‘สะเก็ดเงิน’ รักษา-ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อโรคไม่หายขาด

‘สะเก็ดเงิน’ รักษา-ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อโรคไม่หายขาด

ทำความเข้าใจ โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ลักษณะเป็นผื่นสีแดง มีขุยสีขาว คล้ายรังแคติดที่ผิวแต่มักจะรุนแรงกว่า 80% ของผู้ป่วย ผื่นสะเก็ดเงินมักเริ่มต้นที่ศีรษะก่อนจะกระจายไปยังส่วนอื่น

Key Point :

  • โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง มีอาการผื่นที่ผิวหนัง หนังศีรษะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ และเล็บ หลากหลายรูปแบบ ไม่แพร่เชื้อ ไม่ใช่โรคติดต่อ
  • ไทยพบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ราว 2% ของประชากรไทยทั้งหมด ส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก และมีประมาณ 20-25% ที่มีอาการรุนแรง
  • การรักษาโรคสะเก็ดเงิน เป็นการรักษาให้โรคสงบ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีสิ่งมากระตุ้นโรคจะสามารถกำเริบได้อีก โดยแพทย์จะเลือกรักษาตามความรุนแรง

 

สะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ที่เกิดจากการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้นทำให้ ผิวหนังแบ่งตัวเร็วขึ้น ไม่มีการติดเชื้อและไม่แพร่เชื้อ ไม่ใช่โรคติดต่อ ถึงแม้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้โรคสงบได้ ผู้ป่วยควรใช้ชีวิตตามปกติ และเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและคนรอบข้างควรทำความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคและการดูแลรักษา เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค และควบคุมโรคอย่างได้ผล

 

ลักษณะของโรคสะเก็ดเงินคือ ผื่นสีแดงค่อนข้างหนาและมีขุยสีขาว คล้ายรังแคติดที่ผิวแต่มักจะรุนแรงกว่า มีสะเก็ดออกมามากกว่า กระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดย 80% ของผู้ป่วย ผื่นสะเก็ดเงินมักเริ่มต้นที่ศีรษะก่อนจะกระจายไปยังส่วนอื่น เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง มีอาการผื่นที่ผิวหนัง หนังศีรษะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ และเล็บ หลากหลายรูปแบบ อีกทั้ง ผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะข้ออักเสบผิดรูป ภาวะอ้วนลงพุง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองอุดตัน ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

ข้อมูลจาก สถาบันโรคผิวหนัง พบว่า สถานการณ์ในประเทศไทยพบ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ประมาณ 2% ของประชากรไทยทั้งหมด เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ต่อเนื่อง ทำให้ความชุกของโรคค่อนข้างสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก มีประมาณ 20-25% ที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องรักษาด้วยยารับประทานที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน การฉายแสงอาทิตย์เทียม หรือยาฉีดชีวโมเลกุล โดยพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

สาเหตุของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน

สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่า พันธุกรรมมีส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะผู้ป่วยบางรายก็ไม่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงินเลย

 

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน เป็นการรักษาให้โรคสงบ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีสิ่งมากระตุ้นโรคจะสามารถกำเริบได้อีกโดยในการรักษาแพทย์จะเลือกรักษาตามความรุนแรง แบ่งออกเป็น

  • กรณีเป็นน้อย รักษาโดยใช้ยาทาเฉพาะที่ เพื่อลดอาการอักเสบ ตัวยามักมีข้อจำกัดในการใช้ จึงควรใช้ภายใต้คำแนะนำและการควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • กรณีมีผื่นหนาและเป็นมาก รักษาโดยใช้ยากินร่วมกับยาทา หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ได้แก่ ฉายแสงอาทิตย์เทียม
  • กรณีดื้อต่อการรักษาวิธีใดอาจใช้วิธีอื่นมารักษาแทน เช่น ใช้ยาฉีดชีวภาพ

 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน พบได้ทั้ง วัยเด็ก วัยทำงาน และผู้ป่วยสูงอายุ โดยในจำนวนนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก การรักษาที่เหมาะสม คือการทายาเฉพาะที่ที่ผิวหนัง หรือการฉายแสงเฉพาะรอยโรค ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมากจำเป็นต้องรักษาด้วยยารับประทานที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน การฉายแสงอาทิตย์เทียม ซึ่งสามารถใช้ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการได้

