ความท้าทายของการบูรณาการระบบสุขภาพไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ความท้าทายของการบูรณาการระบบสุขภาพไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

วันที่ 23 ก.พ. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจจัดสัมมนาโดยเชิญทั้ง ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. และ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูด ซึ่งผมเห็นว่าส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพคนไทย จึงขอนำมาสรุปเนื้อหาสำคัญในบทความนี้ครับ

ผมขอเริ่มที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยก่อน ซึ่ง นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยคิดเป็นสัดส่วน 5% ต่อจีดีพี แซงหน้าการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว จึงเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง

นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่นั้น รัฐบาลเป็นผู้รับภาระ โดยให้ข้อมูลว่ารายจ่ายของรัฐบาลที่ใช้ดูแลสุขภาพประชาชน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16-18% ของงบประมาณประจำปี (ผมประเมินว่ามากกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี) ซึ่งสูงมาก

ก่อนจะขยายความเกี่ยวกับภาระดังกล่าวของรัฐบาล ผมขอนำข้อมูลการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของไทย ไปเทียบกับข้อมูลของประเทศอื่นในโลก ซึ่งผมได้อาศัยข้อมูลจากธนาคารโลก โดยนำเอาข้อมูลของโลกโดยรวม และข้อมูลของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของไทย

ความท้าทายของการบูรณาการระบบสุขภาพไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ตารางแรก เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าของโลกและของประเทศในเอเชียแปซิฟิกอย่างเห็นได้ชัด

โดยตัวเลขถึงปี 2019 การใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.79% ของจีดีพี เทียบกับ 9.1% สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและ 13.9% สำหรับโลกโดยรวม แต่ตัวเลขได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก หากนำเอาตัวเลขของ รศ.ฉันชาย (5%) ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขล่าสุดมาพิจารณา

นอกจากนั้น จะเห็นได้อีกว่าค่าใช้จ่ายของไทย เพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าของโลกและเอเชียแปซิฟิกประมาณ 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (เพิ่มขึ้น 22.3% เทียบกับ 13.9% และ 9.1% ตามลำดับ) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย

ความท้าทายของการบูรณาการระบบสุขภาพไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ตารางที่ 2 คือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เป็นภาระของประชาชนโดยตรง ซึ่งจะเห็นอย่างชัดเจนว่า นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย (ที่เป็นต้นแบบระบบดูแลสุขภาพที่ได้รับคำชมเชย) นั้น ได้แบ่งเบาภาระให้กับประชาชนได้อย่างดีเลิศจนไม่มีประเทศใดเทีบบได้

กล่าวคือ จากที่เดิมที่ในปี 2000 ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของคนไทยนั้น ภาระ 34.19% ตกอยู่กับประชาชน ซึ่งสูงกว่าประชาชนโลกและประชาชนในประเทศเอเชียแปซิฟิกอย่างมาก (โลก = 19.8% เอเชียแปซิฟิก = 23.51%) 

แต่มาถึงปัจจุบันนี้ ระบบดูแลสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ค่าใช้จ่ายโดยตรงของประชาชนคนไทย ลดลงมาเหลือเพียง 8.67% ลดลงทั้งสิ้น 74.6% ในช่วง 20 ปี ระหว่าง 2000-2019 ในขณะที่ประเทศอื่นๆ นั้นโดยรวมแล้ว ไม่ได้สามารถลดภาระให้กับประชาชนได้อย่างมีนัยสำคัญ

ความท้าทายของการบูรณาการระบบสุขภาพไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

รศ.ฉันชาย บอกว่า ประเทศไทยเป็นต้นแบบด้านระบบการดูแลสุขภาพ เพราะประชาชนกว่า 99% อยู่ภายใต้การคุ้มครองของระบบดูแลสุขภาพ 3 ระบบดังนี้ 1) พ.ร.บ.สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ (8% ของประชากร) 2) พ.ร.บ.ประกันสังคม (17% ของประชากร) 3) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 73% ของประชากร)

3 ระบบนี้ ทำให้คนไทยเข้าถึงประกันสุขภาพแบบพื้นฐาน และไม่ให้คนไทยส่วนใหญ่ ต้องเสี่ยงล้มละลายเพราะการเจ็บป่วย มีคนไทยที่ต้องล้มละลาย หลังจากต้องจ่ายค่าดูแลสุขภาพตัวเอง ลดน้อยลงเรื่อยๆ หลังจากประเทศไทยมีระบบการดูแลสุขภาพทั้ง 3 ระบบ

แต่ปัจจุบันระบบประกันสุขภาพของไทย มีปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดย รศ.ฉันชาย บอกว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 5% ของจีดีพีแล้ว (จาก 3.79% ในปี 2019 ก่อนโควิด-19)

และรายจ่ายของรัฐบาลที่ใช้ดูแลสุขภาพประชาชนอยู่ที่ 16-18% ของงบประมาณ และขยายความว่า มีความเหลื่อมล้ำคือ สิทธิบัตรทองปัจจุบันมีคนใช้งาน 48 ล้านคน แต่ใช้เงินไปทั้งสิ้น 1.14 แสนล้านบาทต่อปี สิทธิข้าราชการประมาณ 5 ล้านคนใช้เงินสูงถึง 6.6 หมื่นล้านบาทต่อปี

จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของข้าราชการสูงกว่าของประชาชนทั่วไปกว่า 5 เท่าตัว (13,200 บาทต่อคนต่อปี กับ 2,375 บาทต่อคนต่อปี) โดยสาระสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายของข้าราชการนั้นเป็นแบบปลายเปิด (ไม่ค่อยมีการจำกัดยอดเงินจ่าย) 

รศ.ฉันชาย บอกว่า “ตอนนี้ทั้ง 3 กองทุน มีความซ้ำซ้อนกัน ในอนาคตต้องมีการปรับ-ยกเครื่องระบบประกันสุขภาพใหม่ ให้เกิดประสิทธิภาพ ให้ 3 กองทุนมีความเท่าเทียมกัน และเกิดประสิทธิภาพในการดูแลสูงสุด โดยต้องให้ออกค่าใช้จ่ายร่วมกัน (co-payment) แม้จะมีการคัดค้านกันมาก และนักการเมืองไม่กล้าทำ เพราะกลัวเสียคะแนนเสียง แต่จริงๆ แล้วคือควรทำอย่างมีระบบและเป็นธรรม"

เรื่องการดูแลสุขภาพและค่าใช้จ่ายนั้น นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับคุณภาพชีวิตของคนไทยและเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลหน้าและรัฐบาลต่อไปจะต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลครับ

เพื่อความโปร่งใส ผมขอถือโอกาสนี้แจ้งให้ท่านผู้อ่านทราบด้วยว่า ผมได้รับการแต่งตั้งเป็น “ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย” เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2566 ครับ