ทำไม ‘เครียด’ แล้วกินเยอะ แต่พอเศร้ากลับกินไม่ลง ? ระบบประสาทคือคำตอบ

ทำไม ‘เครียด’ แล้วกินเยอะ แต่พอเศร้ากลับกินไม่ลง ? ระบบประสาทคือคำตอบ

เคยสงสัยไหมว่าอารมณ์ในแต่ละช่วงมีผลต่อพฤติกรรมการกิน? โดยเฉพาะตอน “เครียด” มักจะหิวกว่าปกติ แต่พอ “เศร้า” หรือทุกข์ใจ กลับกินอะไรไม่ลง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มาจากระบบประสาทสั่งการ

Key Points:

  • พฤติกรรมการกินผิดปกติ ไม่ว่าจะกินน้อยเกินไป หรือกินมากเกินไป ล้วนเกิดจากความเครียดที่แต่ละคนกำลังเผชิญอยู่
  • ในผู้ที่มีความเครียดสะสมจะมีความรู้สึกหิวมากผิดปกติ กินเท่าไรก็ไม่อิ่ม แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่มีความรู้สึกวิตกกังวลหรือกำลังเศร้า จะกินอาหารได้น้อยลง หรือไม่มีความอยากอาหาร
  • หากเริ่มรู้สึกว่าพฤติกรรมการกินและน้ำหนักตัวเปลี่ยนไปจนผิดปกติ เบื้องต้นควรเริ่มหาเวลาให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ หรือพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อหาทางออกก่อนที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ

บางคนเมื่อมีความเครียดมากๆ จนถึงขั้นเครียดสะสม มักจะมีความรู้สึกว่า “หิวมากกว่าปกติ” กินไม่เป็นเวลา อยากกินไปหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นของคาวหรือของหวาน โดยเฉพาะอาหารที่มีปริมาณ “แคลอรี” สูงกว่าปกติ รวมถึงอาหารที่มีรสชาติหวานจัดและเค็มจัดด้วย ที่สำคัญกินเท่าไรก็ไม่รู้สึกว่าอิ่ม เนื่องจากสมองหลั่ง “ฮอร์โมนคอร์ติซอล” ที่ทำให้เพิ่มความอยากอาหารออกมานั่นเอง

กลับกันในบางคนเมื่อมีความเครียดที่ออกไปในทาง “วิตกกังวล” และออกในทางอารมณ์ “เศร้า” มากกว่าเครียดสะสม มักจะกินอาหารได้น้อยลง ไปจนถึงมีอาการไม่อยากอาหาร กินอะไรไม่ค่อยลง เพราะอารมณ์ดังกล่าวทำให้ร่างกายปฏิเสธการกินอาหารไปเอง

ไม่ใช่แค่ความเครียดเท่านั้นที่ทำให้บางคนมีพฤติกรรมการกินผิดปกติ แต่หากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่เข้ารับการรักษา ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมในอนาคต

  • เครียดเหมือนกัน แต่ทำไมความอยากอาหารต่างกัน?

ความเครียด” มาจากการหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ความเครียดอาจจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงเสียทีเดียว แต่ถ้ามีมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายสุขภาพใจ และที่สำคัญส่งผลกระทบต่อ “พฤติกรรมการกิน” ที่จะแตกต่างกันออกไปตามประเภทตของความเครียด โดย Mary Dallman (แมรี ดอลล์แมน) ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย จำแนกความเครียดออกเป็นสองส่วนดังนี้

1.  ความเครียดสะสม เป็นความเครียดระยะยาว (Persistent stress) เกิดจากบรรยากาศและสถานการณ์รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ไปจนถึงปัญหาเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว รวมถึงเรื่องการทำงาน เช่น ทะเลาะกับแฟน เตรียมเรื่องเข้าประชุม มีงานด่วนเข้ามาให้รีบจัดการในเวลาจำกัด การออกไปพบลูกค้า เป็นต้น ทำให้หลายคนมีความกังวลกับเหตุการณ์ที่กำลังจะมาถึงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็น “ความเครียดสะสม” ในบางคนมีอาการอยากอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานในการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล ออกมามากขึ้นเพื่อใช้ต่อสู้กับความเครียด เป็นสาเหตุที่ทำให้อยากอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงานสูง ซึ่ง Dallman ระบุว่า ในช่วงนั้นอาหารสามารถทำหน้าที่เป็นยาได้หลายชนิด

