‘นอนไม่หลับ’ คืนวันอาทิตย์ เพราะเกลียดวันจันทร์ ทำไมวัยทำงานเป็นกันเยอะ?

‘นอนไม่หลับ’ คืนวันอาทิตย์ เพราะเกลียดวันจันทร์ ทำไมวัยทำงานเป็นกันเยอะ?

ถึงวันอาทิตย์ทีไร มักจะ "นอนไม่หลับ" มากกว่าทุกคืน เพราะไม่อยากตื่นมาเจอวันจันทร์ ไม่ใช่คุณคนเดียวที่เป็น แต่ชาวอเมริกันถึง 79.5% ก็มีอาการเดียวกันเป๊ะ ระวัง! ถ้าเป็นบ่อยๆ อาจเสี่ยง "ซึมเศร้า" ต้องรู้วิธีแก้ไข

Key Points: 

  • American Academy of Sleep Medicine (AASM) สำรวจพบว่า 79.5% ของวัยทำงานชาวอเมริกัน มีปัญหา "นอนไม่หลับ" ในวันอาทิตย์มากว่าวันอื่นๆ ในรอบสัปดาห์ 
  • ความรู้สึกอันน่าสะพรึงกลัวที่มาพร้อมกับคืนวันอาทิตย์ หรือ “Sunday Scaries” ดูเหมือนจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเริ่มต้นของสัปดาห์การทำงานในเช้าวันจันทร์
  • หากวัยทำงานมีภาวะ “Sunday Scaries” บ่อยๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยเฉพาะ “โรคหัวใจ”

"อาการนอนไม่หลับ"ในคืนวันอาทิตย์ เพราะไม่อยากตื่นมาเจอเช้าวันจ้นทร์ ถูกนิยามว่าคือภาวะ “Sunday Scaries” หมายถึงอาการกระสับกระส่าย พลิกตัวไปมา "นอนไม่หลับ"ในช่วงคืนวันอาทิตย์คาบเกี่ยวถึงเช้ามืดวันจันทร์ ไม่ต่างกับอาการของ “Monday Blue” ซึ่งปัจจุบันวัยทำงานจำนวนมากเผชิญปัญหานี้อยู่ 

 

  • วัยทำงาน "นอนไม่หลับ" ในคืนวันอาทิตย์ 30.9% - 79.5%

จากผลสำรวจของ SleepFoundation.org (ณ เดือนสิงหาคม 2565) พบว่า 30.9% ของวัยทำงานชาวสหรัฐ รายงานว่า คืนวันอาทิตย์เป็นคืนที่หลับยากที่สุดในรอบสัปดาห์ เมื่อเปรียบเทียบกับวันพฤหัสบดีที่นอนไม่หลับเพียง 3.6% เท่านั้น ขณะที่ American Academy of Sleep Medicine (AASM) ก็มีรายงานในทิศทางเดียวกัน คือ 79.5% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา มีปัญหานอนไม่หลับในวันอาทิตย์มากว่าวันอื่นๆ ในรอบสัปดาห์

‘นอนไม่หลับ’ คืนวันอาทิตย์ เพราะเกลียดวันจันทร์ ทำไมวัยทำงานเป็นกันเยอะ?

ด้าน Haley Brothers ผู้ก่อตั้ง Weekend Made Sleepwear ในซีแอตเทิล ยอมรับว่าตนเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เป็น “Sunday Scaries” พร้อมอธิบายว่า ค่ำคืนวันอาทิตย์ดูน่ากลัวในบางครั้ง เพราะเธอมักจะวิตกกังวลเกี่ยวกับความรับผิดชอบที่ตนเองคาดหวังในเช้าวันจันทร์ เธอหมกมุ่นอยู่กับความคิดซ้ำซากเกี่ยวกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำ เพื่อให้งานในวันจันทร์ประสบความสำเร็จ 

พูดได้ว่าความรู้สึกอันน่าสะพรึงกลัวที่มาพร้อมกับวันอาทิตย์ ดูเหมือนจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเริ่มต้นของสัปดาห์การทำงาน โดยสาเหตุหลักๆ 3 ข้อที่ทำให้ผู้คน"นอนไม่หลับในคืนวันอาทิตย์" ได้แก่ 

  • กังวลเกี่ยวกับวันรุ่งขึ้นที่เป็นวันจันทร์ (57.2%) 
  • กังวลเรื่องงาน/การจ้างงาน (43.8%) 
  • กังวลเรื่องครอบครัว (41.3%)

‘นอนไม่หลับ’ คืนวันอาทิตย์ เพราะเกลียดวันจันทร์ ทำไมวัยทำงานเป็นกันเยอะ?

 

  • ความกังวลระดับสูง เป็นตัวการทำสมองตื่นตัวจน "นอนไม่หลับ"

ดร.อเล็กซ์ ดิมิทรีอู ผู้ก่อตั้ง Menlo Park Psychiatry & Sleep Medicine ในเมนโลพาร์ก แคลิฟอร์เนีย และคณะกรรมการตรวจสอบทางการแพทย์ของ SleepFoundation.org อธิบายเพิ่มเติมว่า อาการกลัววันอาทิตย์เป็นรูปแบบหนึ่งของความวิตกกังวลในการปฏิบัติงาน มันเหมือนกับความรู้สึกก่อนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือก่อนการพรีเซนต์งานให้ผู้บริหารดู ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะเกิดความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นมา แต่บางครั้งก็อาจมากเกินไปจนนำไปสู่ความเครียด ส่งผลให้นอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่สนิท

..แล้วทำไมความเครียดและวิตกกังวล ถึงทำให้คนเรานอนไม่หลับ? 

