เมื่อลูก 'ออทิสติก' เข้าสู่วัยรุ่น ก้าวร้าว ฉุนเฉียว พ่อแม่รับมืออย่างไร

เมื่อลูก 'ออทิสติก' เข้าสู่วัยรุ่น ก้าวร้าว ฉุนเฉียว พ่อแม่รับมืออย่างไร

สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกออทิสติก ช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีฮอร์โมนเพศตามวัย นับเป็นอีกหนึ่งช่วเวลาที่ พ่อแม่อาจจะต้องใช้ความรู้และทักษะเฉพาะด้านในการดูแล เพิ่มมากขึ้น เพื่อดูแลลูกทั้งด้านร่างกาย เพศ และอารมณ์

Key Point : 

  • เมื่อลูกๆ ที่เป็น เด็กออทิสติก เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น การเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย เพศ และอารมณ์ ทำให้พ่อแม่ต้องใช้ความรู้และทักษะเฉพาะด้านในการดูแลเพิ่มมากขึ้น 
  • ปัญหาด้านทักษะสังคม ก็เป็นหนึ่งในปัญญาที่พ่อแม่หลายคนต้องเจอ ดังนั้น ต้องเข้าใจอาการของโรค และหาวิธีการช่วยกันรักษา สิ่งสำคัญ คือ จัดสภาพแวดล้อมที่ไม่กระตุ้น หรือต้องอธิบายคนรอบข้างให้เข้าใจว่าลูกมีพฤติกรรมซ้ำ
  • อีกหนึ่งปัญหาคือการก้าวร้าว ฉุนเฉียว หลักการที่ยังคงใช้อยู่ คือ ไม่ตามใจ โดยวิธีการจัดการพฤติกรรมแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน ต้องบอกให้ชัดเจน ไม่ได้คือก็ไม่ได้ หรือให้เขารู้ว่าต้องรอ ต้องทำซ้ำ 

 

ในช่วงที่เด็กออทิสติกกำลังอยู่ในช่วงปรับตัวเข้าโรงเรียน เข้าสังคม นับเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ต้องรับมือ ขณะเดียวกัน การเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีฮอร์โมนเพศตามวัย แม้แต่ในเด็กปกติก็มีปัญหาตามวัยเช่นกัน ดังนั้น สำหรับเด็กออทิสติก พ่อแม่อาจจะต้องใช้ความรู้และทักษะเฉพาะด้านในการดูแล เพิ่มมากขึ้น

 

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันตระหนักรู้ออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day) ตั้งแต่ปลายปี 2550 เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของโรคออทิสติก ให้เกิดความเข้าใจ เกิดการยอมรับ สร้างความเท่าเทียม และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ปัจจุบันจำนวนบุคคลที่มีภาวะออทิสซึมทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยสถิติจากการสำรวจของหลายประเทศ พบว่า สัดส่วนเด็กที่มีภาวะออทิสซึม ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนในเด็ก 59 คน จะพบเด็กที่มีภาวะออทิสซึม 1 คน หรือ สัดส่วน 1:59

 

ขณะที่ไทยมีผู้เป็นออทิสติกกว่า 3 แสนคน หรือทุกๆ 1,000 คน พบผู้ป่วยออทิสติก 6 คน กลุ่มอายุไม่เกิน 5 ปี จะพบ 1 : 161 คน คาดว่า ทั่วประเทศมีประมาณ 18,220 คน โดย 10% ของจำนวนที่พบ มีความเป็นอัจฉริยะในบางด้าน เช่น การวาดภาพหรือเล่นดนตรี 20% มีไอคิวต่ำที่ระดับน้อยถึงปานกลางสามารถเรียนร่วมและฝึกอาชีพได้ ที่เหลือ (70%) ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง 200 คนมีงานทำ และมีรายได้ เลี้ยงดูตนเอง

 

หลัก 5 อ. ดูแลลูกออทิสติก

 

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 ภายในงานเสวนาแลกเปลี่ยนหัวข้อ “การดูแลเด็กออทิสติกในครอบครัว” จัดโดย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม ไทย และมูลนิธิออทิสติกไทย ได้มีคำแนะนำ สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และ ครอบครัวที่มีลูกหลานเป็นออทิสติก ด้วยหลัก '5 อ.' เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพ ได้แก่

