‘โรคเตียงดูด’ เสพติดการนอน ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เสี่ยง ‘ป่วยทางจิต’?

‘โรคเตียงดูด’ เสพติดการนอน ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เสี่ยง ‘ป่วยทางจิต’?

ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น อยากนอนต่อ ไม่ยอมลุกจากเตียง รู้ตัวอีกทีก็นอนไปแล้วทั้งวัน อาการนี้ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เข้าข่าย “โรคเตียงดูด” หรือ “Clinomania” เสพติดการนอนจนกระทบ “สุขภาพจิต”

Key Points:

  • ปัญหาการนอนมีมากกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่ “นอนไม่หลับ” อย่างเดียว แต่หาก “นอนมากเกินไป” ก็อันตรายเช่นกัน โดยเฉพาะภาวะ “Dysania” และ “Clinomania” ซึ่งไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด
  • “Dysania” คือ ภาวะตื่นนอนยาก รู้สึกว่าการตื่นนอนในแต่ละครั้งต้องใช้ความพยายามอย่างสูง บางคนใช้เวลา 1-2 ช.ม. ในการลุกจากเตียงก็มี
  • “Clinomania” คือ อาการที่ผู้ป่วยชอบอยู่ที่เตียงตลอดเวลา ไม่อยากลุกไปไหน เพราะการนอนบนเตียงทำให้รู้สึกปลอดภัย ชอบทำทุกอย่างบนเตียง ทั้งกินข้าว ทำงาน ดูหนัง เล่นมือถือ ฯลฯ

ตื่นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น อยากนอนต่อ ลืมตาไม่ขึ้น จนสุดท้ายก็นอนอยู่บนเตียงไปแล้วทั้งวัน คล้ายกับว่า “เสพติดการนอน” บางคนอาจมองว่าเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวหรือพฤติกรรมความขี้เกียจ แต่ความจริงแล้วอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเข้าข่ายเป็น “โรคเตียงดูด” ที่อาจทำให้มีอาการ “ป่วยทางจิต” ตามมาในอนาคต

การนอนมากเกินไปเป็นประจำ ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางกายและทางใจมากกว่าที่คิด ซึ่งปัญหาการนอนมากเกินไปนั้นสามารถจำแนกได้หลายอาการ ไม่ว่าจะเป็น ตื่นยากในตอนเช้า ง่วงนอนมากผิดปกติ หรือ นอนอยู่บนเตียงทั้งวัน กรุงเทพธุรกิจจะพาไปทำความเข้าใจต้นตอของปัญหาเหล่านั้นรวมถึงผลเสีย และประเภทของปัญหา “นอนมากเกินไป”

  • ตื่นมาแล้วไม่อยากลุก หรือ ง่วงนอน อยากนอนทั้งวัน เป็นเพราะอะไร?

การลืมตาตื่นในตอนเช้าของบางคนอาจเป็นเรื่องยาก ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการลุกจากเตียง รู้สึกว่ายังไม่อยากตื่น อยากนอนต่อเป็นประจำ แม้ว่าจะสายแล้ว หรือไม่ได้ง่วงนอนแล้วก็ตาม หากมีอาการดังกล่าว ถือว่าเข้าข่ายภาวะ “Dysania” หรือ “Clinomania” อย่างใดอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้ “Dysania” และ “Clinomania” แม้ว่าจะมีลักษณะโดยรวมของอาการ สาเหตุ และผลกระทบใกล้เคียงกัน แต่ความจริงแล้วเป็นภาวะที่มีความแตกต่างกันเล็กน้อย

  • “Dysania” เช้าแล้ว แต่ไม่อยากตื่น กว่าจะลุกได้ทำไมยากจัง?

สำหรับผู้ที่เข้าข่ายเป็น “Dysania” จะมีอาการหลักๆ คือ เมื่อตื่นมาแล้วจะไม่สามารถลุกจากเตียงได้ทันที บางคนต้องใช้เวลาในการพยายามลุกออกจากเตียงเป็นชั่วโมง และมักมีความรู้สึกหนักใจ วิตกกังวล เมื่อคิดจะลุกออกจากเตียง พอลุกออกจากเตียงไปแล้วก็ยังรู้สึกว่าอยากกลับไปนอนต่อ และเป็นภาวะเรื้อรัง โดยมีปัจจัยบางส่วนมาจากความเหนื่อยล้าสะสม

