เทคโนโลยีที่มาช่วยมีลูก เมื่อแนวโน้มคนอายุน้อยมีบุตรยากเพิ่มขึ้น

เทคโนโลยีที่มาช่วยมีลูก เมื่อแนวโน้มคนอายุน้อยมีบุตรยากเพิ่มขึ้น

ไม่ใช่แค่คนอายุมาก แต่แนวโน้มคนอายุน้อยก็มีบุตรยากขึ้น  เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยการเจริญพันธุ์อะไรบ้างที่จะเข้ามาช่วยรักษาผู้มีบุตรยาก รวมถึง ข้อกฎหมายที่ควรต้องรู้ก่อนรับบริการ ซึ่งในประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง 107 แห่ง 

   Keypoints:

  • เป็นที่รับรู้ว่าเมื่ออายุมากขึ้นโอกาสมีบุตรก็ยากมากขึ้น แต่ข้อมูลจากสถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก พบแนวโน้มคนอายุน้อยก็มีบุตรยากมากขึ้นเช่นกัน 
  • การรักษาผู้มีบุตรยากบางคู่อาจเพียงรับคำปรึกษาก็สามารถมีบุตรธรรมชาติได้ แต่กรณีที่ไม่สำเร็จ ก็มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยการเจริญพันธุ์ ที่จะเข้ามาช่วย 
  • ข้อแนะนำ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สถานพยาบาลที่เปิดให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากในประเทศไทย  ซึ่งมีทั้งรพ.รัฐ-เอกชน และคลินิก

       อุบัติการณ์ผู้มีบุตรยาก
       สมัยก่อนจะมีความเชื่อที่ว่าหากอายุ 30 กว่า ไข่ยังจะดีอยู่ คนที่ออกกำลังกายมาก สุขภาพดี ไข่จะต้องดีด้วย  แต่จากข้อมูลของผู้ให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก กลับพบว่า คนที่อายุไม่มาก ออกกำลังกายดี เล่นโยคะ วิ่ง ควบคุมสุขภาพอย่างดี กลับพบมีปัญหาเรื่องไข่  แสดงให้เห็นว่าอายุไม่เกี่ยว แต่จะมีปัจจัยอื่นๆด้วย  เช่น ความเครียด และไลฟ์สไตล์อื่นๆที่อาจจะส่งผลกระทบแต่ยังไม่ทราบแน่ชัด 
     ทั้งนี้  ในสหรัฐอเมริกาพบจำนวนคู่สมรสร้อยละ 21 ที่ประสบปัญหามีบุตรยาก และพบความชุกของการมีบุตรยากได้ถึงร้อยละ 7.4 นอกจากนี้ยังพบว่าสตรีกว่า 7 ล้านคนในช่วงอายุ 22 ถึง 44 ปี ได้รับการใช้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการมีบุตรยาก 

สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก

  •      เกิดจากฝ่ายชาย ร้อยละ 20-30
  •     ฝ่ายหญิง ร้อยละ 40-55
  • เกิดจากสาเหตุร่วมทั้ง 2 ฝ่าย ร้อยละ 10-40
  • ไม่ทราบสาเหตุ ร้อยละ 10-20{3}

สาเหตุของฝ่ายชาย ตั้งแต่ กระบวนการสร้างผิดปกติ การขนส่งอสุจิ การร่วมเพศ การหลั่งของน้ำเชื้อ ความสามารถในการเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ แต่ละขั้นตอนเกิดความผิดปกติได้หลายชนิด

สาเหตุของฝ่ายหญิง เกิดจากความผิดปกติของไข่และการตกไข่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง และเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ ได้แก่ ท่อนำไข่ มดลูก ปากมดลูก ช่องคลอด ได้

