ดูแลอย่างไร ? เมื่อ 'ผิวเครียด' โรคใหม่ของคนวัยทำงาน

ดูแลอย่างไร ? เมื่อ 'ผิวเครียด' โรคใหม่ของคนวัยทำงาน

ชีวิตในแต่ละวันที่ต้องเผชิญกับความเครียดทุกรูปแบบ ตั้งแต่ รถติด ปริมาณงานมาก ทั้งงานเก่างานใหม่ ยังไม่รวมกับปัญหาอื่นๆที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ครอบครัว ความรัก เพื่อนฝูง จิปาถะมากมาย 

Keypoint:

  • จากคนหน้าใสกลายเป็นสิวขึ้น มีผื่น ทั้งๆที่ไม่ได้แพ้อะไร หรือเปลี่ยนเครื่องสำอาง ลองเช็กดูว่าช่วงนี้มีอาการเครียดหรือไม่? เพราะความเครียดส่งผลให้เกิด 'โรคผิวเครียด' ได้
  • อาการโรคผิวเครียด สังเกตได้ตั้งแต่ ผิวหนังระคายเคืองจากการอักเสบภายใน ผิวแห้งขาดความชุ่มชื่น หน้าเป็นสิว ผิวหน้าหมองคล้ำไม่สดใส  ผลเสียต่อหนังศีรษะและเส้นผม
  • อยากผิวดี เริ่มต้นได้ด้วย เลือกอาหารช่วยต้านแสงแดด ลดความเครียด หาเวลางีบ งดแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่  หัวเราะบ่อยๆ และออกกำลังกาย

'ความเครียด' คือภาวะของอารมณ์ ความรู้สึก ที่ถูกบีบคั้น หรือกดดัน ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีวิธีการปรับตัวให้ผ่านพ้นไปได้ ความเครียดที่หาทางระบายออกไม่ได้ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเปลี่ยนเป็นโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) หรือโรควิตกกังวล (Anxiety disorders)

อาการที่บ่งบอกว่าเรากำลังเครียด ไม่ได้มีเพียง ปวดหัว หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ หรือเบื่ออาหาร  แต่ยังแสดงออกได้ทาง 'ผิว' อีกด้วย และอาการต่าง ๆ ก็ไม่ได้มาแบบเล่น ๆ เพราะมาในแบบที่ทางการแพทย์เรียกว่า 'โรคผิวเครียด'

ความเครียด ส่งผลต่อสารเคมีในร่างกายทำให้ผิวมีความ Sensitive หรือว่าระคายเคืองได้ง่ายขึ้น รวมถึงส่งผลต่อการฟื้นตัวหรือการหายของแผลด้วย

เวลามีความเครียดร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนบางชนิดเยอะขึ้น เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล ฮอร์โมนชนิดนี้จะไปกระตุ้นทำให้ต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตไขมันมากขึ้น ก็ทำให้เป็นสิวได้ง่ายขึ้น จะสังเกตได้ว่าหลาย ๆ คน อาจจะมีสิวขึ้นในช่วงสอบหรือว่ามีสิวขึ้นในช่วงนี้เครียดมาก ๆ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เครียด เหนื่อย เศร้า มาทางนี้! ‘10 แอปพลิเคชั่น’ ดูแลสุขภาพใจ

ยิ่งเครียดยิ่งแพ้ 'ความเครียดส่งผลต่อโรคภูมิแพ้'

 

รู้จักกับ 'โรคผิวเครียด' 

ความเครียดยังส่งผลกระตุ้นให้คนที่เป็นโรคผิวหนังบางชนิดอยู่แล้ว มีอาการกำเริบได้ ยกตัวอย่าง เช่น

  • คนที่เป็นโรคสิวหน้าแดงหรือ (Rosacea)
  • คนที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
  • คนที่เป็น Chronic Eczema หรือว่าผิวหนังอักเสบเรื้อรังด้วย

'ผิวเครียด' เป็นโรคทางจิตวิทยาผิวหนังที่เรียกว่า Psychodermatology ซึ่งเกิดจากสภาวะจิตใจหรือความเครียด ที่กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมามากกว่าปกติ จนร่างกายเสียสมดุล ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานในร่างกาย รวมถึง 'ผิวพรรณ'ด้วยนั่นเอง

