ปวดหลังนานอาจถึงตาย ทำความรู้จักโรคติดเชื้อแบคทีเรียหมอนรองกระดูก

ปวดหลังนานอาจถึงตาย ทำความรู้จักโรคติดเชื้อแบคทีเรียหมอนรองกระดูก

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ยกเคสคนไข้ปวดหลังนานกว่า 5 เดือน ก่อนวินิจฉัยโรค Spondylodiscitis ติดเชื้อแบคทีเรียหมอนรองกระดูก ทำความรู้จักโรคนี้ และแนวทางป้องกัน รักษา

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ยกเคสคนไข้ปวดหลังนานกว่า 5 เดือน ก่อนวินิจฉัย โรค Spondylodiscitis ติดเชื้อแบคทีเรียหมอนรองกระดูก

ผู้ป่วยชายอายุ 57 ปี เริ่มปวดกลางหลังส่วนบน 5 เดือน มีไข้ต่ำๆตอนเย็น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด 4 กิโลกรัม เดินได้ พี่สาวเคยเป็นวัณโรคปอด 1 ปีก่อน ปฏิเสธใช้ยาเสพติด ตรวจร่างกายปกติ แขนขาไม่อ่อนแรง ตรวจเลือดพบเลือดจางเล็กน้อย เม็ดเลือดขาวปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ ทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระดูกสันหลังส่วนอก (MRI thoracic spine) กระดูกสันหลังส่วนอก (thoracic spine) ชิ้นที่ 4 และ 5 และหมอนรองกระดูกบางส่วนถูกทำลาย และสงสัยมีการอักเสบเนื้อเยื่อรอบๆกระดูกสันหลังส่วนอกชิ้นที่ 4 และ 5 ร่วมด้วย

 

ปวดหลังนานอาจถึงตาย ทำความรู้จักโรคติดเชื้อแบคทีเรียหมอนรองกระดูก


ตอนแรก คิดถึงติดเชื้อวัณโรค เพราะมีอาการนาน 5 เดือน ได้ทำการเจาะเนื้อเยื่อรอบกระดูกสันหลังส่วนอกด้านขวา ส่งย้อมเชื้อไม่พบแบคทีเรียและวัณโรค ส่งตรวจรหัสพันธุกรรมไม่พบเชื้อวัณโรค ส่งเพาะเชื้อไม่พบแบคทีเรียและวัณโรค ส่งตรวจพยาธิวิทยา ผลมีการตายของเนื้อเยื่อ ไม่พบเซลล์มะเร็ง

ต่อมาผู้ป่วยก้าวพลาด ตกบันได เดินลำบาก ขาอ่อนแรง เริ่มมีไข้สูง ได้เพาะเชื้อโรคจากเลือด พบเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ไวต่อยา Oxacillin ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ลิ้นหัวใจปกติ

วินิจฉัยเป็นโรค Spondylodiscitis กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังติดเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ให้ยาฆ่าเชื้อ Cloxacillin ทางเส้นเลือดและทำการผ่าตัดเอาเนื้อตายจากหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนอกชิ้นที่ 4 และ 5 ออก ใส่สกรูยึดกระดูกสันหลังชิ้นที่ 2,3,5,6,7 ส่งหมอนรองกระดูกสันหลังเพาะเชื้อ พบเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ตัวเดียวกับในเลือด ให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดนาน 8 สัปดาห์ คนไข้ดีขึ้น ไม่มีไข้ ไม่ปวดหลัง เดินได้ดีขึ้น

 

ปวดหลังนานอาจถึงตาย ทำความรู้จักโรคติดเชื้อแบคทีเรียหมอนรองกระดูก

การติดเชื้อแบคทีเรียที่กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังพบได้น้อย ซึ่งแยกยากจากการติดเชื้อวัณโรค เนื่องจากมีอาการและภาพทางรังสีคล้ายกัน

เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าสู่กระดูกและหมอนรองกระดูกสันหลังได้ 3 ทางคือ

