ทำไม?ถึงพูดไม่ออก บอกไม่ถูก สื่อสารไม่รู้เรื่อง หรือเสี่ยง 'ภาวะอะเฟเซีย '

ทำไม?ถึงพูดไม่ออก บอกไม่ถูก สื่อสารไม่รู้เรื่อง หรือเสี่ยง 'ภาวะอะเฟเซีย '

ทำไม? อยู่ดีๆ คนๆ หนึ่งถึงพูดจาไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่เข้าใจ มีปัญหาทั้งการฟัง การพูด การอ่าน หรือการเขียน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาอาจจะมีการสื่อสารที่ปกติ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องของภาษาสมัยใหม่ ที่วัยรุ่นชอบใช้กันแต่เรียกได้ว่าสื่อสารไม่ได้เลยทีเดียว 

Keypoint:

  • ไม่ควรมองห้าม หากกำลังประสบปัญหาเรื่องการฟัง พูด อ่าน หรือเขียน เพราะอะไร? ถึงไม่สามารถสื่อสารกับใครๆได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็สามารถสื่อสารได้อยู่ คุณอาจเสี่ยงอยู่ในภาวะอะเฟเซีย
  • แม้ชื่อโรคอะเฟเซีย จะไม่คุ้นเคย แต่ถ้าพูดถึงภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร หลายๆ คนอาจจะร้องอ๋อขึ้นมาทันที โรคนี้เกิดจากความผิดปกติในสมองส่วน เสี่ยงอัมพฤกษหรือ อัมพาตได้ 
  • วิธีป้องกันที่สามารถทำได้ง่ายๆ  หลีกเลี่ยงสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ หากมีอาการเกิดขึ้นแบบฉับพลันควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

เมื่อเอ่ยถึง 'ภาวะอะเฟเซีย (Aphasia)' เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะไม่เคยรู้จักชื่อภาวะ หรือเคยได้ยินชื่อของโรคนี้มาก่อน และสงสัยว่าเจ้าโรคนี้คืออะไร สามารถเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง และเราจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้อย่างไร?  

พ.ญ. ศิริกัญญา รุ่งเรือง  อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  อธิบายว่า ภาวะอะเฟเซีย (Aphasia) หรือภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร คือภาวะที่มีปัญหาของการฟัง พูด อ่าน หรือ เขียน ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากพยาธิสภาพ หรือความผิดปกติในสมองส่วนที่ควบคุมเรื่องภาษา โดยในส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่บริเวณสมองซีกซ้าย

ทั้งนี้ อะเฟเซีย (Aphasia)อาการผิดปกติของการพูด ความเข้าใจภาษา โดยคนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรียกกันว่าอัมพฤกษ์หรืออัมพาตนั้น นอกจากจะมีปัญหาการอ่อนแรงของขาและแขนแล้ว อาจจะพบความผิดปกติของการพูด การออกเสียงพูด หรือความเข้าใจภาษาโดย มีลักษณะอาการ เช่น พูดไม่ได้ หรือพูดได้แต่ไม่สามารถเข้าใจภาษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

แก่ไม่แก่ ก็เสี่ยงได้..'โรคกระดูกสันหลังเสื่อม' ผลร้ายจากพฤติกรรม

หัวหน้าส่วนใหญ่ไม่อยากทำงานกับ ‘Gen Z’ ไล่ออกบางส่วนตั้งแต่สัปดาห์แรก

เฝ้าระวัง!! ฝีดาษลิงระบาดหนัก เผยติดเชื้อทางน้ำลาย และละอองฝอยได้

 

ทำความเข้าใจการทำงานของสมองแต่ละซีก

นอกจากโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากภาวะอุดตันจากลิ่มเลือด เส้นเลือดตีบ เส้นเลือดแตกจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอะเฟเซียเรายังพบอาการนี้ได้ ผู้ป่วยอุบัติเหตุทางสมอง (Head injury) เนื้องอกที่สมอง ซึ่งบทความนี้จะอธิบายถึงบริเวณของสมองที่เกี่ยวข้องกับการพูดและการเข้าใจในภาษา และประเภทของอะเฟเซีย (Aphasia)

