เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”ดิจิทัลอาร์ท

เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”ดิจิทัลอาร์ท

13-14 ม.ค.2566 ต้อนรับวันเด็กปี 2566  “กรุงเทพธุรกิจ” ขอชวนไปชมผลงานดิจิทัลอาร์ท “โลกของอเล็ก ชนกรณ์” ภายใต้คอนเซปต์  You can do it I can do it. #อย่ายอมแพ้ #nevegiveup ของศิลปินเด็กพิเศษ (ออทิสติก) “ชนกรณ์ พุกะทรัพย์” ที่ค้นพบตัวเองจากโลกจินตนาการสู่นักเขียน

การบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์ ในแอปพลิเคชันนิยายแชทรูปแบบใหม่ กับผลงานเรื่องแรก Paper Heart (หัวใจกระดาษ) ที่มีคนติดตามอ่านจำนวนไม่น้อย พร้อมต่อยอดผลงานในรูปแบบของภาพวาดดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม JNFT โดยผู้ใหญ่ใจดี พี่บอย - วรพจน์ ธาราศิริสกุล Chief of Technology บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนา JNFT Marketplace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย NFT สัญชาติไทย ให้การสนับสนุน และนำผลงานเชื่อมโยงจัดทำในรูปแบบแสตมป์ดิจิทัล I-Stamp

กว่าจะเป็น “โลกของอเล็ก ชนกรณ์”

แต่กว่า “อเล็ก ชนกรณ์” หนุ่มน้อยวัย 17 ปี มาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอเล็ก เป็นเด็กพิเศษ (ออทิสติก)ที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร ซึ่งหากดูลักษณะภายนอกนั้นคงไม่สามารถบอกได้ว่าน้องเป็นเด็กพิเศษ

เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”ดิจิทัลอาร์ท

เช่นเดียวกับ “คุณแม่กบ โสภี ฉวีวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO บริษัท ชมฉวีวรรณ จำกัด หรือ ชมพีอาร์ ที่พึ่งมาทราบว่าลูกของตนเองเป็นเด็กพิเศษ เมื่อลูกกำลังจะเข้าสู่อนุบาล 2 เนื่องจากลูกมีการพูดที่ช้า ซึ่งตอนแรกคุณแม่กบ เข้าใจว่าน้องอเล็ก จะเหมือนพี่ชาย พี่อิ่ม ที่กว่าจะพูดก็อายุ 2ขวบกว่าแล้ว

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับน้องเอิน ลูกสาวคนเล็ก อายุห่างจากพี่อเล็ก 3 ปี (ตอนนั้นพี่อเล็ก 5 ขวบ น้องเอิน 2 ขวบ) น้องเอินสามารถพูดเป็นคำและตอบแบบมีเหตุผลได้ จึงได้พาพี่อเล็กไปพบแพทย์ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และได้เข้าทำการทดสอบหลายอย่าง สรุปว่า น้องเป็นเด็กพิเศษออทิสติกที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร จะพูดสลับคำ และไม่สามารถพูดเชื่อมโยงได้ โดยต้องพบแพทย์ทุกอาทิตย์ ทุกเดือนต้องเข้าประเมิน เข้าคอร์สฝึกพูด การเข้าสังคม เพราะเด็กพิเศษจะขาดทักษะการเข้าสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

หนูๆ ห้ามพลาด เช็กสถานที่จัดงาน "วันเด็กแห่งชาติ 2566" พร้อมของรางวัลเพียบ

‘วันเด็ก’ ปีนี้ ‘อพวช.’ ชวนเที่ยวงาน ‘ถนนสายวิทยาศาสตร์ ปี 66’

 

"เด็กพิเศษ" เท่ากับ "ของขวัญชิ้นพิเศษ"สำหรับพ่อแม่

คุณแม่กบ เล่าว่าแม่เปรียบลูกเป็นเหมือนของขวัญ ซึ่งตอนนี้แม่มีของขวัญทั้งหมด 3 ชิ้น มีพี่อิ่ม ลูกชายคนโต อายุ 27 ปี คนที่ 2 น้องอเล็ก อายุ 17 ปี และคนสุดท้องน้องเอิน อายุ 14 ปี โดยน้องอเล็กเป็นเด็กพิเศษแม่มองว่าน้องเป็นของขวัญชิ้นพิเศษ ซึ่งการเลี้ยงดูลูกๆ นั้นจะเลี้ยงเหมือนกันทั้งหมด 3 คน แต่อเล็กจะมีความพิเศษ เพราะเขาจะมีบางทักษะที่ขาดหายไป เราก็จะเพิ่มเติมทักษะเหล่านั้นให้แก่เขา  

“ตอนแรกที่คุณหมอประเมินว่าลูกเราเป็นเด็กพิเศษ เป็นออทิสติก แม่ช็อก และคิดแต่ว่าน้องเป็นเด็กพิการ เมื่อกลับมาถึงบ้านเราร้องไห้ เสียใจมาก โดยมีแม่และสามีคอยปลอบใจ แต่พี่ร้องไห้ประมาณครึ่งชั่วโมง และบอกกับตัวเองว่าต้องไม่มาเสียเวลากับการร้องไห้ ต้องช่วยอเล็ก ก็กลับไปปรึกษาคุณหมอให้จัดทุกคอร์สที่อเล็กต้องเรียน ทำตามคำแนะนำของคุณหมอทุกอย่าง”คุณแม่กบเล่า

เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”ดิจิทัลอาร์ท

ช่วงแรกของการดูแล “คุณแม่กบ” ยังไม่ให้น้องอเล็กกินยา เพราะเขาสามารถใช้ชีวิต ทำทุกอย่างได้เหมือนเด็กปกติ ยกเว้นการอ่านตัวอักษรบางตัว เช่น ตัว น หนู ม ม้า ที่เขาจะพูดไม่ชัด และจะมีพัฒนาการกล้ามเนื้อมืออ่อนแรง  คุณแม่กบและครอบครัว โดยเฉพาะน้องเอินจะคอยอยู่กับอเล็กในการไปหาหมอ การทำกิจกรรมต่างๆ จนพออเล็กเริ่มโตมีภาวะสมาธิสั้น จึงต้องกินยาเฉพาะเวลาที่ไปโรงเรียน เพื่อควบคุมสมาธิในการเรียนหนังสือ

 

ยอมรับ  ไม่ปิดกั้น สนับสนุนในทุกเรื่องที่ลูกอยากทำ

ต่อมาพอเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งต้องสอบเข้าโรงเรียนต่างๆ ขณะนั้น “อเล็ก” สามารถสอบเข้าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนได้ ซึ่งคุณแม่กบดีใจมาก ได้ไปปรึกษาคุณหมอ และคุณหมอแนะนำให้อเล็กไปเรียนในโรงเรียนที่มีจำนวนห้องเรียน 2-3 ห้อง และมีครูพิเศษเฉพาะทาง เพราะการเรียนหนังสือกับเพื่อนในระบบปกตินั้น เด็กพิเศษจะสามารถเรียนได้ถึงระดับป.1-ป.2 เนื่องจากพัฒนาการของพวกเขาจะไม่ได้แตกต่างจากเพื่อนๆมากนัก แต่พอขึ้นป.3 เด็กพิเศษจะพัฒนาตามเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันไม่ทัน และเด็กจะถูกกดดัน หรือถูกล้อ 

คุณแม่กบ เล่าต่อว่าพี่ไปปรึกษาหมอจิตเวชเด็ก เมื่อคุณหมอแนะนำอะไรมา พี่ก็จะทำตาม พี่มองหาโรงเรียนที่มีห้องเรียนแต่ละช่วงชั้นประมาณ 2-3 ห้อง และมีครูที่เข้าใจเด็กพิเศษ จนมาพบโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งที่โรงเรียนมีแต่ละช่วงชั้นมีประมาณ 2-3 ห้อง มีครูพิเศษเฉพาะทาง อีกทั้งเป็นสถาบันผลิตครู ใน 1 ห้องเรียน จะมีครูประจำชั้น และครูฝึกสอนอีก 3 คน จึงได้ให้น้องสมัครและสอบเข้า และน้องก็สอบเข้าได้

เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”ดิจิทัลอาร์ท

ส่วนเรื่องบัดดี้  เกิดจากคุณหมอแนะนำเช่นกัน คุณแม่กบและคุณพ่อ ได้นำจดหมายจากคุณหมอว่า อเล็ก เป็นเด็กออทิสติกต้องมีบัดดี้  แต่ในชีวิตจริง จะมีเด็กปกติที่ไหนอยากจะมาเป็นบัดดี้ให้ลูกของเรา ดังนั้น พออเล็กอยู่ป.1- ป.3 ช่วงแรกๆ ยังใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆได้

แต่พอขึ้น ป.4 อเล็กจะมีพัฒนาการที่ช้าลงเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน ทำให้ไม่มีใครอยากให้อเล็กอยู่ในกลุ่ม และแกล้งอเล็ก ในช่วงนั้น  น้องเอินกำลังเข้าป.1 เราจึงให้น้องเอินเรียนที่เดียวกับอเล็ก เพื่อจะได้กลายเป็นบัดดี้ของพี่ตัวเอง  น้องเอินจะคอยตามงานจากเพื่อนๆ อเล็ก และน้องเอินจะคอยสังเกตว่าอเล็กไม่ค่อยมีเพื่อน ก็จะชวนอเล็กมาอยู่กับเพื่อนๆ ของตัวเอง และอเล็กชอบเดินในสนามคนเดียว น้องเอินก็จะมาคอยเล่าให้พ่อแม่ฟัง

พี่ว่าเอิน ซึมซับเรื่องราวของอเล็กมาตั้งแต่เด็ก เพราะพี่เลี้ยงลูกเองทั้งหมด พี่ไม่มีพี่เลี้ยง ทุกครั้งที่พี่พาอเล็กไปหาหมอ ก็จะพาน้องเอินไปด้วย ซึ่งตอนนั้นเราก็กังกงวลว่า เรากำลังให้น้องเอินรับภาระในการดูแลพี่เขาหรือเปล่า แต่เมื่อเราได้คุยกับน้องเอิน เขาไม่คิดว่าการดูแลพี่เขาเป็นภาระ แต่เขาอยากดูแล และคอยปกป้องพี่ของเขาตลอดเวลา ที่สำคัญ ยังเป็นการจุดประกายความฝันของเอินในการเป็นหมอ ซึ่งพี่ไม่เคยรู้มาก่อน พี่คิดว่าเอินอยากเป็นนักร้องก็พยายามผลักดันให้เขาเป็นศิลปิน เพราะเขาทำได้ดีมาก แต่เขามาบอกพี่ว่าเขาอยากเป็นหมอจิตเวช อยากดูแลพี่ของเขา เพราะวันหนึ่งหากป้าหมอไม่อยู่แล้ว จะไม่มีใครดูแลพี่เขา

อย่านำความคาดหวังของพ่อแม่ไปใส่กับลูก

“อเล็ก” เป็นเสมือนนางฟ้านางสวรรค์มาเกิดของคุณแม่กบ เพราะด้วยนิสัยที่แสนดีของพอเล็ก ความใสๆ  อดทน มีนิสัยเรียบร้อย ไม่ก้าวร้าว ไม่ทะเลาะกับใคร ซึ่งตอนอยู่ชั้นป.5 มีเด็กคนหนึ่งจะมาแกล้งอเล็กอยู่เสมอ และมีบางวันถุยน้ำลายใส่อเล็ก แต่อเล็กก็เฉย ไม่โต้ตอบ  มีแต่น้องเอินที่นอกจากไปเล่าให้คุณลุงขับรถส่งกลับบ้าน เพื่อให้คุณลุงไปดุเด็กคนนั้นแล้ว  ซึ่งคุณลุงได้ดุเด็กคนดังกล่าว แต่เด็กคนนั้นก็ยังแกล้งทุกวัน จนน้องเอิน ได้ไปตีเด็กคนนั้นกลับ และถูกอเล็กถามว่าเอินไปตีเขาทำไม อเล็กทนได้ไม่เจ็บน้องตัวเล็กกว่า ส่วนน้ำลาย เช็ดไปก็แห้งแล้ว ทำไมต้องถุยกลับ

“พอมาถึงบ้าน น้องเอินเล่าให้ฟังว่าพี่อเล็กโดนแกล้ง แต่พี่อเล็กไม่ยอมสู้ เราก็บอกให้อเล็กสู้ แต่อเล็ก กลับพูดว่าแม่ครับผมไม่เจ็บ น้ำลายน้องก็ไม่เหม็น ถ้าผมตีน้องกลับ ผมตัวใหญ่กว่าน้องน่าจะเจ็บ และตีไปมาก็ไม่จบ ซึ่งพอพี่กับน้องเอินได้ฟังก็อึ้งไปเหมือนกันนะ เพราะถ้าเป็นเด็กปกติคงได้ทะเลาะกันไปแล้ว หลังจากนั้น น้องเอินก็จะคอยดูแลอเล็กมาตลอด ถ้าได้ไปโรงเรียนสาธิตฯ บ้านสมเด็จ ไม่มีใครไม่รู้จักอเล็ก เนื่องจากอเล็กจะเป็นพลังบวก เป็นกำลังใจให้แก่คุณครูหลายๆ คน”คุณแม่กบ กล่าวด้วยน้ำเสียงอบอุ่น

เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”ดิจิทัลอาร์ท

ครอบครัวของ "อเล็ก"  จะพูดคุยสื่อสารกันตลอด และยอมรับว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ แต่การเลี้ยงดูลูกทั้ง 3 คน จะเลี้ยงเหมือนกันหมด  แต่อาจจะดูแลอเล็ก เป็นพิเศษ และจะมีน้องเอิน เป็นบัดดี้ ที่คอยทำกิจกรรม เรียนรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น อเล็กต้องไปเรียนฝึกพูด จนครูฝึกพูดแนะนำให้อเล็กไปเรียนร้องเพลง เพื่อฝึกการใช้ภาษา และเรียนรู้การเข้าสังคม น้องเอินก็จะไปเรียนด้วย ซึ่งตอนนั้นน้องเอินไม่อยากเรียนร้องเพลง แต่อยากเรียนเปียโน ก็เลยให้ทั้งคู่เรียนทั้ง 2 อย่างไปพร้อมๆ กัน พบว่า น้องเอินร้องเพลงได้ดีมาก ชนะการประกวดร้องเพลง ขณะที่อเล็กสามารถเรียนเปียโนได้ดีมาก จนครูบอกว่าอเล็กสามารถเป็นครูสอนเปียโนได้

“ด้วยความที่เราอยากให้ลูกมีอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงดูตัวเองได้ในวันที่ไม่มีพ่อแม่ หรือไม่มีใครๆ เราก็พยายามผลักดันให้อเล็กเรียนเปียโน ฝึกฝนเปียโน และตอนนั้นความคาดหวังของคนเป็นพ่อแม่ก็ได้ไปใส่กับลูก เราพยายามบอกให้ลูกฝึกเปียโนตลอดเวลา ส่วนน้องเอิน เราก็ปูทางเพื่อให้เป็นศิลปิน แต่กลายเป็นเราไปกดดันลูก   จนอเล็กบอกเราว่าเขากดดัน เขาเครียด เราก็ได้มาพูดคุยกับลูก และเลิกกดดันเขา”

จุดเริ่มต้น เด็กพิเศษ สู่ศิลปิน นักเขียน

ความอบอุ่น ความใส่ใจ ความรักในครอบครัว “อเล็ก” เป็นลูกคนเดียวที่กล้าแสดงออกทางความรักอย่างไม่อาย เขามักจะถามทุกคนด้วยความห่วงใย

สำหรับกิจกรรมที่เป็นจุดเริ่มต้นให้อเล็กเข้าสู่การเป็นนักเขียนนั้น เกิดจาก ทุกๆ คืน คุณแม่กบต้องเล่านิทานให้ลูกฟัง แต่ด้วยภาระงานที่มากทำให้คุณแม่กบกลับบ้านดึก น้องเอินจึงให้อเล็กเล่านิทานให้ฟัง และนิทานที่พี่อเล็กเล่าแตกต่างจากนิทานรูปแบบเดิมๆ พี่อเล็กจะใส่จินตนาการ เล่าด้วยเสียงประกอบ เล่าอย่างสนุกสนาน

