เช็ก 4 โรคผิวหนัง 'หน้าร้อน' ปัญหาที่ไม่ได้มีแค่ฝ้า กระ จุดด่างดำ

เช็ก 4 โรคผิวหนัง 'หน้าร้อน' ปัญหาที่ไม่ได้มีแค่ฝ้า กระ จุดด่างดำ

แสงแดดที่ร้อนแรงในช่วง 'หน้าร้อน' และอุณหภูมิที่สูงกว่า 40 องศา ทำให้หลายคนอาจจะนึกถึงฝ้า กระ จุดด่างดำ แต่ความจริง กลุ่มโรคผิวหนังมีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อจากเชื้อรา แบคทีเรีย ผิวเสื่อมสภาพ มะเร็งผิวหนัง และกลิ่นตัว ที่มีปัจจัยมาจากอากาศร้อนเช่นกัน

Key Point : 

  • โรคผิวหนัง ในช่วงหน้าร้อนไม่ได้มีแค่ปัญหาฝ้า กระ จุดด่างดำ เท่านั้น เพราะยังมี 4 กลุ่มโรค ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง กลิ่นตัว  ผิวเสื่อมสภาพ และมะเร็งผิวหนัง
  • แต่ละกลุ่มโรคมีทั้งสาเหตุและกลุ่มเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป สถาบันโรคผิวหนัง มีคำแนะนำสำหรับการดูแลตัวเองในช่วงหน้าร้อน การสังเกตอาการ รวมถึงการวินิจฉัย รักษาหากเกิดโรค 
  • ขณะเดียวกัน ช่วงที่แนะนำให้หลีกเลี่ยง คือ 10.00 – 15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ยูวีเข้ม และแรงที่สุด แต่หากจำเป็นจะต้องโดนแดดควรมีการปกป้องผิวหนังที่ดีพอ โดยเฉพาะกลุ่มที่ผิวเสื่อมสภาพ และ มะเร็งผิวหนัง

 

ในช่วงหน้าร้อน แสงแดดจ้า อากาศร้อนอบอ้าว หลายคนคิดถึงปัญหา ฝ้า กระ จุดด่างดำ แต่ความจริงแล้วอากาศร้อนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังต่างๆ มากมาย เช่น ผดร้อน โรคแพ้แสงแดด โรค SLE โรคตุ่มน้ำพองใส ซึ่งเป็นโรคที่ถูกกระตุ้นได้กับแสงแดด หรือโรคผิวหนังบางโรค เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบ ในช่วงอากาศร้อนทำให้ผื่นกำเริบได้เช่นกัน

 

พญ.รัชฎา องค์กวีเกียรติ นายแพทย์ปฏิบัติการ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวในหัวข้อ โรคผิวหนังที่พบบ่อยช่วงหน้าร้อน ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ สถาบันโรคผิวหนัง โดยอธิบายว่า เนื่องจากเหงื่อจะทำให้ระคายเคืองผิวหนัง พอคนไข้มีเหงื่อออก มีอาการคันและเกาทำให้อาการผื่นแย่ลงได้ และสุดท้าย สิ่งที่ทุกคนกังวลมาก คือ สิว ซึ่งสามารถเห่อได้ในช่วงอากาศร้อน เนื่องจากเหงื่อจะผสมกับแบคทีเรีย ที่อยู่บริเวณผิวหนังและน้ำมันบริเวณผิวหนังผลิตออกมามากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการอุดตันในรูขุมขนได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

4 กลุ่มโรคผิวหนัง ที่พบบ่อยหน้าร้อน

 

สำหรับ โรคผิวหนัง ที่พบบ่อยในช่วงหน้าร้อน แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ซึ่งแต่ละโรคก็จะมีสาเหตุแตกต่างกันไป ดังนี้

 

1. การติดเชื้อที่ผิวหนัง (Skin infections) ได้แก่ เชื้อรา สาเหตุของโรค คือ การติดเชื้อที่ผิวหนัง 2 กลุ่มหลัง คือ กลุ่ม Dematophytes ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกลาก และ กลุ่ม Yeasts เป็นสาเหตุของโรคเกลื้อนและแคนดิดา ขณะที่ แบคทีเรีย สาเหตุจาก 2 กลุ่ม คือ Streptococcus pyogenes และ Straphylococcus aureus

 

2. กลิ่นตัว (Fungus) โดยปกติร่างกายเราจะผลิตเหงื่อออกมาทุกวันช่วยระบายความร้อน ดังนั้น ช่วงอากาศร้อนเหงื่อผลิตมากขึ้น จะไปทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียกับผิวหนังทำให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ แสงแดดอาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรงในการทำให้เกิดกลิ่น แต่การที่อากาศร้อนจะทำให้เหงื่อออกเยอะขึ้น ดังนั้น กลิ่นตัวก็จะมามากขึ้น

