คนไทย ‘ดื่มนม’ น้อยกว่าทั่วโลก 6 เท่า สาเหตุเพราะย่อย ‘แลคโตส’ ไม่ได้?

คนไทย ‘ดื่มนม’ น้อยกว่าทั่วโลก 6 เท่า สาเหตุเพราะย่อย ‘แลคโตส’ ไม่ได้?

คนไทย “ดื่มนม” น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 6 เท่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะร่างกายคนเอเชีย ย่อยน้ำตาล “แลคโตส” ในน้ำนมวัวค่อนข้างยาก ทำให้ดื่มนมแล้วท้องเสียง่าย

Key Points:

  • น้ำนมจากสัตว์เป็นหนึ่งในอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีประโยชน์สำหรับคนทุกวัย แต่ปัจจุบันคนไทยกลับดื่มนมน้อยมากเมื่อเทียบกับคนทั้งโลก
  • หนึ่งในปัญหาของคนไทยและชาวเอเชียที่ทำให้ดื่มนมได้น้อยมาจาก “อาการแพ้แลคโตส” ในน้ำนมจากสัตว์ (ไม่มีในน้ำนมจากพืช)
  • เนื่องจากคนเอเชียเริ่มดื่มนมช้ากว่าชาวตะวันตก ทำให้ร่างกายปรับตัวในการผลิตเอนไซม์แลคเตสได้ไม่มากพอ ในการย่อยแลคโตส

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “นมวัว” มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีประโยชน์สำหรับคนในทุกช่วงวัย เนื่องจากมีสารอาหารครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน แคลเซียม น้ำ และเกลือแร่ต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับวัยเด็กที่ร่างกายอยู่ในช่วงเจริญเติบโต จำเป็นต้องดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว หรือเฉลี่ยปีละ 88 ลิตร 

แต่ในปัจจุบันคนไทยกลับดื่มนมน้อยมากหากเทียบกับคนทั่วโลก เพราะคนไทยดื่มนมเฉลี่ยต่อคนเพียงแค่ 18 ลิตรต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัปดาห์ละ 2 แก้วเท่านั้น แม้ว่าประเทศไทยจะผลิตน้ำนมดิบได้มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนก็ตาม

ข้อมูลจาก องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค. ล่าสุดพบว่า คนไทย “ดื่มนม” น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 6 เท่า หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น 90 ลิตรต่อคนต่อปี ประเทศสิงคโปร์ 62 ลิตรต่อคนต่อปี และ สาธารณรัฐประชาชนจีน 38 ลิตรต่อคนต่อปี เป็นต้น ในส่วนของอัตราค่าเฉลี่ยการบริโภคนมทั่วโลกอยู่ที่ 113 ลิตรต่อคน ขณะที่อัตราบริโภคนมโดยเฉลี่ยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 60 ลิตรต่อคนต่อปี

ประโยชน์ของการดื่มนมเป็นประจำนั้น นอกจากจะทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายแล้วยังช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพผู้คนทั่วโลก เพราะโรคนี้มีผลกระทบต่อผู้หญิง 1ใน 3 และผู้ชาย 1ใน 5 ของผู้คนทั่วโลกที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

ปัญหาคนไทยดื่มนมน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกกำลังเป็นที่พูดถึงในสังคมออนไลน์ว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะร่างกายคนไทยนั้นย่อย “แลคโตส” ที่อยู่ในนมวัวได้ยาก ทำให้เมื่อดื่มนมแล้วเกิดอาการปวดท้องและท้องเสีย คนไทยบางส่วนจึงไม่นิยมดื่มนม

  • น้ำตาลแลคโตสในน้ำนมคืออะไร ทำไมบางคนดื่มนมแล้วปวดท้อง?

แลคโตส หรือ น้ำตาลแลคโตส พบในน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะเป็น น้ำนมแม่ น้ำนมวัว น้ำนมแพะ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น (ไม่พบในน้ำนมจากพืช) เมื่อเราดื่มนมเข้าไปแล้วแลคโตส จะถูกย่อยในลำไส้เล็กโดยเอนไซม์ชื่อ “แลคเตส” ที่สร้างจากเซลล์ผนังลำไส้ จนได้เป็นกลูโคสและกาแลคโตส จากนั้นจะถูกดูดซึมผ่านลำไส้ไปสู่กระแสเลือดเพื่อใช้สร้างเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย นอกจากนี้ “แลคโตส” ยังพบในผลิตภัณฑ์จากนมด้วย เช่น นมข้น โยเกิร์ต ครีม ไอศกรีม โดยจะมีปริมาณแลคโตสแตกต่างกันในแต่ละผลิตภัณฑ์