2. ความเครียดแบบวิตกกังวล และความเศร้า จัดอยู่ในประเภทความเครียดระยะสั้น (Short-term stress) โดยอาการนี้มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ชีวิตตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย หรือเกิดเรื่องน่าเศร้าเสียใจแบบกะทันหัน เช่น อกหัก สูญเสียคนรักไปแบบไม่มีวันกลับ เป็นต้น สมองจะผลิตฮอร์โมนระงับความอยากอาหาร (Appetite-suppressing hormones) และต่อมต่างๆ ในร่างกาย จะสูบฉีดอะดรีนาลีนออกมาส่งผลให้ยับยั้งความหิว และแต่ละคนจะมีความรู้สึกไม่อยากอาหารที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็แค่ไม่กี่ชั่วโมงแต่บางคนก็อาจกินเวลาเป็นวัน

ด้าน Joi Britt (จอย บริตต์) นักสังคมสงเคราะห์คลินิกและนักบำบัด อธิบายว่า พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นหนึ่งในวิธีที่ใครหลายคนใช้จัดการความเครียดโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เมื่อต้องพบเจอกับความเครียดบางคนก็กินมากเกินไปเพื่อรับมือกับความรู้สึกหลายๆ อย่าง (ส่วนใหญ่มาจากความเครียด) ที่ไม่สามารถจัดการได้ ขณะที่บางคนกลับรู้สึกไม่อยากกินอะไร แม้ว่าจะผ่านเวลาอาหารไปหลายมื้อแล้วก็ตาม เพราะรู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในภาวะที่หดหู่เกินกว่าจะกินอาหารได้ลง

  • แก้ไขอย่างไร เมื่อเครียดจัดจนพฤติกรรมการกินเปลี่ยน?

ในเบื้องต้นหากรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะกินมากขึ้นหรือน้อยลง ให้ลองสังเกตความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่ก่อนว่า เป็น “ความเครียดระยะยาว” หรือ “ความเครียดระยะสั้น” หลังจากนั้นควรเริ่มต้นขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว หรือลองหาเวลาพักผ่อนให้ตัวเองเล็กน้อยก่อนที่จะกลับมาทำงานหรือกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลายจากปัญหาที่เผชิญอยู่ หรือถ้ารู้สึกว่าเป็นความเครียดที่ยากจะรับมือ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามผ่านความเครียดไปได้ และกลับมามีพฤติกรรมการกินตามปกติ

พฤติกรรมการกินผิดปกตินั้นอาจไม่ได้เกิดจากความเครียดเพียงสาเหตุเดียว เพราะสำหรับบางคนนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคทางจิตเวชอีกด้วย เช่น โรคซึมเศร้า เป็นต้น

ทั้งนี้ยังมีข้อมูลจาก Huffpost เพิ่มเติมว่า ไม่ว่าจะถูกกระตุ้นให้กินน้อยลงหรือกินเพิ่มขึ้นจากปัญหาความเครียด การออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ลดความเครียดลงได้ เพราะการดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พูดคุยกับนักบำบัด รวมถึงนอนพักผ่อนให้เพียงพอสามารถลดความเครียดที่ต้องพบเจอในแต่ละวันได้ และช่วยให้สามารถจัดการกับความเครียดที่จะต้องเจอในอนาคตได้ดีขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางจิตเวชตามมา เพราะ “สมองที่แข็งแรง คือสุขภาพที่ดี”

อ้างอิงข้อมูล : Huffpost, Vouge และ คณะแพทยศาตร์ รพ.รามาฯ