เสี่ยงเป็น 'โรค PTSD'  เหตุที่ 'พารากอน' แม้คนนั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่

เสี่ยงเป็น 'โรค PTSD'  เหตุที่ 'พารากอน' แม้คนนั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่

จิตแพทย์ชี้ติดตามข่าวความรุนแรงที่พารากอนนาน วนๆซ้ำๆ จนทำให้เสมือนอยู่ในเหตุการณ์ อาจเสี่ยง โรค PTSD ภาวะทางจิตใจที่รุนแรง แม้ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์   เกิดเจ็บป่วยทางจิตใจ ซึมเศร้าได้ 

Keypoints:

  • การส่งต่อภาพ คลิปเหตุการณ์ความรุนแรงที่พารากอน นั้นอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อคนที่รับข้อมูลอย่างที่คาดไม่ถึง แม้ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์
  • โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญหรือ PTSD (Post-traumatic stress disorder) อาการที่ต้องเฝ้าระวัง กลุ่มเสี่ยง และการรักษา  
  • คำแนะนในการดูแลเยียวจิตใจเบื้องต้นหากตัวเองหรือคนใกล้ชิดเผชิญกับเหตุรุนแรง และการติดตามข่าวอย่างไรไม่ให้ใจดิ่ง

          พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลกระทบอย่างหนึ่งในหลายๆอย่างที่จะเกิดขึ้นจากที่มีการส่งต่อข้อมูล คลิปวิดีโอของเหตุการณ์ความรุนแรงที่พารากอรในโซเชียลมีเดียต่างๆว่า  สำหรับคนที่รับข้อมูล ข่าวสารโดยตรง มีข้อมูลชัดเจนว่าภาพที่สยดสยอง รายละเอียดข่าวที่สร้างความตระหนก สามารถทำให้เกิดบาดแผลทางจิตกับคนรับสารได้ การรับข่าวและภาพเช่นนี้ซ้ำๆ
     มีรายวิจัยว่า ถ้ารับข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ประมาณ 6 ชั่วโมงขึ้นไป  จะทำให้เสมือนว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์นั้น และเกิดภาวะทางจิตใจที่รุนแรงที่เรียกว่า PTSD ได้ทั้งที่ไม่ได้เห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ แต่ดูแค่ข่าวแบบซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เจ็บป่วยทางจิตใจ หรือมีภาวะซึมเศร้า เป็นโรคซึมเศร้า และอื่นๆตามมาได้ ฉะนั้น การส่งสารลักษณะนี้เป็นอันตรายกับคนเสพ

 “อันไหนลบได้ก็ขอให้ลบ ต้องช่วยกันวิงวอน ช่วยกันลบ ช่วยกันไม่ส่งต่อ”พญ.อัมพรกล่าว

PTSD โรคเครียดภายหลังภยันตราย

       โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญหรือ PTSD (Post-traumatic stress disorder) เป็นความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์คุกคามที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง หรือเผชิญเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่มีความเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งความเครียดเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

อาการของโรค PTSD

     กรมสุขภาพจิต ระบุถึง อาการผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นภาวะ PTSD

ระยะที่หนึ่ง (1 เดือนหลังเจอเหตุการณ์) เราจะเรียกว่าระยะทำใจ หรืออาการเครียดเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการเครียดแล้วเกิดอาการทางประสาทขึ้นมาได้

ระยะที่สอง (มากกว่า 1 เดือน) มีลักษณะอาการสำคัญ 4 อย่าง คือ

1. เห็นภาพเหตุการณ์ผุดขึ้นมาซ้ำๆ หรือฝันเห็นบ่อยครั้ง

2. อาการ Flash Back คือ เกิดความตื่นตัว เห็นเหตุการณ์นั้นๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับเรา ควบคุมไม่ได้   นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ตกใจง่าย ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ไม่มีสมาธิ เครียดได้กับสิ่งต่างๆ รอบตัว

3. พยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะส่งผลทำให้กระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น ภาพข่าวเหตุการณ์ การพูดถึงจากบุคคลอื่น

4. มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ในเชิงลบ รู้สึกว่าชีวิตตัวเองหม่นหมอง ทั้งตัวเองและสิ่งรอบข้าง คิดว่าตัวเองคงไม่มีความสุขได้อีกต่อไปแล้ว ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำมาก่อนอีกแล้ว ทำให้อาจคิดฆ่าตัวตาย หรือพึ่งสารเสพติดต่างๆ เพื่อต้องการให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาจจะทำให้เกิดผลร้ายแรงยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว

กลุ่มเสี่ยง PTSD

1.คนที่มีประสบการณ์ถูกทำร้ายตอนเด็กๆ

2.คนที่ไม่ค่อยมีเพื่อนหรือครอบครัวมาคอยช่วยเหลือ

3.คนที่ชอบพึ่งพาคนอื่นมาโดยตลอด ไม่พยายามช่วยเหลือตนเอง

4.คนที่มีอาการทางจิตเวชเป็นทุนเดิม เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่า โรควิตกกังวล

5.คนที่อายุน้อยไม่มีประสบการณ์ คนอายุมากที่มีปัญหาเรื่องการปรับตัว

6.ผู้หญิงมีแนวโน้มจะเป็นโรค PTSD ได้มากกว่าผู้ชาย

แนวทางการรักษาPTSD

1.ยอมรับตัวเอง ไม่ต้องกลัวการรักษาหรือคิดว่าตัวเองเป็นโรคจิตเวชร้ายแรง ไม่ว่าใครที่เคยเจอเหตุการณ์ร้ายๆ ก็ต้องเครียดด้วยกันทั้งนั้น