โดยทั่วไปแล้ว Dysania มักเป็นอาการของปัญหาที่ซ่อนอยู่ใน “สุขภาพจิต” หรือ “สุขภาพกาย” อีกทีหนึ่ง เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ หรือความเจ็บป่วยทางกายอื่นๆ และจากการศึกษาพบว่า Dysania ยังไม่ใช่ภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้เองแบบเดี่ยวๆ แต่ก็สร้างผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยมากพอสมควร

  • “Clinomania” อยากนอนอยู่ทั้งวัน มีความสุขกับการใช้ชีวิตบนเตียง

ในส่วนของภาวะ “Clinomania” มาจากภาษากรีกคำว่า “clino” แปลว่าเตียง และ “mania” แปลว่าเสพติด แปลตรงตัวได้ว่า ติดเตียง ซึ่งเรียกว่า “เสพติดการนอน” หรือ “โรคเตียงดูด” ก็ได้ โดยมีความใกล้เคียงกับภาวะ Dysania พอสมควร 

แต่จุดที่แตกต่างคือ ผู้ป่วยจะอยากนอนอยู่บนเตียงทั้งวันจนแทบไม่ลุกออกไปทำอะไรอย่างอื่นเลย หรือบางครั้งก็ทำกิจกรรมต่างๆ บนเตียงไปเลย ไม่ว่าจะเป็น ทำงาน รับประทานอาหาร ดูทีวี อ่านหนังสือ หรือ เล่นโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้มีปัญหาในการลุกจากเตียงแค่ตอนเช้าเพียงอย่างเดียว ทำให้ได้ชื่อว่า “โรคเตียงดูด” เพราะสามารถใช้ชีวิตอยู่บนเตียงได้ทั้งวันทั้งคืน

ด้าน เนหา เมห์ตา (Neha Mehta) นักจิตวิทยา เปิดเผยผ่าน My Fit Brain ว่า ภาวะ Clinomania บังคับให้เรานอนอยู่บนเตียงไม่ใช่เพราะเราต้องการนอนมากขึ้น แต่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมากที่สุดเมื่อได้นอนอยู่บนเตียง และพบได้ในผู้คนที่ต้องเผชิญกับความเครียดหรือภาวะซึมเศร้ามากถึงร้อยละ 70

  • อาการ และสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “Clinomania” และ “Dysania”

แม้ว่าปัญหาการนอนทั้งสองประเภทจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีสาเหตุการเกิดโรคที่ใกล้เคียงกันมาก ใครที่สงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวอาจกำลังตกอยู่ในภาวะ “Dysania” หรือ “Clinomania” สามารถสังเกตได้เบื้องต้นดังนี้

- ในตอนเช้าไม่อยากลุกจากเตียงไปทำกิจวัตรประจำวัน และเลื่อนนาฬิกาปลุกเพื่อนอนต่อไปอีกเรื่อยๆ 

- นอนได้ทั้งวัน ง่วงนอนตลอด และนอนได้ทุกที่ เช่น ฟุบหลับบนโต๊ะ นั่งหลับบนเก้าอี้ ใช้เวลาเพียงไม่นานก็นอนหลับได้

- ไม่ว่าจะอารมณ์ไหนก็มองว่าเตียงนอนคือจุดหมาย เช่น เครียด เศร้า มีความสุข สุดท้ายแล้วก็เลือกที่จะนอน

- นำกิจกรรมทุกอย่างมาทำบนเตียง เช่น รับประทานอาหาร อ่านหนังสือ เล่นโซเชียล ดูทีวี หรือแม้กระทั่งทำงาน

- เชื่อและมีความเข้าใจว่า การนอนเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขที่สุดในชีวิต ทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่บนเตียงนอนได้ตลอดทั้งวัน

นอกจากนี้การนอนมากเกินไปนั้นยังส่งผลให้ สภาวะอารมณ์แปรปรวน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีภาวะเครียดหรือวิตกกังวลโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางจิตเวช

ไม่ใช่แค่ปัญหา “ป่วยทางจิต” เท่านั้น แต่อาการเตียงดูดหรือเสพติดการนอน ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายอีกด้วย เนื่องจากนอนอยู่บนเตียงเฉยๆ ทำให้ขยับร่างกายน้อยกว่าที่ควร ส่งผลกระทบให้การเผาผลาญพลังงานลดลง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง ไปจนถึงความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อลดลง ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลลดลง ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียเรื้อรัง และหากปล่อยไว้นานๆ อาจทำให้เป็นโรคหัวใจและปัญหาเส้นเลือดในสมอง

