'โรคคิดไปเองว่าป่วย' กลัวตัวเองเป็นโรคร้าย แม้หมอตรวจไม่พบโรค ก็ไม่เชื่อ!

'โรคคิดไปเองว่าป่วย' กลัวตัวเองเป็นโรคร้าย แม้หมอตรวจไม่พบโรค ก็ไม่เชื่อ!

รู้สึกว่าตัวเองป่วยโรคร้ายตลอดเวลา?! แม้มีอาการผิดปกติของร่างกายแค่เล็กน้อย ก็ต้องรีบไปหาหมอ พอหมอบอกว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ก็ดันไม่เชื่อหมออีก! ระวัง..แบบนี้อาจเข้าข่าย "โรคคิดไปเองว่าป่วย"

Key Points: 

  • "โรคคิดไปเองว่าป่วย" (Hypochondriasis) เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการจาก "ภาวะวิตกกัลวล" โดยคนไข้ (แม้มีอาการไม่สบายเล็กน้อย) มักจะคิดไปว่าตัวเองป่วยเป็นโรคร้ายแรงโรคใดโรคหนึ่ง และไปหาหมอหลายครั้ง เมื่อหมอวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นอะไร ก็จะไม่ยอมเชื่อ
  • ความวิตกกังวลที่มากเกินไปในลักษณะนี้ มักตรวจไม่พบอาการผิดปกติทางร่างกายใดๆ แต่กลับส่งผลให้เกิดความทุกข์ใจอย่างรุนแรงที่สามารถทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้ 
  • ภาวะวิตกกังวลในรูปแบบ “คิดไปเองว่าป่วย” นั้น สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่ที่พบมากจะอยู่ในกลุ่มอายุ 20-30 ปี

เคยเป็นไหม? เวลาเจ็บคอ ปวดท้อง หรือปวดหัวติดต่อกันสักพักแล้วไม่หายสักที ก็พาลคิดไปว่าตัวเองต้องป่วยเป็นโรคร้ายแรงแน่ๆ แต่พอไปหาหมอกลับตรวจไม่พบโรคอะไร แต่ก็ยังกังวลใจว่าตัวเองต้องป่วยอยู่ดี ใครเป็นแบบนี้บ่อยๆ อาจเข้าข่าย "โรคคิดไปเองว่าป่วย" หรือ "Hypochondriasis" (ไฮโปคอนเดรียซิส) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการที่เชื่อมโยงกับ “ภาวะวิตกกังวล” ปัจจุบันมีวัยทำงานหลายคนกำลังเผชิญกับอาการนี้อยู่ ทำให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน 

 

  • “โรคคิดไปเองว่าป่วย” ไม่เชื่อหมอ ไปหาหมอซ้ำๆ ไม่หยุด!

สำหรับ “โรคคิดไปเองว่าป่วย” รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ได้อธิบายในบทความวิชาการไว้ว่า เป็นอาการที่ผู้ป่วยจะมีความเชื่อว่าตนเองป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่ง และถึงแม้จะหาหมอเป็นสิบๆ ครั้ง และหมอบอกว่าไม่ได้เป็นอะไร ก็จะไม่ยอมเชื่อง่ายๆ

โดยอาการบ่งชี้ที่ชัดเจนของผู้ที่เป็นโรคนี้ คือ เมื่อมีอาการผิดปกติทางกายบางอย่าง คนไข้จะพาลคิดไปว่าตัวเองป่วยเป็นโรคร้ายแรงใดโรคหนึ่ง และจะชอบหาหมอหลายครั้ง เพราะเมื่อไปหาหมอครั้งแรกแล้วหมอวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นอะไรก็จะไม่ยอมเชื่อ ทำให้ต้องหาหมอซ้ำอีก 

เมื่อผลวินิจฉัยออกมาเหมือนเดิม ก็จะไม่ยอมเชื่ออยู่อย่างนั้น ทำให้ต้องวิ่งเข้าวิ่งออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น โดยสาเหตุหลักๆ เกิดจาก “ภาวะวิตกกังวล” ของคนไข้เอง 

ยกตัวอย่างเช่น อาการปวดท้อง อาจเป็นอาการท้องอืดท้องเฟ้อธรรมดา แต่ในคนที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวมักจะความรู้สึกว่าปวดท้องหนักมาก ไม่ได้แกล้งทำ จนกังวลว่าจะเป็นโรคร้าย บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 

\'โรคคิดไปเองว่าป่วย\' กลัวตัวเองเป็นโรคร้าย แม้หมอตรวจไม่พบโรค ก็ไม่เชื่อ!

 

  • ภาวะ “Hypochondriasis” สร้างความทุกข์ใจอย่างรุนแรง

ในทำนองเดียวกัน มีข้อมูลจาก MayoClinic.org องค์กรการแพทย์บูรณาการที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ให้คำอธิบายคล้ายกันว่า ภาวะ “Hypochondriasis” ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความผิดปกติบางอย่างของร่างกาย เช่น การกระตุกของกล้ามเนื้อหรือความเมื่อยล้า และคิดไปว่าอาการเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรงที่เฉพาะเจาะจง

ความวิตกกังวลที่มากเกินไปในลักษณะนี้ มักตรวจไม่พบอาการผิดปกติทางร่างกายใดๆ แต่กลับส่งผลให้เกิดความทุกข์ใจอย่างรุนแรงที่สามารถทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้ 

ทั้งนี้โรควิตกกังวลและคิดไปเองว่าป่วยร้ายแรงนั้น เป็นภาวะทางจิตใจระยะยาวที่สามารถผันผวนไปสู่อาการที่รุนแรงขึ้นได้ อาการอาจเพิ่มขึ้นตามอายุหรือช่วงเวลาที่มีความเครียด แต่การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา (จิตบำบัด) และการใช้ยาในบางครั้งสามารถช่วยคลายความกังวลนั้นได้

