ไขข้อสงสัยทำไมบางคนถึงเป็น “ไมเกรน” ก่อนมี “ประจำเดือน”

ไขข้อสงสัยทำไมบางคนถึงเป็น “ไมเกรน” ก่อนมี “ประจำเดือน”

ในช่วงก่อนมีประจำเดือน นอกจากอาการปวดท้อง ปวดเมื่อยตามตัวแล้ว ผู้หญิงบางคนยังมีอาการปวดหัว “ไมเกรน” อีกด้วย สองสิ่งนี้เกี่ยวกันอย่างไร เป็นอันตรายหรือไม่?

ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัว ไปจนถึงมีอารมณ์ไม่คงที่ เป็นส่วนหนึ่งของอาการก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิงหลายๆ คน แต่ไม่ใช่แค่นั้นเพราะสำหรับบางคนก็มีอาการปวดหัว “ไมเกรน” รวมอยู่ด้วย ซึ่งมักจะเกิดก่อนประจำเดือนมา 1-2 วัน

อาการปวดหัวไมเกรนก่อนมีประจำเดือนนั้นมีคำอธิบายทางการแพทย์ว่า เกิดจาก “เส้นเลือดนอกสมอง” ที่ควบคุมด้วยระบบฮอร์โมนมีการขยายตัวเกิดขึ้น ทำให้มีอาการปวดหัว ซึ่งจะปวดข้างซ้ายหรือข้างขวาเพียงข้างเดียว หรือปวดทั้งศีรษะก็ได้ โดยอาการปวดหัวนั้นสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้มีการขับเลือดที่ผนังมดลูกและมีประจำเดือนในช่วงเวลาต่อมา

  • ไมเกรน และ ประจำเดือน มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าเส้นเลือกนอกสมองมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมนในช่วงใกล้มี “ประจำเดือน” ทำให้ผู้หญิงบางคนจะปวดไมเกรนอย่างน้อย 2 วันก่อนประจำเดือนมา และบางคนอาจปวดนานถึง 3 วัน หรือ ปวดไปจนถึงมีประจำเดือนวันแรก โดยจะมีอาการปวดหัวรุนแรงและนานกว่าไมเกรนปกติ รวมถึงมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น

- คลื่นไส้

- อาเจียน

- มีความไวต่อ แสง, เสียง และ กลิ่น มากขึ้น

บางคนอาจตอบสนองต่อยารักษาไมเกรนแบบเฉียบพลันไม่ดีเท่าที่ครวร หรือกลับมามีอาการปวดซ้ำใหม่ได้มากกว่าปกติ

นอกจากนี้ช่วงก่อนมีประจำเดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ ก่อนมีประจำเดือน 1–3 วัน ระดับ “เอสโตรเจน” จะลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ที่สมองมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติซึ่งบางกรณีเกิดจากพันธุกรรมหรือผู้มีปัญหาไมเกรนอยู่แล้วจะยิ่งทำให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดการปวดไมเกรนได้

สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือนถือเป็นอีกกลุ่มที่มีอาการปวดไมเกรนมากขึ้น เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศได้มาก ระดับฮอร์โมนไม่คงที่ รวมทั้งอาจมีปัญหาเรื่องร้อนวูบวาบในเวลากลางคืน ทำให้การนอนหลับไม่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุของไมเกรน

  • ปวดไมเกรนก่อนมีประจำเดือนอันตรายหรือไม่?

ความจริงแล้วอาการต่างๆ ก่อนมีประจำเดือนไม่ว่าจะเป็นปวดท้องหรือปวดหัว ไปจนถึงปวดไมเกรนถือเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีประจำเดือนทุกคน เมื่อมีอาการนอกจากจะต้องพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว การกินยาแก้ปวดตามอาการก็สามารถช่วยบรรเทาได้ แต่หากมีอาการปวดมากผิดปกติจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากสูตินรีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงโดยละเอียดว่าอาการเหล่านั้นเป็นเพียงอาการที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนหรือเกิดจากโรคอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง

ท้ายที่สุดแล้วอาการปวดไมเกรนก่อนมีประจำเดือนนั้นอาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เนื่องจากในช่วงมีประจำเดือนฮอร์โมนจะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่ถ้าเราดูแลตัวเองดี กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับให้เพียงพอก็จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านั้นไปได้

อ้างอิงข้อมูล : RAMA Channel และ รพ.กรุงเทพ