที่ที่เป็นส่วนตัวและมิดชิด การใช้มือหรือเซ็กส์ทอยก็สามารถช่วยปลดปล่อยอารมณ์และความรู้สึกได้ แต่ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้อยู่เสมอ 
  • รู้จักปฏิเสธ บางกรณีการมีเพศสัมพันธ์อาจไม่ได้เกิดจากอารมณ์ทางเพศ แต่เป็นความต้องการให้อีกฝ่ายยอมรับ ดังนั้นหากมีการชักชวนให้ One night stand ลองถามตัวเองอีกครั้งว่าเกิดจากความต้องการจริงๆ หรือไม่

อ้างอิง: โรงพยาบาลเมดพาร์ค ,โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลพญาไท