ยารักษาโรคสมองเสื่อม | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ยารักษาโรคสมองเสื่อม | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในช่วงไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา มี “ข่าวดี” สำหรับคนที่เป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ (AZ) คือกำลังจะมีทางเลือกใหม่ในการรักษา ได้แก่ ยา 2 ชนิด คือ Donanemab และ Lecanemab

Lecanemab เป็นยาที่ขายในตลาดของบริษัท Biogen กับ Eisai ที่ผ่านการทดลองขั้นที่ 3 (Phase 3 clinical trial) เมื่อ พ.ย. 2565 และเพิ่งได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาโรค AZ โดยคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (US FDA) ในเดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา

Donanemab คือยาของบริษัท Eli Lilli ที่เพิ่งประกาศผลการทดลองขั้นที่ 3 เมื่อ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าได้ผลดี จึงคาดการณ์ว่าน่าจะได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนในการรักษาโรค AZ โดย US FDA ภายในปลายปี 2566 นี้

การมียารักษาโรค AZ เป็นทางเลือกใหม่ถึง 2 ชนิดในปี 2566 นี้ แตกต่างจาก 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทยาไม่สามารถคิดค้นยาใหม่มารักษา AZ ได้เลย เว้นแต่การที่ US FDA อนุมัติแบบ accelerated approval ให้กับยา Aducanumab (ของ Biogen and Eisai)

เมื่อ มิ.ย. 2564 และถูกตำหนิอย่างกว้างขวาง เพราะยามีผลกระทบข้างเคียงที่รุนแรงมาก ขณะที่ประโยชน์ในการรักษาไม่ชัดเจน ดังนั้น ประเทศอื่นๆ จึงไม่ได้อนุมัติการใช้ยา Aducanumab

ยา Lecanemab และ Donanemab เป็นยาประเภท monoclonal antibody ซึ่งผมแปลว่าเป็นการสร้างโปรตีน (antibody) ในเลือดที่ฉีดเข้าเส้นเพื่อให้ไปเกาะตัวกับโปรตีน ที่เรียกว่า beta amyloid ที่จับตัวกันเป็นก้อนหินปูนที่ทำให้เซลล์สมองสื่อสารกันไม่ได้ และทำให้เซลล์สมองตายในที่สุด 

การฉีดแอนติบอดีเข้าไปทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย “มองเห็น” ว่า beta amyloid เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องถูกขจัดออกไป ซึ่งยาทั้งสองชนิดนี้สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันกำจัดจำนวน beta amyloid ให้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ผลที่ตามมาคือ การเสื่อมถอยของสมองชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน 

หมายความว่า การรักษาโรค AZ โดยการเร่งกำจัด beta amyloid นั้น น่าจะ “มาถูกทางแล้ว” (ต้องเข้าใจว่าหลังจากการค้นพบโรค AZ เมื่อปี 2449 นั้น กว่าจะค้นพบว่า beta amyloid น่าจะเป็นต้นตอสำคัญของโรคนี้ ก็ใช้เวลานานเกือบ 80 ปีในปี 2527)

  • ผมจะขอขยายความของผลการทดลองยา Donanemab เพื่อให้เห็นว่าเป็นยาที่เป็นทางเลือกในการรักษา AZ ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งมีข้อมูลสำคัญๆ ดังนี้

1.คนที่มีอาการสมองเสื่อมเล็กน้อยถึงปานกลางในการทดลอง 1,736 คน อายุเฉลี่ย 73 ปี

2.ครึ่งหนึ่งได้รับยา Donanemab (ผ่านเส้นเลือด) อีกครึ่งหนึ่งได้รับยาเทียมทุกๆ 4 สัปดาห์ เป็นเวลา 18 เดือน

3.คนที่ได้ยาจริง ภาวะสมองเสื่อมชะลอตัวลงมากกว่ากลุ่มที่ได้ยาเทียม 35% ในช่วง 18 เดือนดังกล่าว ซึ่งตีความว่า “ซื้อเวลา” ที่สมองยังเป็นปกติได้ประมาณ 6 เดือนจาก 18 เดือน โดยวัดจาก Alzheimer’s Disease Rating Scale (ADRS)

4.ยา Donanemab กำจัดหินปูน beta amyloid ได้มากถึง 90%

5.หลังจากหยุดให้ยา Donanemab ไปเป็นเวลา 1 ปี กลุ่มที่ได้ยาจริงก็ยังได้ประโยชน์จากการที่สมองเสื่อมลงช้ากว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยา (ประเด็นนี้สำคัญมาก)

6.ยา Donanemab มีประโยชน์ในการชะลอการเสื่อมถอยของสมองได้มากที่สุด ในกลุ่มคนที่อายุน้อย (ต่ำกว่า 75) และกลุ่มที่เพิ่งเริ่มมีอาการสมองเสื่อม โดยจะชะลอการเสื่อมของสมองได้มากถึง 60%

สำหรับยา Lecanemab ก็ใช้แนวทางรักษาคล้ายคลึงกันคือ กำจัด beta amyloid โดยอาศัย monoclonal antibody แต่ดูเหมือนว่าจะได้ผลดีไม่เท่ากับ Donanemab คือชะลอการเสื่อมของสมองประมาณ 27% 

ทั้งนี้ ยาทั้งสองชนิดทำให้เกิดอาการแพ้ยาในประมาณ 25% ของผู้ใช้ คือทำให้สมองบวมและเลือดออกในสมอง (ที่ถือว่าเป็นผลกระทบข้างเคียงที่ต้องพึงระวัง) และมีผู้ใช้ยา Donanemab แล้วเสียชีวิตระหว่างการรักษาอีก 3 คนด้วย 

ที่สำคัญคือ ยาทั้งสองชนิดซึ่งกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้น ไม่ควรใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะต่อต้านยารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกประเด็นหนึ่งคือราคาที่ค่อนข้างสูงของยา Lecanemab ที่ 26,500 ดอลลาร์ (915,000 บาท) ต่อปี แต่ราคายา Donanemab นั้นยังไม่ได้เปิดเผย

AZ เป็นโรคที่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคืออายุ กล่าวคือคนอายุ 65-75 ปี จะเป็นโรคนี้ประมาณ 5% แต่เมื่ออายุมากขึ้นคือ 75-84 ปี จะเป็นโรคนี้ประมาณ 13% และคนที่อายุ 85 ปีหรือมากกว่าจะเป็นโรคนี้สูงถึง 35%

โดยผู้หญิงจะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย กล่าวคือ ผู้หญิงประมาณ 11% เป็นโรคนี้ แต่ผู้ชายสัดส่วนการเป็น AZ ต่ำกว่าคือ 8% (ข้อมูลของสหรัฐ)

แต่ข่าวดีคือ ที่สหรัฐสัดส่วนของคนอายุ 70 ปีหรือมากกว่าที่เป็น AZ ลดลงจาก 13% ของคนกลุ่มนี้ในปี 2544 มาเป็น 10% ในปี 2562 กล่าวคือ อัตราการเป็นโรค AZ ลดลงประมาณ 1.0-2.5% ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว แปลว่า การดูแลตัวเองให้สุขภาพดี น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงการเป็นโรคนี้ 

ผมเชื่อว่า การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของสมองอย่างมาก โดยผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในครั้งต่อไปครับ