สุขภาพแข็งแรง + อายุยืน (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

สุขภาพแข็งแรง + อายุยืน (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

หลายคนที่เกษียณอายุไปเมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมา คงกำลังปรับตัวให้เข้ากับการดำเนินชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยที่เรียกกันว่า “ผู้สูงอายุ” หรือ สว. และทุกคนก็คงอยากมีบั้นปลายของชีวิตที่สุขภาพแข็งแรงและอายุยืน

ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ผมหาข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้รวบรวมมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ มาให้ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันนะครับ 

ผมเชื่อว่าเราทุกคนต้องการให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตเป็นคล้ายกับคุณยาย Dorothy Hoffner ที่เพิ่งเสียชีวิตไป โดยมีอายุครบ 104 ปี ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. เพิ่งไปโดดร่มจากเครื่องบินสูง 13,500 ฟุต (ก่อนหน้านั้นก็ได้ฉลองอายุครบ 100 ปี โดยการโดดร่มเช่นกัน) ตามรายงานข่าวนั้น คุณยาย Hoffner เสียชีวิตระหว่างนอนหลับในคืนวันจันทร์ที่ 9 ต.ค.

อีกกรณีหนึ่งคือ การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 ระบุในใบมรณบัตรว่าสาเหตุคือ “ชราภาพ” แต่เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ก็ยังคงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 คือนาง Liz Truss 

ทั้งนี้ สำนักพระราชวังประกาศว่า พระองค์ประชวรวันที่ 8 ก.ย. กล่าวคือ คงจะประชวรเพียง 1-2 วันก็เสด็จสวรรคตอย่างสงบ และมีพระชนมายุยืนนานถึง 96 ปี

กรณีของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 นั้น สามารถนำไปเปรียบเทียบได้กับพระขนิษฐาคือเจ้าหญิงมาร์กาเรต ที่อายุยืนเพียง 71 ปี น้อยกว่าสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธถึง 25 ปี ทั้งๆ ที่ทั้งสองพระองค์น่าจะมีพันธุกรรมคล้ายคลึงกันอย่างมาก (พระขนิษฐาเกิดหลังจากสมเด็จพระราชินี 4 ปี) ดังนั้น การที่อายุยืนต่างกัน 25 ปีนั้นน่าจะสรุปได้ว่ามาจากการใช้ชีวิต (lifestyle)

เจ้าหญิงมาร์กาเรต เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นและสูบบุหรี่จัดเป็นเวลาหลายสิบปี ดังนั้น ในปี 2528 (เมื่อพระชนมายุ 55 ปี) ถูกผ่าตัดปอดข้างซ้ายออกไป นอกจากนั้นก็ยังดื่มสุราจัด แม้จะเลิกสูบบุหรี่เมื่อปี 2534 สุขภาพจึงไม่ดี เป็นโรคปอดบวมเมื่ออายุ 63 ปี เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เมื่ออายุ 68 ปี และ stroke อีกครั้งเมื่ออายุ 71 ปี

ซึ่งครั้งนั้นมีอาการรุนแรง ตามมาด้วยการเป็น stroke อีกครั้งและมีอาการโรคหัวใจ ทำให้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2545 เมื่ออายุ 71 ปี ก่อนพระราชินีเสด็จสวรรคตกว่า 20 ปี

สุขภาพแข็งแรง + อายุยืน (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

งานวิจัยหลายสิบชิ้นที่ผมอ่านมีข้อสรุปเหมือนกันว่า มนุษย์เราจะอายุยืนได้ถึงประมาณ 80 ปี หากเราดูแลสุขภาพตัวเองให้ “ดี” (ตรงนี้จะขยายความในตอนต่อไป) เกินกว่า 85 ปี พันธุกรรมจะเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

