'หมอธีระ' เผยอเมริกา อยู่ในช่วงขาขึ้น คาดติดเชื้อโควิดรอบใหม่วันละ 6 แสนราย

'หมอธีระ' เผยอเมริกา อยู่ในช่วงขาขึ้น คาดติดเชื้อโควิดรอบใหม่วันละ 6 แสนราย

"หมอธีระ" อัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ในอเมริกา กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจน คาดติดเชื้อรอบใหม่ราววันละกว่า 6 แสนราย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กอัปเดตประเด็น "โควิด-19" โดยระบุว่า 

  • สถานการณ์โควิด-19ในอเมริกา

Weiland J นำเสนอข้อมูลประเมินสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในอเมริกา โดยพบว่ากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจน ทั้งนี้คาดว่าติดเชื้อใหม่ราววันละกว่า 6 แสนราย

ทั้งนี้ข้อมูลจาก US CDC ประเมินสัดส่วนสายพันธุ์โควิด-19ที่ระบาด พบว่า EG.5 สูงสุดที่ 20.6% ในขณะที่ FL.1.5.1 ตามมาที่ 13.3% ส่วน XBB.1.16 และ XBB.2.3 พบราว 10%

\'หมอธีระ\' เผยอเมริกา อยู่ในช่วงขาขึ้น คาดติดเชื้อโควิดรอบใหม่วันละ 6 แสนราย

  • โควิด-19 BA.2.86

ด้วยตำแหน่งการกลายพันธุ์จำนวนมากของ BA.2.86 ทำให้แตกต่างจาก XBB และ BA.2 อย่างมาก ทั่วโลกยังคงเฝ้าระวัง และติดตามว่าจะมีการขยายการระบาดไปมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันยังคงมีรายงานอยู่ที่ 6 ราย 4 ประเทศ

การกำหนดชื่อตามอักษรกรีกนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อมีการระบาดมาก โรครุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข หรือมีการตรวจสอบพบว่าการกลายพันธุ์ส่งผลต่อการลดประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างมาก

ตัวอักษรกรีกตัวที่ถัดไปจาก Omicron คือ Pi แต่หากถูกข้ามเหมือน Nu กับ Xi ที่เคยถูกข้ามมาด้วยเหตุผลบางประการ ก็จะเป็นอักษร Rho

\'หมอธีระ\' เผยอเมริกา อยู่ในช่วงขาขึ้น คาดติดเชื้อโควิดรอบใหม่วันละ 6 แสนราย

  • การติดเชื้อโควิด-19ซ้ำ ไม่ใช่เรื่องดี

ข้อมูลจาก US CDC ที่เผยแพร่ใน MMWR เมื่อมิถุนายน 2023 นำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2021-2022

ชี้ให้เห็นว่าอัตราการติดเชื้อโควิดซ้ำของประชากรในอเมริกานั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ 2.7% ช่วงเดลต้าระบาดราวปลายปี 2021 และไต่ขึ้นเป็น 10.3% ช่วง Omicron BA.1

และเพิ่มเป็น 12.5% ในช่วง BA.2, 20.6% ในช่วง BA.4/BA.5 และพุ่งเป็นเกือบหนึ่งในสาม (28.8%) ในช่วง BQ.1/BQ.1.1

ช่วงอายุที่การติดเชื้อซ้ำเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือช่วงอายุ 18-49 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยเรียนและวัยทำงาน

ความรู้การแพทย์ในปัจจุบัน ชัดเจนว่า การติดเชื้อแต่ละครั้งตามมาด้วยความเสี่ยงที่จะป่วย ตาย และยังเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ที่จะบั่นทอนคุณภาพชีวิตระยะยาว เกิดอาการผิดปกติได้แทบทุกระบบของร่างกาย และเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ตนเอง ฯลฯ

การใช้ชีวิตประจำวัน ควรรู้เท่าทันสถานการณ์ว่าโรคระบาดยังมีต่อเนื่อง ไม่ควรประมาท ป้องกันตัวเสมอ ระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก