ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’

ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’

'มะเร็งตับ' เป็นมะเร็งที่เจอมากที่สุดอันดับ 1 ในประเทศไทย กว่า 14.4% โดยพบในเพศชายเป็นอันดับ 1 แม้ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่างๆ จะเข้าถึงการรักษาได้พอสมควร แต่มะเร็งตับก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก

Key Point : 

  • WHO ระบุว่า ปี 2563 มะเร็งที่เจอมากที่สุดอันดับ 1 ในประเทศไทย คือ มะเร็งตับ 14.4% จำนวน 27,384 ราย อีกทั้ง ไทยยังติดอันดับ 4 ของโลก ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับสูง
  • อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งตับ ยังมีช่องว่าง เพราะถึงแม้ว่า ผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่นๆ จะเข้าถึงการรักษาได้พอสมควร แต่ 'มะเร็งตับ' ยังมีข้อจำกัด
  • การรวมกลุ่ม สร้างเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็งตับที่เข้มแข็ง จะเป็นอีกหนึ่งแนวทาง ในการผลักดันการเข้าถึงสิทธิการรักษา ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่นเดียวกับ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่มีการเดินหน้าสำเร็จมาก่อนหน้านี้ 

 

 

ข้อมูล อุบัติการณ์โรคมะเร็ง จากองค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ.2563 พบว่า มะเร็งที่เจอมากที่สุดอันดับ 1 ในประเทศไทย คือ มะเร็งตับ 14.4% จำนวน 27,384 ราย (โดยพบในเพศชายเป็นอันดับ 1 ราว 18,268 ราย มากกว่าเพศหญิง 2 เท่า จำนวน 9,126 ราย และเป็นมะเร็งที่พบในเพศหญิงเป็นอันดับ 4) ถัดมา คือ มะเร็งปอด 12.4% มะเร็งเต้านม 11.6% มะเร็งลำไส้ใหญ่ 11.1% และ มะเร็งปากมดลูก 4.8%

 

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังติดอันดับ 4 ของโลก ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับสูง และเป็นอันดับ 1 ในประเทศเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีผู้ป่วย 3 รายที่เสียชีวิต หากไม่รักษาจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว แม้เทคโนโลยีการรักษามะเร็งตับในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมากทั้งการให้ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัด แต่การเข้าถึงสิทธิการรักษาของผู้ป่วยยังมีอยู่อย่างจำกัด 

 

ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ได้จัดงาน การประชุมเชิงเสวนา เพื่อพัฒนาความรู้ เพิ่มขีดความสามารถ ผู้ป่วยมะเร็งตับ ครั้งที่1 ประจำปี 2566 สนับสนุนโดย บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด เพื่อเปิดเวทีร่วมหาทางออก แนวปฏิบัติ สำหรับการดูแลรักษาโรคมะเร็งตับ ด้วยเป้าหมาย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งทุกคน

 

นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เผยว่า โรคมะเร็งตับ มีหลายเรื่องที่ยังเป็นช่องว่างต้องพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ความรู้ การคัดกรอง การรักษา และดูแลระยะสุดท้าย ปัจจุบันการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้หากใช้รูปแบบเดิมๆ ฝั่งนโยบายก็คิด ประชาชนใช้สิทธิเรียกร้อง ก็เหมือนยืนอยู่คนละฝั่ง ดังนั้น การที่สามารถมีองค์กร ไม่ต้องถึงกับเป็นทางการ แต่รวมกลุ่มขับเคลื่อนร่วมกัน โดยเฉพาะ ภาคประชาชนที่เข้ามาออกเสียงเรื่องของตนเอง และมีภาคเชิงนโยบายมารับฟัง และภาควิชาการที่มาไกด์นโยบาย จะทำให้การขับเคลื่อนสมเหตุสมผล หาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน จะทำให้การขับเคลื่อนไปได้ไกล และคุ้มค่าตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย

 

ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’

 

ประชาชนยังเข้าไม่ถึงสิทธิรักษา

 

ศ.นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อธิบายว่าเนื่องจากมะเร็งตับอาการไม่ค่อยมีจากข้อมูลที่มีการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติพบว่า อุบัติการณ์โรคมะเร็งตับตามระยะโรค ปี พ.ศ.2560 พบถึง 38.0% จะมาพบในระยะกลาง 26.0% ในระยะสุดท้าย 16.0% ระยะแรก 11.0% และระยะลุกลาม มีเพียง 9.0% ที่มาพบในระยะเริ่มต้น

 

ข้อมูลในปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2566 พบว่า ยาต่างๆ ที่มีการใช้อยู่ในสิทธิประโยชน์ยังจำกัด ยาบางอย่างมีอยู่ในสิทธิข้าราชการ และยาบางอย่างต้องจ่ายเอง แม้ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งต่างๆ ได้พอสมควร แต่มะเร็งตับก็ยังมีข้อจำกัดมาก

 

“ดังนั้น ควรมีการรณรงค์สร้างตระหนักว่าโรคนี้เป็นโรคสำคัญในระยะยาว ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ครอบคลุมได้มากขึ้น หลายฝ่ายมีการพยายามผลักดันยามะเร็งเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ การเบิกจ่ายร่วมกัน หรือเลือกกลุ่มที่มีความเหมาะสมเพื่อให้มีการเข้าถึงการใช้ยามากขึ้น สุดท้าย คือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น”

 

ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’

 

ความก้าวหน้ารักษามะเร็งตับ

 

ผศ.นพ.สืบพงศ์ ธนสารวิมล อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงภาพรวมนวัตกรรมความก้าวหน้าการรักษามะเร็งตับในปัจจุบันว่า ระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ยารักษามะเร็งตับ ที่มีการปัญหาการเข้าถึงมากที่สุด คือ ยามุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกัน และยาเคมีบำบัด ตามลำดับ แม้ยาเคมีบำบัดจะดูเข้าถึงได้ง่ายกว่าแต่ไม่ได้มีการใช้กันมากเพราะประสิทธิภาพอาจจะไม่ได้ดีเท่ากับตัวอื่นๆ 

 

ผลการรักษาในปัจจุบัน 'ยาเคมีบำบัด' พบว่าระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ป่วยราว 6 เดือน หวังผลการตอบสนองไม่ถึง 10% ขณะที่ “ยาภูมิคุ้มกันบำบัด” ตัวเดียวอาจจะได้ระยะเวลาการรอดชีวิตสูงถึง 16 เดือน หวังผลการตอบสนอง 16% และ สุดท้าย “ยามุ่งเป้า” ระยะเวลาการรอดชีวิตราว 15.5 เดือน และโอกาสการตอบสนองราว 18.8% 

 

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีข้อมูลยืนยันว่าการให้ยามุ่งเป้า ร่วมกับยาภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถให้ผลการรักษาดีกว่าการให้ยามุ่งเป้าอย่างเดียว โดยมีระยะเวลาการรอดชีวิต 19.2 เดือน และหากได้ยาต่อเนื่องกัน ผู้ป่วยน่าจะมีชีวิตยืนยาวกว่า 2 ปีได้ และโอกาสการตอบสนองได้ราว 27% ปัจจุบัน หากผู้ป่วยเข้าถึงยาที่ดีที่สุดว่ากันว่า 1 ใน 3 ก้อนมะเร็งจะยุบได้ และจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

 

ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’

 

เล็งสร้างเครือข่ายอย่างยั่งยืน

 

สุรชัย เลิศอมรสิน อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ ผู้ดูแลกลุ่มเรื่องเล่าจากตับเพื่อผู้ป่วยมะเร็งตับ กล่าวว่า เหตุผลที่กลุ่มมะเร็งตับก่อตั้งกลุ่มไม่ได้ เพราะมะเร็งตับกว่าจะรู้อาการก็ระยะ 3 ระยะ 4 แล้ว ทำให้ผู้ป่วยมีอายุไม่ยืนยาว 6 เดือน หรือ 2 ปี การรวมกลุ่มจึงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ป่วยสามารถให้ความรู้ คำแนะนำ การพบแพทย์ หรือระหว่างการรักษาจะต้องดูแลร่างกายอย่างไร ให้กำลังใจ ผ่านกลุ่มเฟซบุ๊ก “เรื่องเล่าจากตับ” สถิติ 3 เดือน พบว่า มีกว่า 169 โพสต์ 3,547 คอมเมนต์ มีการกดไลค์ 6,408 ครั้ง

 

"ปัจจุบัน ในทีมจิตอาสามีการพูดคุยสรุปในสิ่งที่อยากจะทำ คือ การสร้างความตระหนักรู้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องตรวจร่างกาย ให้ความรู้ เพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยงไม่ให้พัฒนาเป็นมะเร็งตับหากพบไวก็จะสามารถรักษาได้ง่ายกว่าและค่าใช้จ่ายน้อย การสร้างเครือข่ายช่วงโควิด-19 จึงมีช่องทางโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก และอนาคตจะต้องมีการรวมกลุ่มให้ยั่งยืนขึ้น” สุรชัย กล่าว 

 

ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’

 

ตัวอย่างความสำเร็จเครือข่ายผู้ป่วย

 

ธนพลธ์ ดอกแก้ว  นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ผู้ก่อตั้งสมาคมฯ “ปัจจุบัน สมาคมฯ เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) , ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน และ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยมีกระบวนการสื่อสารสร้างความรอบรู้ให้แก่ประชาชน ทั้งช่องทางเฟซบุ๊กสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย รวมถึงช่องทางไลน์ และเว็บไซต์ www.kfat.or.th” 

 

ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’

 

ด้าน เอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ รองประธานชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย ชมรมฯ เป็นการรวมกลุ่มระหว่าง ผู้ป่วยและแพทย์ ในปี 2542 ที่รพ.รามาธิบดี การร่วมมือกันของผู้ป่วย ข้อดี คือ ป้องกันเรื่องของข่าวปลอม บุคลากรทางการแพทย์ช่วยหาวิวัฒนาการใหม่ๆ มารักษา หน้าที่ผู้ป่วยคือคัดกรองกันโดยมีแพทย์เป็นที่ปรึกษา สื่อสาร พัฒนาความรู้ในกลุ่มผู้ป่วย

 

“ถัดมา คือ ช่วยในเรื่องของนโยบาย มีการพูดคุยระหว่างผู้ป่วยและมีแพทย์สนับสนุนเชิงวิชาการ อีกส่วนที่ช่วยได้คืองานวิจัยต่างๆ มีตัวแทนเข้าไปออกเสียงเมื่อภาครัฐเปิดรับฟัง ต้องพยายามสร้างสิ่งเหล่านี้ ผลลัพธ์ คือ ช่วยเรื่องการรักษา ดูแลตัวเอง เกิดองค์ความรู้ขึ้นมาและร่วมกันติดตามผล ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนดูแล เพราะเมื่อมีคนหนึ่งป่วยก็จะป่วยทั้งครอบครัว ดังนั้น มิติการดูแลต้องกระจายออกไป” เอกวัฒน์ กล่าว 

 

 

ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’

 

ทำอย่างไรเมื่อได้รับผลข้างเคียงจากยารักษามะเร็ง

 

พญ.แทนชนก รัตนจารุศิริ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ อธิบายว่า ยารักษามะเร็งตับ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัด สำหรับการรักษาด้วย “ยาเคมีบำบัด” ผลข้างเคียงที่พบ คือ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ผลข้างเคียงจากการชาปลายประสาท ดังนั้น ผู้ป่วยต้องทานอาหารทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ทานอาหารอ่อน หลังจากทานอาหารควรนั่งหัวสูงหรือนั่งอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

 

หากเบื่ออาหาร ให้รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง และเพิ่มการอยากอาหารได้ด้วยการทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว หากมีอาการท้องเสียให้เลี่ยงการดื่มนม ผักและผลไม้ สำหรับอาการผลข้างเคียงต่อปลายประสาท แนะนำให้หลีกเลี่ยงการทานและหยิบจับของเย็น 3-5 วันหลังจากได้รับยา ระมัดระวังของมีคม ของร้อน การขึ้นลงบันได และสามารถรับประทานวิตามินบำรุงปลายประสาท เช่น วิตามินบีรวม เพื่อช่วยลดอาการชาได้

 

สำหรับ 'ยามุ่งเป้า' จะมีอาการข้างเคียงทางผิวหนังที่ฝ่ามือฝ่าเท้า มีอาการชา เจ็บแปลบบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือแดงลอก มีผืนตามตัว คัน ท้องเสียอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ความดันโลหิตสูง ดังนั้น เมื่อมีอาการทางผิวหนัง แดงลอก ควรใส่ถุงมือ ถุงเท้านุ่มๆ ทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น หากผื่นตามตัว ควรทาครีมทันทีหลังอาบน้ำหรือก่อนนอนเลือกแบบไม่มีน้ำหอมหรือสารกันเสีย เลี่ยงอาบน้ำอุ่น แสงแดด และทาครีมกันแดด SPF30 ขึ้นไป สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย และหากมีอาการอ่อนเพลียหลังได้รับยา ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบาๆ เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังเที่ยง ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่

 

ในส่วนของ 'ยาภูมิคุ้มกันบำบัด' ผลข้างเคียง คือ มีไข้ ปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ ทำให้มีอาการท้องเสียได้ รวมทั้งตับอักเสบ มีผื่นขึ้นตามตัว การทำงานต่อมไร้ท่อที่ผิดปกติ ตับอ่อนทำงานผิดปกติ เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ให้รีบไปพบแพทย์ก่อนกำหนด ได้แก่ อาการตัวเหลือง ตาเหลือง หายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก เป็นอาการของปอดอักเสบ ปวดท้องอย่างรุนแรง และไข้สูง

 

ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษา ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’