เทคโนโลยีที่มาช่วยมีลูก เมื่อแนวโน้มคนอายุน้อยมีบุตรยากเพิ่มขึ้น

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

         เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หมายถึงกรรมวิธีที่ช่วยให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยนำเซลล์สืบพันธ์ของทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ได้แก่ อสุจิ และไข่ ออกจากร่างกาย และนำมาใส่ในท่อนำไข่ หรือโพรงมดลูก หรือทำให้ปฏิสนธินอกร่างกาย แล้วค่อยย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก วิธีที่ได้ยินกันบ่อย ๆ และใช้กันบ่อย ๆ ในปัจจุบัน ได้แก่   

 

  1. IVF (in vitro fertilization) หรือการทำเด็กหลอดแก้ว คือการนำไข่และอสุจิมาผสมให้เกิดการปฏิสนธิในห้องทดลอง จากนั้นจึงนำตัวอ่อนที่เกิดขึ้น ใส่กลับเข้าไปในมดลูกผ่านปากมดลูกเข้าไปฝังตัวในเยื่อบุโพรงมกลูก
  2. ICSI (Intracytoplasmic sperm injection) คือการฉีดเชื้ออสุจิเพียง 1 ตัวเข้าไปในไข่ (Ooplasm) ใช้ในกรณีที่อสุจิของฝ่ายชายมีปริมาณและลักษณะที่ผิดปกติ ไม่สามารถผสมกับไข่เองได้
  3. GIFT (gamete intrafallopian transfer) คือการนำไข่(หลายใบจากการกระตุ้น)และอสุจิ ใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างโดยให้ไข่และอสุจิผสมกันเป็นตัวอ่อนและฝังตัวในโพรงมดลูก เชื่อว่าเป็นวิธีที่เลียนแบบธรรมชาติ การย้ายไข่และอสุจิเข้าไปในท่อนำไข่ จะต้องทำโดยการเจาะท้องส่องกล้องซึ่งเจ็บตัว และผู้ที่จะใช้วิธีนี้ได้จะต้องมีท่อนำไข่ที่ดี
  4. ZIFT (zygote intrafallopian transfer) คือการย้ายตัวอ่อนระยะเซลล์เดียว เข้าไปในท่อนำไข่ เพื่อให้มีการฝังตัวในโพรงมดลูก
  5. Cryopreserved embryo transfers คือการย้ายตัวอ่อนที่เก็บตัวอ่อนไว้

ข้อบ่งชี้รักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์  เขียนถึงข้อบ่งชี้โดยทั่วไปไว้ในบทความรู้พื้นฐานของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ( https://cu-obgyn.com/TH/wp-content/uploads/2021/08/Chapter-2.pdf) ระบุว่า

1 ภาวะกามีบุตรยากจากสาเหตุของฝ่ายชาย การไม่มีตัวอสุจิ หรือมีความผิดปกติของอสุจิอย่างมาก เช่น รูปร่างผิดปกติมาก

2. ภาระมีบุตรยากจากสาเหตุของท่อนำไข่ การที่ท่อนำไข่มีความผิดปกติมากจนไม่สามารถแก้ใขได้โดยการผ่าตัด หรือถูกตัดท่อนำไข่ออกไปทั้งสองข้าง

3. ภาวะมีบุตรยากไม่ทราบสาเหตุที่เป็นอยู่นาน การมีบุตรยากชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุนานกว่า 2 ปี หรือล้มเหลวจากการทำการฉีดเชื้อผสมเทียม IUI หลายครั้ง

4. ภาวะมีบุตรยากจาก endometriosls ในรายที่มีบุตรยากนานกว่า 2 ปี และเป็น endometriosis"ในระยะกลาง (moderate) หรือ ระยะรุนแรง (severe) หรือในรายที่เป็นเล็กน้อย (minima/mild)และล้มเหลวจากการรักษาด้วยยาหรือผ่าตัดและ/หรือการฉีดเชื้อผสมเทียม (IUI)

5. ภาวะมีบุตรยากจากการไม่มีไข่ตกที่ล้มเหลวจากการรักษา

6. การมีบุตรยากจากสาเหตุร่วมกันทั้งฝ่ายชายและหญิง เช่น ปัญหาอสุจิร่วมกับรังไข่หรือท่อนำไข่

