เหตุที่ 'พารากอน' สิ่งที่พ่อแม่ ต้องเรียนรู้ ป้องกัน ไม่ให้เกิดซ้ำรอย

เหตุที่ 'พารากอน' สิ่งที่พ่อแม่ ต้องเรียนรู้  ป้องกัน ไม่ให้เกิดซ้ำรอย

สิ่งที่ควรต้องเรียนรู้ เพื่อระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยเหตุที่พารากอน  จิตแพทย์แนะหลักการทำให้เด็กอยู่ห่างไกลจากความรุนแรง อันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการแชร์ภาพ-คลิปเหตุการณ์อย่างที่คาดไม่ถึง วิงวอนสังคมช่วยกันลบ-ไม่ส่งต่อ  

Keypoints:

  • สิ่งที่ควรรู้จากเหตุความรุนแรงที่สยามพารากอน เพื่อระวัง ป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก 
  • แนะหลักการที่จะทำให้เด็กห่างไกลจากความรุนแรง พฤติกรรมเลียนแบบในการก่อเหตุความรุนแรงของเด็กเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ส่วนวัยรุ่นจะมีปัจจัยเรื่องของอารมณ์ ความอ่อนไหวมากขึ้นด้วย 
  • ผลกระทบและอันตรายอย่างคาดไม่ถึง ที่จะเกิดขึ้นจากการส่งต่อข้อมูล ภาพ คลิปวิดีโอจากเหตุความรุนแรง  

    จากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566 จนเกิดความสูญเสียของชีวิตและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 

         เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2566 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่ควรเรียนรู้เพื่อป้องกันและระวังไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยว่า แม้สังคมพยายามตามหาเหตุต่างๆในรายละเอียดมากมายจากความสนใจและความรู้สึกสะเทือนใจ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นสังคมต้องร่วมกันแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และช่วยส่งกำลังใจให้กับผู้สูญเสียหรือผู้บาดเจ็บหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ทั้งหมด พร้อมกันนั้นต้องทำให้ความเจ็บปวดครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของการก่อเหตุความรุนแรง  ที่ยังไม่มีคำตอบและอาจไม่จำเป็นต้องไปหาคำตอบแน่ชัดว่ารายนี้เป็นจากอะไร
เหตุที่ \'พารากอน\' สิ่งที่พ่อแม่ ต้องเรียนรู้  ป้องกัน ไม่ให้เกิดซ้ำรอย

อย่าให้เด็กชาชินความรุนแรง

         แต่รู้ว่าจะต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันความรุนแรง ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่พื้นฐานของแต่ละบุคคล เรื่องของครอบครัวต้องดูแลเด็กๆอย่างใกล้ชิด ถ้าหากว่ามีประเด็นปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ หรือความเจ็บป่วยทางจิตใจใดๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ใกล้ชิดและถูกวิธี
        รวมถึง การทำให้เด็กๆและสังคมปลอดจากความรุนแรงที่กลายเป็นความชาชิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสันทนาการความบันเทิง การเล่นเกม ต้องมีความเหมาะสม ด้วยการทำให้เด็กหรือสังคมไม่ชาชินไปกับความเจ็บปวดหรือปัญหาจากความรุนแรง

      อีกทั้ง เรื่องการเข้าถึงอาวุธที่ร้ายแรงหรือความสนใจที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ จะต้องถูกดูแลอย่างเข้มข้นใกล้ชิด ซึ่งหากทุกคนมีความตระหนักและดูแลกันตั้งแต่ในระดับครอบครัว โรงเรียน และสังคม เหตุความรุนแรงก็จะมีโอกาสถูกป้องกันได้มากขึ้น และเมื่อเกิดเหตุแต่ละบุคคลจะสามารถป้องกันตัวเองจากเหตุร้าย โดยการควบคุมสติ และนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาได้ทันท่วงที

        “ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความครั้งนี้จะเกิดขึ้นจากเหตุใดเหตุหนึ่งเท่านั้น คงจะมีความกดดัน เกี่ยวข้องของหลายๆเหตุปัจจัย ซึ่งถ้าได้ร่วมกันทำทุกวิถีทางแล้ว น่าจะช่วยคลี่คลายสิ่งต่างๆได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม”พญ.อัมพรกล่าว 

เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่าย

       ถามถึงพฤติกรรมเลียนแบบในการก่อความรุนแรงช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น พญ.อัมพร กล่าวว่า วัยเด็ก เรื่องการเลียนแบบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เนื่องจากเด็กอาจจะมีเรื่องของวิจารณญาณความเข้าใจ การควบคุมอารมณ์ ความคิดได้น้อยกว่าคนที่มีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ ส่วนกลุ่มของวัยรุ่น แม้จะมีวิจารณญาณความคิดมากขึ้น แต่จุดอ่อนในเชิงอารมณ์ ความอ่อนไหวต่างๆก็มากกว่าไปด้วย เพราะฉะนั้น  เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องให้ความเข้าใจกับความละเอียดอ่อนทางด้านพัฒนาการของแต่ละคนด้วย

