'แพลงก์ตอนบลูม'ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำทะเลเปลี่ยนสี บางชนิดสร้าง'สารชีวพิษ'

'แพลงก์ตอนบลูม'ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำทะเลเปลี่ยนสี บางชนิดสร้าง'สารชีวพิษ'

เหตุการณ์ล่าสุด ‘แพลงก์ตอนบลูม’ ที่ชายหาดบางแสน ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น และไม่ใช่แค่เรื่องของน้ำทะเลเปลี่ยนสีเป็นเขียวหรือแดงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสัตว์น้ำ ระบบนิเศ รวมถึงมนุษย์ เพราะบางกลุ่มสร้าง’สารชีวพิษ’ แต่ตอนนี้อาหารทะเลยังทานได้

Keypoints :

  •        กิจกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยส่วนใหญ่ ที่ทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูม ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี และอาจเปลี่ยนเป็นสีต่างๆได้ ไม่เฉพาะสีเขียว
  •       ผลกระทบของแพลงก์ตอนบลูมต่อระบบนิเวศ สัตว์น้ำ ออกซิเจนลดลงโดยเฉพาะบริเวณพื้นทะเล บางครั้งทำให้สัตว์น้ำตาย ยังส่งผลต่อการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยง
  •     แพลงก์ตอนบลูม เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนพิษ ในกรณีเกิดการเพิ่มปริมาณของแพลงก์ตอนพืชที่สร้างพิษ โดยเฉพาะผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารและประสาท

สาเหตุแพลงก์ตอนบลูม

       ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือแพลงก์ตอนบลูม เกิดจากการเพิ่มปริมาณสารอาหารบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปริมาณสารอาหารที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

        ปัจจัยที่สำคัญที่เป็นสาเหตุหลัก คือ ธาตุอาหารที่ถูกชะล้างจากแผ่นดินในช่วงฤดูฝน สารอินทรีย์จากน้ำทิ้งชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม เกษตรกรรม รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งป่าชายเลนทำให้ตะกอนที่ไหลลงมากับแม่น้ำลำคลองไม่ถูกดักจับ จึงไหลลงสู่ทะเลในปริมาณมากกว่าในอดีต

      1. การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและชุมชนบริเวณชายฝั่ง กิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว ร้านอาหารและสถานประกอบการตามแนวชายฝั่งบริเวณแม่น้ำลำคลอง กิจกรรมการประมง แพปลา การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยก่อให้เกิดมลพิษลงสู่ชายฝั่งทะเล ปริมาณสารอาหาร รวมถึงปริมาณแบคทีเรีย

     2. การสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืช (Plankton bloom) หรือเรียกว่าปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เช่น  สีเขียวของสกุล Noctiluca และ สีน้ำตาลของสกุล Chaetoceros เป็นต้น ปริมาณออกซิเจนจะลดลงอย่างมาก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสัตว์น้ำตามธรรมชาติและแหล่งเพาะเลี้ยงชายฝั่ง

แพลงก์ตอนกลุ่มสร้างสารชีวพิษ

    กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ให้ข้อมูลไว้ว่า  ปัจจุบันมีรายงานชนิดของแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุของน้ำเปลี่ยนสีกว่า 300 ชนิด (www.marinespecies.org/hab/index.php) ซึ่งเกือบ 1 ใน 4 สามารถสร้างสารชีวพิษได้  กลุ่มที่สร้างสารชีวพิษ ซึ่งสะสมในสัตว์ทะเลและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ หรือเป็นสาเหตุให้ปลาตาย สารชีวพิษที่พบว่าสร้างโดยแพลงก์ตอนพืช มี 5 กลุ่มใหญ่ๆ (www.tistr.or.th/t/publication /page_area_show_bc.asp?i1=86&i2=25) ได้แก่
   1.พิษอัมพาต (Paralytic Shellfish Poisoning : PSP) และออกฤทธิ์ต่อปลายประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ

 2. พิษท้องร่วง (Diarrhetic Shellfish Poisoning : PSP) : มีฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร
   3. พิษที่ทำให้ความจำเสื่อม (Amnesic Shellfish Poisoning : ASP) ออกฤทธิ์รบกวนการ- ส่งสัญญาณในสมอง อาจส่งผลให้สูญเสียความทรงจำ
   4. พิษต่อระบบประสาทรับความรู้สึก (Neurotoxic Shellfish Poisoning : NSP) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท
   5. พิษซิกัวเทอร่า (Ciguatera Fish Shellfish Poisoning : GSP) ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร

ผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

1. ทำความเสียหายต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งโดยเฉพาะปลา หน้าดินและสัตว์น้ำหน้าดิน

2. เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนพิษ ในกรณีเกิดการเพิ่มปริมาณของแพลงก์ตอนพืชที่สร้างพิษ

3. ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการประมง กล่าวคือ สัตว์น้ำที่จับได้ในบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำหากมีการปนเปื้อนเกินระดับมาตรฐาน

4. ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเมื่อแพลงก์ตอนตายแล้วถูกพัดเข้าฝั่งจะมีกลิ่นคาว สีและกลิ่นทำให้ทัศนียภาพชายหาดเสื่อมโทรม และนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำอาจเกิดอาการคันและระคายเคือง

 แพลงก์ตอนบลูม ข้อควรระวัง

  1. เกษตรกรที่เลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ๆ ในกระชังใกล้บริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีควร ระมัดระวังสัตว์น้ำที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด หรือควรจับสัตว์น้ำขึ้น เพราะบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำจะต่ำมากในเวลากลางคืน
  2. งดรับประทานสัตว์น้ำที่จับจากบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับพิษ
  3. นักท่องเที่ยวหรือประชาชนที่มีอาการแพ้ง่ายบริเวณผิวหนัง ควรงดกิจกรรมทางน้ำ เช่น เล่นน้ำทะเล ดำน้ำ เป็นต้น
    \'แพลงก์ตอนบลูม\'ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำทะเลเปลี่ยนสี บางชนิดสร้าง\'สารชีวพิษ\'

อาหารทะเลยังทานได้ 
   เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566  ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายเรื่อง การเกิดแพลงตอนบลูม ที่ชายหาดบางแสน ว่า ทะเลชายฝั่งบางแสน ศรีราชา เกิดแพลงตอนบลูมต่อเนื่อง จึงอยากสรุปให้เพื่อนธรณ์ทราบอีกครั้ง   น้ำเขียวปี๋เกิดจากแพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวนมากผิดปกติ แพลงตอนที่พบในตอนนี้ไม่มีพิษ ยังกินอาหารทะเลได้ตามปกติ

        แต่น้ำเขียวไม่น่าเล่นน้ำ/ท่องเที่ยว ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ ออกซิเจนลดลงโดยเฉพาะบริเวณพื้นทะเล บางครั้งทำให้สัตว์น้ำตาย ยังส่งผลต่อการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยง

แพลงก์ตอนบลูมเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นจากธาตุอาหารลงทะเลมากในหน้าฝน บางจังหวะมีแดดแรง กระบวนการในทะเลเหมาะสม ทำให้แพลงตอนพืชเพิ่มเร็ว มนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเราเพิ่มธาตุอาหารลงไป ทั้งการเกษตร น้ำทิ้ง ฯลฯ แพลงตอนบลูมเริ่มก่อตัวในทะเลนอก และขยายจำนวนขึ้น จนเข้าสู่ระยะสุดท้ายบริเวณชายฝั่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดน้ำเข้าไปรวมที่อ่าวไทยตอนในแถวชลบุรี ทำให้น้ำเขียวรวมตัวอยู่แถบนั้น

  ระยะสุดท้ายของแพลงตอนบลูมจะเกิดเพียงช่วงสั้นๆ ไม่กี่วัน จากนั้นจะหมดไป แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ตามลมที่พัดพามวลน้ำเข้ามา ยังมีปรากฏการณ์แพลงตอนบลูมที่เกิดตามปากแม่น้ำได้อีกด้วย แต่สุดท้ายลมในช่วงนี้ก็พัดไปรวมที่ชายฝั่งชลบุรี เมื่อถึงช่วงปลายปี ลมมรสุมเปลี่ยนทิศ แพลงตอนบลูมแถวชลบุรีอาจลดลง แต่ปีหน้าก็อาจกลับมาใหม่ตามลมมรสุม
โลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้องแพลงก์ตอนบลูม

  โลกร้อนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับแพลงตอนบลูม ตามการศึกษาต่างประเทศที่พบว่าน้ำเขียวทั่วโลกเกิดถี่ขึ้นเรื่อย และขยายพื้นที่ไปในบริเวณต่างๆ ของโลก เราวัดคลอโรฟิลล์ในผิวหน้าน้ำทะเลได้โดยใช้ดาวเทียม แต่ต้องทำเป็นระบบและติดต่อเป็นประจำ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

      หากเราเข้าใจกระบวนการทางสมุทรศาสตร์เพิ่มขึ้น เช่น วัดกระแสน้ำ คุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ ฯลฯ เราจะเริ่มมีความสามารถในการทำนายและแจ้งเตือน น่าเสียดายที่สถานีวัดสมุทรศาสตร์แบบดังกล่าวตอนนี้มีเฉพาะที่ศรีราชา เป็นความร่วมมือระหว่างคณะประมง มก./สสน.