  • สมองซีกซ้าย (Left dominant hemisphere)

เป็นสมองซีกที่ควบคุมเกี่ยวกับภาษาและทักษะต่างๆของผู้ที่ถนัดข้างขวา แต่ไม่จำเป็นว่าผู้ที่ถนัดมือซ้ายจะมีสมองซีกขวาที่เด่นกว่าซีกซ้าย ส่วนใหญ่คนถนัดมือซ้ายมักจะมีสมองซีกซ้ายหรือทั้งสองข้างเด่น ถ้าผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพอยู่บริเวณสมองซีกซ้ายมักทำให้เกิดอาการผิดปกติในการใช้ภาษา 

ทำไม?ถึงพูดไม่ออก บอกไม่ถูก สื่อสารไม่รู้เรื่อง หรือเสี่ยง \'ภาวะอะเฟเซีย \'

  • สมองซีกขวา (Right non-dominant hemisphere)

เป็นสมองซีกที่ควบคุมและเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวกับข้อมูลการรับรู้ในทิศทางต่างๆ (visual-spatial analysis) แสดงพฤติกรรมทางอารมณ์ ถ้าสมองซีกนี้ได้รับบาดเจ็บจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการจำตำแหน่งทิศทางไม่ได้ ไม่สนใจร่างกายด้านตรงข้าม

 

ประเภทภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร

การสื่อสาร คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล ได้แก่ การรรับสาร การแปลความหมาย และการส่งสาร โดยอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละรายก็จะมีความรุนแรง และความผิดปกติแตกต่างกันออกไป

1.กลุ่มฟังไม่เข้าใจ โดยเมื่อไม่เข้าใจจะไม่สามารถตอบโต้ได้ตรงกับคำถาม หรือเมื่อถูกถามจะงง ไม่สามารถสื่อสารตอบกลับมาได้ เช่น การพูด หรือการตอบไม่ตรงคำถาม หรือทำตามคำบอกไม่ได้ เช่น บอกให้ยกมือ หรือกำมือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำตามได้

2.กลุ่มมีปัญหาด้านการพูด มีความรุนแรงตั้งแต่พูดไม่คล่อง พูดได้เป็นคำ ๆ พูดติดขัด เรียงประโยคผิด พูดตามไม่ได้ ไปจนถึงพูดไม่ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจนึกคำไม่ออก เช่น คำว่า แก้วน้ำ อาจบอกว่าเป็นอะไรที่เอาไว้ใส่น้ำ หรือ ข้าวสวย ก็อาจพูดว่าที่เป็นเม็ดขาว ๆ หลาย ๆ เม็ด เอาไว้ทาน เป็นต้น หรือบางรายอาจมีความผิดปกติทั้งสองทาง คือทั้งการรับสาร และสื่อสารทำให้ฟังไม่เข้าใจ และพูดตอบไม่ได้

3.กลุ่มอ่านไม่เข้าใจ หรือพิมพ์ไม่ได้ หรือมีปัญหาด้านการอ่านการเขียนในผู้ป่วยที่เคยอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถเชื่อมเสียงกับตัวอักษาได้ เห็นตัวอักษร หรือคำ แล้วอ่านไม่ออก

สาเหตุของภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร

ตามความจริงแล้วภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุที่ทำให้เนื้อสมองที่ควบคุมเกี่ยวกับการพูด และความเข้าใจถูกทำลาย ได้แก่

1.โรคหลอดเลือดสมอง ทั้งเส้นเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก หรือที่รู้กันกันในชื่อ Stroke

2.โรคเนื้องอกในสมอง โดยมีก้อน หรือเนื้องอกไปกดทับทำให้เกิดความผิดปกติในส่วนของสมองซีกซ้าย ภาวะติดเชื้อ หรืออุบัติเหตุทางสมอง

