ถอดบทเรียน ‘กราดยิงเพชรบุรี’ เมื่อใจป่วย จนทำร้ายผู้อื่น

ถอดบทเรียน ‘กราดยิงเพชรบุรี’ เมื่อใจป่วย จนทำร้ายผู้อื่น

ถอดบทเรียน “กราดยิงเพชรบุรี” ผู้ก่อเหตุมีปัญหาทางจิตใจ มีความเครียด กดดัน โพสต์ส่อเตรียมตัวมาตาย จนทำร้ายผู้อื่น

“กราดยิงเพชรบุรี” ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์การกราดยิงอีกครั้งติดต่อกันเพียงไม่กี่วันกรณี กราดยิงสายไหม หรือจากเหตุการณ์กราดยิงสะเทือนขวัญที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในโคราช เมื่อปี 2563 จนเป็นเรื่องที่เศร้าสลดของคนทั้งประเทศ

ผู้คนในโซเชียลต่างติดตามข่าวสารจนทำให้ #กราดยิงเพชรบุรี ขึ้นเทรนด์ในทวิตเตอร์ โดยผู้ก่อเหตุโพสต์สตอรี่เฟซบุ๊กส่วนตัว ลงเวลาวันตายตัวเอง พร้อมภาพพระภิกษุที่ยืนหน้าเมรุ ระบุข้อความว่า

"มรณะ 22/มีนา/66 นายอนุวัช แหวนทอง" และดิ้นรนแทบตาย สุดท้ายได้ "ตาย" กันทุกคน

ถอดบทเรียน ‘กราดยิงเพชรบุรี’ เมื่อใจป่วย จนทำร้ายผู้อื่น

ผู้คนในโซเชียลต่างตั้งคำถาม ผู้ก่อเหตุอาจมีความเครียดสูง จัดการกับความรู้สึกของตนเองด้วยวิธีไม่เหมาะสม และระเบิดอารมณ์ ความรุนแรง จนใช้อาวุธปืนทำร้ายคนอื่นในเวลาต่อมา กระทั่งทราบจากครอบครัวผู้ก่อเหตุว่ามีปัญหาสุขภาพจิต เป็นผู้ป่วยซึมเศร้า

 

อัปเดตเหตุการณ์ "กราดยิงเพชรบุรี" 

อ.ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา พฤติกรรม จิตเวชศาสตร์ และการบริหารงานยุติธรรม ม.มหิดล เปิดเผยผ่านรายการ โหนกระแส ว่า "ส่วนหนึ่งมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นพฤติกรรมเลียน เขาอาจจะจดจำมาจากหนัง จากข่าวอาชญากรรม จดจำวิธีการก่อเหตุจากสิ่งที่ได้เห็นมา ก็มีความเป็นไปได้ เท่าที่ทราบจากข่าว ผู้ก่อเหตุใช้ยาเสพติด บวกกับความเครียดที่ตัวเองจะต้องขึ้นศาล รู้อยู่แล้วว่าตัวเองจะต้องติดคุก ทำให้เขามีพฤติกรรมก้าวร้าว 

ส่วนเรื่องโรคทางจิตเวช โรคซึมเศร้า จะเอามาเป็นข้ออ้างในการกระทำผิดไม่ได้ ปกติคนป่วยซึมเศร้าจะมีพฤติกรรมรุนแรงน้อยมาก ส่วนใหญ่จะรุนแรงต่อตัวเองมากกว่า ไม่มีสิทธิ์จะเอาความป่วยไข้มาเป็นข้ออ้างในการไปทำอันตรายกับคนอื่น"

ถอดบทเรียน ‘กราดยิงเพชรบุรี’ เมื่อใจป่วย จนทำร้ายผู้อื่น

ทางด้าน นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเหตุความรุนแรงชายคลั่ง "กราดยิงเพชรบุรี" ซึ่งมีความคล้ายกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่สายไหม ว่า บทเรียนความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกรณีการใช้อาวุธปืนทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นกรณีสารวัตรคลั่งจนถึงเหตุการณ์ล่าสุด พบว่าเกิดขึ้นมาจากความเครียดและมีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งปกติคนที่จะดูแลในเรื่องนี้มีตั้งแต่ชุมชน และองค์กร เพราะผู้ที่มีอาวุธปืน ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่ในองค์กรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ, อสส., เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ดังนั้น กลไกการดูแลขององค์กรจะต้องทำหน้าที่ ดูแลบุคลากร ส่วนระบบสาธารณสุข จะเป็นเรื่องปลายทาง

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การถือครอบครองอาวุธปืน ต้องมีระบบติดตามปัญหาสภาพจิตใจทั้งระบบ ไม่ใช่แค่จำกัดไว้ที่ส่วนกลาง ทำหน้าที่ติดตาม เช่น กองทัพบกมีระบบติดตามอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏฯ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีโรงพยาบาลตำรวจ คอยกำกับติดตามสภาพจิตใจ เพราะการครอบครองอาวุธปืน มีในเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ของประเทศการถือครอบครองอาวุธต้องเข้าใจว่า อาจก่อเหตุ ได้ตั้งแต่ตัวเองและผู้อื่น เช่น ทำร้ายตนเอง  หรือคนในครอบครัว คนในชุมชน หรือแม้แต่คนไม่รู้จัก