\'แพลงก์ตอนบลูม\'ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำทะเลเปลี่ยนสี บางชนิดสร้าง\'สารชีวพิษ\'

          ผมเคยเสนอให้มีการติดตั้งสถานีวัดสมุทรศาสตร์เพิ่มเติมไปแล้วอย่างน้อยอีก 2 ที่เพื่อให้ครอบคลุมอ่าวไทยตอนในทั้งหมด ผ่านที่ประชุมระดับชาติไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้เกิด (เท่าที่ทราบ) หากเรายังไม่ทำอย่างเป็นระบบ ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ทำได้แค่น้ำเขียวเมื่อไหร่ก็ไปตรวจสอบเหมือนอย่างที่เป็นมา เราก็ย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่มีแนวโน้มว่าน้ำเขียวจะเพิ่มขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อยในอนาคต

       ในขณะเดียวกัน การยกระดับการบำบัดน้ำทิ้ง การปรับเปลี่ยนการเกษตรให้เหมาะสม จะช่วยลดปัญหาที่ต้นเหตุ น้ำคือทุกอย่างของทะเล เมื่อน้ำมีปัญหา ทุกอย่างในทะเลก็มีปัญหา กิจการเกี่ยวกับทะเลย่อมได้รับผลกระทบ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะที่ แต่เป็นปัญหาในภาพรวม การแก้ไขไม่สามารถทำเฉพาะครั้งคราว แต่ต้องลงทุนลงแรงทำจริงจังต่อเนื่อง เรียนรู้เพื่อทำนายและแจ้งเตือน กำหนดเป้าในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากเราไม่ลงทุนกับสิ่งเหล่านี้ ทะเลเราก็แย่ลง กิจการเกี่ยวกับทะเลก็ได้รับผลกระทบมากขึ้น

       สุดท้ายไม่ว่าเราลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยวหรือฝันอยากเป็นอะไร เมื่อน้ำทะเลสีเขียวปี๋บ่อยขึ้นและบ่อยขึ้น เราก็คงยากไปถึงฝัน โลกเราซับซ้อนมากขึ้น ตัวแปรมีมากมาย หากเราอยากอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ได้ประโยชน์ให้เนิ่นนาน เราต้อง “รู้จัก” ทะเลให้มากขึ้น ณ จุดนี้ เรายังทำความรู้จักกับยุคโลกร้อนทะเลเดือดได้ไม่พอครับ

        ย้ำเตือนว่าแพลงตอนไม่มีพิษ ยังคงกินสัตว์น้ำได้ครับ

ตัวอย่างแพลงก์ตอนบลูมที่เคยเกิดขึ้น

  •  27 มิ.ย. 2559 ชายฝั่งชลบุรี เช่น บางแสน ศรีราชา เรื่อยไปจนเกือบถึงเกาะสีชัง เหตุการณ์นี้เกิดจากฝนตกหนักหลายวัน น้ำจืดไหลลงทะเล ปัจจุบันเราใช้ปุ๋ยเคมีและทิ้งของเสียที่มีธาตุอาหารสูง ทำให้แพลงก์ตอนพืช “บลูม” หรือเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จนน้ำทะเลเป็นสีเขียว เพราะแพลงก์ตอนหนาแน่นมาก
  • 21ต.ค.2564 แพลงก์ตอนบลูม บริเวณหาดดวงตะวัน จังหวัดระยอง ไม่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำและความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • 24มี.ค.2566 พื้นที่ ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นักท่องเที่ยวต่างชาติพบคราบสีเขียวส่งกลิ่นเหม็นคล้ายน้ำมันลอยมาบริเวณชายหาดตำบลแม่น้ำ ซึ่งคราบดังกล่าวมีสีเขียว บางจุดจะมีสีน้ำตาลคล้ายโคลนลอยมาติดบริเวณชายหาด
  • 30ก.ค.2566 น้ำทะเลบริเวณหาดตาแหวนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี สีน้ำทะเลกลายเป็นสีเขียว แทนที่จะเป็นสีฟ้าตามธรรมชาติ  เป็นต้น