มากไปก็ไม่ดี! วัยทำงานระวัง "เสพติดความสุข" (ฉาบฉวย) จนส่งผลต่อสุขภาพจิต

มากไปก็ไม่ดี! วัยทำงานระวัง "เสพติดความสุข" (ฉาบฉวย) จนส่งผลต่อสุขภาพจิต

เล่นเกม ติดโซเชียล ช้อปปิ้ง ฯลฯ แม้ทำให้มีความสุข แต่มากเกินไปก็ไม่ดี! เพราะอาจเกิดภาวะ “เสพติดความสุข” แบบฉาบฉวย จนส่งผลต่อสุขภาพจิต ชวนรู้จัก “โดปามีนดีท็อกซ์” ที่อาจแก้ไขได้

Key Points: 

  • ติดเกม ติดโซเชียล ติดช้อปปิ้งออนไลน์ ติดคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจสร้างความสุขได้ก็จริง แต่ถ้าทำซ้ำๆ บ่อยๆ อาจเกิดภาวะ "เสพติดความสุข" แบบฉาบฉวย ถ้าวันไหนไม่ได้ทำจะเกิดอารมณ์หงุดหงิด ฉุดเฉียว ไม่มีสมาธิ หลุดโฟกัส นอนไม่หลับ ฯลฯ 
  • ในต่างประเทศเกิดเทรนด์สุขภาพอย่างหนึ่งขึ้นมา เพื่อจัดการปัญหานี้ เรียกว่า “Dopamine Detox” หรือการหักดิบไม่ให้ “เสพติดความสุข” จากกิจกรรมเหล่านั้นมากเกินไป และรีเซ็ตสมองให้กลับมาโฟกัสอีกครั้ง
  • หลังจากการดีท็อกซ์หลายคนพบว่า ตนเองกลับมามีสติและมีสมาธิมากขึ้น โฟกัสได้ดีขึ้น จิตใจผ่อนคลาย และนอนหลับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ได้รับการยืนยันหรือมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ เป็นเพียงเทคนิคหนึ่งในการบำบัดอารมณ์และจิตใจ แต่ไม่ใช่การรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์ 

ไม่ใช่เรื่องผิดที่มนุษย์ออฟฟิศอยากคลายเครียดด้วยการเล่นเกมออนไลน์ เดินช้อปปิ้ง ไถฟีดโซเชียลมีเดียดูคอนเทนต์สนุกสนาน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่ทำให้วัยทำงานมีความสุข หลังจากต้องเคร่งเครียดกับงานมาทั้งวัน แต่บางคนทำกิจกรรมเหล่านี้ติดต่อกันนานหลายชั่วโมงต่อวัน ทำซ้ำๆ บ่อยๆ เป็นประจำ ถ้าวันไหนไม่ได้ทำจะเกิดอารมณ์หงุดหงิด ฉุดเฉียว ไม่มีสมาธิ หลุดโฟกัส นอนไม่หลับ ฯลฯ แบบนี้อาจเข้าขั้น “เสพติดความสุข” ฉาบฉวย จนทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตตามมา 

 

  • อาการ “เสพติดความสุข” แบบฉาบฉวยเกิดจากอะไร?

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเสพติดกิจกรรมเหล่านั้น เกิดจากสารเคมีในสมองอย่าง “สารโดปามีน” ไม่สมดุล ในต่างประเทศจึงเกิดเทรนด์สุขภาพอย่างหนึ่งขึ้นมา เพื่อจัดการปัญหานี้ เรียกว่า “โดปามีนดีท็อกซ์ (Dopamine Detox) ” หรือการหักดิบไม่ให้ “เสพติดความสุข” จากกิจกรรมเหล่านั้นมากเกินไป และรีเซ็ตสมองให้กลับมาโฟกัสอีกครั้ง

มากไปก็ไม่ดี! วัยทำงานระวัง \"เสพติดความสุข\" (ฉาบฉวย) จนส่งผลต่อสุขภาพจิต

สำหรับ “โดปามีน” เป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งในสมองที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองตามธรรมชาติ เมื่อโดปามีนถูกหลั่งออกมาแล้วจะส่งผลต่ออารมณ์ให้มีความตื่นตัว กระฉับกระเฉง และไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ รอบตัว ทั้งยังเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์พึงพอใจ ความปิติยินดี ความรักใคร่ชอบพอ ส่งผลต่อพฤติกรรมและการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ การเรียนรู้, แรงจูงใจ, การนอน, อารมณ์, ความสนใจ เป็นต้น

หากร่างกายผลิตโดปามีนออกมามากเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ ซึ่งการสัมผัสกับสิ่งเร้า (เล่นเกม เล่นโซเชียล ช้อปปิ้ง ปาร์ตี้ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ในระดับที่มากเกินไป ก็จะกระตุ้นให้สมองผลิตโดปามีนมากผิดปกติ ยิ่งถ้าปล่อยไว้นานๆ ก็จะเกิดอาการเสพติดความสุขฉาบฉวย นำไปสู่การพึ่งพาสารเสพติดหรือทำกิจกรรมเหล่านั้นซ้ำๆ เพื่อให้สารโดปามีนหลั่งออกมาไม่หยุดจนเสียสมดุล ทำให้เกิดอาการป่วยทางจิต ซึ่งมีรายงานพบว่า ผู้ป่วยทางจิตเวชมักจะมีระดับโดปามีนในสมองมากกว่าคนทั่วไป

 