โรคผิวหนังและโรคทางใจเกี่ยวข้องกันได้อย่างไรสามารถแบ่งลักษณะความเกี่ยวข้องกันได้เป็น 3 กลุ่ม

1. กลุ่มที่เป็นโรคผิวหนังอยู่แล้ว แต่โรคทางใจทำให้โรคผิวหนังกำเริบ

เช่น สิว ผมร่วงเป็นหย่อม โรคผิวหนังภูมิแพ้ เริม เหงื่อออกมาก คัน สะเก็ดเงิน โรคผิวเปลือกไม้ (lichen simplex chronicus) ลมพิษ และหูด  

ดูแลอย่างไร ? เมื่อ \'ผิวเครียด\' โรคใหม่ของคนวัยทำงาน

2. กลุ่มโรคผิวหนังเป็นตัวทำให้จิตป่วย

พบว่าโรคผิวหนังที่ลักษณะภายนอกไม่น่าดู หรือน่ารังเกียจ เช่น สิวที่รุนแรง สะเก็ดเงิน ด่างขาว และเริม ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย เสียความมั่นใจในตนเอง และเกิดความเครียด

3. กลุ่มโรคทางใจที่มีอาการทางผิวหนัง

พบว่าความผิดปกติทางผิวหนังบางอย่างเป็นอาการของโรคทางใจโดยตรง เช่น โรคชอบดึงผมเล่นจนร่วง โรคหลงผิดว่ามีพยาธิหรือแมลงไต่ตามผิวหนัง และโรคไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตนเอง

 

อาการของโรคผิวเครียด

หลายปีที่ผ่านมานี้ภาวะรอบด้านทำให้คนไทยเครียดกันมาก ความเครียดส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ทำให้ลืมง่าย ไม่มีสมาธิในการทำงาน หงุดหงิด โมโหง่าย ติดยาเสพติด ปวดท้อง ปวดหัว ปวดหลัง นอนไม่หลับ ความเครียดยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง แผลในกระเพาะอาหาร หืด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และโรคจิต โรคประสาท นอกจากนั้นความเครียดหรือโรคทางใจยังมีผลต่อผิวหนังอีกด้วย  

สำหรับอาการของโรคผิวเครียด

1.ผิวหนังระคายเคืองจากการอักเสบภายใน

เมื่อความเครียดถูกสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี จนอาจเกิดการอักเสบของลำไส้ และเมื่อระบบภายในเกิดการอักเสบ ก็จะส่งผลต่อภายนอกของร่างกาย โดยอาจมาในรูปแบบของสิว โรคสะเก็ดเงิน หรือโรคติดเชื้อทางผิวหนังอื่น ๆ

2.ผิวแห้งกร้านขาดความชุ่มชื้น

ความเครียดเรื้อรังส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่มีชื่อว่า "Cortisol" ซึ่งมีผลกระทบต่อผิวพรรณ เพราะฮอร์โมนตัวนี้จะไปลดความสามารถในการกักเก็บความชุ่มชื้นของผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งขาดความชุ่มชื้น

3.หน้าเป็นสิวจากความเครียด

เวลาเครียดเซลล์ในร่างกายจะผลิตไขมัน เมื่อไขมันไปผสมกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และแบคทีเรีย จะทำให้เข้าไปอุดตันในรูขุมขน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิว ซึ่งการล้างหน้าบ่อย ๆ ก็อาจจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ดูแลอย่างไร ? เมื่อ \'ผิวเครียด\' โรคใหม่ของคนวัยทำงาน

4. ผิวหน้าหมองคล้ำไม่สดใส

ความเครียดกระตุ้นให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาตอบสนองเหมือนที่เวลาเราตกอยู่ในอันตราย โดยร่างกายจะส่งเลือดไปเลี้ยงที่อวัยวะสำคัญก่อน เช่น หัวใจ สมอง ปอด และตับ ซึ่งมีส่วนทำให้ผิวพรรณที่รวมถึงผิวหน้า มีเลือดมาหล่อเลี้ยงน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ผิวหน้าหมองคล้ำ ดูอิดโรย ไม่กระจ่างใส      

5. ผลเสียต่อหนังศีรษะและเส้นผม

หนังศีรษะและเส้นผมของแต่ละคน ตอบสนองต่อภาวะความเครียดของจิตใจแตกต่างกัน บางคนเส้นผมมันมากกว่าปกติ แห้งแตกปลาย เกิดรังแค หรือผมร่วงจนผิดสังเกต ซึ่งทั้งหมดมีสาเหตุมาจากการที่เราจมอยู่กับความเครียดมาก ๆ