3.กลุ่มโรคอัลไซเมอร์ บางครั้งอาจพบภาวะคิดคำไม่ออก

โดยแพทย์สามารถวินิจฉัย และหาสาเหตุของโรคได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง การเจาะน้ำไขสันหลังในรายที่สงสัยการติดเชื้อ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

อาการของผู้ป่วยที่เข้าข่ายภาวะอะเฟเซีย

สำหรับการแสดงอาการของผู้ป่วยนั่น สามารถเช็กได้ดังนี้ 

  • พูดได้เป็นคำสั้น ๆ
  • พูดไม่เป็นประโยค
  • มีการเรียงคำในประโยคผิด
  • พูดคำที่ไม่มีความหมาย
  • ฟังภาษาพูดไม่เข้าใจ
  • เขียนเรียงคำในประโยคผิด เป็นต้น

โดยทั่วไป ความผิดปกติทางการสื่อสารจะแบ่งเป็นลักษณะต่าง ๆ โดยดูจากตำแหน่งรอบโรคในสมองหลัก ๆ ได้ดังนี้

  • Broca’s aphasia/non fluent aphasia ผู้ป่วยไม่สามารถออกเสียงได้ หรือได้เป็นคำ ๆ หรือประโยคสั้น ๆ โดยที่ผู้ป่วยยังรู้ความหมายของคำ และเข้าใจประโยคที่ผู้อื่นพูด เช่น สามารถแสดงท่าทางตามที่คำสั่งได้ อาการผิดปกติขึ้นกับความรุนแรงของโรค
  • Wernicke’s aphasia/ fluent aphasia ผู้ป่วยสามารถพูดได้คล่อง เป็นประโยค แต่ไม่เข้าใจความหมายของคำและประโยคนั้นๆ รวมถึงไม่เข้าใจที่ผู้อื่นพูด เช่น การตอบกลับพูดคุยคนละเรื่อง
  • Global aphasia ผู้ป่วยไม่สามารถพูดได้คล่อง และไม่เข้าใจความหมายของคำหรือประโยค

นอกจากนั้น พฤติกรรมของผู้ป่วยที่ต้องระวัง เพราะจะมีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไปดังนี้ 

  • ระดับความตื่นตัวลดลงต้องกระตุ้นหรือพูดซ้ำ ๆ ผู้ป่วยจึงจะตอบสนอง 
  • วอกแวกง่าย (distractibility) มีการเปลี่ยนความสนใจจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ไปสู่สิ่งกระตุ้นอื่นได้ง่าย 
  • การตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นไม่แน่นอน (variability of response) บางครั้งทำได้ดี แต่บางครั้งทำไม่ได้ทั้งๆที่เป็นสิ่งกระตุ้นเดียวกัน 
  • การทำซ้ำ ๆ โดยยับยั้งตัวเองไม่ได้ (perseveration) เช่น เมื่อบอกให้ชี้หูปากแล้วบอกให้ชี้ตาผู้ป่วยก็ยังคงชี้ปากอยู่ซ้ำ ๆ เป็นต้น 
  • มีปัญหาในการรับรู้บุคคลเวลาและสถานที่ 
  • ทัศนคติและแรงจูงใจเปลี่ยนแปลงไปเช่นเคยเป็นคนชอบเข้าสังคม แต่เมื่อมีปัญหา aphasia ป่วยไม่ชอบเข้าสังคมชอบอยู่คนเดียวเป็นต้น 
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย 
  • เก็บกดเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถสื่อความหมายกับผู้อื่นได้ดีเช่นเดิมผู้ป่วยจึงกังวลใจไม่อยากคุยกัน ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยสร้างนิสัยในการติดต่อสื่อสารที่ไม่ดีอีกด้วยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการให้การักษาผู้ป่วย aphasia คือนักอรรถบำบัด (speech therapist) อย่างไรก็ตามบุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่นและญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถมีส่วนร่วมในการรักษานี้ได้ด้วย

ภาวะบกพร่องทางการสื่อสารมีวิธีรักษาอย่างไร?