  • เช็ก 6 พฤติกรรม/กิจกรรมที่ทำให้ “โดปามีน” หลั่งมากผิดปกติ

ย้อนกลับมาที่การทำ “Dopamine Detox” ว่ากันว่าเป็นเทรนด์สุขภาพของวัยทำงานในต่างประเทศ การทำโดปามีนดีท็อกซ์จะช่วยลด ละ เลิกจากกิจกรรมที่ทำให้มีความสุขได้เพียงชั่วคราวเหล่านั้น และลดความเสี่ยงต่อภาวะป่วยทางจิตเวชได้ 

ข้อมูลจาก ดร.คาเมรอน เซพาห์ จิตแพทย์ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้คิดค้นเทคนิคโดปามีนดีท็อกซ์ ระบุว่า เขามักจะแนะนำเทคนิคนี้ให้แก่ผู้ที่มีอาการเสพติดจากสิ่งเร้าบางอย่าง เช่น เสพติดการเปิดดูการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์ เปิดเช็กข้อความ และการแจ้งเตือนทางโซเชียลมีเดีย ฯลฯ 

มากไปก็ไม่ดี! วัยทำงานระวัง \"เสพติดความสุข\" (ฉาบฉวย) จนส่งผลต่อสุขภาพจิต
มากไปก็ไม่ดี! วัยทำงานระวัง \"เสพติดความสุข\" (ฉาบฉวย) จนส่งผลต่อสุขภาพจิต

สำหรับแนวคิดหลักของการทำ “โดปามีนดีท็อกซ์” นั้น คือการปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเหงาหรือเบื่อ ด้วยการทำกิจกรรมอื่นๆ ทดแทนการทำกิจกรรมที่ทำให้ “สารโดปามีน” หลั่งออกมาอย่างรวดเร็วและมากเกินพอดี ซึ่งทำให้สมองเสียสมดุล เสียสมาธิ หลุดโฟกัส 

สำหรับกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่บีบบังคับให้ “สารโดปามีน” หลั่งออกมามากเกินพอดี ได้แก่ 

  • การกินตามอารมณ์ กินมากเกิดพอดี (ติดคาเฟอีน น้ำตาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
  • เล่นโซเชียลมีเดียและเล่นเกมมากเกินไป
  • การพนันและการช้อปปิ้ง
  • สื่อลามกและการช่วยตัวเอง
  • สิ่งที่ตื่นเต้นเร้าใจและความแปลกใหม่แบบฉาบฉวย
  • ใช้ยาคลายเครียดเป็นประจำ

 

  • เปิดขั้นตอน “โดปามีนดีท็อกซ์” พร้อมข้อควรระวัง!

ส่วนวิธีการทำ “โดปามีนดีท็อกซ์” นั้น เริ่มจากการตั้งเป้าหมายแยกตัวเองออกจากสิ่งเร้าในชีวิตประจำวัน เช่น โซเชียลมีเดีย น้ำตาล คาเฟอีน หรือการช้อปปิ้ง พูดง่ายๆ คือให้ลดพฤติกรรมข้างต้นลง เพื่อลดความไวของสารโดปามีนในระยะเวลาหนึ่ง 

อีกทั้งควรลดการตัดสินใจที่หุนหันพลันแล่น ปรับวิถีชีวิตให้ช้าลง ด้วยการทำกิจกรรมอื่นๆ ทดแทน เช่น ออกกำลังกาย, จัดบ้านใหม่, ทำสวน, อ่านหนังสือ, วาดรูป, เล่นกับสัตว์เลี้ยง, นั่งสมาธิ, ทำงานอาสาสมัคร ฯลฯ ซึ่งอาจใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือหลายวัน บางตำราแนะนำให้ทำทุกวัน วันละ 2-3 ชั่วโมง ติดต่อกันอย่างน้อย 21 วัน

มากไปก็ไม่ดี! วัยทำงานระวัง \"เสพติดความสุข\" (ฉาบฉวย) จนส่งผลต่อสุขภาพจิต

หลังจากการดีท็อกซ์หรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสพติดต่างๆ ข้างต้นแล้ว ดร.คาเมรอน อธิบายว่ามันจะช่วยด้านจิตใจและอารมณ์โดยรวม คือ เรียกสติให้กลับมามีสมาธิมากขึ้น โฟกัสได้ดีขึ้น ช่วยบรรเทาความเครียด ลดความดันโลหิต และนอนหลับดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องทราบว่า โดปามีนดีท็อกซ์ ไม่ใช่วิธีที่ได้รับการยืนยันในงานวิจัยหรือมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ มันเป็นเพียงเทคนิคหนึ่งในการบำบัดอารมณ์และจิตใจ ที่ได้ถูกบันทึกไว้ว่าเทคนิคนี้คนส่วนใหญ่ทำแล้วได้รับประโยชน์และมีส่วนช่วยลดการเสพติดความสุขฉาบฉวยเหล่านั้นได้ แต่ไม่ใช่การรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์ 

โดปามีนดีท็อกซ์” ที่แท้จริงนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะสมองยังคงผลิตโดปามีนอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่การปรับพฤติกรรมเพื่อให้สารเคมีในสมองสมดุลมากขึ้น ก็อาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะเมื่อเราไม่เสพติดความสุขแบบฉาบฉวย ก็จะส่งผลดีต่อสภาพจิตใจและวิถีชีวิตโดยรวม

---------------------------------------

อ้างอิง : PsychcentralMedicalnewstodayJithappy