1.โอกาส

2.อดทน

3.อภัย

4. อบอุ่น 

5.อ่อนโยน

 

ทำอย่างไร กับปัญหา ทักษะทางสังคม

 

สำหรับพ่อแม่บางคนที่เจอปัญหา ด้านทักษะสังคม ลูกอาจมีพฤติกรรมบางอย่างในที่สาธารณะ เช่น ชอบหยิบเครื่องดื่มคนอื่นมาดื่ม หรือมีพฤติกรรมซ้ำๆ พญ.อนัญญา สินรัชตานันท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ อธิบายว่า ทักษะสังคม หรือพัฒนาการทางสังคม เรียกว่าเป็นความบกพร่องของสมอง เหมือนเวลาเราซื้อโทรศัพท์แล้วไม่มีแอปฯ ไลน์ ต้องโหลดเข้ามาในเครื่องเอง แต่ลูกของเราไม่รู้จะโหลดโดยใช้วิธีใด เป็นพฤติกรรมซ้ำ คล้ายๆ กับอาการย้ำคิดย้ำทำ ลูกจะมีปัญหาทุกช่วงวัย และปัญหาเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป ดังนั้น การที่อยู่ในความดูแลของแพทย์จะทำให้แพทย์ได้เห็นพัฒนาการของลูกทุกช่วงวัย 

 

 

"เวลาที่เจอแบบนี้ให้จัดสิ่งแวดล้อมที่ไม่กระตุ้น หรือต้องอธิบายคนรอบข้างให้เข้าใจว่าลูกมีพฤติกรรมซ้ำ โดยหลัก อ.อดทน และ อ.อภัย เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยากที่สุด เพราะเวลาเราอยู่ในสังคมเรารู้สึกว่าคนจะมองลูกเราอย่างไร กลายเป็นความกดดันเข้าไปอีก ดังนั้น ขอให้พ่อแม่เข้าใจว่าเป็นอาการของโรคที่ต้องเผชิญ และต้องหาวิธีการช่วยกันรักษา สิ่งแรก คือ จัดสิ่งแวดล้อม อธิบายให้คนรอบข้างเข้าใจ " 

 

ทำไมลูกชอบจับอวัยวะเพศ 

 

พญ.อนัญญา อธิบายว่า ต้องดูช่วงอายุของลูก เช่น ในช่วงวัยประมาณ13 ปี เป็นช่วงที่อวัยวะเพศขยายตัว และบางครั้ง พบว่า กางเกงในที่ใส่ไม่พอดี ทำให้เขารู้สึกไม่สบายตัว แน่นไป หลวมไป เขาก็จะไปจับ พอจับแล้วรู้สึกสบาย บางคนสงสารลูกว่าลูกทำไม่เป็น ต้องบอกว่าอย่าสอน  หรือหากทำให้ทำในมุมที่ไม่มีใครเห็น เพราะบางครั้งก็เป็นพฤติกรรมกระตุ้นตัวเองเวลาอยู่ในสถานที่ที่เครียด พฤติกรรมแบบนี้กลายเป็นวิธีผ่อนคลาย ดังนั้น อาจจะต้องหาวิธีผ่อนคลายเขาด้วยวิธีอื่น 

 

"พฤติกรรมทางเพศหรืออารมณ์ทางเพศเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ ไม่ต้องสอน มันมาเอง และตัวเร้าก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พอลูกเข้าวัยรุ่น ต้องระวังเรื่องการแต่งตัว มิดชิด ไม่เกิดการยั่วยวน การแต่งกายคนรอบข้างก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ"

 

ลูกมีอารมณ์ก้าวร้าว ฉุนเฉียว

 

ขณะเดียวกัน นอกจากเพศ การเติบโตของร่ายกาย สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ อารมณ์  พญ.อนัญญา กล่าวต่อไปว่า บางคนในตอนเด็กไม่มีอารมณ์ก้าวร้าวฉุนเฉียว รุนแรง แต่พอเข้าสู่วัยรุ่น ฮอร์โมนเพศส่งผลต่อหลายอย่างทั้งพฤติกรรมทางเพศและอารมณ์