 ขณะที่น้องเอิน เป็นเด็กชอบอ่านหนังสือ และอ่านการ์ตูน ตอนนั้นอเล็กอยู่ม.2  น้องเอินได้อ่านหนังสือ อ่านการ์ตูนผ่านเว็บไซต์ จึงได้ชวนให้อเล็กลองแต่งนิยาย เพื่อนำไปลงในเว็บดังกล่าว ซึ่งอเล็กได้ลองแต่ง โดยมีน้องเอินเป็นรีไรเตอร์ จนกองบรรณาธิการได้บรรจุให้อเล็ก เป็นนักเขียน และจะได้ค่าเขียนเรื่อง ซึ่งตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ “คุณแม่กบ” รู้ว่าอเล็กแต่งนิยาย เป็นนักเขียน เพราะต้องพาอเล็กไปเปิดบัญชีธนาคารตามที่ทางเว็บไซต์กำหนด โดยผลงานเรื่องแรกของอเล็ก คือ  Paper Heart (หัวใจกระดาษ)

ช่วงแรกของการเขียนนิยายของอเล็ก จะมีน้องเอิน ซึ่งชอบวาดภาพอนิเมะ เป็นคนช่วยวาดภาพประกอบและภาพหน้าปกให้ แต่มันมีภาพบางฉากที่อเล็กให้น้องเอินวาด อย่าง ฉากตัวละครผู้หญิงนั่งและชันเข่า ซึ่งอเล็กบอกว่าโป๊ มันจะก้มดูตามภาพและบอกว่าโป๊ ซึ่งตอนนั้นเอินโกรธพี่ชายที่บอกว่าตนเองวาดภาพโป๊ อเล็กได้ขอโทษน้อง และลองวาดภาพเอง เพราะไม่อยากให้น้องโกรธ

เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”ดิจิทัลอาร์ท

"อเล็ก" เริ่มวาดรูปเองในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นการวาดรูปโดยดูจากGoogle และYoutube ศึกษาด้วยตนเอง รวมถึงมีการสั่งซื้อหนังสืออนไลน์  ศึกษาโปรแกรม  และด้วยความที่คุณพ่อของอเล็ก เป็นครีเอทีฟ มีความรู้ ทักษะเกี่ยวกับการวาดรูป จึงเป็นที่ปรึกษาให้แก่อเล็ก เพราะบางภาพ บางท่าทาง อเล็กจะไม่เข้าใจ คุณพ่อ ก็จะให้อเล็ก ทำท่านั้นๆ และถ่ายรูปให้ดู ซึ่งอเล็กจะเก็บผลงานทุกชิ้นเพื่อไว้ดู เนื่องจากกลัวลืม และศึกษามาเรื่อยๆ จนวันนั้น เขาเดินมาบอกคุณแม่กบ และคุณพ่อว่า เขาอยากขายภาพใน มาร์เกตเพลต

คุณแม่กบ เล่าอีกว่าอเล็กอ่านเยอะมาก ศึกษาเยอะมาก เขาฟังบรรยายจากในyoutube และเมื่อมีเวลาเขาจะไปนิทรรศการต่างๆ และเขารู้จัก NFT (Non-Fungible Token) หรือสินทรัพย์ดิจิทัล  เขาได้ท่องโลกอินเตอร์เน็ต อยากขายผลงานของตัวเอง ตอนลูกเอาผลงานมาให้ดู เราดีใจและปลื้มใจมาก

อเล็กเขาก็นำรูปภาพทั้งหมดไปให้พี่ชายเขาดู ซึ่งพี่อิ่มเรียนโบราณคดี เอกประวัติศาสตร์ศิลป์  เขาก็จะจัดการให้น้องเขาทั้งหมด เขาลงโปรแกรมให้น้อง และงานนิทรรศการดิจิทัลอาร์ท “โลกของอเล็ก ชนกรณ์” ในวันที่ 13-14 ม.ค. เวลา 11.30-18.00 น. ณ ศูนย์การค้า แอม ปาร์ค จุฬา ซอย 9   ห้องเรียน Business Line & Life ชั้น 2  และเปิดให้ชมรอบพิเศษในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566 เวลา 13.30 น.เป็นต้นไป พี่อิ่มก็เป็นผู้จัดการให้น้องทั้งหมด เขาคอยสนับสนุนน้องในทุกเรื่อง

