เทศกาลกินเจ 2566 อาหารต้องห้าม ไม่ได้มีแค่สัตว์-ผักกลิ่นฉุน

เทศกาลกินเจ 2566 อาหารต้องห้าม ไม่ได้มีแค่สัตว์-ผักกลิ่นฉุน

เทศกาลกินเจ 2566 อาหารช่วงกินเจ ที่ห้ามรับประทาน ไม่ได้มีแค่สัตว์และผักกลิ่นฉุน  แต่ยังมีสิ่งที่ควรเลี่ยงอีกหลายอย่าง ต้องรู้ไม่ให้เจแตก  เมื่อออกเจ ต้องมีหลักปฏิบัติ  เพื่อไม่ให้ระบบร่างกายรวน

Keypoints:

  • เทศกาลกินเจ 2566 ตรงกับวันที่ 15-23 ตุลาคม  ซึ่งกินเจมีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลาย แต่จะต้องทำให้ถูกหลัก  จะได้ไม่เพิ่มปัญหาด้านสุขภาพ
  • อาหารที่ห้ามรับประทานในช่วงเทศกาลกินเจ  ไม่ได้มีแต่สัตว์ และผักกลิ่นฉุน 5 อย่างเท่านั้น  แต่ยังมีอาหารที่ควรเลี่ยงมากกว่านั้น รวมถึงหลักการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  • กินเจติดต่อกันเป็นเวลา 9 วัน ส่งผลให้ร่างกายมีการปรับสภาพของระบบการย่อยอาหาร เมื่อออกเจในช่วง 2-3 วันแรก จึงควรปรับสภาพร่างกายก่อน  ซึ่งมีหลักง่ายๆที่ต้องปฏิบัติ


          เทศกาลกินเจ เป็นวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ  ในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-23 ตุลาคม 2566
     ประโยชน์ของการกินเจต่อร่างกาย

     ผู้ที่ถือศีลกินเจจะงดการรับประทานเนื้อสัตว์ รวมไปถึงพืชผักที่มีกลิ่นฉุน เลือกรับประทานผักผลไม้ และรักษาศีล ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อเป็นการไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตและยังเป็นการรักษาสุขภาพ

       เนื่องจาก การรับประทาน พืช ผัก ผลไม้ และธัญพืช ส่งผลดีต่อสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายปรับตัวอยู่ในภาวะสมดุลเพราะเกิดการขับพิษและของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบย่อยอาหารจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สุขภาพดีขึ้น

     อาหารที่ห้ามในช่วงกินเจ 

  •      ห้ามทานเนื้อสัตว์ และห้ามทำอันตรายต่อสัตว์
  • ผักที่มีกลิ่นฉุน 5 อย่าง ได้แก่ กระเทียม (ไม่ดีต่อหัวใจ), หอมใหญ่ แดง ขาว ต้นหอม (ไม่ดีต่อไต), หลักเกียว ผักของจีน มีลักษณะคล้ายกระเทียมโทน (ไม่ดีต่อม้าม), กุยช่าย (ไม่ดีต่อตับ) และ ใบยาสูบ (ไม่ดีต่อปอดเมื่อใช้สูบ) นอกจากนี้ผักชนิดไหนที่มีกลิ่นฉุนก็ไม่ควรทานระหว่างช่วงกินเจด้วย
  • นม เนย น้ำมัน และผลิตภัณฑ์จากสัตว์
  • อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเค็มจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

อาหารที่ควรเลือกทานช่วงกินเจ      

        นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า หากต้องการรับประทานอาหารเจให้ได้ประโยชน์กับร่างกายอย่างแท้จริง ประชาชนต้องใส่ใจการเลือกรับประทานอาหารเจให้มากขึ้น ดังนี้

  • เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • มีความหลากหลายของชนิดอาหาร และถูกหลักโภชนาการ
  • เน้นอาหารที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ เช่น ธัญพืช เต้าหู้ ถั่ว และเพิ่มวิตามินบี 12 เนื่องจากการบริโภคอาหารเจในระยะยาวมีโอกาสขาดวิตามินนี้ได้
  •       หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เช่น หวานจัด มันจัด เค็มจัด การทานอาหารรสเค็ม จะมีปริมาณของโซเดียมสูงหากทานมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง       การล้าง   ผักสดด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้งก่อนบริโภคเพื่อลดสารพิษตกค้าง
  • เลือกรับประทานผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสมมีรสชาติไม่หวานจัด
  • เลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปที่สะอาดและได้มาตรฐาน เช่น ร้านที่ผู้ขายสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหาร ภาชนะบรรจุอาหารสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเจสำเร็จรูปในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย ต้องมีฉลากถูกต้อง มีคุณค่าทางโภชนาการผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

    อาหารกินเจที่ผู้มีโรคประจำตัวควรระวัง

      นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูงควรลดการบริโภคอาหารผัดหรือทอดเพราะหากบริโภคบ่อยครั้งจะทำให้น้ำหนักตัวเกินหรือมีภาวะไขมันในเลือดสูงได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

เทศกาลกินเจ 2566 อาหารต้องห้าม ไม่ได้มีแค่สัตว์-ผักกลิ่นฉุน

        ควรบริโภคกลุ่มคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งให้พอเหมาะ หากบริโภคมากเกินพอดีอาจทำให้ไขมันและน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคไต ต้องจำกัดผัก     ใบเขียว และผลไม้บางชนิดที่มีค่าโพแทสเซียมสูง หรือถั่วเหลือง ธัญพืชบางกลุ่มและจำกัดเครื่องปรุงโซเดียมสูง รวมถึงผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคอ้วนควรควบคุมการรับประทานอาหารเจ และออกกำลังกายเพื่อช่วย  การเผาผลาญแป้งและน้ำตาลที่รับประทานมากขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ

ปรับสภาพร่างกายช่วงออกเจ

         ขณะที่กรมอนามัย แนะนำว่า เมื่อออกเจ ควรปรับสภาพร่างกายด้วยการกินอาหารอ่อน ย่อยง่ายประเภทเนื้อปลา ไข่ นมผักและผลไม้ ให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เลือกรสไม่จัด เลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม และอาหารย่อยยากอย่างเนื้อสัตว์ติดมันเนื้อวัว เนื้อหมู เพื่อให้ร่างกายค่อยๆปรับระบบการย่อยอาหารจากพืชผักมาเป็นเนื้อสัตว์ในช่วงแรก

       เพราะหากบริโภคอาหารที่ย่อยยากหรืออาหารตามปกติเลย อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง และย่อยอาหารได้ไม่ดี โดยเมนูอาหารย่อยง่าย อาทิไข่ตุ๋นทรงเครื่อง ปลานึ่งขิง แกงจืดเต้าหู้ไข่ใบตำลึง

       ผู้ที่ต้องการจะกลับมาดื่มนมวัวหลังออกเจ แนะนำให้เริ่มดื่มครั้งละน้อย ประมาณครึ่งแก้ว และสามารถเพิ่มเป็นครั้งละ 1 แก้วได้ในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือดื่มนมหลังอาหารขณะที่ท้องไม่ว่าง หรือดื่มนมในช่วงสายหรือช่วงบ่าย ในมื้ออาหารว่างหรือเลือกผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการย่อยน้ำตาลแลคโตสบางส่วนโดยจุลินทรีย์ เช่น โยเกิร์ตหรืออาจดื่มนมถั่วเหลืองทดแทนไปก่อน เมื่อรู้สึกว่าร่างกายสามารถปรับสภาพการย่อยอาหารกลับสู่ภาวะเดิมได้แล้วก็สามารถกินอาหารและดื่มนมได้ตามปกติ