เทคโนโลยีที่มาช่วยมีลูก เมื่อแนวโน้มคนอายุน้อยมีบุตรยากเพิ่มขึ้น

7. การรักษาความสามารถในการเจริญพันธุ์ โดยการเก็บเชลล์สืบพันธุ์และ/หรือตัวอ่อน ก่อนการรักษามะเร็งด้วยรังสีรักษา หรือเคมีบำบัด หรือโรคอื่น เช่น SLE (systemic lupus erythematosus)

8. การตรวจวินิจฉัยตัวอ่อนก่อนการฝังตัว สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมไปยังบุตร หรือมีการแท้งบุตรบ่อยเนื่องจากbalanced translocations ของโครโมโซม

จุดยืนราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์

     เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรหลักในการ กำกับดูแลด้านวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ได้ออกประกาศจุดยืนเกี่ยวกับการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในประเทศไทยดังต่อไปนี้

1. การให้บริการเทคนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น ได้แก่ภาวะมีบุตรยาก การที่เคยมีการตั้งครรภ์ที่สิ้นสุดลงโดยไม่ได้บุตรเลย หรือ การแท้งเป็นอาจิณ เป็นต้น

2. ประชาชนควรทราบว่การรับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์โดยไม่มีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงจากการกระตุ้นรังไข่ การเก็บไข่ และ การย้ายฝากตัวอ่อน โดยมีความรุนแรงหลายระดับทั้งต่อสตรีที่มีบุตรยาก สตรีที่บริจาคไข่ สตรีที่ตั้งครรภ์และทารกที่เกิดจากการรักษา มากกว่าการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ

3. การรับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์โดยคาดหวังให้มีการตั้งครรภ์แฝดเป็นการเพิ่มความเสี่ยงสูงต่อสตรีที่ตั้งครรภ์และทารก

เทคโนโลยีที่มาช่วยมีลูก เมื่อแนวโน้มคนอายุน้อยมีบุตรยากเพิ่มขึ้น

4. การเลือกเพศบุตร การรับจ้างบริจาคไช่หรืออสุจิหรือตัวอ่อน การรับจ้างตั้งครรภ์แทนมีความผิดตามกฎหมายและมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพ

5. การตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรมก่อนการฝังตัวในตัวอ่อนควรทำตามที่กฎหมายกำหนด

6. ก่อนการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีบุตรยากทุกราย ควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเหมาะสม เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์ จนเข้าใจดีและลงนามยินยอมรับการรักษา

7. สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีบุตรยากทุกราย ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ควรสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข

เทคโนโลยีที่มาช่วยมีลูก เมื่อแนวโน้มคนอายุน้อยมีบุตรยากเพิ่มขึ้น

สถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาต

     กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ระบุรายชื่อสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ณ  22 มีนาคม 2566 จำนวน  107 แห่ง แบ่งเป็นประเภท สถานพยาบาลภาครัฐ 16 แห่ง รพ.เอกชน 30 แห่ง  คลินิก 61 แห่ง 
สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่  https://mrd.hss.moph.go.th/mrd1_hss/?p=2231

ข้อกำหนดตามกฎหมายกรณีอุ้มบุญ  

  • เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท
  •  ตั้งแต่ 2558-2565 มีคู่สามี-ภรรยายื่นขออนุญาตให้ผู้อื่นตั้งครรภ์อุ้มบุญ รวม 684 ราย
  • พิจารณาอนุญาตให้มีการอุ้มบุญแล้ว 621 ราย
  • 8 ข้อห้ามอุ้มบุญ  /ห้ามเลือกเพศ /ห้ามขายไข่ อสุจิ /ห้ามรับจ้างตั้งท้อง/ห้ามโฆษณา/ห้ามโคลนนิ่ง/ห้ามมีคนกลาง เอเจนซี่ /ห้ามคุ่สมรสต่างชาติทั้งคู่ ดำเนินการตั้งครรภ์แทน/ห้ามปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน 

อ้างอิง :

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่