 

  • เช็กอาการเบื้องต้น แบบไหนมีสิทธิ์เป็น "โรคคิดไปเองว่าป่วย"

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากทราบแล้วว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายภาวะ “Hypochondriasis” หรือไม่? รศ.นพ.ศิริไชย แนะนำว่าให้ลองสังเกตที่จำนวนครั้งในการพบแพทย์ ในคนทั่วไปหากสงสัยว่าตนเองเป็นโรคอะไรอยู่ อาจมีการพบแพทย์เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น (หากตรวจแล้วไม่พบโรคก็จะเลิกไปหาหมอ) แต่ถ้าหากมีการพบแพทย์ซ้ำมากกว่าสองครั้งขึ้นไป ก็เป็นไปได้ว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรค Hypochondriasis

ขณะที่อาการที่เข้าข่ายโรควิตกกังวลรูปแบบ “คิดไปเองว่าป่วย” ตามคำอธิบายของ MayoClinic ได้แก่ 

  • หมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่าตัวเองกำลังป่วยหนัก 
  • กลัวว่าจะได้รับโรคหรือภาวะสุขภาพที่รุนแรง
  • กังวลว่าอาการเล็กน้อยจะนำไปสู่โรคร้ายแรง
  • ตื่นตระหนกได้ง่ายเกี่ยวกับสถานะสุขภาพของคุณ
  • มีความมั่นใจเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย จากการไปพบแพทย์หรือผลการตรวจที่เป็นลบ
  • กังวลมากเกินไปเกี่ยวกับเงื่อนไขทางการแพทย์เฉพาะ
  • กังวลเกี่ยวกับโรคร้ายแรงเนื่องจากเคยมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคดังกล่าว
  • มีความทุกข์มากเกี่ยวกับโรคที่อาจเกิดขึ้นจนคุณทำงานได้ยาก
  • ตรวจร่างกายของคุณซ้ำๆ เพื่อหาอาการป่วยหรือโรคต่างๆ
  • ไปหาหมอบ่อยครั้งเพื่อความแน่ใจ หรือหลีกเลี่ยงการตรวจหาโรคไปเลย เพราะกลัวตรวจเจอโรคร้าย
  • หลีกเลี่ยงผู้คน สถานที่ หรือกิจกรรม เพราะกลัวความเสี่ยงต่อสุขภาพ
  • พูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพและโรคที่อาจเกิดขึ้นตลอดเวลา
  • ค้นหาสาเหตุอาการเจ็บป่วยทางอินเทอร์เน็ตบ่อยครั้ง

\'โรคคิดไปเองว่าป่วย\' กลัวตัวเองเป็นโรคร้าย แม้หมอตรวจไม่พบโรค ก็ไม่เชื่อ!

ภาวะวิตกกังวลในรูปแบบ “คิดไปเองว่าป่วย” นั้น สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่ที่พบมากจะอยู่ในกลุ่มอายุ 20-30 ปี ส่วนมากคนที่มีความกลัวว่าตนเองจะป่วยร้ายแรง มักจะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับโรคนั้นๆ เช่น บางคนมักวิตกกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ก็จะมีความกังวลต่อโรคนี้มากเป็นพิเศษ 

ขณะที่หากเป็นผู้สูงอายุที่เห็นคนใกล้ตัวเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจ หรือพบเห็นข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้สูงอายุด้วยโรคหัวใจบ่อยๆ ก็จะมีความกังวลต่อโรคหัวใจมากกว่าโรคอื่นๆ เป็นต้น

 

  • ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ เปิดวิธีหลีกเลี่ยงภาวะ "คิดไปเองว่าป่วย"

อย่างไรก็ตาม โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันและวิธีแก้ไขอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ก็สามารถดูแลและป้องกันตัวเองในเบื้องต้นได้ อาจเริ่มจากการสำรวจตัวเองว่ามีภาวะวิตกกังวลหรือไม่ หากพบว่าตนเองมีปัญหาเกี่ยวกับความวิตกกังวล ควรเข้าปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยหยุดอาการไม่ให้แย่ลง อีกทั้งควรเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเครียด หาเทคนิคในการผ่อนคลายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคดังกล่าว แพทย์จะมีการตรวจทั้งทางกายและใจร่วมกัน ก่อนอื่นต้องตรวจให้แน่ใจก่อนว่าคนไข้ไม่ได้เป็นโรคที่กังวลอยู่จริงๆ หรือถ้าหากตรวจพบตามอาการที่คนไข้บอก ก็ต้องแน่ใจก่อนว่าอาการนั้นไม่ใช่โรคร้ายที่คนไข้กังวลอยู่ นั่นเป็นการตรวจทางกาย แล้วจึงตรวจทางใจร่วมกัน 

หากแพทย์วินิจฉับพบว่าคนไข้ป่วยด้วยโรคคิดไปเองว่าป่วย ก็จะเข้าสู่วิธีการรักษา โดยทั่วไปอาจเริ่มจากการให้ยาลดความวิตกกังวล รวมถึงให้คนไข้เข้ารับการฝึกจิตบำบัด เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมอง ความคิดของตัวเอง เกี่ยวกับอาการป่วยที่คนไข้กังวลอยู่ เพื่อช่วยลดยอาการวิตกกังวลให้แก่ผู้ป่วย และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

----------------------------------------

อ้างอิง : Mayoclinic.org, Rama.mahidol, AnxietyAustralia