จ้องหน้าจอจน “ตาแห้ง” ชาวออฟฟิศต้องรู้! วิธีเลือก “ยาหยอดตา” ให้ปลอดภัย

จ้องหน้าจอจน “ตาแห้ง”  ชาวออฟฟิศต้องรู้! วิธีเลือก “ยาหยอดตา” ให้ปลอดภัย

หนึ่งในปัญหายอดฮิตของมนุษย์ออฟฟิศคงหนีไม่พ้นอาการ “ตาแห้ง” เพราะต้องทำงานกับหน้าจอนานหลายชั่วโมง ดังนั้นการเลือก “ยาหยอดตา” รวมถึงตัวช่วยอื่นๆ ที่ดีมีคุณภาพจึงสำคัญ

แน่นอนว่าคน “วัยทำงาน” ส่วนใหญ่ต้องใช้สายตาจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเลต หรือ มือถือ นานเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งหน้าจอคอมพ์ แท็ปเล็ต หรือหน้าจอมือถือล้วนมีแสงสีฟ้าสะท้อนออกมาจากหน้าจอ ส่งผลให้ดวงตาเมื่อยล้า และเป็นหนึ่งในต้นเหตุของอาการ “ตาแห้ง”

อาการตาแห้ง (Dry eye) เกิดจากปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอ หรือน้ำตาที่ผลิตออกมาอาจมีคุณภาพไม่ดี ไม่คงตัวในการหล่อเลี้ยงผิวตาให้มีความชุ่มชื้น ทั้งนี้ อาการตาแห้งแม้จะเกิดได้ทุกกับเพศทุกวัย แต่ “พนักงานออฟฟิศ” อาจต้องระวังเป็นพิเศษเพราะส่วนใหญ่ต้องทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นหลัก โดยปกติอาการตาแห้งไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่สร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตได้ และถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้ดวงตาอักเสบเรื้อรัง จนมีอาการรุนแรงขึ้นก็อาจจะเสี่ยงตาบอดได้

ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาตาแห้งเบื้องต้น ชาวออฟฟิศหลายคนจึงเลือกใช้ “น้ำตาเทียม” หรือ “ยาหยอดตา” ในการหยอดตาระหว่างวันหรือทุกครั้งที่รู้สึกเคืองตาหรือแสบตา แต่น้ำตาเทียมนั้นมีหลายประเภท ชาวออฟฟิศจึงต้องเลือกให้เหมาะสม รวมไปถึงในกรณีที่บางคนไม่สามารถใช้ยาหยอดตาได้เพราะมีการบาดเจ็บที่ดวงตาหรือแพ้น้ำตาเทียม ก็อาจต้องใช้วิธีกินยาแทน

  • “น้ำตาเทียม” มีกี่ประเภท แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร?

น้ำตาเทียมที่เหมาะสำหรับการใช้หยอดตาทั่วไป จะมีลักษณะเป็นน้ำใส เมื่อหยอดตาแล้วยังเห็นชัด ไม่มีอาการตามัว และที่สำคัญต้องไม่มีความเย็นเกินไปจนหยอดไปแล้วรู้สึกแสบตา โดยส่วนใหญ่จักษุแพทย์จะแนะนำน้ำตาเทียมอยู่ 2 ประเภท ดังนี้

1. น้ำตาเทียมกลุ่มที่มีสารกันเสีย 

ควรใช้ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง อาจแบ่งเป็นเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน หรืออาจใช้ได้บ่อยกว่านั้นตามคำแนะนำของแพทย์ เหมาะกับคนที่มีอาการตาแห้งไม่รุนแรงมากนัก สารกันเสียที่เป็นส่วนผสมของน้ำตาเทียมกลุ่มนี้ มีหลายประเภท บางประเภทจะสลายตัวไปเมื่อโดนตาหรือโดนแสง แต่ในคนที่มีอาการตาแห้งมาก จนต้องใช้น้ำตาเทียมทุกวันอาจจะไม่เหมาะกับยาหยอดตาประเภทนี้

2. น้ำตาเทียมกลุ่มที่ไม่มีสารกันเสีย 

ส่วนใหญ่เป็นหลอดขนาดเล็ก เมื่อเปิดแล้วจะมีอายุการใช้งานเพียง 24 ชั่วโมง หรือเป็นขวดที่มีลักษณะมีระบบวาล์วพิเศษ สามารถใช้งานได้นาน 6 เดือน และสามารถใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1 – 2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่ตาแห้งมาก จนต้องหยอดตาถี่ๆ ในแต่ละวัน

แต่สำหรับคนที่มีอาการตาแห้งขั้นรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน มากเกินไป แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาหยอดตาที่มีความเข้มข้นมากขึ้น อาจเป็นแบบเจลหรือขี้ผึ้งที่มีความหนืดมากกว่ายาหยอดตา โดยใช้วิธีการป้ายเจลที่ตาก่อนนอนเพื่อคงความชุ่มชื้นได้นานขึ้นในตอนกลางคืน

  • สำหรับคนที่ตาเป็นแผลหรือ “แพ้น้ำตาเทียม” ใช้อะไรแทนได้บ้าง?