แม้ว่าแลคโตสจากนมจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ในบางคนกลับมีอาการแพ้แลคโตส ซึ่งพบได้มากถึง 70-75% ของจำนวนประชากรโลก แต่จะพบมากในชาวเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกัน

“อาการแพ้แลคโตส ไม่ใช่การ “แพ้นมวัว” เหมือนที่หลายคนเข้าใจ” เนื่องจากผู้ที่แพ้นมวัวเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อโปรตีนในนมวัว ทำให้เกิดอาการแพ้ที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น ผื่นแดง คัน ใบหน้าบวม ปวดท้อง อาเจียน คัดจมูก เป็นต้น แต่ผู้ที่มีอาการแพ้แลคโตสมักไม่ได้มีอาการรุนแรง แต่จะมีอาการไม่สบายท้องหลังจากรับประทานนมวัวหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัวเข้าไป เนื่องจากลำไส้เล็กผลิตเอนไซม์แลคเตส ไม่เพียงพอทำให้แลคโตสไม่ถูกย่อย จึงทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ จนเกิดแก๊สและทำให้เกิดอาการท้องอืด ปวดท้อง ซึ่งอาการแพ้แลคโตสนั้นมักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

  • ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อแพ้แลคโตส

สำหรับอาการแพ้แลคโตสนั้นในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ดังนั้นจึงต้องอาศัยการสังเกตอาการและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเป็นหลัก ดังนี้

- หลีกเลี่ยงการรับประทานนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว

- ดื่มนมที่ทำจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ และนมข้าวโอ๊ต แทนการดื่มนมวัว แต่ถ้าร่างกายยังมีความผิดปกติอยู่ควรปรึกษาแพทย์

- หากมีอาการไม่รุนแรงมาก สามารถรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมได้ โดยรับประทานทีละน้อยและสังเกตอาการ หรือรับประทานร่วมกับอาหารอื่น

- เลือกรับประทานอาหารอื่นๆ ที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง เช่น ปลาทะเล ไข่แดง ตับ เต้าหู้ และผักใบเขียว เพื่อทดแทนสารอาหารจากนม

  • ชาวเอเชียย่อยแลคโตสได้ยากกว่าชาวตะวันตกจริงหรือ?

อีกหนึ่งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาร่างกายไม่ย่อยน้ำตาลแลคโตสในชาวเอเชีย มาจากผลสำรวจของวารสาร Nature ระบุว่า อาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมเป็นหลัก บวกกับระยะเวลาการปรับตัวที่ชาวเอเชียเริ่มดื่มนมวัวช้ากว่าชาวตะวันตก ตั้งแต่เมื่อประมาณ 9,000 ปีก่อน เป็นช่วงที่ชาวยุโรปเริ่มรู้จักการดื่มนม แต่ในเวลานั้นร่างกายก็ไม่สามารถย่อย “แลคโตส” ได้เช่นกัน และใช้เวลาถึงกว่า 4,000 ปี จนร่างกายสามารถผลิตเอนไซม์แลคเตสเพียงพอสำหรับการย่อยแลคโตสในนม

ดังนั้นชาวเอเชียที่ไม่ได้ “ดื่มนม” มาตั้งแต่แรกในยุคบรรพบุรุษ และเพิ่งเริ่มดื่มเมื่อครั้งรับวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามาได้ไม่นาน ทำให้ร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับการย่อยแลคโตสได้นั่นเอง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมร่างกายชาวเอเชียผลิตเอนไซม์แลคเตสได้น้อย และไม่เพียงพอสำหรับการย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมวัว และในปัจจุบันมีคนไทยวัยผู้ใหญ่เพียง 10% เท่านั้นที่ร่างกายสามารถย่อยแลคโตสได้

ท้ายที่สุดแล้วหนึ่งในเหตุผลที่คนไทย “ดื่มนม” น้อยมากหากเทียบกับคนทั้งโลก อาจเป็นเพราะร่างกายของคนเอเชียยังผลิตเอนไซม์แลคเตสได้มากพอ แต่ถึงอย่างไร “นม” ก็เป็นหนึ่งในอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ดังนั้นใครที่ไม่สามารถดื่มนมได้ อาจลองเปลี่ยนมาดื่มนมแบบปราศจากแลคโตส หรือที่เรียกว่า Lactose Free และนมที่สกัดจากพืชแทน ก็สามารถช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วนได้เช่นกัน

อ้างอิงข้อมูล : พบแพทย์, รพ.สมิติเวชองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย, A day และ CP meji