 

3. ผิวเสื่อมสภาพจากการถูกแดด (Photoaging) ได้แก่ ฝ้า กระ กระแดด จุดด่างดำ ผิวแก่ก่อนวัย ริ้วรอย เรื่องของแดดจะมีส่วนเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ ในแสงแดดมีทั้งความร้อน รังสียูวีเอ ยูวีบี กระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระในผิวหนัง และกระตุ้นเซลล์ใต้ผิวหนังให้ผลิตเม็ดสีออกมามากขึ้น ก่อนให้เกิดลักษณะอากาศแสดงดังกล่าว นอกจากนี้ หากโดนแดดแรงๆ ในเวลานานๆ เช่น ตากแดดจัดช่วงกลางวัน 1 ชั่วโมง อาจจะทำให้เกิดผิวไหม้ได้หากไม่มีการปกป้องผิวที่ดีพอ

 

 

4. มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer) เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งเชื้อชาติ พันธุกรรม ภาวะภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเคยสัมผัสสารก่อมะเร็ง รังสี สารหนู หากสัมผัสหรือได้รับสารเหล่านี้เป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน

 

“แสงแดดสามารถกระตุ้นมะเร็งผิวหนังได้จากการที่ถูกแดดจัดๆ เป็นชั่วคราว หรือ ถูกแดดสะสมเป็นระยะเวลานาน เพราเชื่อว่ารังสียูวีไปกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอที่อยู่บริเวณผิวหนัง ทำให้เกิดการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติ จึงเกิดเป็นมะเร็งผิวหนังขึ้นมา”

 

กลุ่มไหนเสี่ยงมีโอกาสเกิดโรค

 

สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงใน 4 กลุ่มโรคข้างต้น มีดังนี้

1. การติดเชื้อที่ผิวหนัง กลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อรา ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี หรือกลุ่มที่มีเหงื่อออกเยอะ ผิวหนังมีความอับชื้น คนอ้วน นักกีฬา หรือคนไข้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้ติดเชื้อราที่ผิวหนังได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ แบคทีเรีย พบบ่อยในเด็ก หรือ ผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิม โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือผิวหนังมีรอยถลอก บาดเจ็บ ส่งผลให้ผิวหนังเป็นรูเปิดและทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปเจริญเติบโตและเกิดการติดเชื้อได้ และกลุ่มที่มีเหงื่อออกมาก ทำให้เกิดการอับชื้น ก็ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้เช่นเดียวกัน สุดท้าย คือ บุคคลที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี

 

2. กลิ่นตัว กลุ่มเสี่ยงจะคล้ายกับกลุ่มแรก เนื่องจากเหงื่อเป็นตัวทำให้เกิดกลิ่น ดังนั้น คนที่มีเหงื่อเยอะ เช่น นักกีฬา คนอ้วน ก็จะทำให้มีกลิ่นตัวแรงได้ นอกจากนี้ กลุ่มคนบางเชื้อชาติก็จะให้มีกลิ่นตัวแรงกว่าปกติได้ หรือ โรคบางโรค เช่น โรคที่มีความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม ก็จะส่งผลต่อกลิ่นตัวเช่นกัน

 

3. ผิวเสื่อมสภาพจากการถูกแดด ส่วนใหญ่มักเกิดจากกลุ่มคนที่ถูกแดด ทำงานกลางแจ้ง เล่นกีฬากลางแจ้ง ทำงานบริเวณหน้าเตา เช่น เชฟ ก็จะกระตุ้นฝ้าได้

 

4. มะเร็งผิวหนัง ปัจจัยเสี่ยง คือ กลุ่มคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นระยะเวลานาน หรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนังก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังได้มากกว่าคนทั่วไป รวมถึงคนที่ได้รับการฉายรังสีมาก่อน กลุ่มคนที่มีภาวะผิวหนังไวต่อแสงแดด คนที่ถูกแดดจัดเป็นเวลานาน เช่น ชอบอาบแดด ตากแดดจัด ทำงานกลางแจ้ง

 

“คนผิวขาว มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังได้มากกว่า เพราะปกติคนผิวขาวจะมีเซลล์เม็ดสี หรือ  เมลาโนไซต์ น้อยกว่ากลุ่มคนเอเชียหรือแอฟริกันซึ่งจะมี เมลาโนไซต์ ปกป้องรังสียูวี ดังนั้น จะเห็นว่าชาวต่างชาติที่อาบแดดนานๆ โดนแดดเยอะๆ จะมีมะเร็งผิวหนังได้ง่ายกว่าคนเอเชีย อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยเสี่ยงจะมากน้อยแตกต่างกัน แต่เราต้องหมั่นดูแลตัวเอง สังเกตผิวตัวเองสม่ำเสมอว่ามีรอยโรคแปลกๆ เป็นแผล หรือจุดดำๆ แปลกๆ ที่ไม่แน่ใจให้รีบพบแพทย์”