เรื่องนี้มีคำตอบทางวิทยาศาสตร์ “เจย์น การ์ดเนอร์” ที่ปรึกษาด้านความเครียด อธิบายไว้ว่า เมื่อสมองส่วนความรู้สึก (ระบบลิมบิก) อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ต่างๆ ที่หลากหลายมากเกินไป (เครียด เศร้า กังวล ตื่นตระหนก) จะทำให้สมองในส่วนความคิดและการประมวลผลทำงานไม่ได้ เมื่อความคิดฟุ้งซ่าน คิดไม่ออก ความคิดวนไปมา สมองก็จะไม่ผ่อนคลาย จึงทำให้เรานอนไม่หลับ หรือเรียกอีกอย่างคือ สมองเราตื่นตัวและกระตือรือร้นมากเกินกว่าที่จะหลับลง

 

  • เวลานอนที่ผิดเพี้ยนยิ่งทำให้ "นอนไม่หลับ" มากขึ้น

นอกจากความเครียดและความวิตกกังวลแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้วัยทำงานนอนไม่หลับในคืนวันอาทิตย์ ก็คือ “จังหวะชีวภาพ (Biological Rhythms)” ของเวลานอนที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม กล่าวคือ เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ (ศุกร์-เสาร์) คนเรามักจะนอนดึกกว่าวันปกติ เพราะออกไปสนุกกับปาร์ตี้ เข้าสังคม หรือดูหนังเรื่องโปรดจนดึกดื่น จึงเข้านอนดึกตามไปด้วย และสบายใจที่จะตื่นสายในวันถัดไป 

‘นอนไม่หลับ’ คืนวันอาทิตย์ เพราะเกลียดวันจันทร์ ทำไมวัยทำงานเป็นกันเยอะ?

เมื่อถึงคืนวันอาทิตย์ แม้ว่าเราจะเข้านอนเร็วตั้งแต่ 22.30 น. ก็นอนไม่หลับอยู่ดี เพราะเมื่อเช้าตื่นสาย ร่างกายยังสดชื่นอยู่ ยังไม่ง่วง อีกทั้งร่างกายคุ้นชินกับการอยู่ดึกเหมือนสองคืนก่อน จึงทำให้หลับยาก ทีนี้พอหลับยาก เราก็จะเริ่มกังวลว่า ถ้าไม่หลับตอนนี้พรุ่งนี้ตื่นไปทำงานไม่ไหวแน่ๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งกังวลและยิ่งนอนไม่หลับ สุดท้ายกว่าจะหลับก็ดึกอยู่ดี แถมตื่นมาเช้าวันจันทร์ก็ไม่สดชื่น

หากวัยทำงานมีภาวะ “Sunday Scaries” บ่อยๆ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ทำให้เสี่ยงเป็นโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยเฉพาะ “โรคหัวใจ” ล่าสุด.. มีรายงานทางสถิติจาก “สมาคมโรคหัวใจและหลอดเลือดอังกฤษ (BCS)” ณ เดือน มิ.ย.66 พบว่า มีผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจวายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พุ่งขึ้นสูงที่สุดเป็นประจำทุกวันจันทร์ในทุกสัปดาห์ 

 

  • วิจัยชี้ พบความเชื่อมโยงระหว่างวันจันทร์กับ "ภาวะหัวใจวาย"

ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการหัวใจวายชนิดรุนแรงที่สุดที่เรียกว่า ST-segment elevation myocardial infarction (STEMI) หรือภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 

ดร.แจ็ก ลัฟฟาน ผู้นำทีมวิจัยจากกองทุนดูแลสุขภาพและสังคมเบลฟาสต์ (BHSCT) แถลงว่า เขาพบความเชื่อมโยงทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างช่วงเวลาเริ่มต้นสัปดาห์ของการทำงาน กับการเกิดภาวะหัวใจวายชนิดรุนแรงแบบ STEMI โดยปัจจัยหนึ่งที่คาดว่าอิทธิพลและสมเหตุสมผลมากที่สุด ก็คือ วงจรชีวิตที่มักมีความกังวลทางจิตใจเป็นประจำทุกต้นสัปดาห์ 

ดังนั้น หากอยากหลีกเลี่ยงภาวะ “Sunday Scaries” ก็ต้องปรับตารางเวลาเข้านอนให้เหมือนกัน ทั้งวันธรรมดาและวันสุดสัปดาห์ รวมถึงพยายามลดความวิตกกังวลก่อนจะถึงวันจันทร์ด้วยการ “วางแผนสำหรับวันจันทร์” เพื่อให้คุณรู้ว่าจะต้องทำอะไรให้เสร็จบ้าง จะได้เตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านจิตใจและอารมณ์ ช่วยให้ลุยงานในวันจันทร์ได้อย่างเต็มที่และไม่เครียดเหมือนอย่างที่ผ่านมา

--------------------------------------

อ้างอิง : Sleepfoundation.org, Worklife, ManhattanCBT, BBC Thai