ความเครียดส่งผลเสียต่อผิวอย่างไร

เมื่อเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดคือ คอร์ติซอล (cortisol) ทำให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น เกิดอาการผิวมัน สิว และโรคผิวหนังอื่นๆ

ความเครียดยังทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลงจึงทำให้ผิวหนังติดเชื้อง่าย เกิดโรคเริมกำเริบ งูสวัด แผลหายช้า และมะเร็งผิวหนังสูงขึ้น

บางคนเวลาเครียดจะกัดเล็บ ความเครียดยังทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งตัว เกิดเป็นรอยย่นลึกที่ใบหน้า เช่น ที่หน้าผาก และหัวคิ้ว

  • โรคจิตหลงผิดของผิวหนัง

กลุ่มอาการหลงผิดมีลักษณะคือ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตปกติกับคนอื่นๆ ได้โดยแยกไม่ออก สามารถพูดจารู้เรื่อง ทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้คิดว่าตัวเองเจ็บป่วย ส่วนใหญ่จึงไม่เข้ารับการรักษา ทางด้านของโรคผิวหนังก็พบโรคจิตหลงผิดของผิวหนังได้ เช่น

  • โรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนัง

ผู้ป่วยจะเล่าว่ารู้สึกว่ามีพยาธิหรือแมลงไต่ เจาะเป็นอุโมงค์ หรือกัดผิวหนัง

  • โรคฝังใจว่ามีเส้นใยผุดออกมาจากผิวหนัง

ผู้ป่วยโรคนี้เชื่อฝังใจว่ามีเส้นใย หรือวัสดุอื่นๆ ฝังหรือผุดออกมา จากผิวหนัง

  • โรคฉันไม่สวย และโรคจิตหลงผิดว่ามีกลิ่นตัว

ผู้ป่วยจะวิตกกังวลว่ากลิ่นตัว กลิ่นปาก หรือกลิ่นจากช่องคลอด ทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ผู้ป่วยจะอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยกว่าปกติ  

ผู้ป่วยโรคนี้จะคิดว่าตนเองมีความผิดปกติของผิวหนัง หรือมีอวัยวะไม่ได้สัดส่วน บางคนกังวลเรื่องผมบาง ขนดก รูขุมขนโต เรียกชื่อโรคนี้ว่า body dysmorphic disorder (BDD) หรือบีดีดี  ผู้ป่วยชอบเปรียบเทียบอวัยวะที่ตนเองคิดว่าผิดปกติกับคนอื่น ชอบแต่งหน้าทำผมครั้งละนานๆ ชอบครุ่นคิดถึงรูปร่างหน้าตาตัวเอง  พบอาการซึมเศร้ารุนแรงร่วมด้วยได้บ่อย  ถ้าโรคนี้เกิดในผู้ใหญ่อาจแสดงอาการในรูปของความกลัวแก่อย่างรุนแรง  โรคบีดีดีมักเริ่มเป็นเมื่ออายุน้อยคือ ๑๖-๑๗ ปี และเป็นเรื้อรัง                                                                                       

  • โรคกลัวแก่ขึ้นสมองหรือกลุ่มอาการดอเรียนเกรย์ (Dorian Gray syndrome)

ตั้งชื่อตามนวนิยายชื่อ The Picture of Dorian Gray ที่มีตัวละครเอกชื่อ ดอเรียนเกรย์ ที่กลัวความแก่มากจนต้องขอให้ภาพวาดแก่แทน ผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้จะมีลักษณะของบีดีดีร่วมกับการมีพัฒนาการทางจิตใจที่ผิดปกติ  ผู้ป่วยยังมีประวัติใช้ยา หรือเทคนิคที่ปรับปรุงคุณภาพในการดำเนินชีวิตอย่างน้อย 2 ชนิด ได้แก่ ยาปลูกผม ยาลดไขมัน ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ ยาต้านอาการซึมเศร้า มารักษาผิวหนัง เพื่อเสริมความงาม (เช่น ทำเลเซอร์ผลัดผิว) และทำศัลยกรรมตกแต่ง (เช่น ผ่าตัดดึงหน้า ดูดไขมัน)   