1.เชื้อเข้าสู่กระดูกสันหลังโดยตรงเช่นถูกแทง

2.ลุกลามจากการติดเชื้อบริเวณใกล้เคียงกับกระดูกสันหลัง

3.เชื้อมาทางกระแสเลือด แต่ในรายนี้ไม่แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียเข้ากระดูกและหมอนรองกระดูกสันหลังได้อย่างไร

 

ปวดหลังนานอาจถึงตาย ทำความรู้จักโรคติดเชื้อแบคทีเรียหมอนรองกระดูก

 

รู้จักโรค Spondylodiscitis หรือ กระดูกสันหลังติดเชื้อ

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต เทียนบุญ ผู้อำนวยการศูนย์รักษา Failed Back (Revision Spine Center) ระบุว่า การติดเชื้อที่กระดูกสันหลังนั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แบบฉับพลัน ซึ่งมักจะเป็นเชื้อประเภทแบคทีเรีย ทำให้เกิดการ อักเสบรุนแรง ไข้สูง เจ็บปวดมาก หลังแข็งเกรงและมีหนองเกิดขึ้น บางคนปวดมากจนไม่สามารถขยับตัวหรือลุกขึ้นเดินได้ อาจจะไม่พบอาการบวมแดงเหมือนการติดเชื้อที่อื่น

กลุ่มที่ 2 จะเป็นแบบติดเชื้อชนิดไม่รุนแรง มักจะเกิดจากเชื้อวัณโรค เป็นส่วนใหญ่ อาการจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในระยะแรกคนไข้หรือแพทย์อาจจะไม่รู้ว่าอาการปวดหลังนั้นเกิดจากการ ติดเชื้อ นึกว่าเป็นการปวดหลังธรรมดาทั่วไป เพราะบางคนไม่มีไข้ร่วมด้วยเลยและแม้จะมีไข้ก็ไม่สูง บางคนอาจจะมีไข้ต่ำๆ หลายๆวัน

ฉะนั้น จึงมักจะรู้เมื่อเชื้อโรคได้ลุกลามค่อนข้างมากแล้ว บางคนถึงขั้นหนองแตกออกจากกระดูกสันหลังมาที่ผิวหนังแล้วหรือ อาจจะพบความพิการเช่นหลังโก่ง

ทั้งนี้ ภาวะติดเชื้อในกระดูกสันหลัง(ไม่นับรวมการติดเชื้อที่ประสาทไขสันหลังโดยตรง)มักเกิดได้ใน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ บริเวณหมอนรองกระดูก ตัวกระดูกสันหลัง และภายในช่องโพรงกระดูกซึ่งเป็นที่อยู่ของประสาทไขสันหลังและเส้นประสาท การติดเชื้อที่ช่องโพรงกระดูกมีความรุนแรงมากที่สุด อาจเป็นอันตรายมากจนถึงกับเป็นอัมพาตได้ภายหลัง 48-72 ชั่วโมง ถ้ารักษา ช้าอาจไม่หายขาด เกิดเป็นอัมพาตขึ้น บางรายอาจเสียชีวิตได้ และต้องใช้ระยะเวลาในการรักษารวมทั้งการฟื้นตัวเป็นเวลายาวนาน

แนวทางการรักษาโรคSpondylodiscitis หรือ กระดูกสันหลังติดเชื้อ

การรักษาขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรคและชนิดของเชื้อโรค แต่จะต้องใช้ยาปฎิชี วนะ เป็นตัวหลักในการรักษาเสมอ มีดผ่าตัดไม่สามารถฆ่าตัวเชื้อโรคได้ การผ่าตัดจะเลือกผู้ป่วยเป็นรายๆไป ไม่จำเป็นที่จะต้องทำการผ่าตัด ทุกรายเสมอไป ซึ่งหลักการผ่าตัดคือ 

1. ต้องการทราบตัวเชื้อโรคและผล sensitivity test ต่อยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม 

2.แก้อาการทางระบบ ประสาท 

3.แก้ไขความพิการและเชื่อมกระดูกที่ถูกทำลายให้แข็งแรงสมบูรณ์

 

cr : หมอมนูญ , โรงพยาบาลสมิติเวช