สำหรับ ผู้ที่ดวงตาเป็นแผล อยู่ระหว่างรักษาดวง หรือ มีประวัติแพ้ยาหยอดตาหรือน้ำเทียมนั้น ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่แนะนำให้หยอดตาเพราะอาจไปกระตุ้นให้ดวงตาบาดเจ็บมากขึ้น แต่จะแนะนำให้ใช้ยากินแทน 

1. ยากระตุ้นทำให้เกิดน้ำตา (Secretogogue) เช่น Diquafosol เพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือก และชั้นน้ำ

2. ยาลดการอักเสบของเปลือกตา เช่น ยาปฏิชีวนะ Doxycycline เป็นต้น

3. ยาลดการอักเสบของตา กลุ่ม Steroids ช่วยลดการอักเสบของผิวตา กรณีมีการอักเสบจากตาแห้ง

4. ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอด เช่น ยา Cyclosporine ชนิดหยอด เพื่อลดการอักเสบและเพิ่มปริมาณน้ำตา ลดอาการตาแห้ง

นอกจากนี้ ยังมีวิธีที่สามารถทำเองได้ที่บ้านโดยไม่ต้องพึ่งยา คือ การดูแลทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นให้ดวงตา อาจใช้แชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาร่วมด้วย เพื่อลดอาการต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน ทำให้ชั้นไขมันของน้ำตากลับมามีคุณภาพดีขึ้น

สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งขั้นรุนแรงอาจต้องพบแพทย์เพื่อทำการอุดท่อระบายน้ำตา (Punctual Plug) เป็นการอุดบริเวณช่องทางที่ไหลออกของน้ำตาลงสู่โพรงจมูก มีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร แต่ต้องทำโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

  • ไม่ใช่แค่จ้องหน้าจอ แต่มีสาเหตุอื่นที่เป็นปัจจัยเสี่ยง “ตาแห้ง”

แม้ว่าแสงสีฟ้าจากหน้าจอจะเป็นตัวการหลักที่ทำให้ชาวออฟฟิศหลายคนต้องประสบกับปัญหา “ตาแห้ง” แต่รู้หรือไม่? ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้เกิดอาการนี้อีกด้วย ซึ่งทางการแพทย์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. ดวงตามีการผลิตน้ำตาลดลง 

มีสาเหตุมากจากหลายปัจจัย เช่น อายุที่มากขึ้น ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ขณะที่บางคนก็มีอาการตาแห้งที่เกิดจากผลข้างเคียงจากความเจ็บป่วยหรือได้รับการรักษาดวงตา เช่น  โรคภูมิแพ้ที่ตา, โรคโชเกร็น, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, ผู้ที่เคยทำเลสิก, ผู้ที่เคยผ่าตัดดวงตา, ผู้ที่ขาดวิตามิน A  รวมไปถึงกรณีผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางอย่าง (ยาแก้แพ้, ยาฮอร์โมนทดแทน, ยาต้านซึมเศร้า, ยาลดความดันโลหิต, ยารักษาสิว, ยาคุมกำเนิด) 

2. น้ำตาเกิดการระเหยไวขึ้น 

โดยมีสาเหตุมาจาก ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ ตามปกติแล้ว “ต่อมไมโบเมียน” จะทำหน้าที่สร้างน้ำตาและชั้นไขมัน ทำให้น้ำตาระเหยได้ช้า หากต่อมดังกล่าวทำงานผิดปกติ ก็จะทำให้น้ำตาระเหยไวขึ้น อีกทั้งยังมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความผิดปกติของเปลือกตา เช่น เปลือกตาปิดไม่สนิท, ผู้ที่ต้องทำงานอยู่ในบริเวณที่มีลมแรง มีฝุ่นควัน หรือ อากาศแห้งเป็นเวลานาน (ในที่นี้หมายถึงห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศด้วย) จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานเกินไป ทำให้การกะพริบตาลดลง

  • ปัญหาตาแห้งนำไปสู่ตาบอดในอนาคต

โดยสรุปคือ หากใครมีอาการแสบตา คันตา ระคายเคืองตา ตามัว มองภาพไม่ชัด ตาไวต่อแสง สู้แสงไม่ได้ ตาแดง ไปจนถึงน้ำตาไหล เหล่านี้ถือเป็นอาการเริ่มต้นของภาวะตาแห้ง ที่หากปล่อยไว้นาน จนเกิดตาอักเสบและเกิดแผลที่กระจกตา หากไม่ได้รับการรักษา ก็จะทำให้ “ตาบอด” ได้ในอนาคต ดังนั้นอาการตาแห้งจึงเป็นอาการที่ชาวออฟฟิศไม่ควรละเลยเด็ดขาด

ในเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานๆ ได้ ควรพยายามกะพริบตาให้บ่อยขึ้น เฉลี่ยครั้งละ 8-15 ครั้งต่อนาที เพราะเป็นการสร้างความชุ่มชื้นให้กับดวงตาได้แบบธรรมชาติ และควรพักสายตาทุก 20 นาที มองไปไกล 20 ฟุต (หรือ 6 เมตร) เป็นเวลา 20 วินาที หรือที่จักษุแพทย์เรียกว่าสูตร 20-20-20 

แต่ถ้าใครมีอาการตาแห้งมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยเร็ว เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะตาบอดในอนาคต เพราะอย่าลืมว่าดวงตาของทุกคนเป็นอวัยวะที่มีเพียงคู่เดียวในโลกเท่านั้น

อ้างอิงข้อมูล : รพ.บำรุงราษฎร์, รพ.กรุงเทพ และ MEGA We Care