คงมองภาพรวมออกว่า โรคทางใจและโรคผิวหนังเกี่ยวข้องกันอย่างไร และผิวหนังก็ไม่ได้เป็นแค่เปลือกที่ห่อหุ้มร่างกายเท่านั้น แต่ก็เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับระบบอื่นของร่างกายและจิตใจ จึงควรเข้าใจว่าทำไมบางครั้งเป็นโรคผิวหนังแล้วแพทย์ผิวหนังขอให้ไปพบจิตแพทย์ร่วมด้วย หรือบางครั้งเป็นโรคผิวหนังแล้ว แพทย์ผิวหนังขอให้ไปพบอายุรแพทย์ เพื่อตรวจตับ ตรวจไต ตรวจระบบเลือด ฯลฯ ทั้งนี้ เพราะความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอวัยวะอื่นๆ จิตใจ และผิวหนัง มีความสัมพันธ์ และส่งผลถึงกันได้ทั้งหมด     

       ดูแลอย่างไร ? เมื่อ \'ผิวเครียด\' โรคใหม่ของคนวัยทำงาน                                    

เลี่ยงการก่อเกิดอาการผิวเครียดได้อย่างไร

คนเราอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในชีวิต ในแต่ละคนก็ควรจะต้องมีวิธีการกำจัดความเครียดในแต่ละรูปแบบของตัวเอง

ยกตัวอย่าง เช่น ถ้ารู้ตัวช่วงนี้เครียด ก็อาจจะมีการบริหารจัดการเวลาให้ได้หลบไปทำกิจกรรมที่ชอบ อาจจะออกกำลังกายหรือว่านั่งสมาธิ การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอก็มีส่วนช่วยได้มาก

รวมไปจนถึงการที่เราได้ปรึกษาพูดคุยกับเพื่อนหรือว่าคนในครอบครัว หรือแม้กระทั่งกับ Therapist หรือว่านักบำบัดก็ช่วยทำให้เราลดความเครียดแล้วก็รับมือกับความเครียดได้ดีขึ้นด้วย

อยากมีผิวดีต้องมีพฤติกรรมแบบนี้

1. เลือกอาหารช่วยต้านแสงแดด

แสงแดดและอากาศร้อนในบ้านเราผลกระทบโดยตรงต่อผิวหนังไม่ว่าจะปัญหาผิวแห้งกร้าน ผิวแดง ผิวแสบไหม้ หรือปัญหาใหญ่อย่างมะเร็งผิวหนัง นอกจากการทาครีมกันแดดป้องกันแล้วคุณควรเสริมด้วยอาหารที่มีสารไลโคปีน เบต้าแคโรทีน และกรดอะมิโน ซึ่งพบมากในมะเขือเทศและฟักข้าว ที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันผิวไหม้จากแสงแดด ทำให้ผิวพรรณชุ่มชื่น และชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย

2. ลดความเครียด

ความเครียด ความกังวล สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำลายจิตใจเราแล้วยังส่งผลเสียต่อผิวของเราได้เช่นกัน เพราะเมื่อร่างกายเกิดความเครียดหรืออารมณ์เสียเมื่อไรจะหลั่งฮอร์โมนความเครียดชื่อว่า 'คอร์ติซอล' ออกมาทำให้ไขมันทำงานหนักมากขึ้น ผลที่ตามมาคือมีผิวมันเกิดสิวทั่วใบหน้าและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย มากไปกว่านั้นอาจกลายผื่นแดงมีอาการคันและเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่น ๆ ได้ง่าย

ดังนั้นจึงควรพยายามมองโลกในแง่บวก ทำจิตใจให้แจ่มใส และหาวิธีคลายเครียด เช่น การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ ฝึกลมหายใจ เป็นต้น ที่สำคัญคือ พักผ่อนให้เพียงพอ

3. หาเวลางีบ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่นอนไม่พอ การงีบหลับก็เป็นทางลัดให้ผิวได้ฟื้นฟูเช่นกัน เพียงคุณใช้เวลางีบหลับประมาณ 20 นาทีก็เป็นเวลาเพียงพอให้ร่างกายได้สร้างเซลล์ผิวใหม่เพื่อทดแทนเซลล์เก่าช่วยให้ผิวดูเต่งตึงเปล่งปลั่งมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดการเกิดสิวและรอยคล้ำใต้ตาได้ด้วย หรือถ้าประสบปัญหาการนอนไม่หลับให้ดมกลิ่นลาเวนเดอร์อ่อน ๆ ก็จะช่วยให้คุณนอนหลับง่ายขึ้น