ดังนั้น อย่าได้นำอำนาจทางปกครองหรือวินัยมาจำกัด ในเรื่องการดูแล ครอบครองอาวุธปืนอย่างเดียว แต่ต้องใช้มาตรการการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ พร้อมเรียกร้องยกเลิก ซื้ออาวุธปืนสวัสดิการ เพราะคำว่าสวัสดิการนั้นไม่เหมาะ ใช้กับอาวุธ เพราะการใช้อาวุธเป็นการใช้ในขณะปฎิบัติหน้าที่ หากเสร็จสิ้นภารกิจหรือไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว ก็ไม่ควรมีการครอบครองอาวุธปืน เช่น กรณีเหตุกราดยิงที่เพชรบุรีนี้ จะพบว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น แม้ที่มาของอาวุธปืนจะไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานก็ตาม

 

รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้อธิบายในแง่สาเหตุของการเกิดพฤติกรรมก่อความรุนแรงว่า สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลปกติหรือบุคคลทั่วไป ทั้งในเชิงคำพูดและการกระทำเพราะพฤติกรรมรุนแรง เป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์

“ในสังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมเทคโนโลยีรวดเร็ว คนยิ่งมีความหุนหันพลันแล่นมากขึ้น รออะไรไม่ได้ ยิ่งหากเป็นคนที่เติบโตมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่ได้ควบคุมระเบียบวินัยก็จะยิ่งง่ายต่อการไม่ควบคุมตัวเอง” อาจารย์สมโภชน์กล่าว พร้อมชี้ว่าคนที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรงมักมีพฤติกรรมมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตนเองถูกกระทำ หรือรู้สึกว่าตนเองไม่มีตัวตนในสายตาผู้อื่น

การก่อความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้หากมีมูลเหตุจูงใจและโอกาสที่ประจวบเหมาะกัน เช่น การตัดสินใจและพฤติกรรมที่จะลงมือกระทำ ได้โอกาสพอดีพอเหมาะกับช่วงเวลา สถานที่ การเข้าถึงอาวุธ เข้าถึงสถานที่ก่อเหตุ ดังนั้นในการป้องกันและแก้ไข คือต้องสร้างโอกาสในการป้องกัน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเกิดความรุนแรงในสังคมได้

“หลายคนเชื่อว่าเหตุการณ์กราดยิงจะก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบ ผมมองว่าไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะการกระทำความรุนแรงในเชิงกราดยิงต้องมีแรงจูงใจเพียงแต่การนำเสนอเรื่องกราดยิง จะเป็นการให้คนเรียนรู้วิธีที่จะทำ เช่นเดียวกับว่า ทุกคนรู้ว่าเราจะต้องขโมยของอย่างไร รู้ว่าตัวเองจะฆ่าตัวตายอย่างไร แต่ถามว่าเราจะทำไหม เราไม่ทำเพราะเราไม่มีอะไรมากระตุ้นให้เราทำ” ข้อมูลจากงานเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยาในหัวข้อ “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน” โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตอนเกิดสถานการณ์การกราดยิงโคราช 

ย้อนรอยเหตุการณ์สะเทือนขวัญกราดยิงในไทย 

  • เดือนม.ค. 2563 "ปล้นร้านทองลพบุรี"

เกิดเหตุอุกอาจบุกปล้นร้านทองแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จังหวัดลพบุรี โดยผู้ก่อเหตุใช้อาวุธปืนทำร้ายผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย 

  • เดือน ก.พ.2563 "กราดยิงโคราช"

เหตุการณ์สะเทือนขวัญกราดยิงกลางตัวเมือง จ.นครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 57 ราย สร้างความสะเทือนใจกับผู้รับรู้เหตุการณ์เป็นอย่างมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมเพื่อจับกุมตัวก่อนจะถูกวิสามัญ เสียชีวิตในเวลาต่อมา

  • เดือน ก.ย.2565 "กราดยิงในวิทยาลัยการทัพบก"

เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 1 ราย

  • เดือน ต.ค. 65 "กราดยิงหนองบัวลำภู"

เหตุการณ์ที่สะเทือนใจทั้งคนไทยและทั่วโลก ที่ศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมนี้อย่างน้อย 36 ราย ไม่รวมผู้ก่อเหตุ และในจำนวนนี้เป็นเด็ก 24 ราย จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์นี้เกิดจากผู้ก่อเหตุถูกขับออกจากข้าราชการตำรวจ และยังต้องขึ้นศาลเพราะต้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติด

  • เดือน มี.ค.66 "กราดยิงสายไหม"

กรณี "ตำรวจสารวัตรคลั่ง" กราดยิงสายไหม เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาปิดล้อมเจรจานานกว่า 28 ชั่วโมง กระทั่งถูกควบคุมตัวหลังกระโดดทะลุบานเกล็ดตกจากชั้น 2 ลงมาชั้น 1 ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลภูมิพล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา 

ถอดบทเรียน ‘กราดยิงเพชรบุรี’ เมื่อใจป่วย จนทำร้ายผู้อื่น

ที่มา : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,โหนกระแส