 

หากเป็นเด็กปกติพอเข้าวัยรุ่นจะเริ่มเป็นวัยที่ไม่พอใจ รอไม่ได้ เป็นเรื่องพัฒนาการทางสมองของเด็กวัยนี้ที่ทำให้เขาหงุดหงิดง่ายขึ้น ดังนั้น ต้องสังเกตอาการก้าวร้าวว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้น และรับมืออย่างไร และส่งผลอย่างไร

 

"หลักการที่ยังคงใช้อยู่ คือ ไม่ตามใจ แต่วิธีการจัดการพฤติกรรมเวลาจะเบี่ยงเบนเขาจะคนละแบบกับตอนเด็ก แต่ละบ้านมีปัญหาไม่เหมือนกัน เพราะความก้าวร้าว อารมณ์ จะไม่เหมือนกัน เวลาเขาเอาแต่ใจ หากอยู่ในวัยโต ปรับยาก แต่ปรับได้ และต้องปรับ หากไม่ปรับจะแก้ไม่ได้ อย่าคิดว่าโตแล้วเขาจะรู้เรื่อง เพราะเขาไม่รู้เรื่อง ต้องบอกให้ชัดเจน ไม่ได้คือก็ไม่ได้ หรือให้เขารู้ว่าต้องรอ ต้องทำซ้ำ มันไม่สำเร็จใจ 1-2 ครั้ง กลับไปที่แนวทาง อ.อดทน"

 

เวลาลูกไม่พอใจ ชอบขว้างปาสิ่งของ

 

สำหรับพ่อแม่ที่พบปัญหาลูกชอบขว้างปาสิ่งของ เมื่อรู้สึกไม่พอใจ พญ.อนัญญา อธิบายว่า สมัยเด็กเราอาจจะใช้วิธีเข้าไปจับไม่ให้ทำ แต่พอเขาโตขึ้นอาจจะจับไม่ไหว สิ่งที่ทำได้ คือ ตอนที่จะเกิดพฤติกรรม ให้นำของที่จะเสียหายหลบไปก่อน ถัดมา หากเขาทำแล้วสักพักให้เขาเก็บกลับคืน แต่อย่าเพิ่งบอกตอนที่เขากำลังขวางปาสิ่งของเพราะเดี๋ยวจะเป็นการเร้าอารมณ์ เหมือนเติมเชื้อไฟ การเข้าไปหยุดเขาเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้น รอให้เขาสงบ และหลังจากนั้นให้เขาค่อยๆ เก็บ เป็นวิธีที่ใช้กัน

 

ยกตัวอย่าง บางบ้านลูกตัวใหญ่หนักประมาณ 100 กก. มีคุณยายเลี้ยง ตอนเด็กๆ เมื่อเขาไม่พอใจ เขาจะชอบบีบคุณยายและเขย่า พอโตขึ้นยายรับไม่ไหว บ้านนั้นใช้วิธีมีห้องที่คุณยายจะวิ่งเข้าไป และยายอยู่ในนั้นจนหลานสงบแล้วค่อยออกมา หากจะมองว่าเป็นการตามใจลูกหรือไม่ แต่ต้องบอกว่าเป็นจุดที่เราทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ คือ ป้องกันไม่ให้เขาทำอันตรายกับตัวเองและคนอื่น ดังนั้น จะใช้วิธีจำกัดความเสียหาย

 

"เวลาที่อารมณ์ขึ้นจะเป็นสิ่งที่เบี่ยงเบนยาก ดังนั้น การแยกเรา แยกเขา ก็จะทำให้คนรอบข้างปลอดภัย หาทางหลบ อพยพอย่างไรเมื่อลูกอารมณ์ขึ้น และตรงไหนที่เขาอยู่ได้" 

 

ลูกเข้าสังคมยาก เพื่อนชอบแกล้ง

 

