‘ซิฟิลิส’ โรคติดต่อที่ไม่เคยหายไป แต่กลับมาระบาดใหม่ได้อีก!

‘ซิฟิลิส’ โรคติดต่อที่ไม่เคยหายไป แต่กลับมาระบาดใหม่ได้อีก!

แม้ว่า “ซิฟิลิส” จะเป็น “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” ที่เคยแพร่ระบาดเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา และบางคนคิดว่าอาจไม่มีการระบาดอีก แต่ความจริงแล้วในปัจจุบันยังมีการระบาดอยู่ และติดต่อได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

Key Points:

  • หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบเจอในสังคมไทยอยู่บ่อยๆ ก็คือ “ซิฟิลิส” ที่สามารถเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
  • แม้ว่าซิฟิลิสจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็เฉพาะในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น หากปล่อยไว้นานเกินไปก็อาจเสียชีวิต
  • ปัจจุบันกลุ่มเสี่ยงต่อโรคซิฟิลิสมากที่สุด ก็คือ กลุ่มนักเรียนและวัยรุ่น และยังมีแนวโน้มว่าจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

ซิฟิลิส” เป็นหนึ่งใน “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” ที่เกิดการระบาดในประเทศไทยอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีที่มาชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อไรและเกิดขึ้นที่ไหนเป็นครั้งแรก แต่จากข้อมูลที่ถูกตีพิมพ์ใน วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 ระบุว่า มีทฤษฎีที่อ้างถึงแหล่งกำเนิดของ “ซิฟิลิส” อยู่ 2 ทฤษฎี ได้แก่

- ทฤษฎีแรกเชื่อว่าเป็นโรคในเขตร้อนที่มาจากการค้าทาสในแอฟริกา ส่งไปยังทวีปยุโรปและทวีปอเมริกา โดยถูกจัดให้เป็นโรคเขตร้อนประเภท “โรคคุดทะราด”

- ทฤษฎีที่สองเชื่อว่าเกิดจากการเดินเรือสำรวจทางทะเล และมีลูกเรือเกิดอาการผื่นขึ้นตามตัว จึงเชื่อได้ว่าเป็นการนำโรคจากอเมริกาไปแพร่ระบาดยังทวีปยุโรป ในสมัยนั้นเรียกกันว่า “หัดอินเดีย”

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าซิฟิลิส อาจเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ แต่มีการระบาดครั้งแรกในโลกเมื่อช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในยุโรป มีจุดเริ่มต้นมาจากนักเดินทาง โสเภณี และทหาร และแม้ว่าจะไม่มีบันทึกต้นกำเนิดที่แน่ชัด แต่หลักฐานส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นโรคติดต่อที่มาจากประเทศฝรั่งเศส

จุดเริ่มต้นการระบาดครั้งแรกของ “ซิฟิลิส” เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2039 มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในเมืองลีออง ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ปีต่อมามีการระบาดลุกลามไปทั่วประเทศ และเกิดการระบาดไปทั่วยุโรปในเวลาไม่ถึง 10 ปี

สำหรับการระบาดครั้งที่สอง เกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี พ.ศ. 2490 พบว่ามีผู้ป่วยชาวอเมริกันมากถึง 106,000 คน ทำให้เริ่มมีการนำยาเพนิซิลลินมาใช้ในการรักษา ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • การระบาดของ “ซิฟิลิส” ในประเทศไทย

ยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าการระบาดของ “ซิฟิลิส” ในไทยเกิดขึ้นเมื่อไร แต่มีบันทึกใน พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค พ.ศ. 2451 ระบุว่า หากผู้ค้าบริการคนใดต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคติดต่อที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น จำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพจากเจ้าหน้าที่รัฐ และแยกตัวไปพักรักษาจนกว่าจะหายป่วย (ในสมัยนั้นการค้าบริการยังเป็นเรื่องถูกกฎหมาย) โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวตราขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” จากผู้ค้าบริการทางเพศนั่นเอง

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีการแพร่ระบาดของซิฟิลิสในสังคมไทยมาตลอด และในบางครั้งก็มีการระบาดอย่างรุนแรง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปวิทยาการทางแพทย์ก็เริ่มพัฒนามากขึ้นจนสามารถรักษาซิฟิลิสได้ ทำให้การระบาดเริ่มลดน้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโรคดังกล่าวหายไปจากสังคม และยังสามารถติดจากแม่สู่ลูกได้ด้วยการตั้งครรภ์

จากข้อมูลงานวิจัยของ CIM journal ระบุว่า ในช่วง ปี พ.ศ. 2548-2557 เกิดปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระบาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ  หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน และฝีมะม่วง และพบว่าเป็นผู้ป่วยจาก “ซิฟิลิส” มากถึง 3,296 คน จาก 74 จังหวัดทั่วประเทศ และยังพบว่าผู้ป่วยมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเกิดโรคในวัยเรียน เนื่องจากโรคดังกล่าวสามารถติดได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง

แม้ว่าจะมีการรักษาที่มีคุณภาพและมีอุปกรณ์การป้องกันโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ แต่ก็ยังมีรายงานพบการติดเชื้อซิฟิลิสทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง มีรายงานจาก วารสารโรคเอดส์ กรมควบคุมโรค ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2562 มีอัตราเด็กป่วยเป็นซิฟิลิสตั้งแต่เกิดประมาณ 45.46 คน ต่อเด็ก 100,000 คน เนื่องจากมีการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุน้อยกว่า 25 ปี

สำหรับสถานการณ์ “ซิฟิลิส” ของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยให้ข้อมูลว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน เนื่องจากพบว่าปี 2564 พบวัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15-24 ปี กว่า 8,000 คน ติดเชื้อโรคซิฟิลิสและหนองใน และในปี 2565 พบวัยรุ่นและเยาวชนติดเชื้อเอชไอวี ถึงร้อยละ 22.2  สูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2551

  • ซิฟิลิส ภัยร้ายจากเพศสัมพันธ์ที่ไร้การป้องกัน

สำหรับโรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อันตรายและพบได้บ่อย เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่างๆ การให้เลือด และการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Treponema pallidum แม้ว่าซิฟิลิสจะพบได้น้อยกว่าหนองใน แต่มีความรุนแรงและสร้างผลเสียต่อร่างกายได้มากกว่า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการอาจจะกลายเป็นพาหะนำโรคโดยที่ไม่รู้ตัว และเมื่อแสดงอาการก็อาจจะไม่สามารถรักษาได้ทัน โดยอาการของ “ซิฟิลิส” แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะแรก จะเริ่มมีรอยโรคเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศ อาจหายไปเองได้ในช่วง 3-8 สัปดาห์ ในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษา

ระยะที่สอง บริเวณอวัยวะเพศจะมีลักษณะคล้ายผื่นนูนกระจายอยู่ พร้อมกับมีผื่นขึ้นตามร่างกาย ฝ่ามือและฝ่าเท้า มีอาการปวดกล้ามเนื้อ เป็นไข้ เจ็บคอ และต่อมน้ำเหลืองโต

ระยะที่สาม ถือว่าเข้าสู่ระยะเรื้อรัง ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ และถ้าไม่ได้รับการรักษาจะเข้าสู่อาการป่วยระยะสุดท้าย

ระยะที่สี่ ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย การทำงานของสมองจะเริ่มแย่ลง ส่งผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ หลอดเลือด เส้นเลือด ตับ และกระดูก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวชา นอกจากนี้รอยโรคที่ระบบไหลเวียนโลหิตจะทำให้หลอดเลือดใหญ่โป่งพองและแตก นำไปสู่การเสียชีวิตได้

  • ใครคือกลุ่มเสี่ยงป่วยซิฟิลิส วิธีป้องกันและรักษาเบื้องต้น

ส่วนมากแล้วกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดซิฟิลิสมากที่สุดคือ เด็กนักเรียนและวัยรุ่น รวมถึงผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือไม่สวมถุงยางอนามัย, ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ และผู้ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก

แม้ว่าซิฟิลิสจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้หากมาพบแพทย์ทันเวลา โดยเฉพาะในระยะแรกและระยะที่สองนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้มีหลายวิธี เช่น

- ฉีดแพมหรือ PAM (Procain Penicillin With Aluminium Monosterate) 2.4 ล้านยูนิตเข้าสะโพกครั้งแรก และให้อีก 1.2 ล้านยูนิตทุก 3 วันอีก 2 ครั้ง

- ฉีดเพนิซิลลิน จี โซเดียม 6 แสนยูนิตต่อวันเป็นเวลา 8 วัน

- ฉีดเบนซาธีนเพนิซิลลินเข้าสะโพกทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1.2 ล้านยูนิต

อย่างไรก็ตามมีข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ว่า “เพนิซิลลิน”เป็นเพียงยาตัวเดียวที่ใช้สำหรับรักษาผู้ที่เป็นซิฟิลิสมาตั้งแต่กำเนิด ในส่วนของการป้องกันนั้นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการสวมถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย รวมถึงการตรวจสุขภาพและตรวจเลือดเป็นประจำ

ท้ายที่สุดแล้วแม้ว่าการระบาดของ “ซิฟิลิส” อาจจะไม่มากเท่าในอดีต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” ชนิดนี้ ยังไม่ได้หายไปจากสังคมไทย มีการรายงานปัญหาและตัวเลขผู้ป่วยอยู่ตลอด ดังนั้นจึงไม่ควรประมาทและต้องใช้ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์เสมอ

อ้างอิงข้อมูล : วารสารราชบัณฑิตยสถานพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค พ.ศ. 2451วารสารโรคเอดส์ กรมควบคุมโรคโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ข่าวทำเนียบรัฐบาล, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, สสส., กรมควบคุมโรค และ CIM journal