Thomas Perls ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยผู้สูงอายุ ที่เรียกว่า centenarians หรือผู้ที่อายุยืนเกิน 100 ปี ประเมินว่าหากจะอายุยืนถึง 90 ปี พันธุกรรมเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักประมาณ 25% หากอายุยืนไปถึง 100 ปี พันธุกรรมจะเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักประมาณ 50% ไกลไปกว่านั้นหากอายุยืนถึง 106 ปีต้องพึ่งพาพันธุกรรมประมาณ 75%

อย่างไรก็ดี จำนวนคนที่อายุ 100 ปีหรือมากกว่านั้น กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สหรัฐในปี 2556 มีประชาชนอายุ 100 ปีหรือมากกว่า จำนวน 65,000 คน แต่ในปี 2566 ประชาชนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นสูงถึง 109,000 คน 

ทั้งนี้ Perls ประเมินว่าประชาชน 20% มีพันธุกรรมที่จะช่วยให้มีอายุยืนเกิน 100 ปีได้ กล่าวคือ ในอนาคตหากมีการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง จำนวนคนที่อายุ 100 ปีหรือมากกว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก สหรัฐมีประชากรประมาณ 340 ล้านคน ดังนั้น ในอนาคตการจะมีประชาชนจำนวนนับสิบล้านคน ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้

การศึกษาประชากรที่อายุเกิน 100 ปีอย่างเป็นระบบนั้น กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากและเริ่มมีข้อสรุปออกมาแล้วว่า คนกลุ่ม Super Agers อายุยืนเพราะหลีกเลี่ยงการเป็นโรคไม่ติดต่อหลักๆ ประมาณ 4 โรคจนวัยแก่เฒ่ามากๆ คือ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม และโรคเบาหวาน กล่าวคือหากเป็นโรคดังกล่าวก็จะปรากฏอาการตอนอายุใกล้ 100 ปี เป็นต้น

สำหรับคนอื่นๆ นั้น สถิติพบว่า

1.โดยเฉลี่ยโรคมะเร็งจะตรวจพบครั้งแรกเมื่ออายุ 66 ปี

2.ผู้ชายจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันครั้งแรก (Heart attack) ตอนอายุ 65 ปี ผู้หญิงจะพบเมื่ออายุ 72 ปี

3.ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะเริ่มเป็นโรคเบาหวานระหว่างอายุ 45-64 ปี (ตรงนี้ “กว้างมาก” และการเป็นโรคเบาหวานได้ระบาดอย่างหนักมาหลายสิบปีแล้ว องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีประชากรถึง 422 ล้านคนเป็นโรคเบาหวานในปี 2557 เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวจาก 108 ล้านคนในปี 2523)

4.โรคสมองเสื่อม ส่วนใหญ่เริ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 65 ปีเป็นต้นไป โดยช่วงอายุ 65-74 ปีจะมีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม 5% อายุ 75-84 ปี สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 13.1% และอายุ 85 ปีหรือมากกว่า เพิ่มขึ้นเป็น 33.2%

ข้อมูลดังกล่าวนี้ หลายคนอาจจะไม่อยากรับรู้ แต่การไม่มีความรู้และไม่มีข้อมูลนั้นย่อมเป็นความเสี่ยงอย่างมาก ในฐานะที่ผมเป็นนักวิเคราะห์ด้านการลงทุนนั้น เราจะต้องพยายามแสวงหาข้อมูลให้ครบถ้วนที่สุด เพื่อใช้ในการประเมินว่าการลงทุนอย่างไรจะทำให้เผชิญความเสี่ยงน้อยที่สุดและให้ผลตอบแทนสูงที่สุด

ในครั้งต่อๆ ไป ผมจะเขียนถึงการดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรงและอายุที่ยืนยาวให้มากที่สุด ซึ่งในการนี้ ผมจะกล่าวถึงหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับสุขภาพที่ชื่อว่า Outlive เขียนโดยนายแพทย์ Peter Attia ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ท่านผู้อ่านที่ไม่อยากรอบทความครั้งต่อไปของผม จะซื้ออ่านไปล่วงหน้าได้เลยครับ