‘แสงสีฟ้า’ จากหน้าจอมือถือ ตัวการร้ายทำให้ ‘นอนไม่หลับ’

‘แสงสีฟ้า’ จากหน้าจอมือถือ ตัวการร้ายทำให้ ‘นอนไม่หลับ’

เป็นที่ทราบกันดีว่าการปิดไฟเล่นมือถือตอนกลางคืน หรือในที่มีแสงไม่พอนานๆ ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตา แต่ยังทำร้ายไปถึงระดับฮอร์โมน ทำให้บางคนมีปัญหา “นอนไม่หลับ”

Key Points:

  • เล่นมือถือก่อนเข้านอน ทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้นอนหลับยากหรือ “นอนไม่หลับ”
  • ฮอร์โมนเมลาโทนินจะทำงานได้ดีในเวลากลางคืนและในความมืด แต่ “แสงสีฟ้า” จากหน้าจอมือถือกลับหลอกให้สมองเชื่อว่าช่วงเวลานั้นยังเป็นกลางวันอยู่
  • ผลเสียจากการเล่นมือถือก่อนเข้านอนไม่ใช่แค่ “นอนไม่หลับ” แต่ทำให้นาฬิกาชีวิตเปลี่ยนไป เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคร้ายตามมา

โทรศัพท์มือถือ รูปแบบสมาร์ตโฟนนั้นเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตคนเรามากมาย ทั้งเป็นตัวช่วยในการทำงานและสร้างความบันเทิง ทำให้หลายคนเกิดความเคยชินกับการใช้มือถือที่มากเกินความจำเป็น บางคนใช้มือถือติดต่อกันหลายชั่วโมงในเวลาหนึ่งวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งในเวลาเข้านอน

การใช้มือถือเป็นเวลานานย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพดวงตา ไมเกรน หรือ กรดไหลย้อน แต่ถ้าหากเล่นมือถือมากจนกระทั่งเวลาเข้านอนก็ยังไม่วางมือ ก็สามารถส่งผลเสียไปถึงระดับฮอร์โมนทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวตามมา โดยเฉพาะปัญหาด้าน “การนอนหลับ”

  • ทำไมปิดไฟเล่นมือถือก่อนเข้านอน ทำให้นอนไม่หลับ ?

เนื่องจากโทรศัพท์มือถือจะปล่อยแสงสีฟ้าออกมาจากหน้าจอ หรือที่เรียกว่า Blue Light เมื่อดวงตามองเห็นแสงสีฟ้าจะส่งสัญญาณไปที่สมองว่าตอนนี้ยังเป็นเวลากลางวันอยู่ และส่งผลไปถึง “ฮอร์โมนเมลาโทนิน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ใช้ควบคุมนาฬิกาชีวิตในแต่ละวันของมนุษย์ โดยเฉพาะการนอนหลับและการตื่นนอน

ฮอร์โมนเมลาโทนิน จะหลั่งออกมาในเวลากลางคืนซึ่งจะทำงานได้ดีในความมืด เมื่อสายตาเราต้องเจอกับแสงสีฟ้า (ซึ่งเป็นแสงที่มีความสว่างมากที่สุด) ในเวลากลางคืน สมองจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินออกมาได้ไม่เพียงพอ ทำให้นอนหลับยากและอาจถึงขั้น “นอนไม่หลับ” ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลียในตอนเช้าและประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

  • ไม่ใช่แค่นอนไม่หลับ แต่นาฬิกาชีวิตอาจเปลี่ยน และเสี่ยงเป็นหลายโรค 

นอกจากการเล่นมือถือก่อนนอนจะทำให้มีปัญหาการนอนแล้ว ยังทำให้มีปัญหาเรื่อง “นาฬิกาชีวิต” ที่เปลี่ยนไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เมื่อดึกแล้วแต่ยังไม่ง่วงสารเลปตินที่ทำให้รู้สึกอิ่มก็จะลดลง ทำให้รู้สึกหิวและกลายเป็นที่มาของการกินมื้อดึก ซึ่งเป็นสาเหตุของ “โรคอ้วน” เป็นต้น

ไม่ใช่แค่โรคอ้วนเพียงอย่างเดียวที่มีสาเหตุมาจากการเล่นมือถือก่อนนอน แต่ยังมีอีกหลายโรคร้ายตามมาหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่

- ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
เป็นผลมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ความดันโลหิต และฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายได้รับผลกระทบตามไปด้วย และยิ่งนอนน้อยมากเท่าไรความดันก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น

- กรดไหลย้อน
หากนอนไม่เป็นเวลาระบบในร่างกายก็ทำงานไม่เป็นเวลาตามไปด้วย เช่น ระบบย่อยอาหารเมื่อร่างกายไม่ยอมพักผ่อน ทำให้สมองอาจสั่งให้กระเพาะอาหารปล่อยน้ำย่อยออกมาในเวลาดึก เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการกรดไหลย้อน

- มะเร็งเต้านม
แม้อาจจะดูไม่มีความเกี่ยวข้องกันมากนัก แต่หนึ่งในสาเหตุหลักของมะเร็งเกิดจากการผลิตฮอร์โมนในร่างกายถูกรบกวน หรือการผลิตฮอร์โมนผิดปกติ

- ไมเกรน
นอกจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ แสงสีผ้ายังส่งผลต่อดวงตาทำให้ปวดตาเรียกว่า Eye Strain หนึ่งในตัวการที่ไปกระตุ้นให้เกิดไมเกรน

- สมองเสื่อมและมีปัญหาด้านความจำ
เมื่อตอนกลางคืนนอนไม่หลับ ทำให้อ่อนเพลียในตอนกลางวัน ส่งผลกระทบต่อระบบความจำ และทำให้การงานในแต่ละวันไม่มีประสิทธิภาพตามไปด้วย รวมถึงเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

แม้ว่าสมาร์ตโฟนจะเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ และช่วยทุ่นแรงมนุษย์ได้ในหลายเรื่อง แต่หากใช้งานเกินพอดีก็ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ สำหรับการปรับพฤติกรรมง่ายๆ ของคนที่มักปิดไฟเล่นมือถือก่อนนอน ในช่วงแรกอาจเริ่มจากงดเล่นมือถือ 30 นาทีก่อนเข้านอน แล้วจึงเพิ่มเป็น 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ในเวลากลางคืนและลดปัญหาการ “นอนไม่หลับ”

อ้างอิงข้อมูล : GED Good Life, Siam Glasses และ รักษ์ตา