ทั้งนี้ ในวัยที่ลูกต้องเข้าโรงเรียนอาจจะพบปัญหาการเข้าสังคม เข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรือโดนเพื่อนๆ มองเป็นของเล่น พญ.อนัญญา แนะว่า ต้องทำ 2 ทาง คือ สอนลูกเรา ว่าการที่จะอยากจะเล่นกับเพื่อน ต้องพูดแบบไหน หากเพื่อนตอบแบบนี้คือเล่นได้ หรือตอบแบบไหนคือไม่เล่น ขณะที่หากรู้สึกเสียใจหรือรู้สึกแย่บอกลูกว่าไม่เล่นก็ได้และให้เดินไปหาครู

 

"และอีกทาง คือ หากเป็นไปได้ สร้างคอนเนคชั่น กับเพื่อนผู้ปกครองด้วยกัน และอาจจะบอกเขาว่าลูกเราเข้าสังคมไม่เก่ง อาจจะต้องหาเด็กที่ใจดี ที่ชอบดูแลเพื่อน"

 

ทำอย่างไรเมื่อลูกเงียบ ไม่สื่อสาร

 

กรณีที่ลูกเงียบ ไม่สื่อสาร ไม่คุยกับใครเลย มีพฤติกรรมแยกตัว ไปจนถึงไม่ยอมกินข้าว แนะนำว่า อาจจะต้องดูว่าหากเขาเลือกที่จะเงียบ สิ่งที่ทำได้ คือ การทอดสะพาน โดยการบอกเขาว่าหากมีอะไรแม่พร้อมที่จะช่วย ไม่ต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้น หรือรู้สึกอย่างไร เพราะมันเป็นสิ่งที่พูดยากว่ารู้สึกอย่างไร แม้คนปกติบางครั้งอารมณ์เสียก็ยังไม่รู้ตัวว่าเรารู้สึกโกรธหรือเสียใจ

 

ดังนั้น ให้ใช้วิธีบอก ว่าหากมีอะไรอยากจะบอก บอกได้ แม่อยู่ตรงนี้ หรือ มีอะไรสามารถไลน์มาบอกแม่ได้ ต้องดูว่าอาการที่เขาเป็นบ่อยหรือถี่แค่ไหน แม้ในเคสที่สามารถเข้าสังคมได้ สิ่งที่เจอบ่อยในช่วงที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ คือ ซึมเศร้า เพราะอาจจะรู้สึกเหนื่อยกับการเข้าสังคม ดังนั้น อาจจะต้องใช้ยาช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้น เพียงแต่ว่าต้องชัดเจนว่าเป็นอะไร หากไม่ได้เป็นซึมเศร้าก็ไม่จำเป็นต้องกินยา

 

เมื่อคุณแม่รู้สึกเหนื่อย

 

ท้ายนี้ พญ.อนัญญา ฝากถึงพ่อแม่ที่อาจจะรู้สึกเหนื่อยกับการดูแลลูกที่เป็นเด็กออทิสติก ว่า มีแม่ของคนไข้เคยบอกหมอว่า ลูกเหมือนรถสปอร์ต รถซูเปอร์คาร์ ไม่ใช่ใครก็ขับได้ ทำอย่างไรจะขับอย่างปลอดภัย เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับลูกเรา ตรงไหนที่ไม่ไหว อาจจะต้องหาคนในบ้านคอยช่วยกัน

 

"เขาเกิดมาเป็นลูกเรา แสดงว่าเขากับเรามีบุญกรรมสัมพันธ์กันมา และมีความสุขกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ว่าวันนี้มีความสุขอะไรบ้างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่กับลูก แต่เป็นความสุขที่เกิดขึ้นกับเรามีอะไรบ้าง เช่น ได้กินอาหารอร่อย ก็ชื่นชมกับอาหารอร่อยที่ตัวเราได้กิน"

 

"เวลาที่โมโหมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร การหายใจเข้าลึกๆ และค่อยๆ หายใจออกช้าๆ จะช่วยให้เราผ่อนคลายได้ชั่วคราว เป็นวิธีที่ใช้ในเวลาที่ไม่ไหว อย่างไรก็ตาม การอยู่ในบ้าน การดูแลเด็กออทิสติก ต้องทำงานเป็นทีม ไม่มีใครทำสำเร็จได้คนเดียว ต้องอาศัยความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน" พญ.อนัญญา กล่าวทิ้งท้าย