การรักษาภาวะบกพร่องทางการสื่อสารจะรักษาตามสภาพของโรค เช่น หากเกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดอย่างทันท่วงที หากไปโรงพยาบาลภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

หากเกิดจากเนื้องอกสมอง สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด

หากเกิดจากภาวะติดเชื้อ สามารถรักษาได้โดยการให้ยาฆ่าเชื้อที่จำเพาะต่อเชื้อนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการฝึกการพูด และการใช้ภาษา โดยทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกิจกรรมบำบัด และนักอรรถบำบัด เพื่อแก้ไขปัญหาความบกพร่องทางการสื่อสาร

โดยการฝึกผู้ป่วยที่มีภาวะบกพรองทางการสื่อสาร จะฝึกตามปัญหาที่เกิดกับผู้ป่วย เน้นการฝึกซ้ำ ๆ ให้ผู้ป่วยหัดทำบ่อย ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้

1.ฝึกฟัง เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจสิ่งที่คนรอบข้างพูด เริ่มจากฝึกฟังแล้วให้ทำตามคำสั่ง เช่น กำมือ แบมือ ให้จับอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงอาจให้ทำเลียนแบบ เช่น กำมือ แบมือ ทำซ้ำ ๆ จะทำให้คนไข้พอเข้าใจมากขึ้น

2.ฝึกนึกคำ เริ่มจากการใช้ของจริงก่อน เพื่อให้คนไข้ได้สัมผัสสิ่งของนั้น ๆ เช่น ให้ดูนาฬิกา ปากกา กระดาษ เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยคิดคำไม่ออก ผู้ฝึกอาจใบ้คำแรกเพื่อช่วยผู้ป่วยได้

3. ฝึกพูดเพื่อโต้ตอบกับคนรอบข้าง โดยฝึกคำถามทั่ว ๆ ไปที่ผู้ป่วยคุ้นเคย เช่น ถามชื่อ หรือมีบทสนทนาทั่วไป เช่น ทานข้าวหรือยัง ทานอะไร อยู่ที่ไหน โดยค่อย ๆ ถามทีละคำถามช้า ๆ ถ้าผู้ป่วยนึกคำไม่ออก อาจช่วยใบ้พยางค์แรก หรือให้พูดตาม เป็นต้น การฝึกพูดตามอาจใช้สถานการณ์ช่วยได้ เช่น เวลาทานข้าวด้วยกัน ก็จะพูดไปด้วยว่า 'กิน' พอผู้ฝึกทำซ้ำ ๆ ผู้ป่วยก็จะเข้าใจคำพูดนั้นมากขึ้น หลังจากนั้นจะสามารถพูดคำว่า 'กิน' ได้ระหว่างที่กำลังทานข้าว โดยเมื่อทำได้แล้วก็ให้พูดว่า 'กินข้าว' โดยเพิ่มเป็นสองพยางค์ หรือต่อมาจะค่อย ๆ เพิ่มเป็นประโยคที่ยาวขึ้น เช่น 'ตักข้าวกิน' สถานการณ์เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจของผู้ป่วยด้วย

4. ฝึกอ่านเขียน เริ่มตั้งแต่ทำความรู้จักตัวอักษร สระ วรรณยุกต์ตัวสะกด หลังจากนั้นให้อ่านสะกดคำ เช่น กอ อิ นอ กิน เป็นต้น การเขียน อาจเริ่มจากสิ่งที่คุ้นเคย เช่น เขียนชื่อของผู้ป่วย แต่ในผู้ป่วยสูงอายุที่ปกติไม่ค่อยได้ใช้การอ่านหรือการเขียน แพทย์อาจเน้นการฟังหรือการพูดมากกว่า

วิธีป้องกันภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร

การป้องกันภาวะบกพร่องทางการสื่อสารสามารถทำได้โดยการรักษาโรคประจำตัวต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ และที่สำคัญ หากมีอาการเกิดขึ้นแบบฉับพลันควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที หรือหากคนรอบข้างมีการพูดคุยที่ผิดปกติดังที่กล่าวมา ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เช่นกัน

อ้างอิง:ศูนย์การแพทย์กาญจนภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ,โรงพยาบาลเมดพาร์ค