หลักการทำให้เด็กอยู่ห่างไกลจากความรุนแรง

       พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า หลักการทำให้เด็กอยู่ห่างไกลจากความรุนแรง ต้องหล่อหลอมตั้งแต่ความใกล้ชิดเด็ก  ความใส่ใจ  และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของแต่ละช่วงเวลา แต่ละช่วงวัยของเด็กด้วย การเลี้ยงดูที่ไม่ได้ปล่อยให้ความรุนแรงเป็นเครื่องแก้ปัญหาผิดๆ  โดยเด็กต้องเรียนรู้การมีวินัย แต่ต้องเป็นวินัยเชิงบวก
        กิจกรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้เติบโตทั้งกีฬา ดนตรี  หรือการอยู่กับเกมและเครื่องเล่นต่างๆ แต่ขณะเดียวกันเนื้อหารายละเอียดของเครื่องเล่นหรือเกม หรือหนังสือที่เด็กอ่าน จะต้องทำให้เด็กมีทัศนคติที่เป็นบวกต่อการรักความสงบ รักความสุข เห็นอกเห็นใจมากกว่าที่จะชี้นำไปในเชิงของการถูกหล่อหลอมด้วยความก้าวร้าวรุนแรง หรือปท่วมถ้นด้วยรายละเอียดของการใช้อาวุธรูปแบบต่างๆ 

 “จริงอยู่ที่มีธรรมชาติของเด็กบางคนที่มีความสนใจเรื่องของความก้าวร้าว รุนแรง หรือเรื่องการต่อสู้ ใช้กำลัง เด็กหลายคนมีธรรมชาตินี้อยู่บ้าง แต่ผู้ปกครองหรือครอบครัวต้องระวังต่อจุดอ่อนหรือจุดต้องระวังเหล่านี้ แล้วดึงไปสู่ความสนใจในทิศทางที่สร้างสรรค์ หรือเหมาะสมกว่า เช่น กีฬาหรือดนตรี”พญ.อัมพรกล่าว

         และวิธีการต่างๆที่ช่วยกล่อมเกลาเด็ก ซึ่งต้นแบบที่ดีจากครอบครัว พ่อแม่ ที่ใกล้ชิดเด็ก มีการผูกพัน ยอมรับก็จะทำให้เด็กซึมซับสิ่งดีๆที่พ่อแม่ปฏิบัติได้ การให้เด็กอยู่ในกลุ่มเพื่อน กลุ่มเพื่อนบ้าน หรือสังคมที่มีความอ่อนโยนและใช้วิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เหมาะสมและมีวิธีดูแลสุขภาพจิตใจในทางที่ไม่ได้สร้างปัญหาให้ตนเองและคนอื่น เหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเลี้ยงดู
อันตรายจากการส่งต่อภาพ-คลิป

          ผู้สื่อข่าวถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากที่มีการส่งต่อข้อมูล คลิปวิดีโอของเหตุการณ์ในโซเชียลมีเดียต่างๆ พญ.อัมพร กล่าวว่า  เมื่อมีเหตุที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตแบบที่เกิดขึ้น การส่งภาพ ข่าวสาร ที่มีรายละเอียดลึกซึ้งมากมายถึงแต่ละขั้นตอนของการทำร้ายหรือข้อมูลผู้ก่อเหตุหรือสภาพความสูญเสีย ความเสียหาย ผลเสียที่จะเกิดขึ้น คือ

       1.สำหรับคนที่รับข้อมูล ข่าวสารโดยตรง มีข้อมูลชัดเจนว่าภาพที่สยดสยอง รายละเอียดข่าวที่สร้างความตระหนก สามารถทำให้เกิดบาดแผลทางจิตกับคนรับสารได้ การรับข่าวและภาพเช่นนี้ซ้ำๆ มีรายวิจัยว่า ถ้ารับข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ประมาณ 6 ชั่วโมงขึ้นไป  จะทำให้เสมือนว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์นั้น และเกิดภาวะทางจิตใจที่รุนแรงที่เรียกว่า PTSD ได้ทั้งที่ไม่ได้เห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ แต่ดูแค่ข่าวแบบซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เจ็บป่วยทางจิตใจ หรือมีภาวะซึมเศร้า เป็นโรคซึมเศร้า และอื่นๆตามมาได้ ฉะนั้น การส่งสารลักษณะนี้เป็นอันตรายกับคนเสพ

      2.ถือเป็นการละเมิด เป็นการไม่ให้เกียรติผู้สูญเสีย ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และผู้เกี่ยวข้อง หากลองเอาใจเขามาใส่ใจเราว่าคนที่เกิดเหตุ  ถ้าเราเป็นญาติมิตร คนสนิท และภาพเหล่านั้นต้องปรากฎอยู่ในสายตาคนมากมาย อยู่ในโลกออนไลน์ วนเวียนไม่รู้จบสิ้น เป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์และไม่ได้ให้เกียรติอย่างรุนแรง

     3.การส่งภาพ รายละเอียด บางครั้งไปเร้าผู้ที่มีความเปราะบางทางจิตใจ ทำให้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความชาชินหรือความท้าทาย ทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้ง่ายขึ้นมาก  เป็นประเด็นที่จะต้องระวังอย่างยิ่ง

       “อันไหนลบได้ก็ขอให้ลบ ต้องช่วยกันวิงวอน ช่วยกันลบ ช่วยกันไม่ส่งต่อ”พญ.อัมพรกล่าว