‘เชื้อเอชไพโลไร’ สาเหตุ ‘โรคกระเพาะ’ แถมเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง

‘เชื้อเอชไพโลไร’ สาเหตุ ‘โรคกระเพาะ’ แถมเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง

หลายคนอาจทราบดีอยู่แล้วว่า การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วัยทำงานป่วย “โรคกระเพาะ” หรือกระเพาะอาหารอักเสบ แต่รู้หรือไม่? ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุคือ เกิดจาก “เชื้อเอชไพโลไร” ที่อาจลามไปถึงมะเร็งกระเพาะอาหารได้

Key Points:

  • แม้ว่าการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลาจะเป็นสาเหตุหลักของ “โรคกระเพาะ” แต่การติด “เชื้อเอชไพโลไร”  ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยการเกิดโรคที่น่ากังวลเช่นกัน
  • เมื่อติดเชื้อเอชไพโลไร เชื้อนี้จะเจริญเติบโตอยู่ในกระเพาะอาหาร หากปล่อยไว้นานอาจทำให้กระเพาะเป็นแผล ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ
  • นอกจากโรคกระเพาะแล้วเชื้อเอชไพโลไรยังก่อให้เกิด โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและ “มะเร็งกระเพาะอาหาร” ได้ด้วย

ท้องอืด เรอบ่อย คลื่นไส้ จุกเสียด แน่นท้อง หิวก็ปวดท้อง อิ่มก็ปวดท้อง ถือเป็นอาการเริ่มต้นของ “โรคกระเพาะ” หรือการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลให้กลายเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและ “มะเร็งกระเพาะอาหาร” ต่อไปในอนาคต

หลายคนคงทราบกันดีว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้มนุษย์ออฟฟิศป่วย “โรคกระเพาะ” นั้น เกิดจากการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้ยาบางประเภทอย่างไม่ระมัดระวัง แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด เพราะความจริงแล้ว ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะได้เช่นกัน ซึ่งมักไม่ค่อยถูกพูดถึงก็คือ การติดเชื้อ “เอชไพโลไร”

  • เชื้อเอชไพโลไร คืออะไร มาจากไหน อันตรายอย่างไร

เชื้อเอชไพโลไร มีชื่อเต็มทางการแพทย์ว่า เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ Helicobacter Pylori เรียกสั้นๆ ว่า “H. Pylori” เป็นแบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ในเยื่อบุกระเพาะอาหาร มีการค้นพบตั้งแต่ พ.ศ. 2436 โดยเชื้อดังกล่าวจะไปสร้างกรดในกระเพาะอาหารให้มีปริมาณมากขึ้น ผ่านการหลั่งฮอร์โมนแกสตริน (Gastrin) ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมากขึ้น เป็นสาเหตุการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน และโรคมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ส่วนมากแล้ว “เอชไพโลไร” มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกาย ยกเว้นเกิดการติดเชื้อแบบเฉียบพลันหรือในปริมาณมาก ที่สำคัญคนที่ติดเชื้อนี้ส่วนมากมักไม่แสดงอาการ มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ที่มีอาการชัดเจน โดยเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในกระเพาะอาหารของผู้ป่วยได้นานถึง 10 ปี ด้วยการฝังตัวอยู่ในกระเพาะอาหารไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ความแข็งแรงของผิวเยื่อบุลดลง

  • อาการแบบไหนเข้าข่ายติดเชื้อเอชไพโลไร

สำหรับอาการเบื้องต้นของผู้ที่ติดเชื้อเอชไพโลไร จะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล โดยอาจมีหลายอาการร่วมกัน หรืออาจมีอาการใดเพียงอย่างเดียว ได้แก่

- ปวดท้องเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ หรือปวดแสบ ปวดร้อน โดยเฉพาะบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักมีอาการเป็นเวลา เช่น ก่อนหรือหลังอาหาร

- มีอาการปวดแสบ จุกแน่น ท้องอืด เรอบ่อย และ คลื่นไส้

- อุจจาระมีสีดำ อาเจียนเป็นเลือด หรืออาเจียนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ เนื่องจากมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร

  • เชื้อเอชไพโลไรส่งผลให้เกิดโรคอะไรตามมาบ้าง

แม้ว่าในบางคนเมื่อติดเชื้อแล้วอาจจะไม่แสดงอาการออกมา แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคร้ายจากเชื้อเอชไพโลไร และเป็นโรคที่ความร้ายแรงด้วย ดังนี้

1. ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร และอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจางอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดหลังจากติดเชื้อ

2. กระเพาะอาหารทะลุ เมื่อเกิดแผลในกระเพาะอาหารแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุได้

3. กระเพาะอาหารอุดตัน ส่งผลให้อาหารเคลื่อนออกจากกระเพาะไม่ได้ ทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว เบื่ออาหาร และน้ำหนักตัวลดลง

4. โรคมะเร็ง เชื้อเอชไพโลไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Extranodal marginal zone B-cell

  • การรักษาและการป้องกันการติดเชื้อเอชไพโลไร

สำหรับการรักษาผู้ที่ติดเชื้อเอชไพโลไรนั้น ในเบื้องต้นสามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาจแบ่งทานเป็นมื้อเล็กๆ วันละ 5-6 มื้อ เพื่อไม่ให้ท้องว่างเป็นเวลานานจนปวดท้อง แต่หากปล่อยไว้นานจนมีอาการหนัก จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และจำเป็นต้องรับยาปฏิชีวนะสูตรเฉพาะ ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง 1-2 สัปดาห์ ตามการวินิจฉัยตามอาการจากแพทย์

ในส่วนของการป้องกันนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมส่วนตัว ดังนี้

- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารหรือประกอบอาหาร

- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไม่สุก หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ

- ลดการรับประทานอาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่

- งดใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

- พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และผ่อนคลายความเครียดหรือความวิตกกังวล

แม้ว่าการติดเชื้อเอชไพโลไรจะรักษาให้หายได้ แต่กว่าจะแสดงอาการในบางคนก็ใช้เวลานาน ดังนั้นการเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และมนุษย์ออฟฟิศสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคร้ายต่างๆ

อ้างอิงข้อมูล : รพ.กรุงเทพเชียงใหม่, รพ.สมิติเวช และ รพ.พญาไท