 

 

แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้นจำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดชีวโมเลกุลซึ่งมีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัย แต่มีราคาแพง ไม่สามารถเบิกได้ ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง ทำให้มีปัญหาในการเข้าถึงยา ถึงแม้ว่าโรคสะเก็ดเงินยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาในปัจจุบันนี้สามารถทำให้ผื่นยุบและอาการของโรคสงบลงได้ ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไป โดยผู้ป่วยยังต้องทายาเป็นครั้งคราว หรือรับประทานยา ภายใต้การดูแลของแพทย์ เหมือนการรักษาโรคทั่วไป

 

ปัจจัยของการกำเริบโรคสะเก็ดเงิน

  • ความเครียด
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก
  • การติดเชื้อบางชนิด ที่พบบ่อยคือติดเชื้อแบคทีเรียที่คอ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการสะเก็ดเงิน
  • การแกะและเกา
  • การดื่มสุราและสูบบุหรี่
  • น้ำหนักเกิน

 

ผลกระทบจากโรคสะเก็ดเงิน

  • อาการคัน ไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่สร้างความรำคาญ
  • อาการผื่นตามผิวหนังอาจส่งผลด้านบุคลิกภาพ ทำให้สูญเสียความมั่นใจ
  • หากเป็นนาน ๆ อาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย
  • หากมีอาการทางข้อแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้ข้อผิดรูปและพิการได้

 

ข้อควรปฏิบัติในผู้ป่วยสะเก็ดเงิน

  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดการแห้งของหนังศีรษะหรือผิวหนัง
  • หากเป็นน้อยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทั่วไปได้ โดยเลือกที่อ่อนโยนต่อผิว ทาโลชั่นให้ผิวชุ่มชื้นเป็นประจำ
  • หากเป็นมาก ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ
  • หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาผื่นสะเก็ดเงิน เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นและลุกลามได้
  • พยายามอย่าเครียด ทำใจให้สบาย พักผ่อนและออกกำลังกายให้เพียงพอ
  • หากติดเชื้อบางชนิด เช่น ติดเชื้อที่คอ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดสะเก็ดเงินได้ ควรรีบรักษาอาการติดเชื้อโดยเร็ว
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่
  • ควบคุมไม่ให้มีภาวะน้ำหนักเกิน

 

สะเก็ดเงินและความผิดปกติของข้อ

ในบางราย อาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย และถ้าหากมีอาการทางข้อควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เสี่ยงต่ออาการข้อผิดรูป แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสำหรับคนที่ปวดข้อ ได้แก่

  • กลุ่มคนอายุน้อย บางครั้งมีอาการทางข้อนำมาก่อน กลุ่มนี้มักมีความรุนแรง อาจมีพันธุกรรมเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องได้รับการดูแลข้ออย่างดี ป้องกันอาการข้อผิดรูป
  • กลุ่มคนอายุมาก เกิดจากเป็นสะเก็ดเงินมานานนับสิบปี อาจทำให้มีอาการทางข้อ เช่น ปวดข้อ หรือตึงที่มือ

 

ข้อควรปฏิบัติของคนรอบข้างผู้ป่วยสะเก็ดเงิน

  • ทำความเข้าใจว่าโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อ และเป็นโรคที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อและไม่เกี่ยวข้องกับความสกปรก สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างปกติ
  • ให้กำลังใจผู้ป่วย และคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษากับผู้ป่วย แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ทำให้โรคสงบได้
  • ไม่เพิ่มความเครียดให้กับผู้ป่วย เพราะโรคนี้มีความเครียดเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

 

ดูแลตัวเองอย่างไร 

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลตัวเอง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ขจัดความเครียด
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองอ้วนเพราะจะส่งผลต่อการรักษา
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ผื่นเห่อ เช่น การแกะเกา การดื่มสุรา
  • รักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ

 

อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล , สถาบันโรคผิวหนัง