4. ดื่มก่อนนอนสร้างผิวสวย

นอกจากน้ำสะอาดบริสุทธิ์แล้วการลองหาโยเกิร์ต นมเปรี้ยว (แนะนำเป็นสูตรไขมันต่ำ) หรือน้ำพรุนสกัดก่อนนอน จะช่วยให้คุณมีการขับถ่ายที่ดีในยามเช้าเสมือนเป็นการขับของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งส่งผลให้ผิวหน้าและผิวกายดูเปล่งปลั่งสดชื่น

ดูแลอย่างไร ? เมื่อ \'ผิวเครียด\' โรคใหม่ของคนวัยทำงาน

5. ออกกำลังกายช่วยกระชับผิว

การออกกำลังกายเป็นยาวิเศษขนานจริง นอกจากร่างกายแข็งแรงได้รูปร่างที่เข้าที่แล้วยังช่วยให้ออกซิเจนในร่างกายหมุนเวียนดี ทำให้ผิวเปล่งปลั่งขึ้น คุณอาจจะเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการวิ่งสลับเดิน เริ่มจากวอร์มอัพ 5 นาที จากนั้นลองเดินหรือวิ่งสลับหนักเบาเป็นช่วง ๆ เช่น วิ่งค่อนข้างเร็วสัก 30 นาที สลับกับเดินช้า 3 – 4 นาที ทำวันละ 45 – 60 นาที อย่างน้อย 5 – 6 สัปดาห์ สิ่งสำคัญคือการออกกำลังกายควรทำแต่พอดีและสม่ำเสมอ อย่าหักโหมหรือไม่พักร่างกาย เพราะจะทำให้คุณดูทรุดโทรม ระบบย่อยอาหารรวนอันเป็นสาเหตุของร่างกายและผิวพรรณไม่สดใสในระยะยาว

6. งด ละ เลิกแอลกอฮอล์และบุหรี่

เพราะเป็นสิ่งที่เพิ่มความหมองให้แก่ผิวเพราะแอลกอฮอล์ บุหรี่หรือสารเสพติดอื่น ๆ จะไปทำให้เส้นเลือดตีบตัน เลือดไหลเวียนไม่สะดวกและไปทำลายอิลาสตินกับคอลลาเจน ทำให้ผิวพรรณซีดเซียวและแห้ง ยิ่งไปกว่านั้นคือร่างกายขาดวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจึงเกิดการบาดเจ็บต่อผิวได้ง่าย เกิดรอยย่นตามหน้าผากและรอยตีนกาบริเวณรอบดวงตาซึ่งจะพบมากในผู้ที่สูบบุหรี่จัด

7. หัวเราะบ่อย ๆ ส่งผลดี

การหัวเราะนั้นมีประสิทธิภาพพอ ๆ กับการออกกำลังกาย ทันทีที่คุณหัวเราะกล้ามเนื้อบนใบหน้าและทั่วร่างกายจะยืดตัว ชีพจรกับความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่สมอง ระบบไหลเวียนเลือด ระบบย่อย ระบบภูมิคุ้มกัน หรือแม้กระทั่งผิวพรรณที่ทำให้ใบหน้าได้เคลื่อนไหว มีความยืดหยุ่น ไม่ตึงหรือเกร็ง ประกอบกับทำให้เราได้ความผ่อนคลายความเครียดด้วย

8. ทานอาหารเสริมบำรุงผิว

การทานอาหารเสริมในรูปแบบต่าง ๆ ถือเป็นตัวช่วยที่ดี เช่น วิตามินซี เป็นส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและเร่งการสร้างเซลล์ผิวใหม่ วิตามินอีมีส่วนช่วยปกป้องเซลล์ผิว จากอนุมูลอิสระ ช่วยยืดอายุผิวให้ความชุ่มชื้น หรืออีกวิธีคือการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย ซึ่งจะให้คำแนะนำพร้อมเช็กสภาพร่างกายว่า คุณขาดวิตามินหรือสารอาหารชนิดใดเพื่อสามารถเสริมส่วนที่ขาดให้ผิวและร่างกายคงความแข็งแรงได้ในระยะยาว

อ้างอิง: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ,โรงพยาบาลกรุงเทพ  ,กรุงเทพประกันภัย