 

ไฝ ติ่งเนื้อ จะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้หรือไม่

 

จากคำถามที่ว่า หากมีไฝหรือติ่งเนื้อแล้วตากแดดบ่อยๆ มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนังได้หรือไม่ "พญ.รัชฎา" อธิบายว่า เรื่องติ่งเนื้อส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเกี่ยว เพราะติ่งเนื้อส่วนใหญ่จะเป็นเนื้องอกที่ไม่รุนแรง แต่เรื่องของไฝ อาจจะต้องให้คนไข้สังเกตดูว่าไฝมีความแปลก สีเข้มกว่าปกติหรือโตเร็วมากขึ้น หรือขยายขนาดเร็ว หรือประวัติครอบครัวเคยเป็นมะเร็งผิวหนัง แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจดู ปัจจุบัน มีการตรวจเบื้องต้น โดยการส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา จะช่วยเรายืนยันได้ ดังนั้น หากไม่แน่ใจให้มาพบแพทย์ได้

 

การวินิจฉัย รักษา แต่ละกลุ่มโรค

 

1. การติดเชื้อที่ผิวหนัง

“เชื้อรา”

โดยปกติการวินิจฉัยจะดูลักษณะของผื่น และอาจจะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัย โดยเชื้อราในแต่ละกลุ่มจะมีอาการแตกต่างกันไป เช่น

- กลาก ผืนจะมีลักษณะเป็นผืนแดง มีขุย และลามขยายขนาดออก เกิดได้ทุกตำแหน่งของผิวหนัง รวมถึงหนังศีรษะ และเล็บ

- แคดิดา เป็นผืนที่เกิดบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น ราวนม ขาหนีบ ลักษระเป็นปื้นแดง และมีผืนเล็กกระจายรอบนอก นอกจากนี้ อาจเกิดรอยโรคในช่องปากหรือเล็บได้

- เกลื้อน ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นดวงขาว มีขุยเล็กน้อย อาจจะมีสีแดงหรือน้ำตาลเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ หน้าอก หลัง ต้นแขน เป็นบริเวณที่มีเหงื่อออกเยอะ การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำการขูดเอาสะเก็ดบริเวณผืนไปส่องกล้องตรวจ จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้

  • การรักษา

หากเป็นไม่กี่จุดอาจจะใช้ยาทา เป็นยาต้านเชื้อรา หากเป็นเยอะ มีหลายรอยโรค เกิดขึ้นบริเวณหนังศีรษะ หรือ เล็บร่วมด้วย อาจจะจำเป็นต้องใช้ยารับประทานต้านเชื้อราร่วมด้วย ยาทานไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคนเพราะมีผลข้างเคียง ควรรักษาภายใต้คำแนะนำของแพทย์

 

“แบคทีเรีย”

ส่วนใหญ่วินิจฉัยจากอาการแสดง เช่น ผืนแดง มีสะเก็ด มีน้ำเหลือง หรือกลุ่มที่มีตุ่มแดง อักเสบ หนองใต้ผิวหนัง อักเสบนูนแดง มีอาการเจ็บ และบางคนอาจจะมีไข้ร่วมด้วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการหากเป็นเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องตรวจทุกราย แต่หากสงสัยอยากยืนยันว่าแบคทีเรียเป็นเชื้ออะไรหรือสงสัยภาวะดื้อยา อาจจะต้องขูดเอาตำแหน่งที่มีตุ่มหนอง หรือ สะเก็ดน้ำเหลืองไปส่องกล้อง เพาะเชื้อได้

  • การรักษา

หากเป็นเล็กน้อยสามารถใช้ยาปฏิชีวนะทาเฉพาะที่ได้ หรือเป็นเยอะอาจจะต้องทานยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย

 

2.กลิ่นตัว

การวินิจฉัยค่อนข้างชัด คนไข้จะมาในปัญหาเหงื่อออกเยอะ มีกลิ่นตัวมากกว่าปกติ

  • การรักษา

มีตั้งแต่ใช้สบู่ฆ่าเชื้อเพื่อลดแบคทีเรียที่ผิวหนัง การชำระล้างทำความสะอาดร่างกายสม่ำเสมอไม่ให้มีการอับชื้น ใช้ผลิตภัณฑ์ลดเหงื่อ โลชั่น สเปรย์ โรออน

 

"การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน ก็เป็นตัวเลือกหนึ่ง โดยมีรายงานว่าลดเหงื่อได้ เพราะเวลาเหงื่อออกเยอะ ส่งผลทำให้เกิดกลิ่นตัว ดังนั้น การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน ลดเหงื่อก็จะทำให้กลิ่นตัวดีขึ้นด้วย โดยแนะนำฉีดข้างละ 50-100 ยูนิต อาจจะอยู่ได้ 4-6 เดือน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์"

