สธ. สั่งหยุดจ่าย ยาสำคัญป้องกัน HIV | กันต์ เอี่ยมอินทรา

สธ. สั่งหยุดจ่าย ยาสำคัญป้องกัน HIV | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากเมื่อประกาศของ รมว.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่อนุญาตให้หน่วยบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาลจ่ายเพร็พและเพ็พ (PrEP, PEP) ได้

เพร็พ (PrEP-Pre-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสที่ป้องกันการติดชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีผลเลือดลบ (ไม่ได้ติดเชื้อแต่เดิม) เพื่อเตรียมไว้ก่อนจะมีโอกาสสัมผัสเชื้อ ขณะที่ เพ็พ (PEP- Post-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่มีผลเลือดลบที่เพิ่งสัมผัสเชื้อมาไม่เกิน 72 ชั่วโมง

ในปี 2554 วงการแพทย์ได้ให้ข้อสรุปว่ายา PrEP นั้นสามารถป้องกัน HIV ได้สูงถึง 99% และหากใช้ควบคู่กับถุงยางอนามัยแล้ว ความเสี่ยงในการติดโรค HIV จากทางเพศสัมพันธ์นั้นจะถือว่าต่ำมาก นี่คือเหตุผลว่าในปี 2557 ประเทศไทยจึงเป็นประเทศแรกในเอเชียที่นำ PrEP มาใช้

มีการประมาณการว่าประเทศไทยมีกลุ่มผู้มีความเสี่ยงติดโรค HIV และสมควรได้รับ PrEP นี้ประมาณ 140,000 คนแต่จากสถิติผู้รับบริการของไทยนั้นพบว่ามีผู้ที่มารับ PrEP เพียง 12,713 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเป้ามาก

น่าแปลกใจเพราะ PrEP และ PEP นั้นคือยาที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HIV และการอนุญาตให้หน่วยบริการสังคมหรือคลินิกชุมชนเหล่านั้นทำหน้าที่แทนรัฐได้ก็เพื่อการเข้าถึงประชาชนจำนวนมากและลดภาระของรัฐเอง เพื่อมุ่งสู่จุดหมายในการป้องกันโรคระบาดร้ายแรงนี้

แต่เพราะเหตุใด กระทรวงสาธารณสุข จึงอยากจะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสุขภาพของประชาชนแต่เดิมอยู่แล้ว?

คลินิกชุมชนเหล่านี้ทำหน้าที่ต่างกับโรงพยาบาลหรือศูนย์การแพทย์ของรัฐที่มุ่งเน้นที่การรักษาโรคแต่คลินิกเหล่านี้เน้นให้ความสำคัญในการให้ความรู้และการป้องกัน ดังนั้นการมีอยู่ของคลินิกเหล่านี้จึงเสมือนทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมและลดภาระของรัฐไปโดยปริยาย ยังไม่นับรวมถึงขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากและเปิดรับแก่ประชาชนไทยทุกคนโดยไม่ยกเว้น

คลินิกเหล่านี้ยังช่วยรัฐในการแก้ปัญหาการระบาดของโรคในทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มของผู้อยู่ในกลุ่มกิจกรรมการบริการทางเพศที่รัฐไทยไม่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลไกอาชีพของเราในทางทฤษฎี แต่กลับพบได้ทั่วไปตามแหล่งท่องเที่ยวกลางคืนในทางปฎิบัติ คลินิกเหล่านี้ทำหน้าที่ดูแลให้ความรู้และจ่ายยาป้องกันให้ผู้ที่ทำงานบริการที่มีความเสี่ยงตลอดจนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเสี่ยงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนกลายเป็นที่พึ่งยามยาก

จึงเป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งว่า เพราะเหตุผลใด กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบต่อสุขภาพที่ดีของประชาชนจึงมีความพยายามที่จะหยุดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพภูมิคุ้มกันโรคให้กับประชาชนไทยด้วยประกาศห้ามคลินิกเหล่านี้จ่ายยาป้องกันโรค HIV ผ่านพ.ร.บ.สถานพยาบาล

พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี สภากาชาดไทย เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไว้ถึงนัยสำคัญทางสถิติจำนวนของผู้ติดเชื้อ HIV ใหม่ที่ลดลงจาก 20% เหลือ 7-8% ในกลุ่มชายรักชายตั้งแต่มีการเริ่มใช้ยา PrEP และอัตราของโรคอุบัติใหม่ในทางเพศสัมพันธ์ก็ลดลงจาก 6% มาอยู่ที่ 2-3% ในปัจจุบัน

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ที่ 1,000 รายต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งก็ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ดูท้าทายยิ่งนัก เพราะปัจจุบันเรามีจำนวนผู้ป่วยใหม่เกือบ 6,000 รายต่อปี และเรามีจำนวนผู้ป่วยในประเทศทั้งหมดเกือบครึ่งล้านคนในปัจจุบัน

และหากนโยบายรวมศูนย์การจ่ายยา PrEP และ PEP นี้ไม่ถูกแก้ไขแล้ว ผู้เชี่ยวชาญก็ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าจำนวนผู้ป่วยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งก็จะเป็นภาระหนักของรัฐ ค่าใช้จ่ายงบประมาณในการรักษาโรคนั้นสูงมากกว่างบประมาณในการป้องกันหลายเท่าตัวนัก