นอกจากนี้ “โรคเตียงดูด” ยังทำให้ผู้ป่วยมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง รวมถึงเริ่มสูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไปด้วย (เพราะเอาแต่นอน)

  • ทำอย่างไรให้หลุดพ้นจาก “โรคเตียงดูด” และ “เสพติดการนอน”

ขั้นแรกในการแก้ปัญหา “Dysania” และ “Clinomania” ก็คือเริ่มจาก “ปรับพฤติกรรม” โดยการเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา และน้ำอัดลม เลี่ยงหลีกการสูบบุหรี่ ออกกำลังเป็นประจำโดยอาจเริ่มจากวันละ 15 นาที แต่ก็ไม่ควรออกกำลังหนักเกินไปเพราะอาจทำให้นอนหลับยากขึ้น

ที่สำคัญต้องงดทำกิจกรรมอื่นๆ บนเตียงนอน เช่น รับประทานอาหาร หรือ ทำงาน โดยเฉพาะในช่วงก่อนนอนควรงดเล่นโทรศัพท์มือถือ เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอทำให้ประสิทธิภาพของการนอนหลับลดลง อาจเปลี่ยนมาอ่านหนังสือหรือนั่งสมาธิก่อนนอนแทน

หากปรับพฤติกรรมไปได้ระยะหนึ่งแล้ว Dysania หรือ Clinomania ยังไม่หายไปหรือยังไม่ดีขึ้น ก็จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือนักจิตวิทยา เพื่อหาแนวทางรักษาที่เหมาะสม เช่น ใช้ยารักษา หรือปรับพฤติกรรมเฉพาะจุด

  • นอนมากเกินไป ส่งผลให้สมองช้า อ้วนง่าย ตายไว?

ไม่ใช่แค่ Dysania และ Clinomania เท่านั้น แต่ยังมี “โรคนอนเกิน” หรือ Hypersomnia ที่ส่งผลร้ายไม่แพ้กัน เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตนเองนอนเท่าไรก็ไม่พอ ง่วง เพลีย อยากงีบหลับวันละหลายครั้ง หรือนอนเกินวันละ 9 ชั่วโมง ทำให้สมองช้า มีบุตรยาก อ้วนง่าย และ เสียชีวิตเร็ว เนื่องจากไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย ส่งผลให้ออกซิเจนไม่ไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่นอนในระยะเวลาพอดี (7-8 ชั่วโมง) ถึงร้อยละ 1.3%

อ่านข่าว : 

นอนเยอะไปก็ไม่ดี เพราะอาจเสี่ยงเป็น “โรคนอนเกิน” ส่งผลร้ายถึงสมอง

นอกจากนี้ ผลต่อเนื่องจากการที่แทบไม่ได้ขยับตัวเลย จะทำให้เกิด “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” หรือ Sedentary Lifestyle ตามมาอีกด้วย 

ผลสำรวจสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทย พ.ศ. 2550-2560 โดยกระทรวงสาธารณสุข พบว่าประชาชน 1 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นจำนวนถึง 2 ใน 3 ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากถึง 14 ชั่วโมง ต่อวัน

สำหรับผลเสียที่ตามมาจากพฤติกรรมเนือยนิ่งก็คือ กระบวนการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลเป็นพลังงานลดลง การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ และอาจสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น  โรคอ้วน, คอเลสเตอรอลและความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคกระดูกพรุน, โรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล เป็นต้น

หากปล่อยให้พฤติกรรมเนือยนิ่งดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ โดยวิธีการแก้ปัญหา “โรคนอนเกิน” และ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรมเช่นเดียวกันกับ “Dysania” และ “Clinomania

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากการนอนในลักษณะใดก็ตาม การเริ่มต้นสังเกตตัวเองคือสิ่งสำคัญ เพราะหากปล่อยไว้นานเกินไป จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและการใช้ชีวิตตามไปด้วย และที่เลวร้ายที่สุดก็คือการนำไปสู่การเสียชีวิต นอกจากตัวเองแล้วการสังเกตคนรอบข้างก็สำคัญเช่นกัน เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ขี้เกียจ แต่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง “โรคเตียงดูด

อ้างอิงข้อมูล : My Fit Brain, Medium, Sleep Foundation, MW wellness และ พบแพทย์