เคล็ดลับการเลี้ยงลูก "อย่าเร่งรีบ อย่าคาดหวัง อย่าตั้งเป้าไว้เยอะ"

“การเลี้ยงลูกนั้น พี่ว่าสิ่งที่สำคัญ คือ อย่าเร่งรีบ อย่าคาดหวัง และอย่าตั้งเป้าไว้เยอะ เมื่อก่อนพอพี่เห็นลูกเรียนเปียโนเก่ง ก็มองว่าลูกมีความอัจฉริยะด้านดนตรีพยายามเคี่ยวเข็ญลูก พี่เข้าใจว่านี้คือ ความสามารถของเขา พยายามผลักดันให้เขาเป็นครูดนตรี แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมด ไปกดดัน สร้างความเครียดให้แก่ลูก และเมื่อเราให้อิสระแก่เขา ไม่บังคับ แต่คอยเป็นผู้สนับสนุนเขา วันนี้ เขาก็เจอหนทางเจอความชอบ เจอสิ่งที่เขาอยากทำ อยากสร้างเป็นอาชีพเลี้ยงดูตนเอง”

พ่อแม่มีหน้าที่สร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นในตัวลูก ตอน "อเล็ก" ต้องสอบเข้าม.4 ที่โรงเรียนเดิม คุณแม่กบอยากให้ลูกเรียนต่อ ได้นำผลงานของอเล็กไปเสนอลงหนังสือพิมพ์ต่างๆ และทางโรงเรียนได้นำไปขึ้นเฟสบุ๊คโรงเรียน ทำให้เพื่อนๆ ของเขาได้เห็น และเข้ามาชื่นชมเขา ซึ่งเขาดีใจมากที่เพื่อนชมเขาว่าเก่ง  

เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”ดิจิทัลอาร์ท

คุณแม่กบ เล่าด้วยว่า การที่พี่สนับสนุนให้น้องจัดแสดงผลงานนิทรรศการดิจิทัลอาร์ท “โลกของอเล็ก ชนกรณ์” ในวันที่ 13-14 ม.ค.นี้  พี่อยากให้อเล็ก เป็นแรงบันดาลใจของเด็กพิเศษ หรือคนที่กำลังท้อแท้ ว่าหากเรามีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงจะสามารถพัฒนาได้  อเล็กยังพัฒนาได้ และอยากให้อเล็กเป็นตัวอย่างของเด็กพิเศษทุกคนว่าพวกเขาทำได้

อเล็กบอกพี่ว่า วันที่ไปแสดงผลงาน เขาจะบอกทุกคนว่าไม่ต้องอายนะครับว่าเราเป็นออทิสติก เพราะว่าพวกเราทำได้ ผมอยากบอกทุกๆ คนว่า ให้ทุกคนไม่ต้องนำคำพูดที่ชอบด่า หรือชอบแกล้งเรา มาคิด แต่นำไปผลักดันให้เป็นความฝัน

จุดหนึ่งที่ทำให้ "อเล็ก" ไม่เคยอายที่ตัวเองเป็นเด็กพิเศษ หรือเด็กพิการ เพราะคุณแม่กบ บอกน้องเสมอว่า น้องเป็นเด็กพิเศษ เป็นเด็กพิการ น้องไม่ต้องอาย น้องเพียงเรียนรู้ช้ากว่าคนอื่น และมีเซลล์ที่ไม่เหมือนคนอื่น  คุณแม่กบบอกความจริงกับน้องทุกเรื่อง รวมถึงการถือบัตรผู้พิการ คุณแม่กบให้น้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะทำบัตรผู้พิการหรือไม่ เพราะพ่อแม่ไม่มีสิทธิไปกำหนดสถานะให้แก่ลูก ต้องให้ลูกตัดสินใจเอง ซึ่งอเล็กเขาตัดสินใจจะถือบัตรผู้พิการ 

