หญิงไทย 37% มี ภาวะ ‘โลหิตจาง’ เพราะประจำเดือนมามากผิดปกติ

หญิงไทย 37% มี ภาวะ ‘โลหิตจาง’ เพราะประจำเดือนมามากผิดปกติ

“โลหิตจาง” เป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ปัจจุบันผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ กลับมีภาวะโลหิตจางมากถึงร้อยละ 37 เนื่องจากขาดธาตุเหล็กและ “ประจำเดือน” มามากผิดปกติ

Key Points:

  • ภาวะ “โลหิตจาง” ทำให้ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ จึงไม่สามารถส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้อย่างเพียงพอ
  • ปัจจุบันมีผู้หญิงไทยอายุ 15-49 ปี เสี่ยงเกิดภาวะโลหิตจางมากถึง 37% เนื่องจากขาดธาตุเหล็ก และมีประจำเดือนมากกว่าปกติในบางคน
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะกินให้ครบ 5 หมู่ และกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ช่วยลดความเสี่ยงเกิดโลหิตจางได้

ภาวะโลหิตจาง หรือ ภาวะซีด หรือที่บางคนเรียกว่า “เลือดน้อย” เป็นภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ซึ่งเม็ดเลือดแดงนั้นมีหน้าที่ส่งออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้นหากเม็ดเลือดแดงมีจำนวนลดลงหรือมีไม่มากพอ ก็จะทำให้กระบวนการต่างๆ ในร่างกายผิดปกติได้ และถ้าหากคุณมีอาการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ตัวซีด อ่อนเพลีย มีอาการเหนื่อยล้า วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืดเวลาลุก ก็อาจเข้าข่ายภาวะ “โลหิตจาง”

โดยภาวะโลหิตจางเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่จากข้อมูลของกรมอนามัย พบว่า ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 15-49 ปี นั้น มีโอกาสเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภาวะ “โลหิตจาง” มากถึงร้อยละ 37 เนื่องจากขาดสารอาหารจำพวกธาตุเหล็ก ไปจนถึงการมี “ประจำเดือน” มากผิดปกติของบางคน (ในแต่ละเดือนผู้หญิงจะมีประจำเดือน 3-7 วัน โดยเฉลี่ย) ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคโลหิตจางได้ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ในหญิงตั้งครรภ์ มีภาวะโลหิตจางอีกถึงร้อยละ 31.2

  • โลหิตจาง เกิดจากปัจจัยอะไรเป็นหลัก?

อย่างที่บอกไปว่าสาเหตุของภาวะโลหิตจางนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย นอกจากการมีประจำเดือนซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้หญิงแล้ว ยังสามารถแบ่งได้ตามสาเหตุหลัก ดังนี้

1. ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ไม่ว่าจะมาจากการขาดสารอาหารประเภท ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และกรดโฟลิก เป็นโรคไตวายเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับไขกระดูก หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ หรือโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง

2. ป่วยเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาวะทำลายเม็ดเลือดแดงในร่างกาย เช่น โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย และ โรคธาลัสซีเมีย รวมถึงการติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อมาลาเรีย คลอสติเดียม เชื้อไมโคพลาสมา เป็นต้น

3. การเสียเลือด เช่น ภาวะเสียเลือดฉับพลันจากอุบัติเหตุ การตกเลือด หรือภาวะเสียเลือดเรื้อรัง สำหรับผู้หญิงบางคนที่มีประจำเดือนมากผิดปกติก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน

  • เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรม ป้องกันโลหิตจาง

แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะ “โลหิตจาง” บางอย่างจะดูเหมือนไม่สามารถป้องกันได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างก็สามารถช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้ โดยเฉพาะเรื่องการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมในแต่ละมื้อ

นอกจากการให้ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก ในผู้ที่มีภาวะโลหิตจางแล้ว สำหรับบุคคลทั่วไปการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอาหารที่กรมอนามัยแนะนำมีดังนี้

- เนื้อสัตว์ เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื่องจากมีธาตุเหล็กสูงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้โดยตรง

- เลือด ตับ เครื่องในจากสัตว์ มีธาตุเหล็กและสารอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกาย เช่น โปรตีน วิตามินบี ทองแดง ซีลีเนียม

- อาหารทะเล เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ กุ้ง ปลาทูน่า

- ไข่แดง เป็นอาหารที่หารับประทานได้ง่าย และคนที่ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพก็สามารถรับประทานได้เป็นประจำ

- ผักใบเขียวชนิดต่างๆ เนื่องจากมีธาตุเหล็กสูง

ไม่ใช่แค่รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เท่านั้น แต่การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำเพื่อเช็กความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพื่อที่จะได้รู้ว่าเรามีความเสี่ยงเกิดภาวะโลหิตจางมากน้อยแค่ไหน หากตรวจพบความผิดปกติจะได้รักษาได้ทัน

รวมถึงควรสังเกตตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า มีอาการที่เข้าข่ายความเสี่ยงหรือไม่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์หากพบว่าตนเองมีประจำเดือนมากผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข ก่อนจะเกิดภาวะโลหิตจางในอนาคต

อ้างอิงข้อมูล : กรมอนามัย และ รพ.พญาไท