สุดท้าย หากทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น การผ่าตัดเอาต่อมเหงื่อออกเลยก็เป็นทางเลือก แต่ต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญ

 

3. ผิวเสื่อมสภาพจากการถูกแดด

การวินิจฉัยจะดูที่อาการแสดงเป็นหลักเช่นกัน อาทิ ฝ้าจะมีลักษณะเป็นปื้นดำ บริเวณที่พบบ่อย คือ แก้ม โหนกแก้มสองข้าง และบริเวณหน้าผาก บริเวณที่แดดเยอะ ส่วน กระ จะมีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ สีน้ำตาล หรือกระแดดจะมีปื้นวงใหญ่ๆ ที่หน้า แขน รวมถึงภาวะผิวหนังที่แก่ ริ้วรอย จากการถูกแดดนานๆ ซึ่งจะดูอาการแสดงของคนไข้เป็นหลัก

  • การรักษา

ทายา ในกลุ่มลดรอย เช่น ยารักษาฝ้า กลุ่มที่ช่วยลดสารอนุมูลอิสระที่ผิวหนัง และการกันแดด รวมถึง การทำหัตถการ เช่น เลเซอร์ ทรีตเมนต์ ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

 

4. มะเร็งผิวหนัง

มีหลายชนิด ซึ่งอาการแสดงแตกต่างกันไป อาจจะมีด้วยอาการไฝที่โตเร็ว ตุ่มนูน ผื่นแดง มีสะเก็ด หรือมีลักษณะเป็นแผลเรื้อรัง หากสงสัยให้รีบมาพบแพทย์ ตรวจรักษาและส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดใด เพราะมีผลต่อการเลือกวิธีการรักษา

  • การรักษา

การผ่าตัด เป็นหลัก หากเป็นเล็กน้อยก็อาจจะใช้การจี้ไอเย็นด้วยไนโตรเจนเหลว อุณหภูมิต่ำกว่า -190 องศา หรือฉายรังสีเฉพาะที่ได้ โดยต้องให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญในการดูแล

 

คำแนะนำในการปฏิบัติตัว

 

  • กลุ่มการติดเชื้อที่ผิวหนัง และกลุ่มที่มีกลิ่นตัว

ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะเกี่ยวกับความอับชื้น แนะนำว่าควรรักษาสุขอนามัย อาบน้ำ ให้สะอาด สวมเสื้อผ้าโปร่งๆ หลวมๆ เพื่อช่วยในเรื่องการระบายอากาศและลดเหงื่อ เลี่ยงบริเวณที่อากาศร้อนจัด แออัด อากาศไม่ถ่ายเท หากมีเหงื่อออกมากเมื่อกลับบ้านควรรีบชำระล้างร่างกายให้สะอาด ทำตัวแห้งๆ เสื้อผ้าที่เปียก อับชื้น ควรรีบนำไปซักให้สะอาด

 

  • กลุ่มที่มีผิวเสื่อมสภาพจากการถูกแดด และ มะเร็งผิวหนัง

ทั้งสองกลุ่มแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยช่วงที่แนะนำให้หลีกเลี่ยง คือ 10.00 – 15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ยูวีเข้ม และแรงที่สุด ควรหลีกเลี่ยง แต่หากจำเป็นจะต้องโดนแดด ควรมีการปกป้องผิวหนังที่ดีพอ

 

ดูแลผิวอย่างไรในช่วงหน้าร้อน

 

ท้ายนี้ พญ.รัชฎา แนะนำว่า ในช่วงหน้าร้อน การปกป้องแสงแดดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หากมีความจำเป็นที่จะต้องโดนแดด ต้องมีการปกป้องที่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ขายาว แขนยาว หรือเสื้อผ้าสีเข้มจะกันแดดได้ดีกว่าเสื้อผ้าสีอ่อน รวมถึง สวมหมวกปีกกว้าง แว่นตากันแดดก็จะช่วยปกป้องดวงตาได้เช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน การทาครีมกันแดดเป็นสิ่งสำคัญในช่วงหน้าร้อน แนะนำว่าต้องทาทุกวันโดยเฉพาะใบหน้า ลำคอ ส่วนที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม SPF 30 ขึ้นไป ปริมาณที่ใช้เพียงพออย่างน้อย 2 ข้อนิ้ว โดยการทาครีมกันแดดต้องทาทิ้งไว้ 20 – 30 นาที เพื่อให้ออกฤทธิ์เต็มที่ และทาซ้ำ 2-4 ชั่วโมง เพราะครีมกันแดดเมื่อโดนเหงื่อฤทธิ์จะอ่อนลง