พ่อแม่ต้องยอมรับความจริง ว่าลูกเราเป็นอย่างไร ลูกเป็นของขวัญ ซึ่งพี่มีของขวัญทั้งหมด 3 ชิ้น แต่อเล็กจะเป็นของขวัญชิ้นพิเศษกว่าใคร เราจะมานั่งเสียเวลา วนกับความเสียใจ โทษเวรกรรมที่ลูกเป็นอย่างนั้น อย่างนี้คงไม่ได้ ความเสียใจที่รู้ว่าลูกเป็นเด็กพิเศษเชื่อว่าทุกคนมี แต่อย่าเสียใจนาน  เมื่อมีเขาแล้วจะต้องสนับสนุน ดูแลลูกอย่างเต็มที่  พี่อาจจะโชคดีที่อเล็กมีความพิเศษเพียงเล็กน้อย  แต่ไม่ว่าจะเป็นน้อยหรือมากก็คือลูกเรา และเราก็ต้องหาหนทางพัฒนาเขา

เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”ดิจิทัลอาร์ท

เลี้ยงเด็กพิเศษในความรู้สึกของคุณแม่กบ เท่ากับเด็กปกติ แต่จุดไหนที่น้องไม่มีทักษะต้องเสริมจุดนั้น พี่อเล็กได้เรียน คุมอง เรียนร้องเพลง เรียนเปียโน และเรียนในทุกเรื่องที่เขาอยากเรียน โดยมีน้องเอิน เป็นบัดดี้ คุณแม่กบจะพาอเล็กไปทุกๆ ที่ โดยไม่ให้ลูกอยู่แต่ในบ้าน เพราะคุณแม่กบและครอบครัว ไม่เคบอาย หรือปกป้องอเล็ก โดยไม่ให้ทำอะไร

"พี่ไม่เคยอ่านในหนังสือ พี่เลี้ยงตามที่แม่พี่เลี้ยงพี่มา เพราะไอดอลในการเลี้ยงลูกของพี่ คือแม่ของพี่ พี่เลี้ยงตามสภาพความเป็นจริง พี่โตมากับตลาดช่วยแม่ทำงานทุกอย่าง สิ่งที่พี่ได้มาจากแม่ นั่นคือ ลูกอยากได้อะไร แม่สนับสนุนตลอด แม่พี่สอนตลอดว่าเราต้องรู้จักตัวเอง ซื่อสัตย์กับตัวเองและจริงใจกับทุกคน"

ตอนนี้หลายคนอาจจะต้องทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย แต่อยากให้ทุกคนจัดแบ่งเวลาในการเลี้ยงลูก เพราะช่วงที่เขาจะอยู่กับพ่อแม่นั้น เป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก พอขึ้นประถม เขาก็ไม่อยากจะอยู่กับพ่อแม่แล้ว  อย่าเลี้ยงลูกในแนวนอน คือ มาเจอหน้าลูกตอนลูกหลับแล้ว แต่เมื่อกลับถึงบ้าน อยากให้พ่อแม่ทุกคนทิ้งงานไว้ที่ทำงาน และที่บ้านใช้เวลาอยู่กับลู กับครอบครัวให้มากที่สุด  

สำหรับใครที่สนใจจะพบกับ! “โลกของอเล็ก ชนกรณ์” เรียนรู้เรื่องราวชีวิตบนเส้นทางเด็กพิเศษ ที่อยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมเปิดประสบการณ์และสัมผัสโลกแห่งจินตนาการผ่านผลงานของอเล็ก พร้อมวาดรูปโชว์แบบสด ๆ และเล่าไอเดีย วิธีคิด ภาพ การใช้แสงสีต่าง ๆ  ซึ่งอาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กพิเศษ และผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นกลุ่มเด็กพิเศษ และบุคคลทั่วไป สามารถเข้ารับชมรอบพิเศษในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566 เวลา 13.30 น.เป็นต้นไป และเปิดให้ชมฟรีในวันเด็ก 13-14 มกราคม 2566 เวลา 11.30-18.00 น. ณ ศูนย์การค้า แอม ปาร์ค จุฬา ซอย 9   ห้องเรียน Business Line & Life ชั้น 2