ไม่อยากเสี่ยง 'โรคมะเร็ง' ลดอาหารกลุ่มเสี่ยง ช่วยได้ 30-40 %

ไม่อยากเสี่ยง 'โรคมะเร็ง' ลดอาหารกลุ่มเสี่ยง ช่วยได้ 30-40 %

คนไทยป่วยโรคมะเร็งรายใหม่เฉลี่ย 400 คนต่อวัน เจอในกลุ่มอายุน้อยลง  ปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมกินมากถึง 30-40%  ระบุลดอาหารไขมันสูง-ปิ้งย่าง ลดปัจจัยเกิดมะเร็งได้ 30-40 %  

      เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2566 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมกับ โรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค ทั้ง 7 แห่ง เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 15  เพื่อส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและวิทยาการต่างๆ และการนำเสนอผลการศึกษาวิจัย รวมทั้งสนับสนุนให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับโรคมะเร็งทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

        นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร  อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า ปัญหาด้านสาธารณสุขเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาประเทศ  เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรสำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาด้านต่างๆ  สธ.เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว  จึงได้วางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และปฏิรูประบบสุขภาพ  ผ่านยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ 4 ด้าน คือ ด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเลิศ ด้านบริการเป็นเลิศ ด้านบุคลากรเป็นเลิศและบริหารเป็นเลิศด้วยธรรมาภิบาล  โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ประชาชนสุขภาพดี  เจ้าหน้าที่ มีความสุขและระบบสุขภาพยั่งยืน

       กรมการแพทย์ มุ่งพัฒนาการดำเนินงานทุกด้านเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์  ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค ภายใต้ภารกิจการสร้างและการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สมคุณค่า เสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการและบริการทางการแพทย์ในทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาการแพทย์ของประเทศสู่มาตรฐานสากล รวมทั้งพัฒนารูปแบบระบบบริการ Service plan สาขาต่างๆ รวมทั้งสาขาโรคมะเร็งด้วย
              ปัจจุบันสถานการณ์การป่วยโรคมะเร็ง พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 140,000 คน  หรือ คิดเป็น 400 คนต่อวัน  โดยอาจมีการนำงบลงทุนเข้าไปในพื้นที่ เพื่อขยายการรักษาให้ครอบคลุม และประชาชนเข้าถึงบริการมากที่สุด แนะนำให้ความรู้ประชาชนตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยตัวเอง ทั้งมะเร็งเต้านม ที่สามารถคลำก้อนได้ หรือการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยชุดตรวจ หรือการตรวจหาความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง เต้านม และ ปากมดลูกด้วยยีนส์ หรือการตรวจหามะเร็งลำไส้ด้วยชุดตรวจ 
       รวมถึง ขับเคลื่อนการรักษาดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เช่น การขยายการใช้เครื่องรังสีรักษาให้มีความครอบคลุมมากขึ้นในทุกพื้นที่ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้รับการรักษาเร็ว ร่นระยะเวลาการเดินทาง หรือการทำเทเลคอนเฟอร์เรนส์มาใช้ พร้อมขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมและป้องกันมะเร็ง

     ด้าน นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวว่า

โรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งเต้านม 
  • มะเร็งลำไส้ และทวารหนัก
  • และมะเร็งปากมดลูก
           อัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป  

         โดยอัตราการเกิดมะเร็งพบได้ในคนอายุน้อยลง  ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารมากถึง 30-40%  โดยเป็นกลุ่มอาหารที่มีไขมันสูง ,ปิ้งย่าง หากลดอาการเหล่านี้ได้ก็สามารถลดปัจจัยการเกิดมะเร็งได้ 30-40 %  กรมเตรียมให้องค์ความรู้กับภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในประชาชน
      ส่วนสถานการณ์ฝุ่น pm 2.5  ที่พบในภาคเหนือ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด เป็นเพียงปัจจัยร่วม โดยฝุ่นที่ก่อให้เกิดมะเร็งอย่างชัดเจน ได้แก่ บุหรี่ ฝุ่นจากแร่ใยหิน และ ใยไม้ ทั้งนี้ยังต้องมีการติดตามและศึกษาวิจัยต่อไป เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่งเกิดในสังคม และบางพื้นที่ไม่นาน