เปิดจักรวาล ‘ความเครียด’ ที่มีมากกว่าฮอร์โมนคอร์ติซอล

เปิดจักรวาล ‘ความเครียด’ ที่มีมากกว่าฮอร์โมนคอร์ติซอล

เมื่อพูดถึง “ความเครียด” หลายคนอาจจะนึกถึงฮอร์โมนคอร์ติซอลเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วยังมีฮอร์โมนชนิดอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง และอาจนำไปสู่ภาวะ “ต่อมหมวกไตล้า” ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ

Key Points:

  • ความเครียดส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด เพราะฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดนั้นส่งผลให้เกิด “ภาวะต่อมหมวกไตล้า”
  • ภาวะต่อมหมวกไตล้านั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากพอสมควร เช่น อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไปจนถึงอาการเจ็บป่วยโดยไม่มีสาเหตุ
  • ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพกายอย่างเดียวแต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตอีกด้วย

เป็นที่รู้กันดีว่า ความเครียด เกิดจากฮอร์โมนความเครียดที่มีชื่อว่า “ฮอร์โมนคอร์ติซอล” คือฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต มีสารตั้งต้นมาจาก Cholesterol ทำหน้าที่ให้พลังงานในการต่อสู้กับความเครียดที่มนุษย์ต้องพบเจอในแต่ละวัน ไม่ใช่แค่คอร์ติซอลเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับภาวะความเครียดของมนุษย์ แต่ความจริงแล้วยังมีฮอร์โมนชนิดอื่น เช่น ฮอร์โมนต้านเครียด (DHEAs หรือ Dehydroepiandosterone) และ ฮอร์โมนเพศ (Estrogen, Progesterone, Testosterone) ก็เป็นกลุ่มฮอร์โมนที่เป็นส่วนหนึ่งในการใช้สร้าง Cortisol ได้เช่นกัน 

 

ทั้งนี้หากร่างกายดึงฮอร์โมนกลุ่มดังกล่าวมาใช้มากเกินไป จะทำให้เกิด ภาวะพร่องฮอร์โมน นำไปสู่ปัญหาร่างกายอ่อนล้า ระบบการทำงานในร่างกายแปรปรวน ซึ่งอาการดังกล่าวเรียกว่า “ภาวะต่อมหมวกไตล้า”

สำหรับภาวะต่อมหมวกไตล้านั้น หากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่คิด มีผลมาจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนซึ่งส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นจาก “ความเครียด” และ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีอาการป่วยทางร่างกายตามมา เช่น หงุดหงิดง่าย ปวดตามร่างกาย ไปจนถึงอาจนำไปสู่ “โรคซึมเศร้า” ได้ในอนาคต

  • “ความเครียด” และ “ภาวะต่อมหมวกไตล้า” เกี่ยวข้องกันอย่างไร

ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะต่อมหมวกไตล้า นั่น สาเหตุหลักเกิดขึ้นจากความเครียด ซึ่งฮอร์โมนคอร์ติซอลนั้นจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนต้านเครียดและฮอร์โมนเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยฮอร์โมน DHEAs นั้นผลิตขึ้นจากต่อมหมวกไต เป็นฮอร์โมนตั้งต้นที่ร่างกายนำมาผลิตฮอร์โมนสำคัญหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนเพศ (เทสโทสเทอโรน หรือ เอสโตรเจน) ซึ่งพบว่าระดับของฮอร์โมน DHEAs ผลิตได้สูงสุดในช่วงอายุประมาณ 25 ปี และ เมื่ออายุมากขึ้นฮอร์โมนนี้จะเริ่มลดลงเฉลี่ยประมาณ 1-2% ในแต่ละปี 

หากฮอร์โมน DHEAs ลดลงจนอยู่ในระดับต่ำ ก็จะส่งผล ให้เกิดความเครียดจนนำไปสู่ภาวะต่อมหมวกไตล้าและมีอาการป่วยจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ฮอร์โมนแปรปรวน อ่อนเพลีย  กินอาหารได้น้อยลง มีอาการวูบได้ง่าย ง่วงนอนระหว่างวันจนทำให้ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ แต่กลับนอนไม่หลับในช่วงกลางคืน และในผู้หญิงก็อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

  • เช็กง่ายๆ เราเข้าข่าย “ภาวะต่อมหมวกไตล้า” หรือไม่?

1. ตื่นนอนยากในตอนเช้า หรือ ตื่นมาแล้วรู้สึกว่าไม่สดชื่น ตื่นไม่เต็มตา รวมถึงนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้มีความรู้สึกอ่อนเพลียในตอนกลางวัน

2. มีอาการอ่อนเพลียหรือไม่มีแรง จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

3. อยากกินของหวานหรืออาหารที่มีรสชาติเค็มมากกว่าปกติ

4. มีอาการหน้ามืด วูบบ่อย เวลาลุกขึ้นยืน

5. หงุดหงิด อารมณ์เสีย หรือ โมโหได้ง่ายกับเรื่องเล็กน้อย

6. ความรู้สึกทางเพศลดลง

7. มีอาการแพ้ได้ง่าย เช่น ผิวแพ้ง่ายขึ้น ไปจนถึงภูมิแพ้กำเริบ

8. มีอาการเครียด วิตกกังวล ไปจนถึงซึมเศร้า ทั้งที่มีหรือไม่มีสาเหตุ

9. ปัสสาวะบ่อยมากผิดปกติ

10. มีปัญหาเรื่องความทรงจำ ลืมง่าย และไม่มีสมาธิ

ดังนั้น หากใครที่รู้ตัวว่ามีความเครียดหรือต้องเผชิญกับความเครียดสูง จำเป็นต้องตรวจเช็กสภาพร่างกายตัวเองด้วยว่าเริ่มมีความผิดปกติที่หาสาเหตุไม่ได้หรือไม่ หากเริ่มพบว่าตัวเองมีความผิดปกติไปจากเดิม จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายว่าเริ่มมีปัญหาหรือไม่ เพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที

อ้างอิงข้อมูล : Thrivewellnessth, รพ.พญาไท และ Medtopiaclinic