2.ทำจิตบำบัดในเชิงพฤติกรรมบำบัด เช่น ให้เผชิญกับสิ่งที่หวาดกลัว เหตุการณ์ที่เคยหวาดกลัวให้คนไข้ได้ปรับตัว หาทางที่จะควบคุมอาการที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง

3.ฝึกผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำสมาธิ ฝึกลมหายใจ วิธีการเบี่ยนเบนความคิดเมื่อเราคิดหมกมุน

4.ทำกลุ่มบำบัด โดยนำบุคคลที่เคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กันมาพบกัน แล้วร่วมแชร์ความรู้สึกประสบการณ์ เหมือนมีเพื่อนคอยรับฟังความคิดเห็นของเรา เพื่อให้เผชิญกับเหตุการณ์นั้นๆ ได้ดีขึ้น

5.รับประทานยาตามแพทย์สั่ง

3 ระยะการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
     อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น กรมสุขภาพจิตจะมีการเข้าไปดูแลเยียวยาจิตใจของผู้ที่ประสบเหตุ โดยทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต หรือทีมMCATT แบ่งเป็น 3 ระยะ

      ระยะที่ 1 คือ ช่วง 3 วันแรก โดยทีมMCATT 
พื้นที่ เริ่มดูแลให้กำลังใจประชาชน เนื่องจากยังมีความหวาดกลัว วิตกไม่สบายใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะประชาชนและครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิด ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ต้องดูแลรายบุคคลทุกครอบครัว (แนะนำดูแลตนเอง เช่น นอนหลับ เลี่ยงสุรา/ยาเสพติด หาคนพูดคุย)

 ระยะที่ 2 คือ ช่วง3 วันแรกถึง 2 สัปดาห์ ยังคงดูแลต่อเนื่องในแง่มุมจิตใจที่จะมีแผลใจ เจ็บปวด และความทุกข์ปรากฏมากขึ้นความเศร้าโศก กังวลมากนอนไม่หลับ, สะดุ้งผวากลางคืน ทีม MCATT และศูนย์เยียวยาในชุมชน กระจายให้ช่วยเหลือเชิงรุก ไปเยี่ยมบ้าน ประเมิน ให้คำปรึกษาแนะนำ เยียวยาใจ

 ระยะที่ 3 คือช่วง 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือนหรือนานกว่านั้น ทีมพื้นที่ดูแลต่อเนื่องและกระจายทำความเข้าใจกับพื้นที่ให้สามารถปรับตัวและร่วมกันดูแล โดยรายที่มีปัญหาสุขภาพจิตสำคัญได้รับการส่งต่อดูแลเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกัน โรค PTSD

เสี่ยงเป็น \'โรค PTSD\'  เหตุที่ \'พารากอน\' แม้คนนั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่
 6 แนวทางดูแลเบื้องต้นหลังเกิดเหตุรุนแรง

        กรมสุขภาพจิตได้แนะนำแนวทางในการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดหลังเกิดเหตุรุนแรง ดังนี้

1. ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเอง เพื่อเตรียมการดูแลจิตใจของคนรอบข้าง ให้พยายามรับประทานอาหาร นอนหลับพักผ่อน ออกกำลัง และพยายามใช้ชีวิตปกติเท่าที่เป็นไปได้

2. ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของตนเองซึ่งอาจเกิดความรู้สึกมากมายในจิตใจ ต้องให้เวลาในการจัดการและช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

3. หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง การมีความเปลี่ยนแปลงด้านการกิน การนอน รู้สึกหมดกำลัง และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งเป็นสัญญาณของระดับความเครียดสูง ถ้าเป็นเด็กและเยาวชน จะมีอาการถดถอย เช่น เกาะคนดูแลแน่น ร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์รุนแรง

 4. หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไปจากสื่อ ภาพความรุนแรงต่างๆ รวมไปถึงข่าวปลอมและข่าวลือ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตภายหลังเผชิญภัยพิบัติ

5. พยายามหาวิธีช่วยให้ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวของผู้ประสบเหตุที่อยู่เพียงลำพังเพื่อช่วยกันสนับสนุนด้านอารมณ์ให้ผ่านช่วงที่ยากลำบากไปได้

6. เพิ่มการพูดคุยและติดต่อกับผู้อื่นเท่าที่ทำได้ เพื่อระบายความรู้สึก ช่วยเหลือพูดคุยกับคนรอบข้างโดยเน้นที่ความเข้มแข็งของบุคคลที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้

        หากพบความผิดปกติที่สงสัยว่าท่านหรือคนใกล้ชิดมีอาการของPTSD ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน  เพื่อรับการรักษาต่อไป
    3 ข้อติดตามข่าวไม่ให้ดิ่ง 

     ขณะที่รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เคยออกคำแนะนำจากจิตแพทย์ เรื่อง 3 คำแนะนำพยุงใจ ติดตามข่าวอย่างไรไม่ให้ใจดิ่ง ไว้เมื่อ 7 ต.ค.2565 ดังนี้

  • หมั่นสำรวจจิตใจตนเอง
    ว่ามีอารมณ์ด้านลบ รุนแรง หรือมีความคิดถึงเหตุการณ์นั้นรบกวนตลอดเวลาหรือไม่
  • จำกัดการรับข่าวสาร
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลิปวิดีโอหรือภาพถ่ายที่เกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงนั้น รวมทั้งสื่อสารกับคนรอบข้างว่าต้องการจำกัดการรับข่าวสารดังกล่าว
  • ขอความช่วยเหลือ
    หากยังคงมีอารมณ์หรือความคิดด้านลบค่อนข้างมาก หรือไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรปรึกษาผู้ที่ไว้ใจได้ หรือบุคลากรทางสุขภาพจิต หรือติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต ,สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย